ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 10. จากทฤษฎีสู่ปฏิบัติ (๕) ครูต้อง engage


หลักสำคัญที่สุดสำหรับครูคือการเป็น “นักเรียน” เรียนรู้จากการทำหน้าที่ครู/อาจารย์ และหลักการของการ engage นศ. ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ก็ใช้ได้กับครูด้วย เพราะการสอนคือการเรียน ครูที่ดีต้องรู้สึกมีแรงจูงใจต่อการสอน ซึ่งขึ้นอยู่กับ ความเชื่อว่าตนจะทำได้สำเร็จ ร่วมกับคุณค่าของงาน

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 10. จากทฤษฎีสู่ปฏิบัติ (๕) ครูต้อง engage  

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๑๐ นี้ ได้จากบทที่ ๖ ชื่อ From Theory to Practice Teachers Talk About Student Engagement  

ในบทจากทฤษฎีสู่ปฏิบัติ มีกรณีตัวอย่างจากครูรวม ๗ คน หรือ ๗ แบบ   ในบันทึกตอนที่ ๖ - ๙ เล่าวิธีที่ครู engage นศ.   ในตอนที่ ๑๐ นี้ เป็นวิธีที่ครู engage ตัวเอง

หลักสำคัญที่สุดสำหรับครูคือการเป็น “นักเรียน” เรียนรู้จากการทำหน้าที่ครู/อาจารย์    และหลักการของการ engage นศ. ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ก็ใช้ได้กับครูด้วย    เพราะการสอนคือการเรียน   ครูที่ดีต้องรู้สึกมีแรงจูงใจต่อการสอน   ซึ่งขึ้นอยู่กับ ความเชื่อว่าตนจะทำได้สำเร็จ   ร่วมกับคุณค่าของงาน  

ครูต้องเชื่อว่า ด้วยความพยายาม ตนสามารถสร้างสภาพในห้องเรียนที่ดึงความสนใจของนักเรียนได้   และครูต้องเชื่อในคุณค่าของการสอนที่ดี   หนุนด้วยการจัดการสถาบันที่คาดหวังการสอนที่ดี และให้รางวัลหรือการตอบแทนต่อการสอนที่ดีนั้น  

ครูต้องเรียนรู้จากการสอนของตน   หน้าที่ครูควรเป็นอาชีพที่น่าตื่นเต้น เนื่องจากมีสิ่งใหม่ให้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา    ครูที่รักอาชีพครู ไม่มีใครคิดว่าตนรู้เรื่องการเรียนการสอนจบสิ้น   ยิ่งมีประสบการณ์มาก ครูยิ่งรู้ว่าตนยังมีโอกาสพัฒนาวิธีการสอนให้ดียิ่งขึ้นได้อีกมาก   ในการจัดการเรียนการสอนนั้นเอง คือโอกาสเรียนรู้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ในอาชีพครู    ซึ่งก็คือการวิจัยในชั้นเรียน (classroom research) กับวิชาการด้านการเรียนการสอน (scholarship of teaching and learning)

แรงจูงใจ  และการเรียนรู้โดยลงมือทำ  และปัจจัย ๓ ประการที่เป็นตัวสร้างพลังเสริมระหว่างแรงจูงใจ และการเรียนรู้โดยลงมือทำ    ได้แก่  (๑) การเป็นชุมชนเรียนรู้  (๒) อยู่ในสภาพที่มีระดับความท้าทายเหมาะสม  (๓) การเรียนรู้แบบบูรณาการ (holistic)   เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อ teacher engagement ทั้งสิ้น

การเป็นชุมชนเรียนรู้ของครู ก็คือการเป็นสมาชิกของ PLC นั่นเอง    หรือกล่าวใหม่ว่า PLC เป็นเครื่องช่วยสร้าง teacher engagement ต่อการสอนที่ดี   

ต่อไปนี้เป็นความเห็นของครู ๔ คน ต่อ teacher engagement

 

ครูแครอล โฮลโครฟท์  มีภารกิจนอกห้องสอนมาก ทั้งเป็นผู้นำด้านวิชาการ  และด้านการกำกับดูแลกิจการในวิทยาเขต   ดังนั้นเมื่อใกล้จบเทอมก็หมดแรง    ทั้งๆ ที่ช่วงนั้น นศ. มักจะมีคำถามดีๆ โพสต์ขึ้น อินเทอร์เน็ต   แต่ครูก็มีภารกิจให้ต้องทำค้างเป็นพะเรอ 

นี่คือสัจธรรมของการสอนให้เกิด engaged learning   คือต้องการเวลา  ความตั้งใจ  และการทำงานหนัก  

ครูนิโคล เกรย์  ให้ความเห็นว่า ตนสอนชั้นเรียนหลายแบบ   หากต้องสอนเฉพาะ นศ. มีปัญหา หรือวิชาพื้นๆ ก็คงหมดไฟไปแล้ว    แต่การที่ตนได้สอนวิชา advanced ทำให้รู้สึกสนุกและได้เรียนรู้มากขึ้น   การมี นศ. ที่ต้องการความช่วยเหลือและประสบความสำเร็จในที่สุด ให้ความสุขทางใจอย่างยิ่ง    

ครูสก็อต แลงค์ฟอร์ด ย้ายมาจากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ก (เอกชน) ด้วยความรู้สึกว่าที่วิทยาลัยอาจารย์หน้าตาสดชื่น   ไม่ดูแก่และคร่ำเคร่งอย่างในมหาวิทยาลัย ก   ครูที่ดีรักหน้าที่ความเป็นครู และให้เกียรตินักศึกษา    ตนเองมีปัญหา นศ. ไม่เอาใจใส่การเรียนบ้าง    แต่นั่นก็เป็นเพียงร้อยละ ๑๐   ร้อยละ ๙๐ ของชีวิตครูของตนให้ความสนุกสนาน

 

ครูนาตาเลีย เมเนนเดซ  มีความรู้สึกว่าการสอนเป็นกิจกรรมทางจิตวิญญาณสำหรับตน    ตนรู้สึกมีแรงบันดาลใจเมื่อเห็นว่า นศ. พร้อมที่จะให้ตนเป็นผู้สอน   ตนรู้สึกขอบคุณ นศ.  แต่ไม่พูด    ตนทำตัวเป็นครูที่เข้มงวด แต่ นศ. จะเห็นประกายความรักความหวังดีได้เอง    สมัยก่อนนานมาแล้ว จะมีครูที่เอา นศ. มานินทาเล่น    ตนไม่เข้าร่วมวงด้วย   ตนคิดว่าตนเป็นหนี้ นศ. เพราะตนได้รับเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ก็เพราะ นศ.   ครูต้องรับใช้ นศ.   ครูต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ในท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของวิชาชีพ   วิชาชีพแห่งการรับใช้

 

จะเห็นว่า ครู ๔ คนที่เอาใจใส่ นศ. ต่างก็เห็นคุณค่าของหน้าที่ตน    มีความเชื่อว่าตนสามารถสอนให้ดีได้    เมื่อสอนก็พบว่าเป็นกิจกรรมที่ให้ผลตอบแทนทางปัญญา    มีความท้าทายในระดับที่พอเหมาะ   มีความเอาใจใส่การเรียนรู้ของ นศ.   และมองว่า นศ. เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูง   

 

ไม่ว่าครูจะตั้งใจสอนเพียงใด และ นศ. จะเป็นกลุ่มที่ตั้งใจเรียนเพียงใด   ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ชั้นเรียนราบรื่นตลอดไป    ครูเอลิซาเบธ สารภาพว่า นานมาแล้วตนเองเคยขว้างปากกาเขียน ไวท์บอร์ด ใส่ นศ. ที่นั่งหลับ   และบอก นศ. ว่า ตื่น! เรากำลังเรียนเรื่องที่น่าสนใจ!    ซึ่งถ้าทำแบบเดียวกันในสมัยนี้ก็อาจโดนฟ้องศาล  

ครูเอลิซาเบธ ยังเคยตั้งใจสอน และฉายหนังที่ตนคิดว่าสุดที่จะน่าสนใจ   พอหนังจบ เปิดไฟ    ครูก็พบใบหน้าที่ว่างเปล่าของ นศ.    ตามมาด้วยคำถามที่แสดงว่า นศ. ไม่เข้าใจว่าหนังบอกอะไร    เพราะ นศ. ไม่มีพื้นความรู้เรื่องนั้น   แสดงว่า เรื่องการสอนให้ดี ให้ดึงดูดใจนักเรียนนั้น  ครูต้องเรียนตลอดชีวิต       

 เป็นที่มาของบทต่อๆ ไปของหนังสือ

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ก.ย. ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 503659เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2012 04:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท