วิธีการสร้างคุณค่าในตนเอง ทักษะชีวิตของวัยรุ่นที่สำคัญ


มองกันตามความเป็นจริง ความเป็นกลางนะ ผลที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นของเรา มันสะท้อนถึงการเลี้ยงดู การใส่ใจ เอาใจใส่ เด็กจากเรา ที่เราสามารถร่วมด้วยช่วยกัน ส่งเสริมการนับถือตนเองให้กับเขาได้ แต่มันก็เป็นการลงทุนที่มหาศาลเหมือนกัน

วันก่อนเห็นข่าวว่า เดี๋ยวนี้คนนิยมไปร้อยไหม เพื่อทำให้หน้าตึง แต่ที่ฟังแล้ว รู้สึกแย่ก็คือว่า คนที่ไปทำเป็นวัยรุ่น น่ะสิ รับไม่ค่อยได้เลย เพราะวัยรุ่นเขาไม่จำเป็นต้องไปทำนี่นา ใช่มั้ย คนที่ทำน่าจะเป็นวัยที่แบบ หน้าเหี่ยวแล้ว ประจำเดือนหมด ไม่มีน้ำมีนวลตามธรรมชาติ แต่ทำไม วัยรุ่น ถึงไปทำแล้วล่ะ

 

                เนี่ยเป็นภาพสะท้อนเลยว่า วัยรุ่นเราสมัยนี้ ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ทำให้เรานึกย้อนไปเวลาถูกเชิญให้เป็นวิทยากร สอนทักษะชีวิตให้กับวัยรุ่นตามโรงเรียนนะ เราก็จะมีแนวทางสอนแบบนี้

 

                เริ่มด้วยการปูพื้นว่า วัยรุ่นแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ วัยรุ่นตอนต้น ( 10 – 13 ปี ) ตอนกลาง( 14 – 16 ปี )  และตอนปลาย ( 17 – 21 ปี )  และแต่ละช่วงก็มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านกายภาพ อารมณ์ สังคมที่แตกต่างกัน แล้วเราก็ถามเขาต่อว่า ปัจจุบันนี้ รอบตัวเขามีใครบ้าง และภัยที่เกิดกับวัยรุ่นนั้น มันเกิดที่ไหน มีปัญหาอะไรที่เขาพบเจอบ่อย ๆ

                จากคำตอบที่ได้รับ เราจะพบว่า คนที่ใกล้ชิดวัยรุ่นมากที่สุดก็คือเพื่อน แล้ววัยรุ่น ก็ใช้ชีวิตอยู่รอบ ๆ ตัวเรา เช่น ที่โรงเรียน ที่เรียนพิเศษ บ้านเพื่อน ร้านเกมส์ ห้าง ...

                หลังจากที่ได้พูดคุยถึงเพื่อนแบบต่าง ๆ แล้วก็เข้าสู่เนื้อหาของทักษะชีวิตเสียที ซึ่งจริง ๆ ทักษะชีวิตที่เราต้องให้กับวัยรุ่น มีหลายข้อ ตั้งแต่

-          การรู้จักตนเอง  ( คุณค่าแห่งตน )

-          การรู้จักผู้อื่น

-          การสื่อสาร

-          การฟัง

-          การจัดการอารมณ์และความเครียด

-          การตัดสินใจ และการแก้ปัญหา

-          การปฏิเสธ

 

แต่ทุกครั้งที่สอน เราจะเริ่มด้วยเรื่องของ การรู้จักตนเอง หรือคุณค่าแห่งตนเสมอ และถ้ามีเวลาจำกัด ให้เราเลือกสอนนะ เราก็จะต้องเลือก เรื่องนี้ เช่นกัน เพราะมันสำคัญจริง ๆ นี่นา  เราอยากแลกเปลี่ยนวิธีการช่วยให้เด็กได้รู้จักตนเอง ในวิธีการที่เราทำบ่อย ๆ คือ

 

Step แรก

เราจะให้เด็กแต่ละคนใช้เวลาสักครู่ มองเข้าไปดูตัวเอง เหมือนส่องกระจก ไม่ใช่ที่หน้าตา แต่ให้มองลงให้ลึกว่า ตนเอง เป็นใคร มีข้อดี  หรือมีความสามารถอะไรที่ดี ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเรียนเสมอไป (  จำเรื่องที่ ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยาจาก มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ที่คิด “ ทฤษฎีพหุปัญญา ” (Theory of Multiple Intelligences) ได้มั้ยที่เขาบอกว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหนบ้าง แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนไป )

เด็ก ๆ มักจะถูกครูหรือผู้ปกครอง มองแค่เรื่องคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์เท่านั้น คนไหนทำ 2 เรื่องได้ไม่ดี กลายเป็นไม่เก่งไปเสียนี่ ซึ่งเราต้องเปิดกว้าง มองกว้างแล้วชี้ให้เด็กเห็นว่า เขาก็มีดี หรือเก่งเหมือนกัน แต่เป็นด้านอื่น ๆ

เราจะให้เด็กใช้เวลาสักครู่ ( ถ้าอยากให้แบบมีจินตนาการมาเกี่ยวข้อง ก็จะให้เขาวาดรูปตนเองก่อน แล้วด้านซ้ายมือเขียนสิ่งที่เขาทำได้ดี เช่น การร้องเพลง เล่นกีฬา พูดจาไพเราะ มีน้ำใจ หรืออะไรก็ได้ที่เขาคิดได้ แล้ววข้างขวามือก็ให้เขาเขียน สิ่งที่เป็นข้อที่เขาอยากปรับปรุง หรือสิ่งที่เขายังทำได้ไม่ดี )

แล้วก็ให้นำเสนอ หรือบางทีก็ให้ผลัดกันให้เพื่อนดู หรือให้เพื่อนเพิ่มเติมบ้าง แล้วเราก็พูดอธิบายกับเด็ก ๆ ว่า

การทำแบบนี้ จะทำให้เขาได้เห็นตัวเอง

จากนั้น เมื่อเขาเห็นข้อดีของตนเอง สิ่งที่ตามมาก็คือ การรับรู้คุณค่าในตนเอง ความภาคภูมิใจในตนเอง ศรัทธาในตนเอง และจบลงด้วยการนับถือตนเองในที่สุด ( ในระหว่างนี้ก็มีการยกตัวอย่าง พร้อมคำอธิบาย และปิดท้ายว่าอยากให้ทุกคน คิดว่าตนเองเป็นคน ๆ หนึ่งซึ่งมีสิ่งดีงามในตัว เมื่อเราค้นหาเจอแล้ว เราก็ทำให้มันดีขึ้น แล้วเราก็จะพบกับสิ่งดี ดี ตามมาเสมอ แล้วเป็นอันจบ เรื่องทักษะข้อนี้ไป )

 

สำหรับผู้ปกครอง คำว่า “การรับรู้ ถึงคุณค่าในตนเอง ” ของลูก หลาน เป็นเรื่องสำคัญนะ เพราะถ้าเขาไม่รับรู้ ไม่รู้สึก ไม่สามารถสัมผัสสิ่งที่เป็นคุณค่าในตนเองได้ เขาก็ไม่เกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่เขา เป็น ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง และต่อมาก็ไม่ศรัทธาในตัวเอง และสุดท้ายก็คือการไม่นับถือตัวเอง โอ้ มันร้ายแรงขึ้นเรื่อย ๆ นะ เพราะ

-          ถ้าเขาไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ไม่พอใจในสิ่งตัวเองเป็น เขาก็จะยอมเจ็บปวด เสียเงินทองกับการทำศัลกรรม กับการร้อยไหม ทั้ง ๆ ที่เป็นวัยรุ่น ( โอ้ รับไม่ได้ ) แต่เราก็  OK กับบางคนนะที่ต้องจัดฟัน เพราะเดิมมีปัญหาต่อการเคี้ยว ต่อการเจ็บปวดในอนาคต การต่อนอน ต้องอ้าปาก เรื่องนี้เกี่ยวกับสุขภาพ ก็รับได้

-          ถ้าเขาไม่ภูมิใจในตัวเอง ไม่รู้สึกว่าตนเองมีค่า เขาก็จะแสวงหาที่ที่เขารู้สึกสามารถภาคภูมิใจ สามารถได้รับการยอมรับได้ เกิดการนับถือตัวเองได้ เด็กบางคน เมื่อเดินเข้าไปในห้อง ครูก็ด่า เพื่อนก็ไม่คบ เพราะเห็นว่าเกเร เขาก็ไม่มีความสุขจากที่ร.ร. เหมือนตัวเองเป็นตัวประหลาด กลับมาบ้าน ทุกคนในบ้านก็ว่า พ่อแม่ก็ด่า เอาไปเปรียบกับพี่น้อง หรือคนอื่น ทำเหมือนเขาไม่มีตัวตน เขาก็ไม่ได้รับความสุข จากที่บ้านอีก แต่พอเขาไปเข้ากลุ่มกับพวกติดยา หรือกลุ่มเด็กเกเร เด็กแว้น ต่าง ๆ ทุกคนให้การยอมรับ ยิ้มต้อนรับ ทำให้เขารู้สึกมีตัวตน มีความภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เขามีความสุข ดังนั้นสิ่งนี้ก็ทำให้เขาตกเข้าไปในกลุ่มเด็กไม่ดีโดยมีเราพวกผู้ใหญ่ในสังคมเป็นตัวผลักดัน โดยปริยาย ( เรื่องนี้พ่อแม่ ผู้ใหญ่ทั้งหลาย ต้องระวังนะ เราเป็นส่วนหนึ่งของการลบความภาคภูมิใจในตัวลูกหลานของเราไปบ้างมั้ย )

-          เราเห็นเด็กผู้หญิง วัยรุ่น แต่งตัวโป๊ ๆ เดินไปตามถนน ใส่ขาสั้นซ้อนมอเตอร์ไซด์ นั่นเป็นการไม่นับถือตัวเอง เขาต้องการได้รับการชื่นชม ได้รับการยอมรับจากคนอื่น เพราะเขาไม่สามารถชื่นชม ยอมรับ หรือนับถือตัวเองได้ ถึงยอมทำอะไรบางอย่างเพื่อได้รับสิ่งนี้กลับคืนมา

 

มองกันตามความเป็นจริง ความเป็นกลางนะ ผลที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นของเรา มันสะท้อนถึงการเลี้ยงดู การใส่ใจ เอาใจใส่ เด็กจากเรา  ที่เราสามารถร่วมด้วยช่วยกัน ส่งเสริมการนับถือตนเองให้กับเขาได้ แต่มันก็เป็นการลงทุนที่มหาศาลเหมือนกัน เพราะเราต้องให้

1. เวลากับเขา

2. การสังเกต พฤติกรรม ความชอบ นิสัย เพื่อค้นหา สิ่งที่เขาทำได้ดี

3. การฟัง ความต้องการ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เวลาเขามองตัวเอง ว่าเป็นอย่างไร OK หรือไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น

5. การส่งเสริมพัฒนาสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้ว ให้ดีขึ้น เช่นหาครูมาฝึก หาหนังสือให้อ่าน พาไปให้เห็นของจริง ซื้อมาให้ฝึก เปิดโอกาสให้เขาได้ศึกษาอย่างจริงจัง เป็นต้น

6. การติดตามเอาใจใส่ ให้กำลังใจ เช่น การชื่นชมเมื่อทำได้ดี พาไปโชว์ ให้มีโอกาสได้นำเสนอ

 

ว๊าว เห็นมั้ย มันไม่น้อยเลยแหละ

 

เนี่ยะ เป็นเพียงทักษะชีวิตเรื่องเดียวของวัยรุ่นนะ ซึ่งเราต้องสร้างขึ้นมา แยะแยะจัง

แต่ก็ต้องทำนะ เพราะจะทำให้ปัญหาต่าง ๆ ลดลงไปได้เยอะ ทั้งปัญหายาเสพติด ท้องในวัยเรียน

หวังว่า ลูก ๆ หลาน ๆ ของผู้อ่านทุกท่าน คงรู้สึกพอใจในตัวเอง และมีความนับถือในตัวเองได้เป็นอย่างดีนะคะ

เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ

 

แล้ววันหลังจะเล่าให้ฟังถึงทักษะด้านอื่น ๆ บ้าง

 

หมายเหตุ ความรู้เกี่ยวกับ พหุปัญญา ลองศึกษาดู เพื่อดูว่า ลูกหลานของเราเก่งด้านไหนกันบ้าง

1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)

คือ ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ภาษาพื้นเมือง จนถึงภาษาอื่นๆ ด้วย สามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น กวี นักเขียน นักพูด นักหนังสือพิมพ์ ครู ทนายความ หรือนักการเมือง

2. ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)

คือ ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุและผล การคิดเชิงนามธรรม การคิดคาดการณ์ และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น นักบัญชี นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเขียนโปรแกรม หรือวิศวกร

3. ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence)

คือ ความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่ง อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกอย่างกลมกลืน มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น จะมีทั้งสายวิทย์ และสายศิลป์

สายวิทย์ ก็มักเป็น นักประดิษฐ์ วิศวกร ส่วนสายศิลป์ ก็มักเป็นศิลปินในแขนงต่างๆ เช่น จิตรกร วาดรูป ระบายสี เขียนการ์ตูน นักปั้น นักออกแบบ ช่างภาพ หรือสถาปนิก เป็นต้น

4. ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligence)

คือ ความสามารถในการควบคุมและแสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก โดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงความสามารถในการใช้มือประดิษฐ์ ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น ความประณีต และความไวทางประสาทสัมผัส สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักกีฬา หรือไม่ก็ศิลปินในแขนง นักแสดง นักฟ้อน นักเต้น นักบัลเล่ย์ หรือนักแสดงกายกรรม

5. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)

คือ ความสามารถในการซึมซับ และเข้าถึงสุนทรียะทางดนตรี ทั้งการได้ยิน การรับรู้ การจดจำ และการแต่งเพลง สามารถจดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ดี และถ่ายทอดออกมาโดยการฮัมเพลง เคาะจังหวะ เล่นดนตรี และร้องเพลง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักดนตรี นักประพันธ์เพลง หรือนักร้อง

6. ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)

คือ ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม สร้างมิตรภาพได้ง่าย เจรจาต่อรอง ลดความขัดแย้ง สามารถจูงใจผู้อื่นได้ดี เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นครูบาอาจารย์ ผู้ให้คำปรึกษา นักการฑูต เซลแมน พนักงานขายตรง พนักงานต้อนรับ ประชาสัมพันธ์ นักการเมือง หรือนักธุรกิจ

7. ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)

คือ ความสามารถในการรู้จัก ตระหนักรู้ในตนเอง สามารถเท่าทันตนเอง ควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ และสถานการณ์ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเผชิญหน้า เมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อไหร่ต้องขอความช่วยเหลือ มองภาพตนเองตามความเป็นจริง รู้ถึงจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของตนเอง ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าตนมีจุดแข็ง หรือความสามารถในเรื่องใด

มีความรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง ความปรารถนา และตัวตนของตนเองอย่างแท้จริง เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคนเช่นกัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุข สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักคิด นักปรัชญา หรือนักวิจัย

8. ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)

คือ ความสามารถในการรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฏการณ์ และการรังสรรค์ต่างๆ ของธรรมชาติ มีความไวในการสังเกต เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปของธรรมชาติ มีความสามารถในการจัดจำแนก แยกแยะประเภทของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือนักสำรวจธรรมชาติ

 

หมายเลขบันทึก: 504701เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2012 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2012 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)


งานที่เด็กก็ทำได้เก็บเงินซื้อของก็ได้ไม่ต้องขอเงินพ่อแม่ครับคนที่ทำอยู่ก็ออกรถBMWแล้วนะครับเร็วเร็วนะครับ
ชื่องานนี้คือTOPUP 2 RICHเป็นงานง่ายง่าย
สอบถามลายระเอียดได้ที่0817939445ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท