วิถีพุทธ


โรงเรียนวิถีพุทธ

 

 

การศึกษาแนววิถีพุทธ

 ปัญญาในพระพุทธ ศาสนา ความหมายของปัญญาในการศึกษาวิถีพุทธ

สิ่งที่การศึกษาวิถีพุทธให้ความสำคัญคือการสอนเด็ก ๆ ถึงวิธีที่จะเรียนรู้ วิธีที่จะเพลิดเพลินกับการเรียน วิธีที่จะรักปัญญาเพื่อปัญญา แทนที่จะเป็นระบบการศึกษาซึ่งมุ่งเน้นอยู่กับการสอบและการแข่งขัน และการเตรียมคนสำหรับการประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง การศึกษาวิถีพุทธสอนเด็กให้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ทำให้เด็ก ๆ สามารถที่จะใช้สติปัญญาของตนเพื่อที่จะสร้างชีวิตที่มีความสุขให้กับตนเองและครอบครัว และเพื่อที่จะมีส่วนช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมที่ตนอยู่อาศัย

โรงเรียนวิถีพุทธ 

               คือ  โรงเรียนระบบปกติทั่วไปที่นำหลักธรรมพระพุทธศาสนามาใช้ หรือประยุกต์ใช้ในการบริหาร และการพัฒนาผู้เรียนโดยรวมของสถานศึกษา  เน้นกรอบการพัฒนาตามหลักไตรสิกขา อย่างบูรณาการ

ความสำคัญและความเป็นมา 

               วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทยได้รับการกล่อมเกลา จากคำสอนของพระพุทธศาสนา  ตั้งแต่ยุคแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทย จนกล่าวได้ว่าวิถีพุทธ คือ วิถีวัฒนธรรมของชาวไทยส่วนใหญ่ จนมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ทั่วโลกตระหนักและให้การยอมรับ

               พุทธธรรมหรือพุทธศาสตร์เป็นองค์ความรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้ศึกษาเข้าใจธรรมชาติ ของโลกและชีวิตที่แท้จริง และฝึกให้ผู้ศึกษาสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ตั้งแต่ระดับการดำเนินชีวิตประจำวันของคนทั่วไป คือ การกิน อยู่ ดู ฟัง  จนถึงระดับการดำเนินชีวิตของนักบวชผู้มุ่งมีชีวิตที่บริสุทธิ์  และในทุกระดับยังผลให้ผู้ศึกษาเองมีความสุขพร้อมๆ  กับช่วยให้คนรอบข้างและสังคมมีความสุขพร้อมกันไปด้วยอย่างชัดเจน

            พุทธธรรมมีกรอบการพัฒนาหลักเป็นระบบการศึกษา 3 ประการ เรียกว่าไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ที่เรียกสั้นๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นการฝึกหัดอบรม  เพื่อพัฒนากาย ความประพฤติ จิตใจ และปัญญา ไตรสิกขานี้เป็นการศึกษาที่ครอบคลุมการดำเนินชีวิตทุกด้านและทุกวัย อีกมีความง่ายยาก ตั้งแต่เรื่องเบื้องต้นทั้งของเด็กและผู้ใหญ่จนถึงเรื่องที่ละเอียดซับซ้อนที่ยากจะหาองค์ความรู้อื่นใดมาเทียบได้

               การศึกษาของกุลบุตรกุลธิดาและผู้ใหญ่ทั้งหลายในอดีตอันยาวนานของไทย มีฐานจากการใช้พุทธธรรมมาอบรมสั่งสอนแต่อาจไม่มีระบบของการศึกษาบังคับอย่างในยุคปัจจุบัน แม้ในปัจจุบันจะมีการศึกษาภาคบังคับแก่คนส่วนใหญ่ แต่ก็มิได้นำเอาพุทธธรรมมาเป็นฐานของการศึกษา   แต่นำระบบและองค์ความรู้ตามโลกนิยมโดยมีฐานจากประเทศตะวันตกมาเป็นแกนในการจัดการศึกษา ทำให้พุทธธรรมเองเริ่มห่างเหินจากชีวิตของคนไทยยุคปัจจุบันมากขึ้นมากขึ้น  ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายในความล้ำค่าของพุทธธรรม และจากการที่เป็นฐานของวัฒนธรรมไทยมาแต่อดีต

               ด้วยคุณค่าอันอนันต์ขององค์ความรู้ในพุทธธรรมและระบบไตรสิกขาที่ชัดเจนในการศึกษาพัฒนาผู้เรียนทุกวัย ทางกระทรวงศึกษาธิการจึงมีแนวความคิดที่จะส่งเสริมให้สถานศึกษานำระบบของพุทธธรรมมาประยุกต์จัดกับระบบการเรียนการสอนในสถานศึกษาปัจจุบัน เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามที่ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติกำหนด ที่มีคุณสมบัติของการเป็นคนที่ดี  เก่ง  มีความสุขอย่างแท้จริง อันเป็นเป้าหมายแท้ของพุทธธรรมอยู่แล้วให้มีความชัดเจนขึ้น โดยผ่านการดำเนินงานของ  “โรงเรียนวิถีพุทธ” อันจะเป็นตัวอย่างที่จะขยายผลสู่การพัฒนาในโรงเรียนอื่นๆ ในวงกว้างต่อไป

  ลักษณะจุดเน้น

               โรงเรียนวิถีพุทธเป็นสถานศึกษาในระบบปกติที่นำหลักพุทธธรรมหรือองค์ความรู้ที่เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาของสถานศึกษานั้น  โดยมีจุดเน้นที่สำคัญ คือ การนำหลักธรรมมาใช้ในระบบการพัฒนาผู้เรียนโดยรวมของสถานศึกษา  ซึ่งอาจเป็นการเรียนการสอนในภาพรวมของหลักสูตรสถานศึกษา หรือ การจัดเป็นระบบวิถีชีวิตในสถานศึกษาของผู้เรียนส่วนใหญ่ โดยนำไปสู่จุดเน้นของการพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถ กิน อยู่ ดู ฟังเป็น คือใช้ปัญญาและเกิดประโยชน์แท้จริงต่อชีวิต และการจัดดำเนินการของสถานศึกษาจะแสดงถึงการจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ(ปรโตโฆสะ) ที่เป็นกัลยาณมิตรเอื้อในการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน ด้วยวิถีวัฒนธรรมแสวงปัญญา ทั้งนี้การพัฒนาผู้เรียนดังกล่าวจัดผ่านระบบไตรสิกขา  ที่ผู้เรียนได้ศึกษาปฏิบัติอบรม ทั้งศีลหรือพฤติกรรมหรือวินัยในการดำเนินชีวิตที่ดีงามสำหรับตนและสังคม   สมาธิ หรือด้านการพัฒนาจิตใจที่มีคุณภาพ มีสมรรถภาพ มีจิตใจที่ตั้งมั่นเข้มแข็งและสงบสุข และปัญญาที่มีความรู้ที่ถูกต้องมีศักยภาพในการคิด  การแก้ปัญหาที่เหมาะสม(โยนิโสมนสิการ)  โดยมีครูและผู้บริหารสถานศึกษาเป็นกัลยาณมิตรสำคัญ ที่รักและปรารถนาดี ที่จะพัฒนาผู้เรียนอย่างดีที่สุดด้วยความเพียรพยายาม  ระบบพัฒนาผู้เรียนด้วยไตรสิกขา  อาจแสดงแนวคิดดังภาพต่อไปนี้   

 

 

 

อ้างอิง

 

ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนวิถีพุทธ ได้ศึกษาค้นคว้าจาก

     จินตนา     สินธุพันธ์ประทุม

     http://www.learners.in.th/blogs/posts/420226

     http://www.moe.go.th/main2/article/article_banjerdporn/school_bud.htm

     http://www.panyaden.ac.th/th/buddhist-approach/

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #art
หมายเลขบันทึก: 504295เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท