ปริญญาครับบริญญา "ธรรมชาติธรรม"


ธรรมชาติธรรม

 

 

 ปริญเอ๋ย ปริญญา

                 ถ้าผมพูดว่าจบปริญญาไม่ดีเลย หลายคนคงด่าผมทันที แต่ถ้ามาพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล    คงไม่ด่าผมกลับมองผมในอีกแง่มุมหนึ่ง

 

                 ขอทำความเข้าใจเรื่องการศึกษา ทุกประเทศทั่วโลกต่างสรุปผลว่า     การศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสังคม หากประชากรในประเทศมีความรู้ดี ในหลายระดับ หลายสาขาวิชา   ก็จะนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนางานที่รับผิดชอบให้ก้าวหน้า ให้มีประสิทธิภาพขึ้น   นี่คือมุมมองเพื่อมุ่งการแข่งขันด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

 

                 การที่มีความเชื่อจนฝังหัวว่าปริญญามีค่า มีคุณอย่างนี้ อย่างนั้น ทำให้สังคมเกิดค่านิยมว่า    "คนเราต้องมีปริญญา" ถึงกับพูดว่าเรียนจบไปแล้วได้ทำงาน หรือไม่ได้ทำ ก็ยังดี ให้มีปริญญาเอาไว้ก่อน

 

                 ตอนนี้คำพูดที่ว่า "เรียนจบไปแล้วได้ทำงาน หรือไม่ได้ทำ ก็ยังดี ให้มีปริญญาเอาไว้ก่อน"    ชักจะเกิดความลังเลขึ้นมาบ้าง เนื่องจากปริญญาตกงานเพิ่มมากขึ้น    พ่อแม่ที่ส่งให้ลูกเรียนถึงขั้นปริญญาในปัจจุบันต้องใช้เงินจำนวนเป็นหลักล้าน ซึ่งถือว่าไม่ใช่น้อย   เมื่อมานั่งคิดทบทวน เกิดมีคำถามในใจขึ้นบ้างว่า "ถ้าเป็นการลงทุน ขาดทุนหรือไม่ หากนำเงินที่ลงทุนก้อนนี้   มาลงทุนด้านอื่น ให้ลูกดีหรือไม่" ความคิดทำนองนี้ได้ยินการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมหนาหูขึ้น

 

                ตามความเป็นจริงตอนนี้ผู้ที่จบการศึกษาสายอาชีพ ระดับ ปวช. และ ปวส. มีงานรองรับมากที่สุด           บางครั้งปริญญาจึงไม่มีความจำเป็นมากนัก

 

               เมื่อมีการแข่งขันด้านธุรกิจทำให้หน่วยงานเพิ่มขึ้น ไม่ว่า ของรัฐ หรือเอกชน           ความต้องการผู้มีความรู้เฉพาะด้านมากขึ้น จะเห็นว่าสถานศึกษาต่าง ๆ เปิดสาขาวิชาใหม่ ๆ เพิ่มมากมาย           ต่างก็โฆษณาหาผู้เรียน ทั้งของรัฐ และเอกชน จึงเกิดการแข่งขันทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

               ผลการแข่งขันทางการศึกษาในยุคการแข่งขันทางเศรษฐกิจ มีผลในการกำหนดกฎเกณฑ์           ระดับวุฒิการศึกษาในตำแหน่งต่าง ๆ หลายหน่วยงาน ตอนนี้บางตำแหน่งงานกำหนดระดับวุฒิการศึกษาระดับ           ปริญญาโทเพิ่มขึ้น และในไม่ช้าก็คงกำหนดขั้นปริญญาเอกตามมา เมื่อก่อนหลักสูตรปริญญาโทต้องเรียนจำนวน           2 ปี ปัจจุบันมีหลักสูตร 1 ปีก็มี ไม่ขอวิจารณ์ในเรื่องนี้ ขอให้ท่านได้คิดดูเอาเอง

 

               เมื่อการแข่งขันทางการศึกษา การรับนักศึกษาเข้าเรียนก็มีการแข่งขันกัน โฆษณาคุณภาพของสถานศึกษา    ของผู้สอน ซึ่งถ้ามองให้ดีจะเกิดมุมมองที่น่าคิดในหลาย ๆ เรื่อง และที่น่าคิดที่สุดคือ จบมาแล้วว่างงาน   และเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับทุกปี ถามว่าในจุดนี้ รัฐบาลได้ควบคุม   ได้กำกับดูแลมากน้อยเพียงใดในเรื่องผลิตนักศึกษาตามสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาด    และสมดุลกับจำนวนที่ต้องการหรือไม่ น่าจะตอบว่าไม่ หรือหากมีก็ยังทำกันไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

               เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก หากศึกษาข้อมูลกันอย่างจริงจัง ทั้งของรัฐและเอกชน รู้ข้อมูลสถานศึกษาที่ผลิต   รู้ข้อมูลการความต้องการเพิ่มของบุคลากรในแต่สาขาในแต่ละปี รู้ข้อมูลบุคลากรที่ต้องเลิกจ้างในแต่ละปี           สามประเด็นนี้ก็เพียงพอ แต่ต้องละเอียด และรอบคอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากซับซ้อนดังที่กล่าวไว้ตอนต้น   การผลิตบุคลากรก็จะได้ตรงตามความต้องการในสาขาวิชา และวุฒิการศึกษา  เป็นการแก้ปัญหาการว่างงานของคนลงได้

 

               ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของการจัดหางานซึ่งปัจจุบันก็มีหน่วยงานกำกับดูแล   เรื่องนี้หากเพียงแต่คอยกำกับดูแล  ในการหางานเพียงอย่างเดียวก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาผู้จบปริญญา
          ว่างงานได้  การทำงานที่สัมพันธ์กันระหว่างหน่วยงานจัดหางาน กับสถาบันการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง   ต้องมีการวางแผนร่วมกัน

 

               เรื่องการจัดการศึกษา และการจัดหางานเป็นเรื่องใหญ่มาก ยิ่งประชากรเพิ่มขึ้น    ยิ่งมีการแข่งขันด้านธุรกิจเพิ่มขึ้น ยิ่งการสะสม การกักตุนในรูปแบบต่างซ่อนเร้น แอบแฝงทวีความรุนแรงขึ้น  และรวมถึงเรื่องฟุ่มเฟือยตามค่านิยมของสังคมที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ สาเหตุดังกล่าว หากไม่มีการวางแผนที่ดี     คนจะว่างงานเพิ่มขึ้น การศึกษาสูญเสียเปล่าเพิ่มขึ้น ที่ว่าการศึกษาสูญเสียเปล่าก็คือ การศึกษาต้องลงทุน    ต้องเสียเวลาที่ใช้ไปในเวลาเรียนอันยาวนาน สิ่งที่เรียนมาไม่ได้นำมาใช้ หรือหันไปทำงานอื่นที่ไม่ถนัด    หรือทำอย่างไม่มีคุณภาพ เป็นการสร้างปัญหา เพิ่มภาระให้ตนเอง และหน่วยงานอีกด้วย

 

                แนวทางหนึ่งถ้าเป็นไปได้ และทำอย่างจริงจัง น่าจะแก้ปัญหาเรื่องการสูญเปล่าทางการศึกษาได้บ้าง  คือการติดตามผู้เรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา ทำแฟ้มประวัติอย่างละเอียด รู้ข้อมูลทุกด้าน    และที่สำคัญรู้ว่าเด็กคนนี้น่าจะส่งเสริมด้านใด จากนั้นก็ปูพื้นฐานให้เขา เขาก็ชอบ เขาก็รัก    ส่วนนี้ผู้ปกครองต้องรับรู้     และพร้อมที่จะส่งเสริมตามคำแนะนำ หรือตามการแนะแนวของโรงเรียน    จากประถมศึกษาส่งไปถึงชั้นมัธยมศึกษา    เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่สามจะส่งเสริมให้เรียนสายอาชีพ           หรือเรียนต่อมัธยมศึกษาปีที่หก   ให้โรงเรียนเป็นผู้กำหนดเป็นผู้ควบคุมดูแล

               เพื่อให้สอดคล้องกับงานที่รองรับ การผลิตนักเรียน นักศึกษาต้องมีความสมดุลระหว่างกัน เรื่องของคุณภาพคงไม่ต้องห่วงเพราะนักเรียน นักศึกษาเหล่านี้ เรียนด้วยใจรัก  เนื่องจากศึกษาเล่าเรียนในวิชาที่ตนชอบ และที่สำคัญได้วางพื้นฐานมาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา   ประเด็นที่เกี่ยวข้องสำคัญอย่างมากเรื่องนี้คือต้องโยงไปถึงการจัดทำหลักสูตรให้ผู้เรียนเป็นสำคัญด้วย

 

              เมื่อจัดระบบได้อย่างนี้ และได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนก็ไม่ว่างงาน            การปฏิบัติงานของบุคลากรที่ผลิตมาก็ย่อมมีคุณภาพ ขอสรุปย้ำอีกครั้งว่าไม่มีการสูญเปล่าทางการศึกษา    ช่วยขจัดคนว่างงาน และที่สำคัญคือได้บุคลากรที่มีคุณภาพ
           ที่กล่าวมาน่าจะสอดคล้องกับเรื่องที่ว่า "ปริญญาเอ๋ยปริญญา" 
 และจากที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า "ถ้าผมพูดว่าจบปริญญาไม่ดีเลย หลายคนคงด่าผมทันที   แต่ถ้ามาพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล คงไม่ด่าผมกลับมองผมในอีกแง่มุมหนึ่ง"

 

               นี่เป็นแนวคิดให้แก่สังคมที่มีการแข่งขันจนไม่ลืมหู ลืมตา จนทุกคนในสังคม   ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการทั้งหลาย    ชาวบ้านร้านตลาดทุกมุมเมือง   ฝังหัวในเรื่องการหาเงินหาทองอย่างเดียว  ไม่หันมามองทบทวนการดำเนินชีวิตที่ดีกว่า    หรือหาแนวคิดอื่นที่น่าจะดีกว่านี้ ถ้ายังเวียนวนอยู่ในสังคมระบอบนี้   ก็อาจใช้วิธีการแก้ปัญหาอย่างที่เสนอไว้

 

               แต่หากอยู่แบบสังคมระบบ "ธรรมชาติธรรมค้ำจุนโลก" ที่ผมกำลังนำเสนอผ่านเว็บไซต์
            http://www.nature-dhama.com     ซึ่งต่างกันคนละรูปแบบ การแก้ปัญหาคงไม่เหมือนกัน  ลองแวะชมเข้าอ่านแนวคิดได้ ขอกราบขอบพระคุณยิ่ง

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมชาติธรรม
หมายเลขบันทึก: 504698เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2012 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2012 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เอาปริญญาจากสวนโมกข์มาฝากครับคุณครู

 

สวัสดีครับ เป็นพระคุณยิ่งสำหรับกำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท