บุคคลที่เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้สัญชาติไทย


ในปัจจุบันปรากฎบทบัญญัติซึ่งยกเว้นหลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ในมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2551 ซึ่งมุ่งปฏิเสธสัญชาติของบุตรคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และบิดาหรือมารดามีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือสถานะเข้าเมืองในลักษณะไม่ถาวร ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวนอกจากจะส่งผลให้บุตรคนต่างด้าวที่เกิดไทยไม่ได้รับสัญชาติไทยแล้วนั้น ยังบัญญัติบทสันนิษฐานให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวเข้าเมืองผิดกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองอีกด้วย งานเขียนนี้จึงมุ่งอธิบายแนวคิดการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนและการยกเว้นหลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีบุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และวิเคราะห์บุคคลซึ่งตกอยู่ภายใต้หลักยกเว้นหลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนดังกล่าว รวมถึงผลของการยกเว้นหลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนและผลร้ายของการสันนิษฐานให้บุคคลดังกล่าวกลายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

บุคคลที่เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้สัญชาติไทย

          เนื่องด้วยการพิจารณาว่าบุคคลใดได้มาซึ่งสัญชาติไทย เสียซึ่งสัญชาติไทย ได้กลับคืนมาซึ่งสัญชาติไทยหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของไทย ซึ่งหลักการได้มาซึ่งสัญชาติโดยการเกิดนั้น กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของไทยรับรองทั้งหลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิต และหลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน เมื่อกล่าวถึงการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนแล้ว หมายถึง บุคคลเมื่อเกิดในรัฐใด ย่อมได้รับสัญชาติของรัฐเจ้าของดิแดนนั้น ซึ่งประเทศไทยมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องทั้งการบัญญัติรับรองหลักดินแดนไม่มีเงื่อนไข บัญญัติรับรองอย่างมีเงื่อนไข บทบัญญัติซึ่งรับรองหลักดินแดนหายไป และบทบัญญัติยกเว้นการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน

          ในปัจจุบันปรากฎบทบัญญัติซึ่งยกเว้นหลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ในมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2551 ซึ่งมุ่งปฏิเสธสัญชาติของบุตรคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และบิดาหรือมารดามีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือสถานะเข้าเมืองในลักษณะไม่ถาวร ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวนอกจากจะส่งผลให้บุตรคนต่างด้าวที่เกิดไทยไม่ได้รับสัญชาติไทยแล้วนั้น ยังบัญญัติบทสันนิษฐานให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวเข้าเมืองผิดกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองอีกด้วย งานเขียนนี้จึงมุ่งอธิบายแนวคิดการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนและการยกเว้นหลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีบุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และวิเคราะห์บุคคลซึ่งตกอยู่ภายใต้หลักยกเว้นหลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนดังกล่าว รวมถึงผลของการยกเว้นหลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนและผลร้ายของการสันนิษฐานให้บุคคลดังกล่าวกลายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

 1.    แนวคิดการยกเว้นหลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน กรณีบุตรคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย

  • แนวคิดการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน ก่อนบังคับใช้มาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

(1)   พิจารณาตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456

หลักการได้มาซึ่งสัญชาติโดยการเกิดตามหลักดินแดนนั้น ถูกรับรองตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติมาโดยตลอด ตั้งแต่การเริ่มยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและรัฐผู้เป็นเจ้าของดินแดน ในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 ซึ่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 3(3)[1] ให้ทุกคนที่เกิดในราชอาณาจักรไทยมีสัญชาติไทย อันเป็นการยอมรับหลักการได้มาซึ่งสัญชาติโดยหลักดินแดนโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ กล่าวคือ ไม่คำนึงว่าบิดาหรือมารดาของบุคคลดังกล่าวมีสัญชาติไทยหรือไม่ เพียงปรากฎข้อเท็จจริงว่าบุคคลนั้นเกิดในประเทศไทยก็เพียงพอแก่การได้มาซึ่งสัญชาติไทยแล้ว ดังนั้น การเป็นคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศไทยจะไม่มีปรากฎเลยในยุคนั้น ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2456 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 มีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 จึงปรากฎว่าบุคคลซึ่งเกิดในประเทศไทย ย่อมได้สัญชาติไทยอย่างไม่มีเงื่อนไข

(2)   พิจารณาตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495

หลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนอย่างไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของไทยได้รับรองหลักสืบเนื่องต่อมา ดังปรากฎในมาตรา 7(3)[2] แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 มีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 จึงปรากฎว่าบุคคลซึ่งเกิดในประเทศไทย ย่อมได้สัญชาติไทยอย่างไม่มีเงื่อนไข

(3)     พิจารณาตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496

อย่างไรก็ดีแนวคิดเรื่องการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนอย่างไม่มีเงื่อนไขได้เปลี่ยนไป กล่าวคือ เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 โดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 ในมาตรา 7(3)[3] ซึ่งบัญญัติให้ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยจะมีสัญชาติไทยได้ต้องมีมารดาเป็นคนไทย ส่งผลหลักดินแดนเป็นเพียงองค์ประกอบอันได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาเท่านั้น ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าแนวคิดการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนนั้นไม่ปรากฎในกฎหมายฉบับนี้ แต่อย่างไรก็ดี การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7(3) ไม่ได้บังคับย้อนหลังก่อนมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2596 และมีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 มีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 จึงปรากฎว่า บุตรของคนไทยที่เกิดในประเทศไทยไม่อาจได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนเลย รวมถึงบุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยไม่อาจได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนเช่นกัน และส่งผลให้บุคคลดังกล่าวเป็นคนต่างด้าวแม้เกิดในประเทศไทย

(4)     พิจารณาตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2499

ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 โดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 25499 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 แนวคิดเรื่องการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนจึงกลับมาสู่กฎหมายว่าด้วยสัญชาติอีกครั้ง ภายใต้มาตรา 7(3)[4] แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 โดยกลับมาใช้ถ้อยคำดังเช่นที่เคยบัญญัติไว้ใน มาตรา 7(3) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 ฉบับเดิม กล่าวคือ ผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนอย่างไม่มีเงื่อนไข ดังนั้น ผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2508 แม้มีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวก็ได้สัญชาติไทย นอกจากนี้มาตรา 4[5] แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 25499 ยังบัญญัติย้อนหลังให้สัญชาติกับบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่มารดาไม่ใช่คนไทย ซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตามผลของการประกาศใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2456 นั้น ได้สัญชาติไทยภายหลังการเกิดโดยผลของมาตรา 4 ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เป็นต้นไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนได้การยอมรับตามกฎหมายอีกครั้ง

(5)     พิจารณาตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508

ต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 อันเป็นการนำบทบัญญัติรวบรวมกฎหมายว่าด้วยสัญชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2495 โดยมีการแก้ไขเรื่อยมา 4 ฉบับ และแก้ไขกฎหมายว่าด้วยสัญชาติให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งเริ่มบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ทั้งนี้ หลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนยังคงถูกรับรองไว้ในมาตรา 7(3)[6] กล่าวคือ บุคคลซึ่งเกิดในประเทศไทยย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดแม้มีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่อย่างไรก็กฎหมายฉบับนี้เริ่มกำหนดข้อยกเว้นการได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนไว้ในมาตรา 8[7] ซึ่งเป็นการยกเว้นกรณีการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนอันเนื่องมาจากมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ซี่งบิดาหรือมารดามีสถานะพิเศษทางการทูตตามกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น คนที่เกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2508 จนถึงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงมีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน หากไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบตามมาตรา 8 ซึ่งเป็นผลให้บุคคลดังกล่าวถูกยกเว้นไม่ได้สัญชาติไทย

(6)     พิจารณาตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 (พ.ศ. 2515)

จนกระทั่งถึงยุคที่มีการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในกลุ่มประเทศอินโดจีน ซึ่งรัฐไทยมีความหวาดหวั่นต่อลัทธิคอมมิวนิสต์และบุคคลต่างด้าวซึ่งอพยพหรือลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยจะนวนมากว่าอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ รัฐไทยซึ่งปกครองโดยคณะปฏิวัติขณะนั้น ได้อ้างถึงความมั่นคงของประเทศและอ้างถึงความไม่จงรักภักดีบุตรคนต่างด้าวดังกล่าวจึงได้มีการออกประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 337 (พ.ศ. 2515) ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “ปว. 337” มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 อันมีผลเป็นปฏิเสธสัญชาติของบุคคลกลุ่มดังกล่าว และเป็นการยกเว้นการได้มาซึ่งสัญชาติโดยหลักดินแดนตามมาตรา 7(3)[8] แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 กล่าวคือ

  • ข้อ 1[9] แห่งปว. 337 มีผลย้อนหลังอันเป็นการถอนสัญชาติของบุคคลซึ่งเกิดในประเทศไทย โดยมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว หรือมีมารดาเป็นคนต่างด้าวกรณีที่ไม่ปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และปรากฎข้อเท็จจริงว่าบิดาหรือมารดานั้นมีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือมีสถานะเข้าเมืองลักษณะไม่ถาวร ดังนั้น บุคคลซึ่งมีองค์ประกอบข้างต้นแม้จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนก่อนประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ ก็ต้องเสียสัญชาติไทยตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เป็นต้นไป
  • ข้อ 2[10] แห่งปว. 337 มีผลยกเว้นหลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนของบุคคลเป็นคนต่างด้าวกรณีที่ไม่ปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และปรากฎข้อเท็จจริงว่าบิดาหรือมารดานั้นมีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือมีสถานะเข้าเมืองลักษณะไม่ถาวร ดังนั้น บุคคลซึ่งมีองค์ประกอบข้างต้นแม้จะเกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เป็นต้นไป แต่ก็ถูกยกเว้นการได้มาซึ่งสัญชาติโดยหลักดินแดน

จากบทบัญญัติข้างต้นจะเห็นว่าการพิจารณาการได้มาซึ่งสัญชาติของบุตรคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย จะพิจารณาจากสถานะการเข้าเมืองของบิดาก่อน กล่าวคือ หากปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น ไม่จำต้องพิจารณาสถานะของมารดาอีก ดังนั้น หากปรากฎว่าบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว และบิดามีสถานะเข้าเมืองลักษณะถาวร แม้ว่ามารดามีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือมีสถานะเข้าเมืองลักษณะไม่ถาวร บุตรก็มีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ไม่อยู่ในบังคับของข้อยกเว้นการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตามข้อ 2 แห่งปว. 337 ทั้งนี้ ในกรณีไม่ปรากกฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็พิจารณาเพียงสถานะการเข้าเมืองของมารดาเช่นเดียวกัน ดังนั้น องค์ประกอบของปว. 337 จึงส่งผลกระทบต่อบุตรของบิดาหรือมารดาผู้มีสัญชาติไทย ให้ถูกยกเว้นไม่ได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนด้วย กล่าวคือ กระทบต่อบุตรของมารดาสัญชาติไทยกับบิดาต่างด้าวโดยชอบด้วยกฎหมายผู้มีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือมีสถานะเข้าเมืองลักษณะไม่ถาวร และกระทบต่อบุตรของบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายสัญชาติไทยกับมารดาต่างด้าวผู้มีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือมีสถานะเข้าเมืองลักษณะไม่ถาวร

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบทบัญญัติของปว. 337 จะมุ่งให้เกิดผลต่อบุตรของคนต่างด้าวอันขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้างเหตุของการปฏิเสธสัญชาติด้วยบทสันนิษฐานว่า บุคคลดังกล่าวแม้มีสัญชาติไทย แต่ก็ไม่มีความจงรักภักดีต่อประเทศไทย เพื่อป้องกันและรักษาความมั่นคงของชาติ ไม่สมควรให้บุคคคลดังกล่าวมีสัญชาติไทยอีกต่อไป แต่แนวคำพิพากษาของศาลในการพิจารณาคดีของบุคคลที่อาจถูกถอนสัญชาติ หรือไม่ได้สัญชาติไทยตามกฎหมายฉบับดังกล่าวนั้น มุ่งคุ้มครองและรักษาสิทธิมนุษยชนของบุคคลเป็นหลัก กล่าวคือ ตีความว่าบิดาตามความหมายของบทบัญญัตินี้หมายถึงบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น (ดู ฎ. 2486/2524) และการพิจารณาสถานะการเข้าเมืองของบิดาหรือมารดานั้น ต้องเป็นการเข้ามาอยู่โดยข้อเท็จจริง หากปรากฎว่าเป็นบิดาหรือมารดาเป็นผู้เกิดในประเทศไทยแล้วนั้น ไม่อาจนำบทบัญญัตินี้ปฏิเสธสัญชาติแก่บุตรของบุคคลดังกล่าวได้(ดู ฎ. 1450/2536) เป็นต้น

  • แนวคิดการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน เมื่อบังคับใช้มาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

เนื่องด้วยบทบัญญัติการปฏิเสธสัญชาติโดยหลักดินแดนของปว. 337 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นยกเว้นหลักการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนของบุตรคนต่างด้าวนั้น กระทบต่อการได้มาซึ่งสัญชาติโดยหลักดินแดนของบุตรของคนสัญชาติไทยในบางกรณีดังที่ได้กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ดี ได้มีการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ซึ่งมาตรา 3[11] มีผลให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 (พ.ศ. 2515) และมาตรา 5 บัญญัติมาตรา 7 ทวิ เพิ่มเติมในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ดังนั้น หลังวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 กลายเป็นบทบัญญัติยกเว้นการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ตามมาตรา 7(2)[12] แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508  ดังนี้

มาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 บัญญัติว่า “ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในกรณีที่เห็นสมควรรัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ให้ถือว่าผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น”

          ดังจะเห็นได้ว่า มาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่งนั้น ยังคงหลักการเดิมของปว. 337 ไว้ กล่าวคือ การปฏิเสธสัญชาติไทยของบุตรคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย อันเป็นการยกเว้นการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ทั้งนี้ บุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่งข้างต้นจะเป็นบุคคลใดบ้างนั้น จะขอกล่าวโดยละเอียดในหัวข้อถัดไป คือ บุคคลผู้อยู่ภายใต้หลักยกเว้นการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน กรณีบุตรคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์ว่าบุคคลใดบ้างที่จำต้องตกอยู่ภายใต้ผลของมาตรา 7 ทวิ ซึ่งขอนำมาเสนอต่ออีกครั้งในวันพรุ่งนี้

 

หนังสืออ้างอิง :

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551.

พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร. คำอธิบายกฎหมายสัญชาติไทย ภายใต้ พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งถูกแก้ไขโดย พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2 และ 3) พ.ศ. 2535. พิมพ์ครั้งที่ 4.กรุงเทพมหานคร: บริษัทสำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2548.

พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร. คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ภาคนำ: แนวความคิดทั่วไปเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ของเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ ภาคที่ 1 การจัดสรรเอกชนในทางระหว่างประเทศ. พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพมหานคร: บริษัทสำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2543.

 


[1] มาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 บัญญัติว่า “บุคคลเหล่านี้ได้บัญญัติว่าเป็นคนไทย คือ

(3) บุคคลผู้กำเนิดในพระราชอาณาจักรสยาม”

[2] มาตรา 7(3) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 บัญญัติว่า “บุคคลดั่งต่อไปนี้ ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักร”

[3] มาตรา 7(3) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 บัญญัติว่า “บุคคลดั่งต่อไปนี้ ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรโดยมารดาเป็นคนไทย”

[4] มาตรา 7(3) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2499 บัญญัติว่า “บุคคลดั่งต่อไปนี้ ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย”

[5] มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2499 บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมารดาไม่ใช่คนไทย ในระหว่างใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 ย่อมได้สัญชาติไทย”

[6] มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 บัญญัติว่า “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย”

[7] มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 บัญญัติว่า “ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้สัญชาติไทย ถ้าขณะที่เกิดบิดาหรือมารดาเป็น

(1) หัวหน้าคณะผู้แทนทางทูตหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางทูต

(2) หัวหน้าคณะผู้แทนทางกงสุลหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางกงสุล

(3) พนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญขององค์การระหว่างประเทศ

(4) คนในครอบครัวซึ่งเป็นญาติอยู่ในความอุปการะหรือคนใช้ ซึ่งเดินทางจากต่างประเทศมาอยู่กับบุคคลใน (1) (2) หรือ (3)”

[8] เพิ่งอ้าง, เชิงอรรถที่ 6.

[9] ข้อ 1 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 (พ.ศ. 2515) บัญญัติว่า “ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะทีเกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น”

[10] ข้อ 2 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 (พ.ศ. 2515) บัญญัติว่า “บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น”

[11] มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า “ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515”

[12] มาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

 (2) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง”

หมายเลขบันทึก: 503656เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2012 01:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กันยายน 2012 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เขียนแบบอ่านยากเกินไปหรือเปล่าคะ ในการบันทึกนี้เป็นบันทึกความเข้าใจ เขียนให้จบไปเป็นเรื่องๆ จะดีกว่าไหม ?

การสรุปความคิดแบบเข้าใจๆ ก็คือ สิ่งที่ต้องการบอก ก็คือ ม.๗ ทวิ เริ่มต้นใน พ.ศ.๒๕๓๕ แต่มันมีผลได้ ๒ ทาง กล่าวคือ

ในประการแรก ม.๗ ทวิโดยตัวมันเองวิ่งไปข้างหน้า จึงทำให้คนต่างด้าวภายใต้เงื่อนไขที่เกิดตั้งแต่ ๒๖/๒/๒๕๓๕ ไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนจนกว่าจะได้รับคำสั่งอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่อย่างไรก็ตาม ๗ ทวิที่มีผลต่อคนที่เกิดภายใต้ ๗ ทวิ ก็จะถูกจำแนกออกเป็น ๒ พวก กล่าวคือ คนที่เกิดภายใต้ ม.๗ ทวิ เก่า กล่าวคือ คนที่เกิดระหว่าง ๒๖/๒/๒๕๓๕-๒๗/๒/๒๕๕๕๑ และคนที่เกิดภายใต้ ม.๗ ทวิ ปัจจุบัน กล่าวคือ คนที่เกิดระหว่างวันที่ ๒๘/๒/๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบัน

ในประการที่สอง ม.๗ทวิที่มีผลย้อนหลังโดย ม.๑๑ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ.๒๕๓๕ กล่าวคือ คนที่เกืดระหว่าวันที่ ๑๐/๔/๒๔๕๖ จนถึงวันที่ ๒๕/๒/๒๕๓๕ ซึ่งก็อาจจำแนกต่อไปเป็น ๒ ประเภทย่อย กล่าวคือ (๑) คนเกิดในประเทศไทยระหว่าง ๑๐/๔/๒๔๕๖ จนถึง ๑๓/๑๒/๒๕๑๕ จึงมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด และมาเสียสัญชาติไทยโดย ข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ เมื่อวันที่ ๑๔/๑๒/๒๕๑๕ และมาตกอยู่ภายใต้ ม.๗ ทวิ เมื่อวันที่ ๒๖/๒/๒๕๓๕ และมาตกอยู่ภายใต้ ม.๒๓ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๘๑๒/๒๕๕๑ สรุป จึงเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิดที่เสียสัญชาติไทยแล้วและกลับคืนสัญชาติไทยแล้ว และ (๒) คนเกิดในประเทศไทยระหว่างวันที ๑๔/๑๒/๒๕๑๕ จนถึง ๒๕//๒๕๓๕ จึงไม่เคยมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด เกิดมาภายใต้ ปว.๓๓๗ จึงไม่มีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของ ข้อ ๒ แห่ง ปว.๓๓๗ และมาตกอยู่ภายใต้ ม.๗ ทวิ เมื่อวันที่ ๒๖/๒/๒๕๓๕ และมาตกอยู่ภายใต้ ม.๒๓ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๘๑๒/๒๕๕๑ สรุป จึงเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยและกลับมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนแล้ว

อันนี้ เป็นภาพรวมในสมอง อ.แหววนะคะ ในส่วนที่เกี่ยวกับ ม.๗ ทวิ การเริ่มที่ตัวของ ม.๗ ทวิก่อน จะเล่าง่ายกว่าไหมคะ ที่ปลาทองเขียนออกมา อ.แหววว่า อ่านยาก และเริ่มต้นจากผลของ ม.๗ ทวิ ที่ถูกส่งกลับไปต่อคนในอดีตโดย มาตรา ๑๑ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบัยที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

สังเกตอีกว่า คนที่โดยผลกระทบของ ม.๗ ทวิ โดยผลย้อนหลังที่สร้างโดย ม.๑๑ นี้ จึงเป็นเหยื่อในอดีตของ ม.๗ ทวิ และในวันนี้ หากพวกเขายังใช้สิทธิใน ม.๒๓ ไม่ได้ เขาจึงยังเป็นเหยื่อของความไม่มีประสิทธิภาพทางกฎหมายที่จะขจัดปัญหาที่สร้างโดย ม.๗ ทวิ นั่นเอง

ขอแนะนำให้ปลาทองตั้งชื่อบันทึกนี้ว่า "คนโดนผลกระทบของ ม.๗ ทวิ โดยผลย้อนหลังที่สร้างโดย ม.๑๑ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

ตัวอย่างของคนกลุ่มนี้ ก็คือ นางสาวเดือนและนางสาวดาว ยอดขาว ลองไปหัดเขียนวิเคราะห์ดูนะคะ

คำถามต่อไปด้วยว่า ครอบครัวอุ่มจันทร์ได้รับผลร้ายจาก ม.๗ ทวิ ไหมคะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์

อ่านยากจริงๆด้วยค่ะอาจารย์ ขอแก้ไขใหม่นะคะ ฮึบๆ

ผมมีปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับ ปว. 337

ข้อ 1 "ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือ มารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และ ในขณะที่เกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น

(1) ผู้ได้รับผ่อนผัน... เป็นพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ได้รับอนุญาตเข้าในราชอาณาจักรชั่วคราว

(3) ผู้เข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต "

ในคำอธิบายที่เคยอ่านมา อธิบายว่าบุตรที่เกิดจากมารดาสัญชาติไทยหรือเข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง จะไม่ถูกถอนสัญชาติไทย แต่ผมเห็นในประกาศใช้คำว่า "หรือ" นั่นหมายความว่าบุตรที่จะถูกถอดสัญชาติควรเป็นบุคคลที่ในขณะที่เกิด บิดาหรือมารดาอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสองกลุ่มนี้ คือ

ก) บิดาเป็นต่างด้าว และเป็นผู้มีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งของ (1) - (3)

ข) มารดาเป็นต่างด้าว ไม่ปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผู้มีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งของ (1) - (3)

 

รบกวนผู้รู้ช่วยอธิบายสิ่งที่ถูกต้องให้ผมเข้าใจด้วยครับ

ขอเรียนถามคะ

บิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ถือหนังสือเดินทาง Non B  มีลูกเกิดในเมืองไทย ตั้งแต่ปี่ 2531  บิดา-มารดา เป็นผู้สอนศาสนา ตั้งแต่ปี 2530 จนถึงปัจจุบัน บุตรเมืองจบชั้น ป.4 ในประเทศไทย ได้รับทุนเอกชนไปศึกษาต่อต่างประเทศ จนถึงอายุ 27 ปี กลับมาทำงานในประเทศไทย เป็นครูและสอนศาสนา ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน

สามารถขอสัญชาติไทยได้อย่างไรบ้างคะ

บุตรของบิดาสัญชาติไทย มารดาต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือไม่ถาวร ไม่อยู่ในบังคับของ ปว.337 ข้อ1 นะ เพราะลำดับแรกต้องพิจารณาจากบิดาเป็นหลัก ในเมื่อไม่ปรากฎบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายค่อยมาพิจารณามารดาในเมื่อปรากฎบิดาและบิดาสัญชาติไทย ย่อมไม่เข้าเงื่อนไขที่ว่าบิดาเป็นคนต่างด้าว โดยไม่ต้องพิจารณาถึงสัญชาติและสถานะของมารดาเลย

บุตรของบิดาสัญชาติไทย มารดาต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือไม่ถาวร ไม่อยู่ในบังคับของ ปว.337 ข้อ1 นะ เพราะลำดับแรกต้องพิจารณาจากบิดาเป็นหลัก ในเมื่อไม่ปรากฎบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายค่อยมาพิจารณามารดาในเมื่อปรากฎบิดาและบิดาสัญชาติไทย ย่อมไม่เข้าเงื่อนไขที่ว่าบิดาเป็นคนต่างด้าว โดยไม่ต้องพิจารณาถึงสัญชาติและสถานะของมารดาเลย

สรุปเป็นแบบชาวบ้านๆอ่านมั่งครับ หรือเป็น Infographic ก็ดีขอรับเจ้านาย

บิดามารดาเป็นคนไทยแต่ตอนนี้ตายหมดแล้วมีวิธีช้วยบ้างมั้ยค่ะลำบาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท