วิวัฒนาการเพื่อวินาศนาการ ตอนที่ 3 จาก (ธรรมชาติธรรม)


เว็บไซต์เพื่อสังคม จาก "ธรรมชาติธรรม"

                               ถ้าจะให้ธรรมะครองโลก
                     ต้องมีระบบการเมืองแบบธัมมิกสังคมนิยม
                                       ตอนที่ 3

       ที่เรียกว่าธัมมิกสังคมนิยมนี้จะมุ่งหมายให้เป็นระบบที่มันเห็นแก่ผู้อื่นโดยไม่กอบไม่โกยส่วนเกิน การที่ไม่กอบโกยเอาส่วนเกินมานี้ คือความถูกต้องตามทางหลักธรรม หรือประกอบอยู่ด้วยธรรม ฉะนั้นก็อยากจะเล่าเรื่องของมนุษย์เราคนเรานี้ที่ได้มาเป็นมาตามลำดับจนตกนรกของการกอบโกยส่วนเกิน ในปัจจุบันนี้พูดอีกทีก็ว่า จะเป็นการเล่าถึงประวัติของโลกของมนุษย์โลกเราอย่างย่อ ๆ ว่ามันเป็นมาอย่างไร นี้มันเกี่ยวกับอยู่กับส่วนเกิน

 

        นี่ได้บอกมาตั้งที่แรกแล้วว่า ให้ช่วยจำคำนี้ไว้ให้ดีนะ ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ หรือเรื่องธรรมะที่สูง ๆ ก็ตาม ให้สังเกตคำว่า "ส่วนเกินส่วนเกิน ส่วนเกิน" นี้แหละให้ดี ๆ เพราะว่าตนเองก็กอบโกยเอาไว้มาก โดยไม่รู้สึกว่ามันเป็นส่วนเกิน นี่เพื่อจะให้เข้าใจดียิ่งขึ้น ก็ลองเล่ากันมา ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีจะดีกว่า ดังนี้

 

        ขั้นที่ 1 ตั้งต้นทีแรกก็ย้อนระลึกถอยหลังไป อย่างน้อยสักแสนปีหนึ่งก็ได้ หรือสองสามแสนปีก็ได้ เมื่อโลกยังไม่มีมนุษย์มีแต่สัตว์กระทั้งเมื่อโลกมันยังมีแต่ต้นไม้เพราะตามหลักวิชาการหรือเหตุผลที่ใครพอเชื่อได้นี้ มันก็ย่อมเชื่อได้ว่า ที่แรกโลกนี้ร้อนเป็นไฟอยู่ แล้วก็เย็นลง ๆ จนกระทั่งมีน้ำ มีการหมักหมมในน้ำที่ผิวของโลก จึงเกินเซลล์ที่มีชีวิตเซลล์ที่มีชีวิตก็ผันแปลไปเป็นเซลล์สำหรับจะเป็นพืชคือต้นไม้นี้แล้วเป็นเซลล์สำหรับที่จะเป็นสัตว์ มันก็เกิดมีสัตว์ที่มองไม่ค่อยเห็น แล้วต้นไม้ พืชที่มองไม่ค่อยเห็นขึ้นก่อน แล้วมันโตขึ้น จนเป็นต้นไม้ เป็นสัตว์ที่มองเห็น

 

         ตั้งต้นแต่มีชีวิตเป็นต้นไม้ เป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อย นก หนู อะไรขึ้นมา เรื่อยจนเป็นลิง เป็นค่าง กระทั้งมีคนขึ้นในโลกนี้ ยังไม่มีใครเอาส่วนเกิน ลองทบทวนให้ดี โลกนี้มีสิ่งที่มีชีวิต เป็นพืชพันธุ์ธัญญาหาร เป็นสัตว์ กระทั่งเป็นคนป่าระดับแรก ซึ่งเหมือนสัตว์อยู่ ตอนนี้ยังไม่มีใครเอาส่วนเกิน มันเอาไม่เป็น

 

        ขั้นที่ 2 ทีนี้ต่อมาถ้าถือตามพระคัมภีร์ ในพระคัมภีร์พระพุทธศาสนาก็มีเรื่องที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเองเลย ว่ามนุษย์ก็รู้จักจิตสูงขึ้นมาจนรู้จักเพราะปลูกนี่มันก็เริ่มความเปลี่ยนแปลงคนที่เพราะปลูกก็ทำได้เกินกว่าที่ธรรมชาติมีไว้ เมื่อก่อนมนุษย์ต้องไปเก็บสาร เม็ดสารจากหญ้า หรือข้าวสาลีที่เกิดเองอยู่ในป่าโน้น

 

        ขั้นที่ 3 แต่นี้อยากจะให้มองย้อนกลับหลังไปเรื่องของธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง ว่า "วิวัฒนาการ" ในบางระดับนั้น มันก้าวหน้าขึ้นมา เพราะส่วนเกินด้วยเหมือนกันแหละ ถ้าไม่มีขยับขยายมาในส่วนทางส่วนเกิน แล้วก็ไม่มีความเจริญอย่างที่มนุษย์กำลังเป็นอยู่ แต่ถึงอย่างไร ก็ต้องมีความสงบสงัด สันติสุขอยู่ตามเดิม เช่น ว่าคนป่ายังเก็บของกินอยู่ตามในป่า อิ่มแล้วก็นอน หิวก็ไปเก็บมากินอีกอยู่เท่านี้ มันก็ยังไม่มีส่วนเกิน ยังไม่มีปัญหา

 

        ขั้นที่ 4 แต่ทีนี้เขามันมีความคิดที่จะก้าวหน้า ที่จะกินให้ดีกว่านั้น หรือกินให้มากกว่านั้น หรือเมื่อทีแรกถ้าไปจับสัตว์มา ฆ่าแล้วก็กินดิบ ๆ ได้อิ่มก็นอน หิวก็กินอีก นี่มันไม่มีส่วนเกิน

 

       ขั้นที่ 5 ทีนี้ต่อมาสมมติว่า มนุษย์ป่าคนนี้มันไปเกิดพบน้ำอะไรที่จิ้มเข้าไปแล้ว กินอร่อยกว่าที่ไม่จิ้ม มันก็เป็นความก้าวหน้าในส่วนเกินที่จะต้องหาน้ำจิ้มมาจิ้ม แล้วก็กินมากกว่าทีแรก ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ร่างกายก็เปลี่ยนแปลง จิตใจมันก็เปลี่ยน อะไรก็เปลี่ยนแปลง ที่จะมากขึ้นมากขึ้น เมื่อก่อนนี้ก็อยู่ในถ้ำเฉย ๆ ได้ เดี๋ยวนี้เขาจะสร้างบ้านสร้างเรือนแล้ว มันก็เกินขึ้นมา ถ้าเกินตามระบบธรรมชาติอย่างนี้ ก็ยังไม่เท่าไร แม้จะเพิ่มความลำบากบ้าง มันก็ไม่เป็นเป็นอันตรายอะไร นี้เรียกว่า "เกินธรรมชาติ" มันก็มีอยู่อย่างนี้

 

        ขั้นที่ 6 ทีนี้ต่อมามันก็เกินจนเกินระดับของธรรมชาติ นี่จะเห็นได้ในตอนหลัง ๆ นี้ จะต้องมีอย่างนั้น จะต้องมีอย่างนี้ จะต้องมีอย่างโน้นจนเกินธรรมชาติ ที่นี้มันก็พ้นความรับผิดชอบของธรรมชาติ ธรรมชาติไม่รู้ไม่ชี้ด้วยทีนี้ เมื่อมนุษย์ทิ้งระดับธรรมชาติ ไปหาส่วนเกินมากไปกว่าที่ถูกที่ควร มนุษย์ก็รับผิดชอบเอง แล้วมนุษย์ก็ลำบากขึ้น นี่ทางธรรมชาติ

 

        ขั้นที่ 7 ทีนี้ไปดูในแง่การเมืองกันใหม่ ที่มนุษย์เอาส่วนเกินในแง่ของการเมือง ก็อย่างที่ได้กล่าวค้างเอาไว้แล้วว่า มนุษย์พวกหนึ่งรู้จักขโมยขึ้นมา เมื่อมนุษย์ผู้อื่นปลูกฝังไว้ตามธรรมชาติ หรือขโมยสัตว์ของผู้อื่นที่เลี้ยงมา ก็เรียกว่าเป็นผู้ได้ส่วนเกินมา อีกคนหนึ่งขาดหายไป ทีนี้มันจะอยู่อย่างนั้นไม่ได้ ผู้ที่ถูกกระทำมันก็มีการต่อสู้ ผู้ที่อยากกระทำต่อไป ก็ต้องแสวงหากำลังเพิ่มขึ้น ฉะนั้นทางฝ่ายหนึ่งก็แสวงหากำลัง หาอาวุธ หาเครื่องมือ หาพรรคพวก อะไรมากขึ้น ที่จะไปปล้นเอาของพวกหนึ่งมา ให้มีส่วนเกินของฝ่ายเรามากขึ้น ฝ่ายโน้นก็ลดส่วนเกิน หรือขาดส่วนเกินลงไปอีก มันก็เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกัน ซึ่งเดี๋ยวนี้เขามักจะเรียกว่า "ช่องว่าง" นี้ฟังยาก ๆ คือมันไกลเกินไประหว่างคนที่ขาดส่วนเกินกับคนที่มากไปด้วยส่วนเกิน ก็เป็นอันว่ามีคนมั่งมีเกิดขึ้นแล้วพวกหนึ่ง มีคนเข้มแข็งด้วยอำนาจอะไรเกิดขึ้นแล้วพวกหนึ่ง แล้วพวกหนึ่งก็กลับทรุดลงไป เป็นคนยากจน หรือเป็นคนไม่มีกำลัง อำนาจของส่วนเกินก็ทำให้มนุษย์ระส่ำระสายอย่างนี้

 

         ขั้นที่ 8 ทีนี้มนุษย์เจริญขึ้นมาในทางการเมืองนี้ มันมีสติปัญญาที่จะหาวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง เอาคนที่โง่กว่ามาใช่งาน คนหนึ่งมันสู้ไม่ได้ ด้วยกำลังก็ดี ด้วยปัญญาก็ดี มันสู้ไม่ได้ มันก็ตกเป็นทาสของคนที่ฉลาดกว่า คนฉลาดกว่าก็ยิ่งได้ส่วนเกินมากขึ้น อันนั้นก็ทรุดลงไปเป็นทาส หาส่วนเกินไม่ได้ นี่ระบบการเมืองมันจึงเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ พวกที่ฉลาด หรือเหล่ากอของพวกฉลาด หรือหมู่ชนะของพวกที่ฉลาด มันก็ยึดครองไว้ได้เรื่อย ๆ ไปทางโน้นมันก็จนลงไป เดือดร้อนกันนัก

 

        ขั้นที่ 9 ที่นี้มันจะเกิดหัวเลี้ยวหัวต่อ มนุษย์ที่เคยเจริญด้วยกฎหมาย ศีลธรรม ศาสนา มีความสงบสุขนั่นแหละ มันก็เป็นยุคเป็นสมัยไป มาถึงบางยุคบางสมัย มันมีอะไรเปลี่ยนแปลงมาหาวัตถุนิยม เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่จะเที่ยง จะคงที่อยู่ได้ หรือว่าจิตใจของมันชอบเปลี่ยน มันก็เปิดช่องให้เปลี่ยน แล้วมันก็สามารถที่จะรวมหัวกัน เป็นพวกหนึ่ง เป็นกลุ่มหนึ่งซึ่งเปลี่ยน นี้มันจึงเกิดระบบนั้น ระบบนี่ ระบบโน้นขึ้นมา แล้วอาศัยความคิดเห็นในทางปรัชญา ทางเรื่องลึกลับ คำสอนเรื่องตายแล้วไม่เกิด มีบุญมีบาป มีโลกนี้มีโลกหน้ามีอะไรต่าง ๆ นี้มันก็เกิดขึ้น มีคนเชื่อบ้าง ไม่มีคนเชื่อบ้าง พวกที่เชื่อมันก็เดินไปแนวหนึ่ง ก็ปลอดภัยไปได้ ทีนี้พวกไม่เชื่อมันก็แยกตัวออกมา สำหรับที่จะหาอะไรตามความแหวกแนวของตัว แล้วก็ไม่เชื่อศีลธรรม แล้วสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ นี้ศีลธรรมมันก็ยังดีอยู่ก็มี เปลี่ยนแปลงอยู่ก็มี

 

       ขั้นที่ 10หลักศาสนามุ่งไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งเอาส่วนเกินที่ไม่จำเป็นที่ไม่ควรเอาถ้าหากว่าส่วนเกินเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ก็เอาให้ผู้อื่นเสียก็แล้วกัน ให้สังคม หรือสงเคราะห์สังคมเสียก็แล้วกัน แม้แต่ศาสนาคริสเตียน ก็มีบทบัญญัติ บาปเพราะแสวงหาเกินจำเป็น เพราะมีไว้เกินจำเป็น เพราะบริโภคเกินจำเป็น นี่แม้แต่ศาสนาอื่นก็ยังมีอย่างนี้ พุทธศาสนาก็ยิ่งเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เราไม่สนใจคำเหล่านี้ เพราะเราไม่ชอบ เพราะเราอยากจะมีส่วนเกิน

 

        จะชี้ให้เห็นง่าย ๆ เอาที่ภิกษุก่อน ภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา จะต้องฉันอาหารเท่าที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ เท่าที่ชาวบ้านเขาให้ อาหารที่ได้มาในวันนี้ ไปบิณฑบาตได้มาในวันนี้ ถ้าเก็บไว้ฉันในวันรุ่งขึ้นเป็นอาบัติ ดูซิ แล้วพระจะสะสมได้อย่างไร อาหารที่ได้มาวันนี้กินไม่หมด เก็บไว้พรุ่งนี้เป็นอาบัติ นิสสัคคีย์ ฯ หรืออาบัติหลาย ๆ อย่าง มันมีส่วนเกินไม่ได้ ถ้ามันเกินได้มามาก กินไม่หมดก็ต้องให้คนอื่น ต้องสงเคราะห์ผู้อื่น นี่เรื่องอาหาร ทีนี้เรื่องจีวร อ้อเดี๋ยวก่อน แม้แต่บาตรจะใส่อาหารกิน อาหารฉัน ก็ยังอนุญาตไว้ใบเดียว มีบาตรเกินหนึ่งใบก็อาบัติ นี่อย่างนี้เป็นต้น เรื่องอาหารหรือว่าบาตรยังไม่ชำรุดมาก ไปหาของใหม่มาก็เป็นอาบัติ

 

        ที่นี้เรื่องนุ่งห่ม มีสามผืน ฤดูฝนเติมได้อีกผืนหนึ่ง มีเกินสามผืนก็เป็นอาบัติ ถ้าพระยังซื่อสัตย์ต่อวินัยอยู่ก็มีจีวรได้สามผืน จะพิเศษบ้างก็เพราะบางครั้งบางคราว หรือมีความจำเป็นอย่างอื่น ถ้าได้จีวรมาเกินกว่าสามผืนก็ต้องให้ผู้อื่น "วิกัป" ทำเป็นของกลางให้ผู้อื่นใช้ ถ้าตัวเองจำเป็นจะไปเอามาใช้อีกทีก็ได้ จะต้องทำอย่างกับว่ามีสิทธิเท่ากับผู้อื่น ถ้ามีเครื่องนุ่งห่มเกิน แล้วก็สละเรียกว่าวิกัป เป็นของกลางไป เพราะฉะนั้นภิกษุไม่มีทางที่จะเอาส่วนเกิน กอบโกยส่วนเกินในเรื่องการนุ่งห่ม

 

         ที่นี้เรื่องที่อยู่อาศัย ท่านก็บัญญัติไว้แล้วว่า ภิกษุจะทำกุฏิอยู่ได้ก็เพียงแต่ยาว 12 คืบ หรือ 12 ฟุต กว้างเพียง 7 คืบ หรือ7 ฟุต ถ้าภิกษุขวนขวายทำกุฏิเกินกว่านี้ก็เป็นอาบัติ ต้องสละหมดเลย เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่จะเอาส่วนเกิน เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เว้นไว้แต่ว่าเป็นของสงฆ์ ไม่ใช่ของบุคคลนั้น ไม่ใช่ของภิกษุองค์นั้น

 

         ทีนี้เรื่องหยูกยาอะไรก็ตามมันก็ไม่มีทางที่จะเอาส่วนเกินได้ เพราะว่ามันมีพุทธบัญญัติว่า ภิกษุสบายดีไปกินยาเข้าก็อาบัติ ไปกินน้ำตาลอะไรได้ แต่ว่าไปกินยาโดยตรงนี้มันเป็นอาบัติ เพราะมันไม่ควรจะกิน ไม่ควรจะทำ เป็นหลักที่ประหลาด อาตมาพบเข้าทีแรกก็สะดุ้งเหมือนกัน ว่าถ้าภิกษุสบายดีไปกินยาโดยตรงเข้าก็เป็นอาบัติ แต่จะไปกินน้ำตาลไปกินอะไรอย่างนั้นบ้างไม่เป็นไร

 

         นี่ก็แสดงว่าท่านไม่ให้มันทำให้เกิน หรือมีให้เกิน หรือใช้ให้เกิน หรือกินให้เกิน ภิกษุก็ทำไม่ได้ แล้วหลักทั่วไปก็มีอยู่แล้วว่า ให้พอดี ๆ ในการเป็นอยู่ บริโภคใช้สอย ถ้าเราปฏิบัติตามหลักนี้ ภิกษุ ภิกษุณีก็ตาม พ้นไปอย่างหนึ่งเลยไม่มีทางที่จะทำบาป เพราะเอาส่วนเกินของมนุษย์ได้มาก็ต้องให้ผู้อื่นไป ก็สงเคราะห์ผู้อื่นไป

 

        ขั้นที่ 11 ทีนี้มาดูฆราวาส อุบาสก อุบาสิกา พุทธสาวกที่เป็นฆรวาส ท่านก็มีหลักทั่วไปให้รู้จักพอดี ให้รู้จักความที่ว่า เรามัน เป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย ด้วยกัน ไม่มีข้อไหนที่พระพุทธเจ้าสอนให้เอามาสะสมไว้ เป็นของตน จนล้นไปหมด เป็นผู้ร่ำรวย

 

        ทีนี้บางคนอาจจะคิดว่าถ้าอยู่ในครั้งพระพุทธกาล ไม่มีใครเป็นเศรษฐี นี่อธิบายให้ฟังว่า คำว่า "เศรษฐี" ครั้งพระพุทธกาล มันไกลกันลิบกับพวกนายทุนสมัยนี้ ในโลกปัจจุบันนี้ ระเบียบปฏิบัติ หรือกฎบัญญัติมันก็ต่างกัน สำหรับนายทุนในโลกปัจจุบันนี้ ในโลกฝรั่งด้วยแล้ว เขาไม่มีอะไรเขาก็เป็นเสรีประชาธิปไตย เขามีสติปัญญาเขาก็กว้าน กอบโกย กำไร มหาศาลจนไม่รู้ว่าจะมีกำไรกันอย่างไร เขาก็เป็นนายทุน ความคิดก็จะมุ่งอยู่แต่ที่จะมาให้มันมากขึ้นอีก จนบ้าเพราะมีเงินมาก

 

       ขั้นที่ 12 ทีนี้ถ้าเป็นเศรษฐีสมัยพุทธกาลอย่างนี้ มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเขายังนึกถึงคำสอนที่ว่า ให้รู้จักสันโดษ ให้รู้จักพอ แต่พร้อมกันนั้น ก็ให้รู้จักเมตตากรุณา ให้ช่วยผู้อื่น ฉะนั้นคำว่าเศรษฐีในครั้งพระพุทธกาล ที่เป็นพุทธบริษัท เศรษฐีที่เป็นพุทธสาวก มีการปฏิบัติ หรือแม้เศรษฐีในลัทธิศาสนาอื่นด้วยก็ได้ ในครั้งพระพุทธกาลไม่เฉพาะในพุทธศาสนา เศรษฐีก็มีวิธีปฏิบัติ คือว่าจะต้องมีโรงทาน เขาเรียก อาวสถปิณฑะ ก้อนข้าวสำหรับคนอนาถา คนยากคนจน ใครไม่มีจะกินก็ไปเอาได้ที่โรงทาน

 

        ฉะนั้นเศรษฐีคนไหนเป็นเศรษฐีร่ำรวยมากก็คือมีโรงทานนี้มาก ก็ชั่งหรือวัดเศรษฐีกันด้วยว่า มีโรงทานมาก หรือโรงทานน้อย ฉะนั้นเศรษฐีจะผลิตประโยชน์มา ใส่ยุ้งฉาง ใส่คลังอะไรไว้ มันก็เพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับโรงทานเป็นส่วนใหญ่ ภิกษุวันไหนบิณฑบาตไม่ได้ จะไปเอาที่โรงทานอย่างนั้นก็ได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ยังบัญญัติไว้ว่าเอาได้สองสามครั้งเท่านั้น เอาได้เพียงสองสามวันเท่านั้น แล้วอย่ามาเอาอีก เรื่องส่วนเกินมันไม่มีมาอย่างนี้

 

      ฉะนั้นเศรษฐีก็คือผู้ที่พร้อม หรือว่าตลอดเวลานี้ เขาทำสังคมสงเคราะห์ ฉะนั้นจึงมีความสมควรที่จะผลิตให้มาก ผลิตให้ตนเองเหลือเกินแล้วก็ไปทำสังคมสงเคราะห์ ด้วยการสร้างโรงทานนี้ให้มากขึ้น ทีนี้พวกทาสพวกกรรมกร พวกบ่าว คนใช้ ก็อยู่ร่วมกับเศรษฐี ช่วยเศรษฐีผลิต ผลิตได้มาแล้วก็ส่วนใหญ่ก็ต้องไปทำสังคมสงเคราะห์ ฉะนั้นเศรษฐีสมัยพระพุทธกาลไม่ใช่นายทุน

 

       นี่เรียกว่าลัทธิไม่กอบโกยส่วนเกินนี้ ยังคงเป็นหลัก เป็นประธาน เป็นหัวใจของพุทธบริษัทอยู่ เป็นภิกษุ ภิกษุณี ก็ดี เป็นอุบาสก อุบาสิกาก็ดีไม่เอาส่วนเกิน ถ้าส่วนเกินมันเกิดขึ้น ก็สงเคราะห์ผู้อื่น แล้วก็มิได้ห้ามว่า อย่าผลิตส่วนเกิน จะผลิตส่วนเกินก็ผลิตได้ แต่ว่าเมื่อได้กันไว้พอสมควรแก่อัตภาพแล้ว ต้องสงเคราะห์ผู้อื่น ฉะนั้นใครจะกักกันไว้เป็นทุนสำรองส่วนตนเท่าไร ก็พอสมควรก็แล้วกัน ถ้าเหลือนั้นมันก็ต้องสงเคราะห์สังคม

 

        นี่หลักปฏิบัติที่ไม่เอาส่วนเกินในพระพุทธศาสนา มันเป็นอย่างนี้ เป็นชาวไร่ ชาวนาจน ก็ผลิตเท่าที่จำเป็น เท่าที่สมควรแก่อัตภาพ ถ้าเหลือก็ได้เก็บสำรองไว้ เป็นเรื่องปลอดภัยแล้วมันทำสังคมสงเคราะห์ นี่เห็นได้ว่าไม่ใช่นายทุน ไม่ใช่ระบบนายทุน เป็นระบบอะไรอันหนึ่งซึ่งเห็นแก่สังคม และประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ฉะนั้นระบบนี้อาตมาเรียกว่า "ธัมมิกสังคมนิยม" เห็นแก่สังคม หายใจเป็นประโยชน์ของสังคม ตามวิถีทางของธรรมะ ไม่ใช่อธรรม

 

        ขั้นที่ 13 ทีนี้ลองคิดดูว่า ถ้าคนในโลกนี้เป็นอย่างนี้ ระบบการเมือง หรือธรรมนูญของโลกของบ้านเมือง มันมีเจตนารมณ์ มุ่งให้ทำอย่างนี้ โลกนี้ก็จะมีความสงบ ไปคิดเองเห็นได้ ไม่มีใครเอาส่วนเกิน ถ้าผลิตส่วนเกินก็สงเคราะห์สังคม แม้ใครจะผลิตส่วนเกินให้มาก ก็ไม่ห้าม ยินดีด้วยซ้ำ แต่ส่วนเกินนั้นจะต้องใช้สงเคราะห์สังคม

 

       ฉะนั้นอย่าเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้ทำงานมาก ๆ ห้ามไม่ให้หาเงินหาทรัพย์อะไรมาก ๆ ท่านไม่ได้ห้าม แต่ว่าถ้าได้มาแล้วนี่ จะต้องจัดการให้มันถูกต้อง จะเลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย หรือว่าจะเลี้ยงบิดามารดา หรือว่าจะทำบุญให้ทาน หรือว่าทำอะไร ที่ไม่ให้มันเกิดกิเลส หมักหมมอยู่ในตัวเองก็แล้วกัน

 

        นี่เรียกว่าปัญหาของมนุษย์อยู่ที่ส่วนเกิน ถ้าปฏิบัติต่อส่วนเกินถูก ก็มีความสุข ถ้าปฏิบัติต่อส่วนเกินผิดมันก็มีทุกข์ มีความระส่ำระสาย

 

        ขั้นที่ 14 เดี๋ยวนี้ก็มีปัญหาว่า ทำไมเมื่อเรามีการศึกษาเจริญ มีอะไรเจริญ ค้นคว้าเจริญ ประดิษฐ์เจริญ ทำไมเราจึงไม่เข้าใจถูกในเรื่องนี้กันเสียที มันอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นมาว่า ทำไมพวกนี้ไม่รู้จักดี ไม่รู้จักอยากให้ดีกันเสียเลย หรืออย่างไร ทำไมมนุษย์ไม่รู้จักอยากให้ดี อยากไปในทาง กลับอยากไปในทางที่เอาส่วนเกิน เป็นอะไรไปก็ไม่รู้ นี่เพราะว่าความดึงดูดของเนื้อหนัง อย่างที่พูดมาแล้วตอนต้น ฉะนั้นขอให้จำคำว่า "เนื้อหนัง" ไว้ให้ดี ๆ ด้วย

 

         เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ สามคำนี้ช่วยจำไว้ด้วย พูดมาหลายปีแล้ว สาม ก. ก.กิน ก.กาม ก.เกียรติ ถ้าใครไม่รู้จักมันจะครอบงำ แล้วจะลากตัวออกไปนอกลู่นอกทาง นั่นก็ล้วนแต่เป็นส่วนเกินทั้งนั้น ถ้ากินแต่พอดีก็ไม่เป็นส่วนเกิน แต่นี้มันกินอร่อย ๆ ๆ จนแพง จนยุ่งยากลำบาก จนกินมื้อละร้อยบาท พันบาท หมื่นบาท อะไรก็มี อย่างนี้มันไม่ใช่กินตามธรรมดา มันเป็นเรื่องกินด้วยกิเลสเรียกว่า "กินส่วนเกิน"

 

         เมื่อพูดว่า กิน กาม เกียรติ มันก็เป็นเรื่องเกิน ถ้าพูดว่าหล่อเลี้ยงชีวิตอย่างถูกต้อง สืบพันธุ์ไว้อย่างถูกต้อง มีความดีที่เคารพนับถือ ตัวเองได้อย่างนี้มันก็ไม่เกิน นี้เดี๋ยวนี้เรามันไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรเกิน อะไรไม่เกิน ก็เลยไปดีเอาที่ไม่ดี ที่ดีจริงไม่เอา

        นี่เดี๋ยวนี้มันมีความคิดแตกแขนงออกไป ในทางที่กลัวจะเสียเปรียบผู้อื่น คนไม่อยากเรียนธรรมะ ไม่อยากปฏิบัติศีลธรรม กลัวจะเสียเปรียบผู้อื่น เพราะคนที่พร้อมที่จะเอาเปรียบมันก็มากจริง ๆ เหมือนกัน มันทุก ๆ หัวระแหงไปหมด คนเลยเกิดกลัว เกิดระแวง ไม่กล้าประพฤติธรรมะ กลัวว่าจะเสียเปรียบผู้อื่น อันนี้ก็เหตุอันหนึ่ง ที่ทำให้คนเรา ไม่อยากจะดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะดีได้ เราก็ต้องเสียเปรียบผู้อื่นอยู่นั่นแหละ

                           (โปรดติดตามตอนที่ 4 ตอนสุดท้าย)


คำสำคัญ (Tags): #เว็บเพื่อสังคม
หมายเลขบันทึก: 502518เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2012 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะท่านBlank ประทีป วัฒนสิทธิ์  หวังว่าท่านคงจะสบายดีนะคะ

ได้อ่านธรรมะ ยอดเยี่ยม ค่ะในชีวิต  คนเรานี้ถ้าไม่รู้จักพอ ก็มีแต่ส่วนเกินทั้งนั้นค่ะ

       เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ สามคำนี้ช่วยจำไว้ด้วย พูดมาหลายปีแล้ว สาม ก. ก.กิน ก.กาม ก.เกียรติ ถ้าใครไม่รู้จักมันจะครอบงำ แล้วจะลากตัวออกไปนอกลู่นอกทาง นั่นก็ล้วนแต่เป็นส่วนเกินทั้งนั้น ถ้ากินแต่พอดีก็ไม่เป็นส่วนเกิน แต่นี้มันกินอร่อย ๆ ๆ จนแพง จนยุ่งยากลำบาก จนกินมื้อละร้อยบาท พันบาท หมื่นบาท อะไรก็มี อย่างนี้มันไม่ใช่กินตามธรรมดา มันเป็นเรื่องกินด้วยกิเลสเรียกว่า "กินส่วนเกิน"

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท