พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

คุณฟอง เลวันกับการพิสูจน์สัญชาติ ตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 57


คุณฟอง เลวันกับการพิสูจน์สัญชาติ ตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 57 บันทึกฉบับวันที่ 17 กรกฎาคม 2555

คุณฟอง เลวันกับการพิสูจน์สัญชาติ ตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 57

                คุณฟอง เลวัน กับการพิสูจน์สัญชาติไทย เพื่อนำไปสู่สิทธิเข้าประเทศไทยและสิทธิอาศัยในประเทศไทย ในสถานะคนสัญชาติของรัฐ

                คุณฟอง เลวัน ก่อนหน้าวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 เขาถูกบันทึกเป็นคนต่างด้าว ในทะเบียนราษฎรไทย โดยถูกบันทึกว่าเป็นคนสัญชาติเวียตนาม ทั้งที่คุณฟอง เลวัน ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเวียตนามซึ่งแสดงการยอมรับว่าเป็นคนสัญชาติของรัฐเวียตนาม ดังนั้นการอาศัยข้อเท็จจริงว่าคุณฟอง เลวันมีเชื้อสายญวน ก็ไม่อาจสรุปได้ว่าเขาเป็นคนสัญชาติเวียตนาม

                อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของนายฟอง เลวัน อันเป็นข้อเท็จจริงที่กฎหมายสัญชาติไทยกำหนดเพื่อนำไปสู่การทรงสิทธิในสัญชาติไทยของนายฟอง เลวัน กลับพบว่า นายฟอง เลวัน เป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตาม มาตรา 7(3) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 และโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาตาม มาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 โดยผลของ มาตรา 10 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2535ดังนั้นการบันทึกว่านายฟอง เลวัน เป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย จึงเป็นกระทำของรัฐไทยอันผิดไปจากข้อเท็จจริง ส่งผลให้นายฟอง เลวัน  มีสถานะเป็น “คนสัญชาติไทยที่ได้รับการบันทึกเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย”[1]

                ดังนั้น ในวันที่คุณฟอง เลวัน ต้องการเดินทางกลับเข้าประเทศไทย ซึ่งสิทธิเดินทางกลับเข้าประเทศไทย และอาศัยอยู่ในประเทศไทยของคนสัญชาติไทย นั้นถูกรับรองไว้ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 34 และเป็นไปตาม ข้อ 12 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ซึ่งผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี ทำให้นายฟอง เลวันต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความทรงสิทธิในสัญชาติไทย หรือก็คือ “กระบวนการพิสูจน์สัญชาติไทย” ในขณะที่ตนเองอายุถึง 42 ปีแล้ว ทั้งที่กระบวนการดังกล่าวควรถูกดำเนินการอย่างรอบคอบโดยเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนอำเภอเมืองสกลนครเมื่อ 42 ปีที่แล้ว

                “กระบวนการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทย ของคุณฟอง เลวัน ต่อกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งที่ตัวคุณฟองเองยังอยู่ในประเทศญี่ปุ่น นั้นก็เพื่อการยอมรับถึงความทรงสิทธิในสัญชาติไทย และนำไปสู่การทรงสิทธิ ในสิทธิเดินทางกลับเข้าประเทศไทยและสิทธิอาศัยในประเทศไทยของคนสัญชาติไทย เพื่อที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศญี่ปุ่น จะอาศัยอำนาจตาม ระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ 17 (2)[2] ออกหนังสือสำคัญประจำตัว (Certificate of Identity) เป็นเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางแก่คุณฟอง เลวัน”

                 

            คุณฟอง เลวัน กับการพิสูจน์สัญชาติไทย ตาม มาตรา 57 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

                อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระทรวงมหาดไทยและกระทรวงต่างประเทศ จะยอมรับในความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยของคุณฟอง จนในที่สุดสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำญี่ปุ่นออก หนังสือสำคัญประจำตัว (Certificate of Identity : C.I) ให้กับคุณฟอง ใช้เดินทางข้ามชาติจากประเทศญี่ปุ่น กลับเข้าประเทศไทย แต่พึงตระหนักว่าขณะนั้นคุณฟอง เลวันยังไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยและออกเอกสารพิสูจน์ตนโดยรัฐไทยในสถานะคนชาติอย่างสมบูรณ์ คุณฟอง เลวันจึงยังไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลในสถานะคนสัญชาติไทย

ดังนั้นในวันที่คุณฟอง เลวัน เดินทางกลับถึงประเทศไทย และขอเข้าราชอาณาจักรไทยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทย โดยกล่าวอ้างว่าตนเองเป็นคนสัญชาติไทยนั้น คุณฟอง เลวันจึงถูกเรียกร้อง โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้แสดงหลักฐานที่ยืนยันการมีสัญชาติไทย ตาม มาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

มาตรา 57 “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนสัญชาติไทย ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย

การพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่จะร้องขอต่อศาลให้พิจารณาก็ได้

ในกรณีที่มีการร้องขอต่อศาล เมื่อได้รับคำร้องขอแล้ว ให้ศาลแจ้งต่อพนักงานอัยการ พนักงานอัยการมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านได้

ตามบทบัญญัติดังกล่าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จึงนัดคุณฟอง เลวัน ให้ไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติไทยกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และแม้ว่าต่อมาคุณฟอง เลวัน จะได้ร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรไทย ในสถานะคนสัญชาติไทย และได้รับเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล กล่าวคือ บัตรประจำตัวคนสัญชาติไทย และทะเบียนบ้าน ทร.14 ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 แต่ด้วย มาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และธรรมเนียมการปฏิบัติของทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งยืนยันว่าคุณฟอง เลวันจะต้องไปแสดงตนกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามที่ได้นัดหมายไว้ ตามบทบัญญัติดังกล่าว

 

            กระบวนการพิสูจน์สัญชาติไทย ตาม มาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

ด้วยเหตุว่า กรณีคุณฟอง เลวัน หลังจากกลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ก็ได้ดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรไทย ในสถานะคนสัญชาติไทย และทางอำเภอสกลนครก็ออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลในสถานะคนสัญชาติไทย กล่าวคือ ทะเบียนบ้าน ทร.14 และบัตรประจำตัวคนสัญชาติไทย

ดังนั้น เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 ซึ่งทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนัดคุณฟอง เลวัน ไปรายงานตัว ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) และพิสูจน์สัญชาติ คุณฟอง เลวันจึงแสดงหลักฐานการเป็นคนสัญชาติไทย ด้วยเอกสาร 2 ฉบับดังกล่าวก็เพียงพอ

เจ้าหน้าที่แผนกสืบสวนสอบสวน พิสูจน์สัญชาติไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สอบปากคำคุณฟอง เลวัน เป็นเวลา 30 นาที เกี่ยวกับข้อเท็จจริงเรื่องการเกิด บิดามารดา ญาติพี่น้อง และการเดินทางออกนอกประเทศไทย เมื่อ 23 ปีที่แล้ว จากนั้นจึงได้ทำบันทึกให้ คุณฟอง เลวัน ลงลายมือชื่อ และนำเสนอตัวหัวหน้าแผนก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิธีปฏิบัติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะไม่มีแบบฟอร์มใบรับการรายงานตัวในกรณีนี้ให้ผู้มารายงานตัวถือเก็บไว้เป็นหลักฐาน แต่ทางนักกฎหมายโครงการบางกอกคลินิกฯ ก็เห็นว่าคุณฟอง เลวัน ควรได้รับบันทึกหรือเอกสารจากทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อยืนยันว่าคุณฟอง เลวันเองได้มารายงานตัวและเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้สำเนาใบนัดพร้อมระบุข้อความว่า “คุณฟอง เลวันได้มารายงานตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2555” โดยเจ้าหน้าที่ได้ลงลายมือชื่อไว้ใต้ข้อความดังกล่าว และมอบให้คุณฟอง เลวันเก็บไว้เป็นหลักฐาน

กรณีคุณฟอง เลวัน ทางพนักงานสอบสวนแจ้งว่า พยานหลักฐานชัด จึงไม่ต้องใช้เวลานานและไม่มีปัญหา เมื่อนำบันทึกสอบปากคำวันนี้เสนอให้กับหัวหน้าแผนกเรียบร้อยแล้ว ภายในสัปดาห์หน้าทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็จะออกหลักฐานที่แสดงว่า เชื่อได้ว่าคุณฟอง เลวันมีสัญชาติไทย และส่งให้กับคุณฟอง เลวัน

 

ข้อสังเกต คงต้องออกตัวว่าเป็นข้อสังเกตของผู้เขียนเอง เนื่องจากพึงสังเกตว่า ขณะที่ก่อนจะได้บันทึกชื่อคุณฟอง เลวัน หรือก่อนกระบวนการเพิ่มชื่อลงในทะเบียนราษฎรไทย ประเภทคนสัญชาติไทย ก็จะต้องมีกระบวนการพิสูจน์สัญชาติอยู่แล้วว่า คุณฟอง เลวัน มีข้อเท็จจริงตามที่กฎหมายสัญชาติบัญญัติไว้หรือไม่ เมื่อรัฐเชื่อในการทรงสิทธิในสัญชาติไทยของคุณฟอง แล้วรัฐไทยจึงบันทึกชื่อคุณฟอง ในสถานะคนสัญชาติไทยและออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล กระบวนการดังกล่าวเป็นการกระทำของรัฐแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียน อำเภอสกลนคร การที่คุณฟอง ยังต้องมาเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติอีกครั้ง ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนั้น เป็นกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ เพราะทั้งอำเภอสกลนคร และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ก็เป็นการกระทำแทนรัฐไทย และไม่ได้มีลักษณะของการใช้อำนาจกระทำการในลักษณะตรวจสอบเป็นลำดับชั้นแต่อย่างใด แม้ว่าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย แต่กรณีนี้การเก็บฐานข้อมูลประชากรโดยให้มีลักษณะเชื่อมถึงกัน อาจจะทำให้ลดขั้นตอนการทำงาน และเป็นการไม่สร้างภาระเกินสมควรแก่ประชาชนด้วยหรือไม่

 



[1] โปรดอ่านเพิ่มเติมใน พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์, ความเห็นทางกฎหมาย กรณีของนายฟอง เลวันผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดซึ่งกำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดและสิทธิอาศัยในประเทศไทยในสถานะคนสัญชาติไทย, ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2555

[2] ข้อ 17 สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลไทยในต่างประเทศอาจออกหนังสือสำคัญประจำตัว (Certificate of Identity) เป็นเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามเงื่อนไขและวิธีการที่กระทรวงการต่างประเทศกำหนด ให้แก่บุคคลในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เมื่อหนังสือเดินทางของบุคคลนั้นถูกยกเลิกตามข้อ 23

(2) เมื่อบุคคลนั้นไม่มีหนังสือเดินทาง หนังสือเดินทางสูญหาย หรือเสียหายจนใช้การไม่ได้หรือหนังสือเดินทางขาดอายุ แต่มีหลักฐานอื่นเพียงพอที่จะทำให้ผู้ออกเอกสารเชื่อได้ว่าบุคคลผู้นั้นมีสัญชาติไทย และประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการเร่งด่วนโดยไม่อาจรอการออกหนังสือเดินทางเล่มใหม่ให้แทนได้

หมายเลขบันทึก: 502450เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2012 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2012 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท