สุภาษิตคำโคลง หมวด ด-ต :ขยายความสำนวนสุภาษิต (เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖)


 ๑๑๑.ดาบสองคม      มีทั้งคุณและโทษ

 

       ดาบสองคมเยี่ยมด้วย   มากคม

ประมาทอาจเจ็บตรม          ปัดต้อง

คุณโทษไตร่ตรองปม         ดีเด่น  ด้อยนา

เลือกสิ่งใดมาข้อง            คิดให้เหมาะสม

 

 

 

๑๑๒.เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด      ประพฤติตามผู้ใหญ่ย่อมปลอดภัย

 

    ชนใดประพฤติด้วย      โบราณ

ตามเยี่ยงคนวันวาน          ว่าไว้

ผิดถูกประสบการณ์          สอนสั่ง  มาแม่

ความบ่งบอกฉลาดไซร้    ปลอดด้วยเสียหาย

 

 

 

๑๑๓.ได้ทีขี่แพะไล่      ซ้ำเติมเมื่อผู้อื่นเพลี่ยงพล้ำ

 

    เพียงคนเขาพลาดพลั้ง    บังเอิญ

กระหน่ำจนยับเยิน              บ่ยั้ง

สะสมริษยาเกิน                 เก็บกัก  นาแม่

สบเหมาะจึงตีตั้ง               ติถ้อยรุมสม

 

 

๑๑๔.เด็ดดอกไม่ไว้ขั้ว      ตัดญาติขาดมิตรกัน ใช้คู่กับตัดบัวไม่ไว้ใย

 

       เด็ดดอก  มาเสียบซ้ำ   แซมผม

ไม่  กริ่งเกรงถูกลม            พัดซ้ำ

ไว้  คอยเพื่อนชายชม         เชยชื่น

ขั้ว  ดอกแข็งเหลือล้ำ         เด็ดทิ้งห่อนมอง

 

 ๑๑๕.เด็ดดอกไม้ร่วมต้น      ทำบุญกุศลร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน

 

           เด็ดดอกไม้ร่วมต้น   ร่วมเครือ

เคยรักเคยจุนเจือ                ก่อนโน้น

สองเรากลับต้องเมือ            จรจาก  กันเฮย

ตรมยิ่งแม้ห่างโพ้น              จิตเฝ้าถวิลถึง

 

 

๑๑๖.ตบหัวกลางศาลาขอขมาที่บ้าน     ยอมรับผิดไม่สมกับความผิดที่ทำไว้

 

    ประจานฉาวโฉ่หน้า       หนังสือ

คนเชื่อตามคำลือ              แหล่งอ้าง

เหตุการณ์กลับหลังมือ        มาเมื่อ   หลังแล

ขอโทษกรอบเล็กสร้าง       ซึ่งไร้คนเห็น

 

 

 ๑๑๗.ตบหัวลูบหลัง

   ทำให้กระทบกระเทือนใจในตอนแรกแล้วมาทำพูดดีทีหลัง

 

      ทำเหตุจนเจ็บช้ำ    ชอกใจ

ลับล่วงขออภัย            ยั่วเย้า

ตบหัวลูบหลังใคร         เขาขุ่น  เคืองนอ

คิดก่อนทำสิเจ้า          จึ่งรู้รักถนอม

 

๑๑๘.ต่อหน้ามะพลับลับหลังตะโก

   ต่อหน้าทำเป็นดี แต่พอลับหลังก็นินทาหรือหาทางทำร้าย เหมือนหน้าไหว้หลังหลอก

 

    ต่อหน้า  ทำนอบน้อม       จำนรรจ์

มะพลับ  หวานเพียงกัน         อิ่มได้

ลับหลัง  ติฉินพลัน              ผิดร่าง  มานา

ตะโก  นาพลิกไซร้              ผิดไซร้ตาเห็น

 

 ๑๑๙.ตะเภาเดียวกัน      พวกเดียวกัน

 

       ลงสำเภาล่องน้ำ    สมุทรมา

จึงร่วมพายมิรา             หยุดข้อง

ทิศทางมุ่งพายพา         ทิศร่วม  กันแฮ

ทุกเรื่องเห็นพานพ้อง     ร่วมร้องประสาน

 

 

๑๒๐.ตักน้ำรดหัวตอ      แนะนำพร่ำสอนเท่าไรก็ไม่ได้

 

       ตอตัดจึงรดน้ำ             รดตอ

ตอผุมิงอกกอ                     กิ่งก้าน

เฉกสอนสั่งมิขอ                  รับจด  จำเฮย

เขาเปรียบความคนคร้าน        ว่าแล้วทำเฉย

 

 

๑๒๑.ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเหงา     ให้รู้จักฐานะของตนและเจียมตัว

 

       ตนมองตนไป่รู้     ตัวตน

สอนสั่งเจียมกมล        ต่ำต้อย

สำรวจอย่างแยบยล      ดีชั่ว  ช้านา

สูงส่งฤๅทรัพย์น้อย      ประพฤติให้เหมาะสม

 

 

๑๒๒.ตบหัวกลางศาลาขอขมาที่บ้าน     ยอมรับผิดไม่สมกับความผิดที่ทำไว้

 

      ดุจตบหัวท่านซ้ำ    กลางศา-  ลาเฮย

แล้วแอบขอขมา          ที่บ้าน

ป่าวประกาศโทษพา     คนเกลียด  ท่านแฮ

อุบแอบมาหลังร้าน      กล่าวถ้อยขออภัย

 

 

 

๑๒๓.ตักบาตรอย่าถามพระ     จะให้อะไรแก่ผู้เต็มใจรับอยู่แล้วไม่ควรถาม

 

      ทำบุญทานแก่ผู้        ปรารถนา

ถามไถ่เขาอายพา            เลี่ยงพ้น

พระบิณฑบาตทุกครา        ถวายใส่  เถอะแม่

มอบส่งบุญกลับล้น            เปล่าต้องซักถาม

 

 

๑๒๔.ตัดไฟต้นลม     ตัดต้นเหตุเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลุกลามต่อไป

 

      ตัด  มูลเหตุแห่งร้าย   ลุกลาม

ไฟ  ช่วงสงบตาม            ตัดเชื้อ

ต้น  เหตุบ่คุกคาม            คุกรุ่น  อีกนอ

ลม  สงบมิอาจเอื้อ           ออกเชื้อโชนแสง

 

 

๑๒๕.ตัดหางปล่อยวัด     ตัดขาดไม่เกี่ยวข้องไม่เอาเป็นธุระ

 

    ตัด  ขาดมิเกี่ยวข้อง   ผูกพัน

หาง  สุนัขหลุดพลัน       หยุดเกื้อ

ปล่อย  ปละละเลยกัน     สาปส่ง  แล้วเฮย

วัด  จึ่งจำรับเอื้อ           โอบอุ้มดูแล

 

 ๑๒๖.ตาบอดคลำช้าง

   คนที่รู้อะไรด้านเดียวหรือนัยเดียวแล้วเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น

 

     ตา  มิเห็นย่อมใช้    เพียงคลำ

บอด  สนิทลูบมือนำ     นี่ช้าง

คลำ  ขาเก็บจดจำ       คชาแน่  นอนนา

ช้าง  ผิดแผกคำอ้าง    เพราะรู้มุมเดียว

๑๒๗.ตาบอดได้แว่น    ผู้ที่ได้สิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ตน

 

     ตา  มืดมนเปล่าได้           มองเห็น

บอด  สนิทแสนลำเค็ญ         เคราะห์ร้าย

ได้  สวมแว่นจำเป็น              ก็เปล่า  เลยนอ

แว่น  เปล่าประโยชน์คล้าย     สิ่งได้มิสม

 

 

๑๒๘.ตาบอดสอดตาเห็น     อวดรู้ในเรื่องที่ตนไม่รู้

 

     ตาบอด  มิใช่รู้             เห็นการณ์

สอด  ส่องเหมือนคนพาล     พ่อรู้

ตา  สืบแส่บอกขาน            ทำท่า  ทะนงนอ

เห็น  เปล่าเห็นหลอกผู้        ผ่านโม้ฉลาดเหลือ

 

 

๑๒๙.ตำข้าวสารกรอกหม้อ

   ทำพอให้เสร็จไปชั่วครั้งหนึ่งๆ หาเพียงแค่พอกินมื้อหนึ่งๆ

 

    ตำข้าวสารกรอกหม้อ    พอหุง

สารหมดเพียงพอปรุง        ต่อมื้อ

เปรียบคนไม่พยุง             ยกเลื่อน  กิจแฮ

ขี้เกียจหลังยาวยื้อ           เยี่ยงนี้ขัดสน

 

 

๑๓๐.ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ      ลงทุนโดยได้ผลประโยชน์ไม่คุ้มทุน

 

     น้ำพริกลงแม่น้ำ         ละลาย   

พริกย่อมจางลับหาย        กับน้ำ

ตำเติมกี่ครกหมาย          มีรส  เปล่านา

สอนสั่งลงทุนย้ำ             ย่อมคุ้มรับผล

 

 

๑๓๑.ติเรือทั้งโกลน

   ตำหนิสิ่งที่ยังไม่สำเร็จ ติพล่อยๆ โดยยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

 

     โครงเรือตกแต่งไว้        เพียงโกลน

พอพบเห็นตะโกน             ก่นถ้อย

มิสำเร็จเห็นโขน               ขานติ   

ความเปรียบคนคิดด้อย      เร่งร้อนติเตียน

 

 

๑๓๒.ตีงูให้กากิน      ทำสิ่งใดๆ ไว้แล้ว แต่ผลไปตกแก่ผู้อื่นทำสิ่งที่ตนควรจะได้รับ

 

       ทำกิจหวังผลย้อน        คืนตน

กิจกลับพลิกพาผล             เพื่อนได้

โบราณสั่งสอนคน              คิดใคร่  ครวญนา

จะประกอบกิจไซร้              ตริให้เหมาะสม

 

 

๑๓๓.ตีงูให้หลังหัก

   กระทำการสิ่งใดกับศัตรูโดยไม่เด็ดขาดจริงจัง ย่อมจะได้รับผลร้ายในภายหลัง

 

     ตีงูเพียงหลังหักแล้ว       ละลาย

งูกลับมาเหมือนเคย            ยิ่งร้าย

โบราณร่วมเปรียบเปรย        เด็ดขาด  ไว้นอ

กำจัดศัตรูคล้าย                ฆ่าสิ้นสงสาร

 

 ๑๓๔.ตีปลาหน้าไซ     พูดหรือทำกิจการของผู้อื่นซึ่งกำลังดำเนินไปด้วยดีกลับเสียไป

 

     ไซดักปลาจะเข้า    ติดไซ

หวดขวับปลาตกใจ      หลบเร้น

คนรอรับผลใน           ประโยชน์  หมายแม่

ใครขัดขวางจึงเฟ้น     ฝากถ้อยมิควร

 

 ๑๓๕.ตีวัวกระทบคราด

   โกรธคนหนึ่งแต่ทำอะไรเขาไม่ได้ไพล่ไปทำอีกคนหนึ่งที่เกี่ยวข้อง

 

       ตีวัวกระทบข้อง        คราดนา

ความเปรียบคนพาลพา      ไพล่ข้อง

ทำเขาไม่อาจสา-            มารถมุ่ง  ทำแล

พาลไพล่คนเคียงต้อง       เดือดร้อนรังควาน

 

 

๑๓๖.เตี้ยอุ้มค่อม

   คนที่มีฐานะต่ำต้อยหรือยากจนแต่รับภาระเลี้ยงดูคนที่มีฐานะเช่นตนอีก

 

     ตนเองแสนยากไร้     ขัดสน

กลับช่วยเหลือพาคน      คลับคล้าย

แบกภาระหนักจน          จวบจน  ชีพนอ

ตนต่ำตกเคราะห์ร้าย      เหตุด้วยอุปถัมภ์

 

ที่มา http://www.st.ac.th/bhatips/klong_4.html

      แก้ไขเมื่อ ๘ ต.ค.๕๕

หมายเลขบันทึก: 504492เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2012 12:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2012 16:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท