การจัดการความรู้ในสถานศึกษา 118


การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งสะท้อนวัฒนธรรมเชิงคุณภาพที่สร้างความมั่นใจ เชื่อมั่น และศรัทธาแก่ผู้เรียน ชุมชน ผู้ปกครองและสังคม

การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

     เมื่อระหว่างวันที่  ๒๗-๒๘ กันยายน ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าประชุมเชิงปฏิบัติการยกระดับคุณภาพมาตรฐานของสถานศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑๗ ณ โรงเรียนเขาสมิงวิทยาคม ฯ จังหวัดตราด โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ งานประกันคุณภาพ งานแผนงานหรืองานวัดผล  และหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก ๑ ท่าน จากโรงเรียนในสังกัด สพม.๑๗ (จันทบุรีและตราด) โรงเรียนละ ๒-๔ ท่านตามขนาดโรงเรียน

    สังเกตได้ว่าในรอบสองเดือนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑๗ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับระบบงาน ประกันคุณภาพการศึกษา มาแล้วสามครั้ง แสดงให้เห็นว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑๗ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

  การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เป็นกระบวนการที่โรงเรียนต้องดำเนินงานตามแนวทางของระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา โดยมีแนวคิดในการดำเนินงาน ๔ แนวคิดหลัก ได้แก่ กระบวนการใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาด การจัดการความรู้ การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ และการนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์

ซึ่งการการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จะเป็นการเสริมให้โรงเรียนพัฒนาไปตามวงจรคุณภาพ PDCA

    วันนี้ขออนุญาตชวนเขียน ชวนคิด ชวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ๑ แนวคิด คือ กระบวนการใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาด

    กระบวนการใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาด เป็นกระบวนการนำข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ ที่โรงเรียนมีอยู่มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอน หรือด้านอื่น ๆ โดยข้อมูลสารสนเทศเหล่านี้ได้มาจากผลการประเมินจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา

โดยมีขั้นตอนการนำข้อมูลไปใช้อย่างชาญฉลาด แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 คือ การจัดเตรียมข้อมูล เป็นระยะที่สถานศึกษาจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านต่าง ๆ สำหรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

ระยะที่ 2 การสืบเสาะเพื่อวางแผนการใช้ข้อมูล เป็นระยะที่สถานศึกษาต้องกำหนด ออกแบบ หาแนวทาง และแบบแผน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ ทั้งในด้านการบริหารจัดการ หรือการจัดการเรียนการสอน

ระยะที่ 3 การลงมือปฏิบัติงาน เป็นระยะที่สถานศึกษาลงมือปฏิบัติงานตามแนวทางและแบบแผนที่กำหนดไว้ข้างต้น

ขั้นตอนการใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาดเพื่อการจัดการเรียนรู้ของครู

 ระยะที่ 1 การเตรียมการข้อมูล

          ขั้นที่ 1 การวางระบบการทำงานที่ใช้หลักการร่วมมือรวมพลัง

          การวางระบบการทำงานที่ใช้หลักการร่วมมือรวมพลัง เป็นขั้นตอนที่บุคลากรของสถานศึกษาทุกฝ่ายได้ร่วมกันทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลด้านคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งอาจใช้วิธีการสนทนาพูดคุย อภิปราย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลด้านต่างๆ

          ผู้บริหารสถานศึกษาถือเป็น ต้องเป็นผู้นำในการพูดคุย อภิปราย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลและผลการประเมินของผู้เรียนร่วมกับบุคลากรทุกคน ต้องมีการสร้างวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล  และสร้างวัฒนธรรมของการสืบเสาะแสวงหาความรู้ เพื่อให้บุคลากรเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในสถานศึกษา โดยบุคลากรทุกคนต้องมีความตระหนัก รับรู้ และเห็นคุณค่าของการปฏิบัติงานร่วมกัน

          ขั้นที่ 2 การพัฒนาความรู้ความสามารถด้านการประเมินให้กับครู

          ผู้บริหารต้องมีการพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถและทักษะทางด้านการประเมิน หากครูมีความรู้ความสามารถและทักษะทางด้านการประเมิน ก็จะทำให้ผลการประเมินที่ได้มามีความตรง ถูกต้อง และสามารถสะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

ระยะที่ 2 การสืบเสาะเพื่อวางแผนการใช้ข้อมูล

          ขั้นที่ 3 การจัดทำข้อมูลภาพรวมทั่วไปของผู้เรียน

          เป็นขั้นตอนที่มีการนำข้อมูลซึ่งเป็นผลการประเมินจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งผลการประเมินภายในสถานศึกษาและภายนอกสถานศึกษา มาสรุปและจัดทำเป็นข้อมูลภาพรวมของผู้เรียน

          ขั้นที่ 4 การวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพผู้เรียนอย่างลึกซึ้ง

          หลังจากมีการพูดคุย อภิปราย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลภาพรวมทั่วไปของผู้เรียนแล้ว ครูต้องมีวิธีการเพื่อระบุถึงลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนภายใต้ข้อมูลผลการประเมินอย่างรอบด้าน รวมทั้งระบุสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น

          ขั้นที่ 5 การตรวจสอบการจัดการเรียนการสอนของครู

          การตรวจสอบการจัดการเรียนการสอนของครู เพื่อจะได้นำข้อมูลไปสู่การวางแผนและออกแบบการจัดการเรียนการสอนให้มีความเหมาะสมกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน และสอดคล้องกับคุณลักษณะของผู้เรียนที่ควรได้รับการปรับปรุงและพัฒนาต่อไป

         ผู้บริหารควรมีการสนับสนุน ส่งเสริม และช่วยเหลือครูให้มีทักษะด้านการสำรวจตรวจสอบการจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการต่าง ๆ

 ระยะที่ 3 การลงมือปฏิบัติงาน

          ขั้นที่ 6 การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ / แผนปฏิบัติงานของครู

          หลังจากที่ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพของผู้เรียนและมีการตรวจสอบการจัดการเรียนการเรียนการสอนของครูแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การตัดสินใจกำหนดกลยุทธ์การเรียนการสอน เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาผู้เรียน และนำไปสู่แผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา

ขั้นที่ 7 การวางแผนเพื่อประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียน

          เป็นขั้นตอนที่ครูจะต้องออกแบบเพื่อตรวจสอบว่าการจัดการเรียนการสอนทำให้ผู้เรียนบรรลุตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่

          ขั้นที่ 8 การปฏิบัติและการประเมินผล

          เป็นขั้นตอนที่ครูทุกคนได้ลงมือจัดการเรียนการสอนตามแผนที่กำหนดไว้ และมีการตรวจสอบผลการปฏิบัติงาน ในขั้นตอนนี้ ผู้บริหารสถานศึกษามีการตรวจสอบหรือประเมินผลการปฏิบัติงานของครู โดยใช้ข้อคำถาม จำนวน 4 ข้อ เป็นแนวทางในการตรวจสอบหรือประเมินการปฏิบัติการสอนของครู ดังนี้

(1) ครูทุกคนได้ดำเนินการในเรื่องเดียวกันหรือไม่

(2) ครูทุกคนปฏิบัติการสอนตามที่กำหนดไว้ว่าจะดำเนินการหรือไม่

(3) ผู้เรียนได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นหรือไม่

(4) สถานศึกษาของเราจะดำเนินการอะไรต่อไปข้างหน้า

          กระบวนการนำแผนสู่การปฏิบัติในขั้นตอนนี้ถือเป็นการตรวจสอบว่ากลยุทธ์การสอนหรือกระบวนการจัดการเรียนการสอนของครูนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้หรือไม่อย่างไร

ศึกษาเอกสารประกอบเพิ่มเติมได้ทีนี่

แนวทางการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา

การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่เข้ามาร่วมเรียนรู้ และแบ่งปันครับ...


 

หมายเลขบันทึก: 504204เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2017 05:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท