ครู...ไม่ใช่เรือจ้าง


 

ครู...ไม่ใช่เรือจ้าง

 

    ดิฉันได้รับหนังสือเล่มหนึ่ง  ชื่อหนังสือ "ศึกษาภาษิต"  เป็นหนังสือรวมบทกลอนสอนใจเกี่ยวกับการศึกษาอันทรงคุณค่าจากอดีตถึงปัจจุบัน  แต่งโดย ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล  ปูชนียบุคคลด้านการศึกษา องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้ท่านเป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่นระดับโลก สาขาการศึกษา วัฒนธรรม วรรณกรรมและการสื่อสาร  ในวาระครบรอบ 100 ปีเกิด ในปีพ.ศ. 2546

 

    หนังสือ"ศึกษาภาษิต"รวบรวมผลงานโคลงกลอนเอาไว้มากมาย  เมื่ออ่านแล้วรู้สึกภาคภูมิใจในอาชีพของตนเอง  ที่ได้มีโอกาสสร้างคนและสร้างชาติ  ดังที่ท่านเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า "ชาติยืนยงคงอยู่เพราะครูดี" ผู้ที่เป็นครูทุกคนจึงควรภาคภูมิใจ  ท่านแสดงความเห็นว่าการเป็นครูที่ดีนั้นทำได้ยาก "เพราะต้องใช้ศิลปวิทยา อีกมีความเมตตาอยู่ในใจ" ครูจึงไม่ใช่แค่เรือจ้างที่รับส่งผู้โดยสารข้ามฟากไปวันๆ  

 

   กลอนบทนี้จึงควรค่าแก่การมอบให้ครู ผู้สร้างคนและสร้างชาติทุกท่าน

 

     ครูถูกหาว่าเป็นเช่นเรือจ้าง

 

แล่นระหว่างสองท่าไม่ไปไหน

 

นักเรียนสิศึกษาก้าวหน้าไป

 

ได้เป็นใหญ่เป็นโตมโหฬาร

 

     ที่เปรียบมาล้าสมัยเห็นได้ชัด

 

เราได้จัดเรือยนต์แพขนาน

 

ทำถนนหนทางสร้างสะพาน

 

ให้ยวดยานผ่านข้ามแม่น้ำไป

 

     ใครจะข้ามทางเก่าเราไม่ว่า

 

แต่ทางใหม่มีมาวิชาใหม่

 

วิชาชีพแพขนานนั่นเป็นไร

 

สะพานใหญ่สามัญมัธยม

 

     เหล่านี้แหละงานครูรู้ไว้เถิด

 

ประโยชน์เกิดแก่ประเทศพิเศษสม

 

ศิษย์ได้ดีครูมีแต่ชื่นชม

 

กล้วยไม้ออกดอกสมเจตนา

 

     มุ่งอบรมบ่มนิสัยให้คนดี

 

ความเหนื่อยยากหากมีก็ไม่ว่า

 

เจริญรอยบรมบาทพระศาสดา

 

จะเรียกว่าเรือจ้างได้อย่างไร

 

หมายเลขบันทึก: 505104เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2012 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2012 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ครู คือ ... แม่พิมพ์ และคนต้นแบบ ... นะคะ

 

ตั้งแต่ที่ผมได้เป็นครูปฏิบัติการ ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้เป็นครูแต่ในวิชาการในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่ผมเป็นคือ เป็นทั้งครู เป็นทั้งพี่ เป็นทั้งเพื่อน

ผมมักจะถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตในสังคม การเรียนในมหาวิทยาลัย และสิ่งที่เขาอาจจะต้องเจอเมื่อต้องออกไปทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ในตำราเรียนนั้นไม่มี

การเป็นครูในรูปแบบของผมอาจจะแตกต่างกับครู-อาจารย์ท่านอื่นๆ ซึ่งก็อาจจะมีอาจารย์บางท่านมองว่าวางตัวไม่เหมาะสมกับการเป็นครู แต่สิ่งที่ผมว่าสำคัญที่สุดคือเด็กๆเหล่านั้นได้อะไรจากผมไปบ้าง ผมจึงยอมที่จะโดนมองว่าไม่เหมาะสม เพราะผมไม่อยากจะมีการแบ่งชนชั้นกับเด็กๆ เวลาทำงานกับพวกเขา เมื่อเขานั่งกินข้าวกับพื้น ผมก็จะลงไปนั่งกับพวกเขา ผมไม่อยากที่จะนั่งกินบนโต๊ะคนเดียว

เวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ผมเป็นครูแม้ว่าเวลาอาจจะไม่นาน แต่สิ่งที่ผมได้ทำไปก็ได้การตอบรับจากเด็กๆคือ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หรือแม้กระทั่งเสียงที่เด็กๆเรียกผมไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ คุณครู พี่หนุ่ม หรือ ครูพี่หนุ่ม จากพวกเขา ผมรู้สึกมีความสุขและเป็นกำลังใจที่ทำให้ผมมีแรงทำงาน

ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าการเป็นครูของผมนั้นเปรียบเหมือนอะไร แต่เห็นเด็กมีความสุขแล้วได้สิ่งที่ดีๆจากผมไปแล้ว ผมจะเปรียบเป็นอะไรก็คงไม่สำคัญแล้วล่ะครับ ^ ^

เกรียงชัย วิไลเลิศ (หนุ่ม)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท