ความคิดที่ทำเรา'เศร้า-เหงา-เซง'


.
สำนักข่าว BBC ตีพิมพ์เรื่อง 'A generation may be at higher risk of suicide - researchers' = "คนรุ่นเดอะ (60s-70s อาจ)เสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น (ผลการศึกษาวิจัย)", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
การศึกษาใหม่พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายในฝรั่ง (ชาวตะวันตก) สูงมากที่สุดในกลุ่มผู้ชายวัยกลางคน (middle-aged men)
.
คนยุค 60s-70s = คนยุค "sixties-seventies/ซิกที่-เซเวนที่"; 1960s = 1960-1969; 1970s = 1970-1979; รวม 60s-70s = 1960-1979 = คนที่เกิดปี 2503-2512; คนรุ่นเดอะจะมีอายุ 43-52 ปีในปี 2555
.
สมาริทัน (Samaritans) ซึ่งเป็นองค์กรอาสาสมัครช่วยเหลือคนคิดฆ่าตัวตายรายงานว่า กลไกที่ทำให้ผู้ชายรุ่นเดอะเครียด เศร้า เหงา เซง และฆ่าตัวตายมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ เนื่องจากความคิดแบบ "ยึดติด-ฝังลึก (fixed ideas)"
.
ผู้ชายรุ่นเดอะได้รับการอบรมหรือโปรแกรมความเชื่อฝังลึกจากผู้หลักผู้ใหญ่ (พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เพื่อน) ว่า "ต้องมี-ต้องเป็น" อะไรๆ ให้ได้หลายอย่างในชีวิต ตั้งเป้าไว้สูง เช่น มีงานดีๆ มีครอบครัวดีๆ ฯลฯ ซึ่งชีวิตจริงไม่ใช่ว่า จะสมหวังไปเสียทุกคน
.
คนที่ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้สูง และมีความคิดแบบ "ยึดติด-ฝังลึก (fixed ideas)"... เมื่อพลาดเป้า จะเสี่ยงต่อการติดเหล้า ติดยา(เสพติด)เพิ่มขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า จุดอ่อนของผู้ชายที่เพิ่มเสี่ยงเครียด เศร้า เหงา เซง และอาจพาลไปถึงการฆ่าตัวตายได้แก่
.
(1). มีความคิดแบบ "ยึดติด-ฝังลึก"
.
ความคิดแบบ "ยึดติด-ฝังลึก" ที่ทำร้ายเราส่วนหนึ่งเป็นความคิดที่ว่า เกิดมาแล้วต้องประสบความสำเร็จไปทุกเรื่อง
.
ทางออกที่น่าจะดี คือ ฝึก "คิดใหม่ (rethink)" บ่อยๆ... คือ ถ้าไม่ได้สิ่งดีที่สุด (first best) ก็ใช้ยา "ทำใจๆๆๆ" ให้ได้ เพื่อให้อยู่กับอะไรที่ดีรองลงไป (second best) ให้ได้
.
และถ้าประสบความสำเร็จทุกเรื่องไม่ได้... ทำอะไรให้มันดีสักเรื่องก็ใช้ได้ เช่น ไม่รวยเท่าเพื่อนร่วมรุ่นแต่มีใส่ใจสุขภาพให้ดี ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ ปั่นจักรยาน 20 นาที เช้า-เย็น (ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจลองเปลี่ยนเป็น 1 ชั่วโมง เช้า-เย็น), เปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง กินผักมากขึ้น แบบนี้ก็ใช้ได้
.
(2). ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ
.
คนรุ่นเดอะมักจะไม่กล้าแสดงความอ่อนแอออกมาบ้าง (พอประมาณ)... แบบว่า เศร้าจนโลกแทบแตกก็ยังฝืนยิ้ม ทำตัวนิ่ง เก็บกดไว้ ไม่แสดงออก ไม่ขอความช่วยเหลือใคร จนถึงวันหนึ่งทนต่อไปไม่ไหวก็แตกโพละออกมา เช่น ฆ่าตัวตาย ฯลฯ
.
ทางออกที่ดี คือ กล้าขอความช่วยเหลือ เช่น เลี้ยงน้อง(หมา แมว ฯลฯ) แล้วพูดกับมันบ้าง, พาน้อง(หมา)ไปเดินเล่นกลางแจ้งบ้าง, ติดเหล้า-ติดบุหรี่ก็ขอให้กล้าไปคลินิกเลิกเหล้า-เลิกบุหรี่ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
.
วิธีขอความช่วยเหลือที่ดี คือ อย่าบ่นไปเรื่อย เพราะยิ่งบ่น... คนรอบข้างจะยิ่งหนีหาย, ให้ไปขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพ เช่น โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ
.
เวลาไปโรงพยาบาลก็อย่าบ่น... ให้บอกอาการหลักๆ สัก 2-3 อาการ แล้วตอบคำถามที่มืออาชีพถาม ทำตามคำแนะนำที่มืออาชีพแนะนำ เช่น กินยาตามกำหนด ปรับเปลี่ยนแบบแผนการใช้ชีวิต (lifestyle / ไลฟ์สไตล์) เช่น นอนไม่ดึก-นอนให้มากพอ ออกแรง-ออกกำลังให้เหงื่อตกกีบเป็นประจำ กินยาตามที่หมอแนะนำ ฯลฯ
.
(3). ไม่กล้าที่เป็นอย่างที่เราเป็น
.
คนรุ่นเดอะหลายท่านคิดว่า จะต้องเป็นอะไรแบบที่คนอื่นเป็นไปหมด เช่น เห็นเพื่อนเล่นกอล์ฟก็ต้องเล่นบ้าง ทั้งๆ ที่ใจจริงอาจจะไม่ชอบกอล์ฟ แบบว่า ชอบขุดดินทำสวนที่บ้านมากกว่า แต่ไม่กล้าพูด ฯลฯ
.
ทางออกที่ดี คือ กล้าเป็นอย่างที่เราเป็นหรือเราชอบ เช่น ไม่ชอบกอล์ฟก็ไม่ต้องไปตี ประหยัดด้วย ไม่โดนรังสี UV ที่เพิ่มเสียงมะเร็ง-เพิ่มเสี่ยงตาเป็นต้อกระจก, ชอบขุดดินที่บ้านก็ไม่ต้องไปขุดที่สนามกอล์ฟ (บางคน เช่น ผู้เขียนตีกอล์ฟไม่โดนสักที ตีทีไรก็ขุดหลุมสนามจนต้องเลิกฝึก ฯลฯ)
.
(4). ทำแบบทดสอบซึมเศร้า
.
ภาวะ-โรคซึมเศร้าเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการฆ่าตัวตาย... การกล้าทำแบบทดสอบซึมเศร้า แล้วปรึกษาหมอใกล้บ้าน กรณีเป็นกลุ่มเสี่ยงซึมเศร้า เป็นวิธีป้องกันการฆ่าตัวตายที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
.
ปัญหาในการรักษาโรคซึมเศร้าสำคัญ คือ คนไข้ประมาณ 1/2 กินยาไม่ครบตามกำหนด... ยาซึมเศร้าส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์ช้า กว่าจะออกฤทธิ์เต็มที่ ใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ ช่วงแรกจึงต้องใช้ยา "ทำใจ" และออกแรง-ออกกำลังให้มาก เช่น เดินเร็วที่สุด 10 นาที ทันทีที่รู้สึกเศร้า-เหงา-เซง ฯลฯ
.
ปัจจุบันเชื่อว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคสารเคมีในสมองไม่สมดุล หรือไม่พอดี, วิธีรักษาที่ดี คือ การกินยา และปรับเปลี่ยนชีวิตร่วมกัน
.
เช่น กินยาตามที่หมอแนะนำ นอนไม่ดึก-นอนให้พอ ออกกำลัง-ออกแรงเป็นประจำ (จะได้ผลเต็มที่ถ้าออกกำลังหนักหน่อย หรือออกกำลังเป็นประจำ 2-3 เดือนขึ้นไป) ฯลฯ
.
.
โปรดคลิกที่ลิ้งค์ เพื่อทำแบบทดสอบซึมเศร้า
 
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

> [ Twitter ]

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 20 กันยายน 55. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยอ้างที่มา และไม่จำเป็นต้องขออนุญาต... ขอบคุณครับ > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูง จำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 503704เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2012 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กันยายน 2012 07:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณบันทึกดี ๆ ค่ะ

อาจารย์สบายดีนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท