เอาชนะสัญชาติญาณดิบนั้นไม่ง่าย


บุคคลที่ยิ่งใหญ่กว่าเอาชนะด้วยการให้อภัย การให้อภัยนี่ยากกว่าการแก้แค้นเสียอีก

ศาสนาต่างๆ สอนว่า "การแก้แค้นที่ดีที่สุดคือการไม่แก้แค้น" แต่ควร "ให้อภัย" และ "ตัดกรรม" หรือการกระทำที่ยุ่งเกี่ยวกับผู้สร้างความทุกข์นั้นเสีย

ปลายเดือนที่แล้วมีคนที่เคยรู้จัก "ขู่" โดยเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาพูดออกมานั้นด้วยประสบการณ์ที่ผมทำงานในวงการเทคโนโลยีมาถึงตอนนี้ทำให้รู้ได้ทันทีว่าเป็นการปั้นน้ำเป็นตัว (และเขาเองไม่ได้มีความรู้มากพอที่จะรู้ว่าเขาพูดอะไรออกมา) สิ่งที่ผมทำคือ "ให้อภัย" และไม่ต่อความยาวสาวความยืดกับเขาต่อและยกเลิกงานที่เกี่ยวกับเขาไป ถือว่าเป็นการ "ตัดกรรม" สิ้นสุดกันที

ถึงตรงนี้ต้องยกย่อง อ.จัน ว่ารับมือกับสถานการณ์ได้นิ่งสงบมาก ยังใช้คำพูดให้เกียรติเขาตลอดเวลาอีกด้วย

มาถึงวันนี้เรื่องมันก็จบไปเป็นสัปดาห์แล้ว สิ่งที่ผมเรียนรู้คือการให้อภัยนี่ยากจริงๆ เผลอเมื่อไหร่ก็มีความรู้สึกแว้บขึ้นมาว่าอยากแก้แค้น แต่ก็ยังดีที่สติวิ่งไล่มาทันให้ได้วิเคราะห์ (ที่เรียกในภาษาพุทธว่าวิปัสสนา) ว่าการแก้แค้นนั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย

แล้วการแก้แค้นก็ไม่มีประโยชน์จริงๆ ด้วย เพราะผลที่ได้ก็แค่เพียงบอกว่าคนคนหนึ่งโกหก ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตผมดีขึ้นหรือชีวิตเขาแย่ลง เพราะเรื่องมันไม่ได้มีสาระมากมายนัก แต่ผมต้องใช้ความพยายามมากมายที่จะให้ได้ผลลัพธ์นั้น แล้วจากนิสัยของเขาที่ผมรู้จักมา เขาก็คงไม่ยอมถูกเปิดโปงว่าโกหกง่ายๆ คงต่อสู้ยิบตาทีเดียวเพื่อปกป้องชื่อเสียงของเขาเอง

สิ่งที่น่าคิดก็คือ แม้เราจะมีสติเพียงพอที่จะรู้ว่าไม่ควรแก้แค้น แต่การแก้แค้นดูเหมือนจะฝังอยู่ในสัญชาติญาณของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย หากนั่งสังเกตสัตว์ทะเลาะกันนี่จะเห็นได้ชัด แถวบ้านผมมีสุนัขเร่ร่อนเยอะ มันกัดกันให้ดูบ่อยๆ เวลาสัตว์ตัวหนึ่งกัดอีกตัวหนึ่ง อีกตัวจะกัดตอบทันที หลังจากนั้นเมื่อมันเจอกันเมื่อไหร่มันก็กัดกันอยู่เรื่อยๆ

เป็นมนุษย์นี่มีบุญและมีกรรมในเวลาเดียวกัน เพราะเรามีความทรงจำมากกว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ เรามีสัญชาติญาณการสู้ตอบเหมือนสัตว์อื่นๆ และเราก็มีความทรงจำที่จะจำความแค้นเพื่อสู้ตอบอยู่นานกว่าสัตว์อื่นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตามเรายังมีปัญญาที่จะวิเคราะห์กำไรขาดทุนของการแก้แค้นอยู่ด้วย อยู่ที่ว่าเราจะเชื่อปัญญาของเราหรือจะเชื่อสัญชาติญาณดิบของเรา และแม้เราจะเชื่อในปัญญาของเราก็ใช่ว่าเราจะหลุดพ้นจากสัญชาติญาณดิบของเราได้ง่ายๆ

สิ่งเหล่านี้ต้องการการฝึกฝนทั้งนั้น เราก็คงต้องฝึกฝนตัวเรากันต่อไป อย่าน้อยวันนี้ผมก็ถือว่าโชคดีมากที่ได้ใช้ปัญญาของผมในการคิดที่จะเอาชนะสัญชาติญาณดิบของตัวเองแทนที่จะเอาความคิดไปตอบสนองสัญชาติญาณดิบหาทางแก้แค้นคนอื่น

หมายเลขบันทึก: 504702เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2012 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2012 07:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ส่งกำลังใจค่ะ อภัยเป็นคำที่งดงามและเต็มไปด้วยความหมาย

พี่ชายที่เคารพท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า ศาสตร์ทาง "ปรัชญา" นั้น มนุษย์ประกอบด้วย 4 สภาวุะคือ สสาร  สัตว์ พืช และปัญญา

สสาร คือ ชอบที่อยู่นิ่งๆไม่เคลื่อนไหว สถิตนิ่ง

สัตว์ คือ สัญชาติญาณของการต่อสู้ เพื่อสืบต่อ ดำรงเผ่าพันธุ์ของตน

พืช คือ สัญชาติญาณของการไขว่คว้าเติบโต (เห็นแก่ตนเองเป็นหลัก)

ปัญญา คือ การอยู่เหนือและเข้าใจสัญชาติญาณทั้ง 3 ข้างต้น และเป็นคุณสมบัติของ "มนุษย์"

""สภาวะ..เหนือมนุษย์..คือ..อภัยทาน".....(ยายธี)

เห็นความจริงเลยนะคะว่า ถ้าเราไม่"ตัดกรรม" แต่"แก้แค้น" รับรองว่าเรื่องมันไม่จบแน่นอน คนที่จะต้องเป็นทุกข์แน่นอนก็คือคู่กรณี แต่คนดูที่อยู่วงนอกก็จะสนุกสนานกับเรื่องราวของการต่อสู้แฉกันไปมา อย่างที่เราพบเห็นกันอยู่เสมอทุกวันนี้ในสังคมนี่แหละค่ะ ขอชื่นชมอ. Blank นะคะที่"ปฏิบัติ"ดีมาได้ระดับหนึ่งแล้ว เลิกคิดถึงเรื่องนี้ก็จะช่วยให้"หลุดพ้น"ไปได้ในระดับต่อไปนะคะ

เก่งที่สุดคือ การชนะใจตัวเอง ไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำทางความคิดของตัวเองค่ะ พอเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไป เราก็จะกลับมานึกแอบชื่นชมตัวเองว่า เอ..ทำไมเราเก่งอย่างงี้นะ. . สุดยอดเลยหง่ะ - ไม่ทราบว่าตอนนี้ท่านอาจารย์ได้ความรู้สึกอย่างนี้หรือยังคะ

แม้เราจะมีสติเพียงพอที่จะรู้ว่าไม่ควรแก้แค้น

หากเราเข้าใจความเป็นไปของแต่ละบุคคล...เราก็ดำรงคงอยู่ได้อย่างสุขกายสุขใจ...แม้ในช่วงแว๊บหนึ่งเราอาจไหวหวั่นบ้าง...แต่ในชั่วไม่ทันข้ามคืน...หากเราตรึกตรองกับความเป็นไปของแต่ละบุคคลได้เท่ากับเราจัดการกับความรู้สึกเราได้เช่นกัน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท