ผู้สูงวัย “หลักหก” สุขกาย สุขใจ ด้วยแรงหนุน จาก อ.ตั้ม ม.รังสิต


โครงการ “ผู้สูงวัย ร่วมใส่ใจสร้างเสริมสุขภาพ” จึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สถาบันการศึกษาได้เข้าไปมีบทบาทในการสร้างเสริมสุขภาพให้กับชุมชน ชักชวนคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการทำงาน ซึ่ง “การมีส่วนร่วม” นี่เองที่จะทำให้กิจกรรมต่างๆ ยั่งยืนขึ้นมาได้

สานพลังผู้สูงวัย หลักหก

หัวใจแกร่งสู่ชุมชนเข้มแข็ง

                “...ไม่นึกมาก่อนว่า กิจกรรมที่ได้ทำร่วมกันมานานกว่า 2 ปี จะทำให้มีเพื่อนหัวอกเดียวกัน มากมายขนาดนี้ ตอนนี้อยากให้มีกิจกรรมจัดขึ้นทุกวัน จะได้พบกับผู้คนมากมาย จะได้ไม่เหงาเหมือนแต่ก่อน”  คำพูดจากปาก ป้าสุมาลี ขยันชอบ วัย 72 ปี ชาวบ้านหมู่ 5 ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงความสุขที่เต็มเปี่ยมทุกครั้ง

                ความรู้สึกที่ป้าสุมาลี สะท้อนออกมานั้น เป็นเพราะได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการ ผู้สูงวัย ร่วมใส่ใจสร้างเสริมสุขภาพ” ที่ศูนย์วิจัยสร้างเสริมสุขภาพชุมชน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดขึ้น โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

                ป้าสุมาลี เล่าว่า เดิมทีผู้สูงอายุในหมู่บ้านจะอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน แม้จะเห็นหน้าค่าตากันบ้าง แต่ก็ไม่ได้พูดคุยอะไรกันมากนัก ส่วนตัวแล้วตนก็อยู่บ้านเฉยๆ ก็ไม่เคยนึกมาก่อนว่าจะต้องมาทำกิจกรรม แต่พอได้เข้ามาร่วมโครงการได้เจอผู้คนมากมาย เจอเพื่อนๆ ในกลุ่มเดียวกัน ได้ออกกำลังกาย กิจกรรมสันทนาการต่างๆ ก็ทำให้มีรอยยิ้มได้

                สุขภาพจิตที่ดีเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับคนแก่ เพราะหากอารมณ์ไม่ดี เครียดก็จะอยู่แต่กับตัวเอง มีแต่โรคเข้ามารุมเร้า ตอนนี้เมื่อร่วมกิจกรรมเหมือนได้ปลดปล่อย อยากทำอะไรก็ทำ อยากไปไหนก็ไป เพื่อนๆ ที่ทำกิจกรรมร่วมกันบอกเป็นเสียงเดียวเลยว่า ต่อให้ติดงาน หรือขายของ ก็ยอมที่จะปิดร้าน เสียสละเวลาของตัวเองเพื่อไปทำกิจกรรมกับโครงการฯ” ป้าสุมาลี กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

                กิจกรรมดีๆ เพื่อผู้สูงอายุจะสำเร็จไม่ได้ หากขาดผู้นำที่เอาจริงเอาจังและเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ อย่าง ผู้ใหญ่แบน” ชูศักดิ์ ลิมปตานนท์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.หลักหก ที่เป็นโต้โผใหญ่ในการชักนำผู้สูงอายุในหมู่บ้านกว่า 70 คน มาเข้าร่วมกิจกรรม โดยมองว่า ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานเข้ามาจัดกิจกรรมในลักษณะเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุในพื้นที่ทั้งการ ตรวจสุขภาพ เล่นเกม แต่ก็เป็นแค่ครั้งคราว  มาแล้วก็หายไป ชาวบ้านก็เลยเบื่อ

                แต่สำหรับโครงการฯ นี้ทำกันคนละรูปแบบ โดยคณะทำงานจากศูนย์วิจัยสร้างเสริมสุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกันออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ เช่น รำจี้กง เล่นโยคะ จะทำเป็นประจำเดือนละ 2 ครั้ง เสาร์เว้นเสาร์ ในช่วงเย็น ซึ่งผู้สูงอายุก็ชื่นชอบ เพราะจะได้คลายปวดเมื่อย ยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ ส่งผลต่อสุขภาพที่ดีตามมา และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ยังพาผู้สูงอายุออกนอกพื้นที่ เยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อศึกษา เรียนรู้ สร้างความเพลิดเพลินเปิดหูเปิดตาให้กับผู้สูงอายุได้

                บางคนไม่เคยออกไปไหน พอได้ไปเที่ยวในที่ต่างๆ เห็นได้ชัดว่าเค้ามีความสุข จึงอยากให้จัดกิจกรรมอย่างนี้ขึ้นทุกวัน บ่งบอกได้ว่ากิจกรรมที่ทำอยู่นั้นมีประโยชน์ และช่วยเสริมสร้างชีวิตช่วงบั้นปลายให้มีคุณค่า อีกทั้งการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ผู้สูงอายุเริ่มเปิดใจ บางคนปรับเปลี่ยนทัศนคติ ที่รู้จักการทำงาน การอยู่ร่วมกันเป็นสังคมมากขึ้น และที่ภูมิใจที่สุดคือผู้สูงอายุทุกคนจะเห็นเราเหมือนลูกหลาน เหมือนญาติของเค้าเอง จึงมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันมากขึ้น” ผู้ใหญ่แบน เล่าอย่างภูมิใจ

                ผู้ใหญ่แบน ยอมรับว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นนี้จะไม่มีประโยชน์หากผู้นำแต่ละชุมชนไม่เห็นความสำคัญ และคิดว่านี่คือภาระที่ต้องทำให้กับผู้สูงอายุ จึงอยากให้ผู้นำแต่ละชุมชนเปิดใจและดูแลชาวบ้านให้มีชีวิตที่ดีซึ่งสามารถสร้างได้ด้วยชุมชนเอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งการดูแลจากภาครัฐ

                ทางด้าน อาจารย์ตั้ม”  หรือ ผศ.ดร.อภิธวัฒน์ จรินทร์ธนันต์ หัวหน้าศูนย์วิจัยสร้างเสริมสุขภาพชุมชน มหาวิทยารังสิต ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ มองว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละชุมชนมีผู้สูงอายุที่ต้องอยู่อย่างเดียวดายจำนวนมาก ซึ่งวิถีชีวิตทางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งให้อยู่บ้านตามลำพัง เลี้ยงหลาน แต่สำหรับผู้สูงอายุในชุมชนที่มีฐานะค่อนข้างยากจน ไม่มีการศึกษา ก็ยากที่จะเข้าถึงข้อมูล บริการสุขภาพต่างๆ จึงเป็นที่มาของวัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ ที่อยากให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าของตัวเอง และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี หันมาใส่ใจกับสุขภาพของตัวเองมากขึ้น

                กิจกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจาก สสส. และจัดมาแล้วถึง 2 ปี เห็นได้ชัดว่าผู้สูงอายุก็เป็นอีกกลุ่มที่ต้องการพื้นที่ของตัวเอง เพียงแต่ที่ผ่านมาภาครัฐเองยังไม่ให้ความใส่ใจเท่าที่ควร เมื่อมีพื้นที่ให้พวกเค้า ก็เห็นได้ชัดว่ามีผู้สูงอายุที่ร่วมกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น เมื่อเราเห็นพวกเค้ามีความสุขก็พลอยทำให้เรามีความสุขตามไปด้วย การทำงานกับผู้สูงอายุเพียงทำให้พวกเค้ามีสุขภาพจิตดี ก็ถือว่างานที่ทำประสบความเร็จแล้ว”  อาจารย์ตั้ม ขยายความ

                หัวหน้าศูนย์วิจัยสร้างเสริมสุขภาพชุมชน ม.รังสิต บอกอีกว่า แนวทางต่อจากนี้อยากเห็นความร่วมมือกันของชุมชนในการเสนอแผน เสนอกิจกรรมเพื่อดำเนินการกันเองโดยชุมชนเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยให้การดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนเป็นไปอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างแกนนำกิจกรรมรุ่นต่อๆ ไป เพื่อให้กิจกรรมสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง

                ภูมิใจที่ได้เห็นรอยยิ้มของผู้สูงอายุในชุมชน หลายๆ คนบอกว่างานที่ทำอยู่นี้สามารถนำไปเป็นผลงานทางวิชาการเพื่อเป้าหมายในหน้าที่การงานได้ แต่การได้อยู่กับชุมชน ทำให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็ง มันเป็นความรู้สึกที่นอกเหนือจากผลงานวิชาการ เพราะเพียงแค่คุณป้าคนหนึ่งเดินมาไหว้ผมที่ตรงไหล่ แล้วกล่าวคำสั้นๆ ว่าขอบคุณ แค่นี้ก็ไม่รู้จะอธิบายความประทับใจที่พวกเค้ามีให้กับเราอย่างไรแล้ว” อาจารย์ตั้ม ทิ้งท้าย

                  โครงการ ผู้สูงวัย ร่วมใส่ใจสร้างเสริมสุขภาพ” จึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สถาบันการศึกษาได้เข้าไปมีบทบาทในการสร้างเสริมสุขภาพให้กับชุมชน ชักชวนคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการทำงาน ซึ่ง การมีส่วนร่วม นี่เองที่จะทำให้กิจกรรมต่างๆ ยั่งยืนขึ้นมาได้

หมายเลขบันทึก: 504202เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนคนสร้างสุข "ผู้สูงวัย ร่วมใส่ใจสร้างเสริมสุขภาพ” เติมเรื่องส่งเสริมสุขภาพช่องปากเข้าไปด้วย เพราะปากคือช่องทางนำโรค สุขภาพช่องปากผู้สูงวัน ให้อยู่ในกิจกรรมสุขภาพทั้งหมด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท