องค์ประกอบของการเรียนการสอน


ควรพิจารณาองค์ประกอบของการเรียนการสอนในลักษณะของเหตุการณ์และกิจกรรมสำคัญที่จะไม่มีมิได้

องค์ประกอบของการเรียนการสอน

 

 

            เฉลิมลาภ   ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

            คำว่าการสอน (teaching)  และการเรียนการสอน  (instruction) ที่แปลและใช้กันอยู่โดยมากในวงการศึกษาในปัจจุบัน  ที่จริงแล้วมีสาระสำคัญที่เหมือนกัน คือ เป็นกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ใดๆ ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรหรือโปรแกรมใดๆ  แต่ลักษณะที่อาจจะต่างกันไปนั้น นักวิชาการด้านการสอนในต่างประเทศมักจะให้น้ำหนักว่า  การเรียนการสอนอาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากผู้สอน  แต่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและประสบการณ์การเรียนการรู้ อันได้แก่ เนื้อหาและการฝึกหัดต่างๆ ซึ่งผู้เรียนสามารถที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองได้  ในลักษณะของชุดการเรียนหรือโมดูลต่างๆ    ในขณะที่การสอนจะเกิดขึ้นโดยปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและผู้เรียนเป็นสำคัญ  การสอนจึงปราศจากครูไปมิได้ แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม ทั้งการสอนและการเรียนการสอนก็คือ  การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างจะถาวร ด้วยการปรับเปลี่ยนสิ่งที่อยู่แวดล้อมผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญาหรือได้ฝึกหัดทักษะต่างๆ เป็นสำคัญ 

 

            โดยทั่วไป มักจะมีการแบ่งองค์ประกอบของการเรียนการสอนในลักษณะของโครงสร้าง  (structure)  และกระบวนการ (process)  ในลักษณะโครงสร้าง คือ แบ่งการเรียนการสอนออกเป็น  วัตถุประสงค์  เนื้อหาสาระ  กิจกรรมหรือประสบการณ์การเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลการเรียนรู้  ในขณะที่การแบ่งตามกระบวนการนั้น โดยทั่วไปมักใช้เป็นขั้นตอน ได้แก่ ขั้นนำ  ขั้นสอนและขั้นสรุป      โดยหากจะขยายออกไปตามแนวคิดการปรากฏขึ้นของการสอนของ Gagne ก็จะทำให้สามารถแบ่งองค์ประกอบของการเรียนการสอนไปตามขั้นตอนต่างๆ   9  ขั้นตอน ประกอบด้วย การทำให้ผู้เรียนเกิดความตั้งใจ  การแจ้งวัตถุประสงค์  การนำเสนอเนื้อหา  การทบทวนความรู้และประสบการณ์เดิม  การนำเสนอเนื้อหา  การให้คำแนะนำโดยครู  การให้ฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง  การให้ผลป้อนกลับ  การประเมินและการถ่ายโอนการเรียนรู้  อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า แม้จะมีการแบ่งขั้นตอนของการเรียนการสอนออกเป็นโครงสร้างหรือลำดับต่างๆ แล้วก็ตาม  แต่โดยสรุปแล้ว  สภาพหรือปรากฏการณ์ของการเกิดการเรียนการสอนดังที่กล่าวมานั้น ย่อมมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่สามประการ ได้แก่  การเกิดขึ้นของ  การนำเสนอสาระการเรียนรู้  การเกิดขึ้นของการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยอิสระ  และการเกิดขึ้นของปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและผู้เรียน  ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าว อาจจะถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สามารถนำไปพิจารณาการออกแบบการจัดการเรียนการสอน (instructional design) ได้ 

 

            การนำเสนอสาระการเรียนรู้ หากพิจารณาในมิติของการสร้างความรู้  คือ การจัดประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  ด้วยการสร้างความหมายจากข้อมูลที่ครูนำเสนอหรือจัดให้  เช่น ค้นพบมโนทัศน์  หลักการหรือแก้ปัญหาบางประการตามวัตถุประสงค์  การนำเสนอสาระการเรียนรู้ดังกล่าว สามารถทำได้ในรูปแบบที่ต้องอาศัยครูและไม่ต้องอาศัยครู  ตัวอย่างเช่น  ในชั้นเรียนหนึ่ง ครูอาจเป็นผู้บรรยายและอธิบายความหมายของคำศัพท์ในวรรณคดีไทยบางคำแก่นักเรียนโดยตรง  หรืออาจจะให้นักเรียนไปสืบค้นความหมายของคำศัพท์ดังกล่าวจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ แล้วมานำเสนอให้เพื่อนในชั้นก็ได้ หลักการสำคัญในการนำเสนอสาระการเรียนรู้ คือ  จะต้องให้ภาพรวมเกี่ยวกับสาระความรู้นั้นเสียก่อน    โดยจะต้องนำเสนอในลักษณะที่สัมพันธ์กับประสบการณ์ของผู้เรียนให้มากที่สุด พยายามทำให้หัวข้อเรื่องที่ยากหรือซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่ง่าย เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของผู้เรียน  ในการนำเสนอจะต้องมีส่วนสรุปอันเป็นการสร้างความเข้าใจความคิดรวบยอดของสาระการเรียนรู้ทั้งหมด และจะต้องมีการทดสอบความรู้ความเข้าในสาระจากการรับฟังของผู้เรียนด้วย  จึงจะทำให้การนำเสนอสาระการเรียนรู้ครั้งมีประสิทธิภาพ    

 

            องค์ประกอบที่สำคัญประการต่อมา คือ  การเรียนรู้ด้วยตนเองโดยอิสระ การเรียนรู้โดยอิสระนั้น มิใช่การปล่อยปละให้นักเรียนศึกษาเนื้อหาและทำแบบฝึกหัดไปตามลำพัง แต่เกิดจากการให้ผู้เรียนพิจารณาวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนในครั้งนั้น ว่าตนเองสามารถบรรลุหรือไปถึงวัตถุประสงค์นั้นแล้วหรือไม่  ทั้งนี้ก็เพื่อให้เขาเป็นผู้เลือกและกำหนดแนวทางในการพัฒนาตนเอง  เช่น หากนักเรียน      ทราบว่า ตนเองยังไม่เข้าใจคำศัพท์บางคำในวรรณคดีที่อ่าน ก็จำเป็นที่เขาจะต้องดำเนินการสืบค้นความหมายของคำศัพท์ด้วยวิธีการต่างๆ ที่คิดขึ้นด้วยตนเอง  ซึ่งครูจะต้องเข้าไปมีบทบาทในการชี้แนะแนวทางการฝึกหัดปฏิบัติด้วยตนเองนั้นว่า สามารถจะดำเนินการในลักษณะใดบ้าง  ทั้งนี้ การจะทำให้การเรียนรู้ด้วยตนเองโดยอิสระมีประสิทธิภาพ  ครูผู้สอนจะต้องคอยตรวจสอบการเรียนรู้ดังกล่าวเป็นระยะๆ ในลักษณะของการช่วยเหลือและแก้ไข บนพื้นฐานของการให้เกียรติผู้เรียน และให้ผลป้อนกลับเพื่อแก้ไขให้ดำเนินการเรียนรู้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง  เช่น ในขณะที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกอ่านและสรุปสาระสำคัญของวรรณคดีบางเรื่อง  ครูอาจจะต้องเรียกผลงานการสรุปนั้นมาให้คำแนะนำเป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาและปรับปรุงการเรียนรู้ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง 

 

            ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและผู้เรียน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเรียนการสอนประการสุดท้าย เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันว่า การเรียนการสอนควรจะมีครูในฐานะผู้จัดการและอำนวยความสะดวกให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางปัญญา  ระหว่างผู้เรียนกับเนื้อหาสาระ ผู้เรียนกับผู้เรียนคนอื่น ผู้เรียนและตัวของผู้เรียนเอง (ในลักษณะของการคิดสะท้อนไตร่ตรอง) และผู้เรียนกับผู้เชี่ยวชาญ (ซึ่งก็คือครู) การอำนวยความสะดวกดังกล่าว คือ การพยายามทำให้ผู้เรียนในฐานะตัวแปรที่ผู้สอนให้ความสนใจ ได้  “แปรค่า” หรือเกิดปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้ได้มากที่สุด  เพราะนี่เป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากครูและเพื่อน  การศึกษาด้วยตนเองแต่เพียงลำพังนั้น แม้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ก็จริง แต่ก็เป็นการเรียนรู้ในมิติการรับรู้ของตนเอง ด้วยมุมมองของตนเองเพียงอย่างเดียว ในขณะที่การเรียนรู้อย่างมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม จะทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจมิติหรือมุมมองอื่นๆ ที่ต่างไปจากตน ซึ่งก็จะทำให้สามารถพัฒนาและปรับปรุงพฤติกรรมให้ครอบคลุมมิติอื่นๆ ด้วย  การเรียนรู้ก็จะมีลักษณะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายขึ้น ส่งผลให้ไม่ใช่การเรียนรู้ที่  “ตนเอง”  เท่านั้น ที่เป็นผู้ยอมรับตนเอง  แต่จะเป็นการเรียนรู้อันบุคคลอื่นๆ ให้การยอมรับและรับรู้ตรงกัน

 

            แม้เดิมจะมีผู้เสนอแนวคิดว่า การเรียนการสอนโดยทั่วไปจะปราศจากครูไปเสียก็ได้  แต่ก็คงจะต้องกล่าวให้ต่างออกไปว่า การเรียนการสอนที่ “มีประสิทธิภาพ”  จะปราศจากครูไปเสียมิได้  เพราะปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและผู้เรียนยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ  เพื่อให้ผู้เรียนได้ปรับปรุงและแก้ไขพฤติกรรมของตนเองโดยตลอด แต่การเรียนการสอนที่มิได้มีการนำเสนอเนื้อหาและการให้ผู้เรียนลองแสดงออกถึงสิ่งที่เรียนไปด้วยตนเอง ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเรียนการสอนอยู่ดี   ดังที่ได้กล่าวมานี้  เราสามารถที่จะองค์ประกอบดังกล่าว  มากำหนดเป็นคำถามเพื่อพิจารณา การเรียนการสอนที่จะออกแบบขึ้นใหม่เสียก็ได้ว่า การเรียนการสอนครั้งนั้น  ครูได้นำเสนอเนื้อหาสาระใหม่หรือไม่  และใช้วิธีการใดในการนำเสนอ  ครูได้จัดช่วงเวลาสำหรับให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติสิ่งที่เรียนโดยลำพังหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด รวมทั้งจัดบรรยากาศที่เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวพวกเขา  ซึ่งรวมตัวครูอยู่ด้วยอย่างไร  ทั้งนี้ เพื่อที่ในการออกแบบการสอน  ครูจะได้ไม่ละเลยว่า การเรียนการสอนมิใช่เป็นเรื่องที่ผู้เรียนจะพึงใฝ่ใจศึกษาเองเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของครู ที่จะต้องให้ข้อมูลและจัดประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้เรียนด้วยเช่นกัน 

 

 

_________________________________________________

หมายเลขบันทึก: 502729เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2012 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2012 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • น่าสนใจมากเลยครับ
  • ได้ข้อมูลครบ
  • มีประโยชน์มาก
  • อาจารย์มาเขียนบ่อยๆนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท