Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

บทบาทของประเทศมาเลเซียกับอาเซียน


ข้อมูลอ้างอิง เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

 

7.ประเทศมาเลเซีย (Malaysia)
         

            เมืองหลวงคือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร แบ่งเป็นมาเลเซียตะวันตกบคาบสมุทรมลายู และมาเลเซียตะวันออก ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว ทั้งประเทศมีพื้นที่ 329,758 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากร 26.24 ล้านคน นับถือศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ใช้ภาษา Bahasa Melayu เป็นภาษาราชการ

 

ข้อมูลทั่วไปของประเทศมาเลเซีย

 

ประเทศมาเลเซีย หรือชื่อทางการว่า “สหพันธรัฐมาเลเซีย” (Federation of Malaysia) เป็นประเทศในภูมิภาคที่แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ คาบสมุทรมลายู และทางเหนือของเกาะบอร์เนียว มีพื้นที่ราว 329,847 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 28.72 ล้านคน (สำรวจปี 2554) และมีความหลากหลายทางเชื้อชาติสูง ประเทศมาเลเซียมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายู นอกจากนี้ยังมีชาวอิบัน ชาวกาดาซัน-ดูซุน ชาวบาเจา ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน และเชื้อสายอินเดีย รวมถึงเชื้อสายไทย และชนพื้นเมืองเดิม เช่น โอรัง อัสลี เป็นต้น

นับถือศาสนาอิสลาม (55%) ศาสนาพุทธ (25%) ศาสนาคริสต์ (13%) ศาสนาฮินดู (7%) และลัทธิศาสนาพื้นเมือง (4%)  ภาษาทางการคือ ภาษามาเลย์

 

ปัจจุบัน ประเทศมาเลเซียจัดการปกครองแบบสหพันธรัฐราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีเป็นประมุข แบ่งการปกครองเป็น 13 รัฐ และ 3 เขตการปกครองภายใต้สหพันธรัฐ คือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ (เมืองหลวง) เมืองปุตราจายา (เมืองราชการ) และเกาะลาบวน

ในด้านเศรษฐกิจ มาเลเซียเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับสมาชิกสมาคมอาเซียนอื่นๆ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมั่งคั่ง เช่น ป่าไม้ ยางพารา สินแร่ต่างๆ รวมทั้งน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ โดยเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก และมีแหล่งเหมืองแร่ดีบุกส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่งออกไม้เป็นอันดับ 2 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย[1] สกุลเงินของประเทศมาเลเซีย คือ ริงกิต

 

การเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน

มาเลเซียเป็นอีก 1 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมอาเซียน โดยการร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ ของนายตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ วัตถุประสงค์ของหลักของการเข้าร่วมก่อตั้งสมาคมอาเซียนของมาเลเซียนั้น สืบเนื่องมาจากปัญหาความมั่นคงทั้งภายในประเทศ ระหว่างมาเลเซียกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงความมั่นคงในภูมิภาคที่มาจากผลกระทบจากสงครามเย็น สิ่งเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อความมั่นคงทางการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย สภาวะของมาเลเซียก่อนที่จะมีการรวมตัวเป็นสมาคมอาเซียนนั้น มาเลเซียมีปัญหาสำคัญ คือ

 

1)    ปัญหาการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ แม้รัฐบาลจะสามารถปราบปรามคอมมิวนิสต์ในปี 2503 ได้สำเร็จ แต่คอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีนที่แทรกแซงในหมู่ผู้ใช้แรงงาน และกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

 

2)    ปัญหาชนกลุ่มน้อยหรือความแตกต่างทางเชื้อชาติ ทั้งชาวจีน อินเดีย ปากีสถาน ไทย และชนพื้นเมืองเดิม ซึ่งคนเชื้อสายจีนนับว่ามีจำนวนมากที่สุด และเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาความขัดแย้งกับชาวมลายูมาโดยตลอด จนมีเหตุการณ์ความขัดแย้งอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2512 หลังมาเลเซียได้เข้าร่วมอาเซียนเพียง 2 ปี 

 

3)    ปัญหาที่เกิดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ปัญหาความขัดแย้งกับฟิลิปปินส์กรณีการอ้างสิทธิเหนือดินแดนซาบาห์ การเผชิญหน้ากันกับอินโดนีเซีย ปัญหาความขัดแย้งกับสิงคโปร์ภายในสหพันธ์มาเลเซีย เนื่องจากสิงคโปร์ต้องการแยกตัวออกจากสหพันธ์ หรือกับไทยเกี่ยวกับเรื่องพรมแดนและผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ การเข้าร่วมอาเซียนจึงมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของความขัดแย้งลงไปในระดับหนึ่ง

 

                     จากปัญหาดังกล่าว ได้ทำให้ผู้นำมาเลเซียมองเห็นว่าอาเซียนจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดแก่มาเลเซียทั้งภายในประเทศและในด้านต่างประเทศ จึงนำไปสู่การที่มาเลเซียเข้าร่วมก่อตั้งสมาคมอาเซียน เพื่อผ่อนคลายปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ในสถานะที่เป็นประเทศสมาชิกเดียวกัน

 

บทบาทของมาเลเซียในอาเซียน

               นับตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2500 เป็นต้นมา ผู้นำและรัฐบาลมาเลเซียต่างให้ความสนใจต่อการร่วมมือในระดับภูมิภาคเป็นอย่างมาก จนอาจกล่าวได้ว่า มาเลเซียเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มและสนับสนุนแนวความคิดเกี่ยวกับภูมิภาคนิยม (Regionalism) อย่างแข็งขัน เริ่มจากการก่อตั้งสมาคมอาสา สมาคมมาฟิลินโด  กระทั่งมาถึงการรวมตัวก่อตั้งอาเซียน ถึงแม้ว่ามาเลเซียจะไม่ได้เป็นประเทศผู้นำในการก่อตั้งอาเซียน แต่ก็ได้ให้ความร่วมมือตลอดมา

โดยในปี 2522 มูลค่าการค้ามาเลเซีย-อาเซียนได้เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า แสดงถึงนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ของมาเลเซียที่ได้ให้ความสำคัญกับประเทศในอาเซียนเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากความต้องการเป็นอิสระจากการพึ่งพาต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในปี 2534 มาเลเซียได้มีการปรับตัวเองขนานใหญ่ภายใต้แผนพัฒนาที่เรียกว่า “วิสัยทัศน์ 2020” หรือ “Vision 2020” (ภาษามาเลย์ใช้คำว่า “Wawasan 2020”)  เน้นปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในแบบของมาเลเซียให้ได้ในปี 2020 โดยการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม และจากการทำงานตามวิสัยทัศน์ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มาเลเซียกำลังใกล้จะบรรลุผลและจะนับเป็นประเทศที่สองในอาเซียน ต่อจากสิงคโปร์ที่จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและไปได้เร็วกว่าประเทศไทย

            ในด้านบทบาทการเป็นประธานอาเซียน มาเลเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 2 วันที่ 4-5 สิงหาคม พ.ศ.2520 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีการลงนามปฏิญญาของอาเซียน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้ มั่นคง แข็งแรงและแข็งแกร่ง สามารถทำงานได้และมีความเป็นหนึ่งเดียว

และการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 11 วันที่ 12-14 ธันวาคม พ.ศ.2548 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ จนนำมาสู่ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ในเอเชียตะวันออก ปฏิญญาสถานการณ์ไข้หวัดนกในการป้องกัน ควบคุมและแก้ปัญหา รวมถึงการดำเนินการของโครงการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหพันธรัฐรัสเซีย 2005-2015 การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียน กับประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตลอดจนร่วมวางข้อกำหนดของกฎบัตรอาเซียน เป็นต้น

        

  อ่านข้อมูลประเทศมาเลเซีย ได้ที่นี่


[1] วิทย์ บัณฑิตกุล. รู้จักประชาคมอาเซียน. (กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2554). หน้า 130-131.

หมายเลขบันทึก: 503030เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2012 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีมากๆเลยคร๊าาาาาา....<**>

  • 555
    ดีแล้วนะคะ แต่ให้เนื้อหาเยอะกว่านี้///

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท