พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

เรื่องเล่าจากคุณฟุ้ง (พยานในเคสคุณยายเรียน เวียนวัฒนชัย) บุตรชายของอดีตคนในบังคับฝรั่งเศส เชื้อชาติญวน ซึ่งแปลงสัญชาติเป็นไทย เมื่อ พ.ศ.2489


เรื่องเล่าจากคุณฟุ้ง (พยานในเคสคุณยายเรียน เวียนวัฒนชัย) บุตรชายของอดีตคนในบังคับฝรั่งเศส เชื้อชาติญวน ซึ่งแปลงสัญชาติเป็นไทย เมื่อ พ.ศ.2489 -- ทำให้เข้าใจถึงครอบครัวเวียนวัฒนชัย และเห็นประวัติศาสตร์การจัดการประชากรของรัฐผ่านตัวละครในอดีตที่อายุร่วม 100 ปี --จากการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2555 เพื่อประกอบความเห็นทางกฎหมาย ต่อกรณีสัญชาติไทยของคุณยายเรียน เวียนวัฒนชัย

 

 

เรื่องเล่าจากคุณฟุ้ง (พยานในเคสคุณเรียน เวียนวัฒนชัย)

บุตรชายของ อดีตคนในบังคับฝรั่งเศส เชื้อชาติญวน ซึ่งแปลงสัญชาติเป็นไทย

 

เมื่อวานได้คุยกับคุณฟุ้ง ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะสอบปากคำ เป็นพยานสำหรับเคสของคุณเรียนต่อไป

แต่ก่อนจะตอบโจทย์ว่า “คุณฟุ้งจะมาเป็นพยานให้กับคุณเรียน เวียนวัฒนชัย” ในประเด็นใดได้บ้าง อยากจะขอเล่าเรื่องที่รับฟังจากคุณฟุ้งเสียก่อน เพราะเรื่องราวบางช่วงตอนที่รับฟังจากคนในอดีตที่เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ.2474 ทำให้เห็นความเป็นมาของครอบครัวเวียนวัฒนชัยในสมัยนั้น ประการสำคัญ คือ เราเห็นประวัติศาสตร์การจัดการประชากรของรัฐในสมัยนั้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม และฝรั่งเศส ผ่านตัวละครของคนในอดีตที่เกิดเมื่อ 100 ปีที่แล้ว

 

และเรื่องเล่าจากคุณฟุ้ง จะนำไปสู่การปะติดปะต่อกับ ประวัติศาสตร์ของครอบครัวเวียนวัฒนชัย ได้ต่อไป

เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นการเล่าเรื่องโดย คุณฟุ้ง  ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่า นายกี นางแฮ เวียนวัฒนชัย  ตลอดจนนางต่าง และนายกาศได้เสียชีวิตลงแล้ว

 

โดยบันทึกฉบับนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 

1. ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเรื่องเล่าจากคุณฟุ้ง

2.บทวิเคราะห์บางส่วนโดยผู้เขียน เพื่อนำไปสู่การจัดทำความเห็นทางกฎหมายต่อไป

 

ประวัติของคุณฟุ้ง

                ปัจจุบันอายุ 81 ปี เกิดที่บ้านหนองแสง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เมื่อ พ.ศ.2474 จากบิดาชื่อ นายกาศ และมารดาชื่อ นางต่าง คุณฟุ้งเป็นคนสัญชาติ และใช้สัญชาติไทยมาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยมีปัญหาเรื่องสัญชาติแต่อย่างใด

                ปัจจุบันเกษียณอายุราชการ และกลับไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดนครพนม

เรื่องเล่าเกี่ยวกับ คุณเรียน เวียนวัฒนชัย

                คุณฟุ้งรู้จักกับคุณเรียน มาตั้งแต่อายุประมาณ 6-7 ปี (เท่าที่จำความได้) นางเรียนอายุน้อยกว่าตนเอง 1-2 ปี เป็นเพื่อนเล่นสมัยเด็กที่สนิทสนมกัน ไปมาหาสู่กันประจำ โดยครอบครัวคุณฟุ้งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหนองแสง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม และคุณเรียนก็อาศัยอยู่กับครอบครัวบริเวณนั้น (เห็นคุณเรียนอยู่บริเวณนั้น อย่างน้อยที่สุดก็คือ เห็นตั้งแต่อายุ 6-7 ปี) คุณฟุ้งเอง ก็เชื่อมาตลอดว่าคุณเรียนเป็นคนสัญชาติไทย เพราะเห็นว่าอยู่ตรงนั้นมาตั้งแต่เด็ก ก็น่าจะเกิดที่นั่น

                คุณฟุ้งรู้ว่าบิดามารดาของคุณเรียน คือ นายกี และนางแฮ

                (พอถามคุณฟุ้งว่า รู้ไหมว่าคุณเรียนมีชื่ออื่นอีกหรือไม่ ?)  -- คุณฟุ้ง เล่าว่า : มีชื่อเป็นภาษาเวียดนาม “เซ่า”  แต่ตัวคุณฟุ้งนั้นไม่เคยเรียกชื่อนี้ คนละแวกนั้น รู้จักชื่อว่า “เรียน” มาตลอด คุณฟุ้งบอกว่า คนเวียดนามแถวนั้น ใช้ชื่อเวียดนามเฉพาะในครอบครัว

                ในคราวที่คุณเรียนแต่งงานกับคนเชื้อสายญวน ตนเองก็รู้จัก (เป็นคนญวนในอีกหมู่บ้าน คือ หมู่บ้านวัดป่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม) พอคุณเรียนย้ายไปอยู่กับสามีและเปิดร้านตัดเสื้อ (ชื่อร้าน เกียรติเทเลอร์) กับสามี ก็ยังติดต่อกับตนเองอยู่ ทั้งนี้เพราะคุณฟุ้งเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร คุณเรียนและครอบครัวเลยต้องมาเสียภาษี

                ทุกวันนี้ก็ยังติดต่อกับคุณเรียน เป็นครั้งคราว และรู้จักกับคุณประพันธ์ บุตรชายคนโตของคุณเรียน

 

เรื่องเล่าเกี่ยวกับ ครอบครัวเวียนวัฒนชัย

                คุณฟุ้งรู้จักนายกี และนางแฮ เคยเจอหน้าบ่อยครั้งเพราะทั้งสองคนเป็นเพื่อนสนิทของบิดาและมารดาตนเอง

                คุณฟุ้ง รู้ด้วยว่าแต่ก่อนนายกีมีนามสกุลเป็นภาษาเวียดนาม ทั้งนี้เพราะว่า นายกีและบิดาตนเองไปเปลี่ยนนามสกุลเป็นภาษาไทยพร้อมๆ กัน

 

คุณกี และคุณกาศ เป็นคนที่มาจากประเทศเวียดนาม

ทำไม ถึงมีนามสกุลเวียนวัฒนชัย ?

                “นายกาศ บิดาของคุณฟุ้ง เคยบอกว่า : นายกาศและนายกี เป็นคนเชื้อชาติญวนที่อยู่อาศัยในแถบอินโดจีน โดยคนที่อาศัยอยู่ในอินโดจีนช่วงประมาณ พ.ศ.2450 เป็นคนในบังคับของประเทศฝรั่งเศสแทบทั้งนั้น แล้วทั้งสองก็อพยพมาอยู่ที่จังหวัดนครพนม  เข้ามาก่อนเกิดสงครามโลก โดยทั้งสองเชื่อมาตลอดว่าตนเองเป็นคนสัญชาติฝรั่งเศส”

                พอนายกาศ และนายกีมาอยู่ในประเทศไทย เมื่อประมาณ 2458 (อ้างอิงจากเอกสารใบต่างด้าวของนายกี) ทั้งสองคนอยากแปลงสัญชาติเป็นคนไทยในช่วงประมาณ พ.ศ.2480 เพราะทั้งสองเชื่อว่าตนเองเป็นคนสัญชาติฝรั่งเศส

                โดย ขณะนั้นนายกาศ ทำอาชีพรับเหมา สนิทสนมกับข้าหลวงฯ[1]  จึงมีฐานะดีกว่านายกีที่เป็นชาวสวน ทั้งสองคนก็ขอเปลี่ยนนามสกุลจากภาษาเวียดนาม มาใช้นามสกุลไทย โดยครอบครัวนายกีใช้นามสกุล “เวียนวัฒนชัย”  ส่วนครอบครัวของตนใช้นามสกุล “...”(ปรากฏตามใบเปลี่ยนชื่อสกุลของทั้งสองครอบครัว) ด้วยเหตุผลคือ ตั้งใจจะแปลงสัญชาติเป็นคนไทย  แต่พอเปลี่ยนนามสกุลแล้ว นายกีไม่มีเงินเพียงพอจึงไม่สามารถแปลงสัญชาติเป็นคนไทยได้ แต่บิดาของตนเองคือนายกาศแปลงสัญชาติเป็นไทยได้สำเร็จ (ปรากฏตามราชกิจจานุเบกษา เมื่อปี พ.ศ.2489 –ปรากฏชื่อนายกาศ นามสกุล “.....” แปลงสัญชาติเป็นไทย[2]) ทำให้บุตรของนายกาศทุกคน สามารถใช้สัญชาติไทยได้มาโดยตลอด

               

เรื่องเล่าเกี่ยวกับนางแฮ ...ผ่านนางต่างผู้เป็นมารดาของนายฟุ้ง

                นายฟุ้ง พอทราบเรื่องราวของนางแฮ ผ่านคำบอกเล่าของนางต่าง (มารดาของตนเอง) ดังนี้

“นางแฮ เป็นพี่สาวคนโตของนางต่าง ทั้งครอบครัวมีพี่น้อง 4 คน นางต่างเล่าว่าตนเองเกิดประเทศไทย และพี่น้องทุกคนเกิดประเทศไทย”

 

“มารดาของนางต่างเสียชีวิตตั้งแต่นางต่างอายุประมาณ 10 ปี ส่วนบิดามีภรรยาใหม่ ทำให้นางต่างและพี่น้องที่เหลือ ถูกฝากเลี้ยงไว้ที่ “มิซซัง” (โบสถ์ของศาสนาคริสต์คาทอลิก ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านหนองแสง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม มีแม่ชีเป็นผู้ดูแล)[3] ตั้งแต่เด็ก”

 

บทวิเคราะห์เพิ่มเติม โดยผู้เขียนเพื่อตั้งเป็นประเด็นสำหรับจัดทำความเห็นทางกฎหมาย

                พยานบุคคลเพื่อรับรองการเกิดของนางเรียน  และรับรองเรื่องชื่อของนางเรียน

                การรับรองการเกิดในประเทศไทยของนางเรียน – ประเด็นนี้จะเห็นว่า นายฟุ้งเอง ก็ไม่ใช่พยานบุคคลที่รับรู้การเกิดในประเทศไทยของนางเรียนอย่างชัดเจน แต่รับรองย้อนได้ถึงช่วงเวลาที่นางเรียนอายุ 5-6 ปีเท่านั้น  ว่าเห็นนางเรียนอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่เด็กจริง

                อย่างไรก็ตาม การรับฟังปากคำของนางฟุ้ง เรื่องการเกิดในประเทศไทยของนางเรียน ต้องเป็นการรับฟัง ผ่านเรื่องเล่าแวดล้อมของนายฟุ้ง ที่รู้จักและคุ้นเคยกับครอบครัวของนางเรียนมาตั้งแต่สมัยเด็ก

                การรับรองเรื่องชื่อของนางเรียน – ประเด็นนี้ นายฟุ้งเอง ก็ไม่คุ้นเคยกับชื่อเก่าของนางเรียน (“เซ่า” หรือ “เช่า”) นัก การสืบพยานส่วนนี้ต้องรับฟังประกอบ เอกสารของนางเรียน เวียนวัฒนชัย ซึ่งปรากฏชื่อเก่า คือ “เช่า” ด้วย

 

                ความเป็นไปได้ที่นางแฮจะเกิดประเทศไทย ? –จะนำไปสู่สิทธิในสัญชาติไทยของนางแฮหรือไม่??

                จากการรับฟังข้อมูลของนางแฮ ที่คุณฟุ้งเคยรับฟังจากนางต่างมารดาของตนเองนั้น  มีความเป็นไปได้ที่นางแฮ และพี่น้องจะเกิดในประเทศไทยจริง (คำนวนปีที่นางแฮเกิดคือ ประมาณ พ.ศ.2450) แต่คนที่เกิดในสมัยนั้นเป็นการเกิด ในช่วงที่ประเทศไทยเอง เพิ่งเริ่มบันทึกคนลงในทะเบียนของรัฐตาม “พระราชบัญญัติสำหรับทำบาญชีคนในพระราชอาณาจักร พ.ศ.2452” และถัดจากนั้นประเทศไทยก็จะมีการจัดทำทะเบียนคนเกิด คนตาย ตาม “พระราชบัญญัติการตรวจสอบบัญชีสำมะโนครัว และการจดทะเบียนคนเกิด คนตาย คนย้ายตำบล พ.ศ.2461”  เพราะฉะนั้นการบันทึกคนลงในทะเบียน ในสมัยนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่สำหรับรัฐไทย มีความเป็นไปได้ที่ นางแฮและพี่น้องแม้จะเกิดประเทศไทย แต่ก็ไม่เคยได้รับการบันทึกใดๆ เพราะฉะนั้นการจะถามถึง เอกสารที่รับรองการเกิด จำพวกสูติบัตร ย่อมเป็นไปได้ยาก

ประกอบกับข้อเท็จจริงเรื่องของการที่กำพร้าบิดามารดาตั้งแต่อายุ 16 ปี (อายุของนางแฮ) ความเป็นไปได้ของผู้เยาว์ในสมัยนั้นจะขวนขวายเพื่อให้ตนเองมีเอกสารซักชิ้นนั้น มีความเป็นไปได้แค่ไหนในช่วงเวลานั้น

                นอกจากนี้ขณะนี้ ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใด ๆ ว่านางแฮเคยไปรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

                ประกอบกับ แม้การใช้ชีวิตในวัยเยาว์ที่เป็นเด็กกำพร้า แต่อยู่ในความดูและของ “มิซซัง” ทำให้นางแฮและพี่น้องก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ ไม่เคยต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการมีเอกสารประจำตัวใดๆในสภาวะการณ์ขณะนั้น

 

                อีกประการ คือ ประเด็นเรื่องนางแฮ เกิดก่อน พระราชบัญญัติสัญชาติฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติแปลงชาติ ร.ศ.130 (พ.ศ.2454) และพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456 การพิจารณาสัญชาติของนางแฮ ย่อมต้องเป็นไปตามมูลนิติธรรมประเพณีว่าด้วยสัญชาติ ของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเด็นคำถามว่าการตีความ “สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน” มีอยู่จริงในช่วงก่อนกฎหมายสัญชาติที่เป็นลายลักษณ์อักษรของประเทศไทยจริงหรือไม่ ??? >>> สัญชาติไทยก่อนกฎหมายว่าด้วยสัญชาติไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษร พิจารณาจากอะไร ???

 

 



[1] เปรียเทียบได้กับ “ผู้ว่าราชการจังหวัด”ในสมัยนี้

[2] ปรากฏตามเอกสาร เป็นการแปลงสัญชาติเป็นไทย ตาม พระราชบัญญัติแปลงชาติ ร.ศ.130 (พ.ศ.2454)

[3] “มิซซัง” นี้เคยถูกทำลายเพราะถูกระเบิดจากอีกฝั่งในช่วงสงคราม เมื่อปี พ.ศ.2484-2486 แต่ปัจจุบันพื้นที่ตรงนั้นถูกสร้างโบสถ์ขึ้นมาใหม่แทน

หมายเลขบันทึก: 503655เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2012 00:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2012 12:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เขียนดีมากค่ะ เชอรี่ แนะนำให้เอาบทความนี้ไปขอรับคะแนนจาก อ.อ้อม ควรอ้างอิงวันเวลาที่สัมภาษณ์ และวิธีการสัมภาษณ์นะคะ

คำว่า "หนองแสดง" น่าจะไม่ใช่นะ น่าจะหนองแสง คำว่า "ใบต่างด้าว" ควรใช้คำเต็มไหมว่า "ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว"

ดีใจ ที่ศิษย์เป็น คนดี ในสังคมต่อไป นะคะ เป็นเด็กดี + เป็น คนดี เพราะทำดี นะคะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ แก้ไขเรียบร้อยแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท