Carl Orff การสอนดนตรีโดยไม่สอน : กระบวนการ”เล่น”ที่นำไปสู่”การเรียนรู้” ตอนที่2 (The Carl Orff Method Part2)


จุดมุ่งหมายในการสอนดนตรีแบบออร์ฟ คือ การพัฒนาความสามารถในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรี

      ในหนังสือ 21st Century Skills ได้กล่าวเกี่ยวกับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ไว้ว่า การศึกษาในศตวรรษที่ 21 นี้จะไม่ใช่การเตรียมคนออกไปทำงานในสายพานการผลิตเหมือนในยุคอุตสาหกรรม ไม่ใช่การทำงานที่จะอาศัยแค่พียงทักษะ แต่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้อง  “เตรียมคนออกไปเป็นคนทำงานที่ใช้ความรู้” Knowledge Worker และเป็นบุคคลที่พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา Learning person (วิจารณ์ พานิช, 2555)  หากจะถามว่ามีรูปแบบการสอนดนตรีใดบ้างที่ยืดหยุ่นแต่มีแบบแผนขั้นตอน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ค้นหา แก้ปัญหา และสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง มีการจัดประสบการณ์ทางดนตรีให้ผู้เรียนตลอดเวลา การสอนที่น่าจะเหมาะกับแนวคิดทางการศึกษานี้ข้าพเจ้าคิดว่า การสอนดนตรีแบบ ”ออร์ฟ” เหมาะสมและใกล้เคียงมาก

หลักการของออร์ฟ

                ออร์ฟได้เสนอหลักการทางดนตรีศึกษาไว้ว่า การเรียนการสอนดนตรีควรเริ่มต้นจากเพลงและแนวคิดทางดนตรีที่ง่ายที่สุด ได้แก่แนวคิดเรื่องจังหวะ โดยการเริ่มต้นจากจังหวะของการพูดเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจแนวคิดในเรื่องของระดับเสียง ประโยคของดนตรี ลักษณะของเสียง และค่าตัวโน้ตต่างๆต่อไป การเคลื่อนไหว เช่น การตบมือ การตบที่ตัก (Patchen) การย่ำเท้า การดีดนิ้วมือ และการใช้เครื่องประกอบจังหวะของออร์ฟ เป็นวิธีทางนำไปสู่การรับรู้เรื่องจังหวะ จากจุดนี้ผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาด้านการแสดงออกทางดนตรีต่อไป ในวิธีการของออร์ฟ ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สำคัญและเน้นมากที่สุด ดังนั้น การสำรวจสิ่งต่างๆรอบตัวของผู้เรียนเพื่อนำมาใช้ในการสร้างสรรค์จัดว่าเป็นกุญแจสำคัญในวิธีการของออร์ฟ (Choksy et al, 2001)

                  แผนการสอนของออร์ฟ ซึ่งออร์ฟเรียกว่า Schulwerk ควรเริ่มต้นใช้กับเด็กวัยต้นๆ (early childhood) และควรใช้ประสบการณ์ของตัวเด็กเองเป็นอุปกรณ์การสอนดนตรี เช่นใช้ชื่อของเด็ก คำง่ายๆที่คุ้นเคย บทร้องเล่นต่างๆ เด็กเรียกชื่อของเขาเองหรือของเพื่อเป็นจังหวะ เด็กร้องชื่อของเขาเองเป็นทำนองและต่อมาก็อ่านและเขียนจังหวะนั้นโดยใช้สัญลักษณ์แทนจังหวะ เด็กจะเรียนช่วงทำนอง (melodic intervals) และแบบแผนจังหวะ (rhythmic patterns) ด้วยการร้อง ท่อง เคลื่อนไหว และบรรเลงเครื่องดนตรีตามช่วงทำนองและจังหวะเหล่านั้น เด็กจะใช้เครื่องดนตรีตั้งแต่คาบแรกของการเรียน ด้วยการใช้ทำนองเพลงสั้นๆ (Simple motive) ท่องซ้ำๆ และการแต่งเพลงใหม่จากบทเพลงเก่าจะทำให้เด็กพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (ธวัชชัย นาควงษ์, 2542)

                  ออร์ฟมีความเห็นเหมือนดาลโครซ (Jaques – Dalcroze, 1865-1950 นักการศึกษาดนตรีชาวสวิส) หลายประการ ซึ่งประการที่สำคัญที่สุดที่มีผลต่องานของออร์ฟมากก็คือความคิดที่ว่า “จังหวะเป็นส่วนประ กอบ หลักที่สุดของดนตรี” (Rhythm is strongest of the elements of music)  การแสดงออกทางดนตรีของมนุษย์ที่เป็นธรรมชาติและสามัญที่สุดคือการใช้จังหวะ จากความเชื่อนี้นำไปสู่การพัฒนาของการสร้างเครื่องดนตรีชนิดพิเศษ (เครื่องตี – ระนาดออร์ฟ) ปรัชญาของออร์ฟก็เช่นเดียวกับของดาลโครซ เขาเห็นว่าการเรียนเปียโน ไวโอลิน หรือเครื่องดนตรีมาตรฐานต่างๆ ควรจะตามหลังพัฒนาการของทักษะพื้นฐานที่จำเป็นอันได้แก่ 1) การฟัง  2) การจดจำขั้นคู่ของทำนองเพลงและการร้องทำนองเพลง (melodic intervals) 3) การจดจำและการปฏิบัติแบบแผนของจังหวะ (Rhythmic patterns) 

หมายเลขบันทึก: 503628เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2012 22:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2012 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท