หวั่นโรคคอตีบระบาดเข้าเหนือล่าง แนะประชาชนรู้เร็ว รู้ทัน ป้องกันคอตีบได้ ด้วยวัคซีน และเลี่ยงสัมผัสโรค


นางสาวพัชรา ศรีดุรงคธรรม หัวหน้ากลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก ( สคร.9 ) กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่าสถานการณ์โรคคอตีบในปี 2555 เริ่มมีรายงานการตรวจพบในจังหวัดข้างเคียงพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง  มากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้มีผู้เสียชีวิตด้วย จึงอาจมีความเสี่ยงการแพร่ระบาดเข้ามาในพื้นที่ได้  ดังนั้นประชาชนควรมีความรู้และรู้วิธีป้องกันรักษาโรคนี้

โรคคอตีบ จัดเป็นโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ โครินีแบคทีเรียม  ดิบที่เรีย เป็นโรคพบได้น้อยในประเทศที่พัฒนาแล้ว  เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ตั้งแต่เป็นทารกอายุ 2 เดือนอย่างทั่วถึง แต่ยังเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศเขตร้อนรวมทั้งประเทศไทย เพราะการขาดแคลนวัคซีน หรือเด็กไม่ได้รับวัคซีนเพราะคลอดเองที่บ้าน โรคคอตีบพบเกิดได้เท่ากันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย เป็นโรคพบได้ทุกอายุ แต่มักไม่พบในเด็กอ่อนอายุต่ำกว่า 6 เดือนเนื่องจากเด็กช่วงอายุนี้ได้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจากแม่ โดยทั่วไปในประเทศที่พัฒนาแล้วมักพบในอายุตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป เนื่องจากขาดการฉีดวัคซีนกระตุ้น ซึ่งต้องฉีดทุก 10 ปี

            ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคนี้ คือ คนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) หรือผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนกระตุ้น การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แออัด และขาดสุขอนามัย รวมทั้งในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ แหล่งรังโรคคือมนุษย์ โดยเชื้อจะอาศัยอยู่ในโพรงจมูก ในลำคอ เป็นโรคติดต่อได้ง่ายและระบาดได้รวดเร็ว จากการใกล้ชิดคลุกคลีกับผู้ป่วย สัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ละอองหายใจและจากการไอ จาม ยังอาจพบติดต่อทางเชื้อที่ปนในอาหาร เช่น นม แต่มีโอกาสพบน้อยกว่า 

เชื้อนี้จะอยู่ในบริเวณตื้นๆ ของเยื่อเมือกบุทางเดินหายใจ เช่น โพรงจมูก ต่อมทอนซิล ในลำคอและในกล่องเสียง หลังจากนั้นเชื้อจะสร้างสารพิษจะก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อเมือกในทางเดินหายใจ เกิดการอับเสบและตายของเซลล์เยื่อเมือกในทางเดินหายใจ เซลล์เม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดง รวมทั้งการตายสะสมของตัวแบคทีเรียเอง ก่อให้เกิดเป็นแผ่นเยื่อหนา สีเทา – น้ำตาล ปกคลุมหนาก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ แผ่นเยื่อนี้พบเกิดได้ตั้งแต่ในโพรงจมูกลงไปจนถึงลำคอ โดยพบบ่อยที่สุดบริเวณต่อมทอลซิลและคอหอย  ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจไม่ออก  จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้  นอกจากนั้นสารพิษยังอาจแพร่เข้าสู่กระแสโลหิต และก่ออาการอักเสบกับอวัยวะที่พบบ่อยคือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ หรือประสาทอักเสบ ซึ่งอาจเกิดได้หลังเกิดอาการจากโรคประมาณ 2 – 10 สัปดาห์

          อาการแสดง มักเกิดหลังได้รับเชื้อประมาณ 2- 5 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) และอาจนานได้ถึง 10 วัน อาการที่พบได้บ่อยคือมีไข้ มักไม่เกิน 39 องศาเซลเซียส อาจรู้สึกหนาวสั่น อ่อนเพลียเจ็บคอมาก กิน ดื่มน้ำ แล้วเจ็บคอมาก หายใจลำบาก หายใจไม่ออก หายใจเร็ว หอบ เหนื่อย คออาจบวมและไอ เสียงดังเหมือนสุนัขเห่า มีแผ่นเยื่อในจมูก ต่อมทอลซิล ลำคอ เสียงแหบลงเรื่อยๆ และน้ำมูกอาจมีเลือดปน ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอบวม โต ซึ่งโตได้ทั้งสองข้าง  การรักษาต้องดำเนินการในโรงพยาบาล เพราะเป็นโรคที่มีอาการรุนแรง โดยการให้ยาต้านสารพิษของเชื้อ การให้ยาปฎิชีวนะและการฉีดวัคซีนโรคคอตีบ ใช้เครื่องช่วยหายใจ และอาจต้องเจาะคอ

นางสาวพัชรา กล่าวแนะนำว่า การป้องกันโรคนี้นั้นทำได้โดย

1) ผู้ที่มีอาการของโรค จะมีเชื้ออยู่ในจมูก ลำคอ เป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ ดังนั้นจึงต้องแยกผู้ป่วยจากผู้อื่นอย่างน้อย 3 สัปดาห์หลังเริ่มมีอาการหรือตรวจเพาะเชื้อ ผู้ป่วยที่หายจากโรคคอตีบแล้วอาจไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นเต็มที่จึงอาจเป็นโรคคอตีบซ้ำอีกได้ ดังนั้นจึงต้องให้วัคซีนป้องกันโรค (DTP หรือ dT) แก่ผู้ป่วยที่หายแล้วทุกคน  

2)ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย เนื่องจากโรคนี้ติดต่อกันได้ง่าย ดังนั้นผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคจะติดเชื้อได้ง่าย จึงควรได้รับการติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยทำการเพาะเชื้อจากลำคอ และติดตามดูอาการ 7 วัน ในผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคมาก่อนหรือได้ไม่ครบ  แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะพร้อมทั้งให้วัคซีนเช่นเดียวกับผู้ป่วย

3) ในเด็กทั่วไป การป้องกันนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการให้วัคซีนป้องกันคอตีบ 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 4 ปี 

ข้อความหลัก " รู้เร็ว รู้ทัน ป้องกันคอตีบได้ ด้วยวัคซีน และเลี่ยงสัมผัสโรค”

กรมควบคุมโรค  ห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/09_26_DT.html

คำสำคัญ (Tags): #โรคคอตีบ
หมายเลขบันทึก: 503629เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2012 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2012 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท