เหวียตเกี่ยวในประเทศไทยกับความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม


ความรักความผูกพันของชาวเหวีตเกี่ยวต่อประเทศไทยที่ว่านี้เห็นได้ชัดจากการแต่งกายแบบไทย การรับประทานอาหารไทย การรำวงร้องรำทำเพลง การเล่นกลองยาวในงานพบปะในหมู่ชาวเหวียตเกี่ยว การแขวนพระเครื่อง การพูดไทยที่ชัดถ้อยชัดคำถูกอักขระ และที่สำคัญที่สุด คือ การติดพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในบ้านของเหวียตเกี่ยวในบางจังหวัดในเวียดนาม


“เหวียตเกี่ยวในประเทศไทยกับความสัมพันธ์ไทย – เวียดนาม” เป็นผลงานการศึกษาวิจัยของ ดร.ธัญญาทิพย์ ศรีพนา นักวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยแม่น้ำโขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับรางวัล ผลงานวิจัยดีเด่นสำหรับอาจารย์และนักวิจัยประจำปี 2548 จากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

 

อาจารย์ธัญญาทิพย์ใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี จากเดือนสิงหาคม 2545 ถึงเดือนกันยายน 2548 พื้นที่ในการวิจัยนั้นอยู่ในจังหวัดภาคอีสานในประเทศไทยและหลายจังหวัดในเวียดนาม เช่น กรุงฮานอย (Hanoi) นครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh City) นครห่ายฝ่อง หรือ ไฮฟอง (Hai Phong) หว่าบิ่งห์ (Hoa Binh) นามดิ่ง (Nam Dinh) นิงบิ่งห์ (Ninh Binh) เป็นต้น โดยอาจารย์ธัญญาทิพย์ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลในรูปแบบการสัมภาษณ์ การมีส่วนร่วมพบปะ การประชุมในงานฉลองโอกาสต่างๆ ในชุมชนเหวียตเกี่ยวในเวียดนามและในประเทศไทย

 

อาจารย์ธัญญาทิพย์อธิบายความหมายของคำว่า “เหวีตเกี่ยว” ไว้ว่า "เหวียตเกี่ยว (Viet Kieu)" เป็นคำในภาษาเวียดนาม หมายถึง ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่นอกประเทศเวียดนาม หรือชาวเวียดนามที่มีถิ่นฐานอาศัยอยู่นอกประเทศ ชาวเวียดนามที่เข้ามาในประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเรียกชาวเวียดนามเหล่านี้ว่า "ชาวเวียดนามอพยพ" หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า "ญวนใหม่" แต่ชาวเวียดนามเรียกกันเองว่า "เหวียตเหมย (Viet moi)" หรือ "เหวียตใหม่" หรือ "เหวียตเกี่ยวเหมย (Viet Kieu moi)" สำหรับชาวเวียดนามที่เข้ามาในประเทศไทย ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกว่า "เหวียตกู๋ (Viet cu)" หรือ "เหวียตเก่า" หรือ "เหวียตเกี่ยวกู๋ (Viet Kieu cu)" หรือ "ญวนเก่า" นั่นเอง

 

อาจารย์ธัญญาทิพย์พยายามที่จะศึกษาเหวียตเกี่ยวจากตัวเหวียตเกี่ยวเอง มิใช่จากเอกสารทางการของไทยที่มีอคติต่อคนกลุ่มนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื้อหางานวิจัยชิ้นนี้ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับชาวเวียดนามที่เข้ามาในประเทศไทยหรือสยามนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเหวียตเกี่ยวให้กับสังคมไทยและสังคมเวียดนาม ทั้งความรู้ที่เกี่ยวกับชาวเหวียตเกี่ยวในประเทศไทยและชาวเหวียตเกี่ยวที่เคยเป็นเวียดนามอพยพที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ขณะนี้ได้กลับไปตั้งรกรากที่เวียดนามแล้ว

 

จากผลการศึกษาวิจัยของอาจารย์ธัญญาทิพย์พบว่า การเข้ามาในประเทศไทยของชาวเวียดนามมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในแต่ละยุคสมัยการเข้ามาในประเทศไทยของชาวเวียดนามมีสาเหตุต่างๆ กัน คือ เพื่อการค้าหรือการเผยแพร่ศาสนา หรือหนีความอดอยาก หรือหนีการปราบปรามทางศาสนาจากกษัตริย์เวียดนามเอง หรือแม้แต่หนีล่าถอยจากการสู้รบเพื่อกู้ชาติจากฝรั่งเศส ก็มี

 

งานวิจัยนี้ยังศึกษาถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมไทยเข้ากับวัฒนธรรมเวียดนาม ความสามารถในการอนุรักษ์วัฒนธรรมเวียดนามของเหวียตเกี่ยวในอีสาน และการผสมผสานทางวัฒนธรรมไทยเข้ากับวัฒนธรรมเวียดนามเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยของเหวียตเกี่ยวที่กลับไปตั้งรกรากในเวียดนาม ความรักความผูกพันที่ชาวเหวีตเกี่ยวมีต่อแผ่นดินไทยอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่เคยมีโอกาสได้รับรู้มาก่อน

 

ความรักความผูกพันของชาวเหวีตเกี่ยวต่อประเทศไทยที่ว่านี้เห็นได้ชัดจากการแต่งกายแบบไทย การรับประทานอาหารไทย การรำวงร้องรำทำเพลง การเล่นกลองยาวในงานพบปะในหมู่ชาวเหวียตเกี่ยว การแขวนพระเครื่อง การพูดไทยที่ชัดถ้อยชัดคำถูกอักขระ และที่สำคัญที่สุด คือ การติดพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในบ้านของเหวียตเกี่ยวในบางจังหวัดในเวียดนาม

 

สุดท้ายอาจารย์ธัญญาทิพย์กล่าวสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า ชาวเหวียตเกี่ยวเหล่านี้มีศักยภาพในหลายๆด้าน ในประเทศเวียดนามชาวเหวีตเกี่ยวทำหน้าที่สอนภาษาไทยให้แก่ข้าราชการและนักเรียนนักศึกษาเวียดนามที่เตรียมจะเดินทางมาเรียนในจังหวัดภาคอีสานของประเทศไทย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นล่ามและผู้ประสานงานให้แก่หน่วยงานราชการในจังหวัดภาคอีสานกับหน่วยงานราชการของเวียดนามอีกด้วย ชาวเหวียตเกี่ยวจึงทำหน้าที่เสมือนเป็นสะพานทางวัฒนธรรมระหว่างความสัมพันธ์ของไทยและเวียดนาม เหวียตเกี่ยวที่เดินทางกลับเวียดนามก็เช่นกัน ได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษา เป็นล่ามและผู้ประสานงานให้แก่หน่วยงานราชการไทยกับหน่วยงานราชการของเวียดนาม

 

เหวียตเกี่ยวจึงเป็นกลุ่มคนที่หน่วยงานของไทยและสังคมไทยไม่ควรมองข้าม..!!


......................................

เจ้าของผลงานวิจัย: ดร.ธัญญาทิพย์ ศรีพนา

ที่มา: http://www.research.chula.ac.th/cu_online/2549/May16_1.htm

สรุปความ: บงกช นภาอัมพร

หมายเลขบันทึก: 503647เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2012 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุดยอดการเล่า น่าจะเพิ่มตัวละครที่เราจับต้องได้ อย่างคุณกี คุณแฮ และคุณประไพ เวียนวัฒนชัย เข้าไปด้วยไงคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท