เสน่ห์ KM


การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถเขย่าทุกวงการ ส่งผลให้เกิดการเห็นคุณค่า เชื่อใจ และผลักดันด้วยพลังแห่งความดี สู่สังคมในอุดมคติได้อย่างง่ายดาย

    

      เมื่อเอ่ยถึงเครื่องมือการจัดการความรู้น้อยคนที่จะไม่รู้จัก ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม   แม้กระทั่งแวดวงการศึกษา เริ่มมีการนำเครื่องมือนี้มาใช้ในหน่วยงานหรือองค์กรเพื่อพัฒนางานของหน่วยงานของตนและแพร่หลายกันมากขึ้น

     จ๊ะจ๋าคิดว่า การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่เขย่าทุกวงการได้มากมายเลยที่เดียว  เห็นได้จากงานมหกรรม KM ราชการไทยก้าวไกลสู่ LO ที่พึ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2549  ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวทั่วทุกแขนงในประเทศไทย และในงานนี้มีหน่วยงานที่มีผลงานหรือวิธีการเลิศ (Best practice) จากการปฏิบัติจริง   มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน บางหน่วยงานเริ่มมีการช่วยเหลือกันเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย เนื่องจากมีเป้าหมาย/อุดมการณ์ คล้ายคลึงกัน จนเกิดเป็นพลังเครือข่ายความรู้ทั่วทั้งสังคม และจากการเชื่อมโยงนี้ มีทั้งการข้ามสายงานภายในและนอก การช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่เพื่อน (เพื่อนช่วยเพื่อน ) เกิดพันธมิตรการทำงาน เกิดความภูมิใจในงาน เกิดการแบ่งปัน ช่วยเหลือ เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน และย่อมส่งผลให้เกิดการเสริมพลังต่อองค์กรนั้นๆ ส่งผลให้สามารถหมุนเกลียวความรู้พัฒนาต่อยอดกันไป

     เช่นเดียวกับวงการทางการศึกษา เราเริ่มเห็นแสงเรืองรองขึ้นมา และเห็นบุคลากรทางการศึกษาที่เอาจริงเอาจังมากขึ้น ดังเช่น โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้ (Ed-KM)”   นำทีมโดยคนในแวดวงการศึกษารวมทีมกันทำงานเพื่อวงการศึกษา ได้แก่ ดร.สุวัฒน์  เงินฉ่ำ   อดีตผู้บริหารหลายตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการ,  ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    และผู้เชี่ยวชาญการศึกษาขององค์การ UNESCO, ผู้อำนวยการวัฒนา  อาทิตย์เที่ยง จากสำนักงานเลขาธิการสภาศึกษา (สกศ.), รศ.ดร.กุญชรี  ค้าขาย, ผศ.ดร.ทัศนีย์  ไพฑูรย์พงษ์ และ ผศ.ดร.สุกัญญา  ศรีโพธิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

     โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อจะส่งเสริมสนับสนุนให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ดูแลสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเหล่านั้น ได้นำหลักการและแนวทางการจัดการความรู้ (knowledge management) มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดการนำสติปัญญาขององค์กรมาเพิ่มพลังในการเรียนรู้ การเข้าถึงความรู้ การรู้จักเลือกใช้ ดัดแปลง ปรับปรุง ต่อยอดความรู้ที่มีอยู่เดิม และหรือสร้างความรู้ใหม่ อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลขององค์กรที่จัดและที่สนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเด็กและเยาวชน

     การดำเนินงานของโครงการฯ เริ่มตั้งแต่การศึกษาความพร้อมและความเป็นไปได้ของโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ  คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตามเขตตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ครอบคลุมพื้นที่ 4 ภูมิภาค จำนวน 17 เขต และสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 78 แห่ง  หลังจากนั้นก็ทำการติดอาวุธให้กับแกนนำนักจัดการความรู้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กร เป็นทีมขับเคลื่อนการจัดการความรู้ ถ่ายทอด สร้างนักปฏิบัติการจัดการความรู้ และร่วมกันพัฒนารูปแบบการจัดการความรู้ในองค์กรของตน เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลให้กับองค์กรทางการศึกษาอื่น โดยการติดอาวุธนี้คือการทำ workshop “ทีมแกนนำนักจัดการความรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาขั้นพื้นฐานกลุ่มเป้าหมายการวิจัย ในรูปแบบการบรรยาย ฝึกปฏิบัติ การประชุมกลุ่มย่อย โดยดำเนินการจัดประชุมกลุ่มเป้าหมายการวิจัย จำนวน 6 ครั้งๆ ซึ่ง สคส. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทั้ง 6 ครั้งและขณะนี้ทีมนักวิจัยโครงการฯ อยู่ในช่วงติดตามนิเทศ

     และในขณะเดียวกันก็เกิดปรากฏการณ์ดาวเด่นหลายดวงจากทีมแกนนำที่ได้รับการติดอาวุธแล้ว  เปล่งประกายรัศมีขึ้นมา  สคส. ซึ่งเป็นภาคีกับโครงการนี้ได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง เราพบว่าทีมแกนนำหลายคนเริ่มสนุกและมีความเชื่อว่า  KM จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของตน และอาจเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน  เพียงแต่ว่าต่างเหตุการณ์ ต่างสถานที่ เวลา โอกาส เท่านั้น  หลายคนก็บันทึกผ่านเครือมือที่ สคส. แนะนำให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้คือ เว็บล็อก

     บ้างก็บอกว่า “KM ก็คงจะไม่ใช่ยาหม้อใหญ่  ยาหม้อใหม่  ที่พวกเราจะคิดว่าต้องนำมาเป็นภาระ แต่ของให้นำสิ่งที่พวกเราทำมาโดยตลอดจัดรูปแบบ ขบวนการ และถ่ายทอดให้กับเพื่อน ๆ กลุ่มอื่น ๆ อีก   และที่สำคัญเราจะได้นำความรู้ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้น มาเป็นขบวนที่ทำให้ความคิด ความรู้ของเราอยู่ได้ตลอดไป

      บ้างก็บอกว่า ครูในโรงเรียนเต็มใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะเห็นว่าทุกคนสามารถได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้   และคิดว่าทุกคนมีสิ่งดีๆในตัวที่จะนำมาถ่ายทอดให้คนอื่นได้

      บ้างก็บอกว่าKM ไม่ใช่ภาระงาน แต่ทำเข้าไปในเนื้องาน

      จากที่ยกตัวอย่างมาจะเห็นว่าทุกคนที่ปฏิบัติเริ่มมีวัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีการพูดคุยกันมากขึ้น เห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมงานภายในหน่วยงาน และยังรวมไปถึงนอกหน่วยงานด้วยและส่งผลให้บล็อกเป็นเครื่องมือที่ทุกคนเริ่มเห็นความสำคัญกันมากขึ้น เพราะ บล็อกเป็นสื่อช่องทางหนึ่งที่ช่วยนำเสนอความคิดของแต่ละคนผ่านเป็นเรื่องเล่า  แล้วยังเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องที่แต่ละคนสนใจ และยังสามารถขับเคลื่อนงานในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี รู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ แล้วรู้สึกอย่างไร ได้ผลเช่นไร แก้ไขยังไง บ้างก็เอาเคล็ดลับที่แลกเปลี่ยนกันไปปฏิบัติ และกลับมาเล่าให้กันฟัง บ้างก็เป็นเพื่อนต่างพื้นที่คอยให้กำลังใจ ติดตามผลงาน และคอยถามความรู้สึกซึ่งกันและกัน และบางพื้นที่มีการนัดพบเจอหน้าเจอตากันในทุกวันศุกร์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนอกที่ทำงาน และนำไปปฏิบัติและกลับมาพูดคุยกันใหม่ เป็นวัฒนธรรมที่แทรกซึมอยู่ในชีวิต  นี่แหละคือเสน่ห์ KM    

      และจากการที่แต่ละโรงเรียนในโครงการฯ ทดลองนำเครื่องมือ KM ไปใช้ในงานของตน ส่งผลให้ครูมีสุขภาพจิตใจดีขึ้น  ทุกคนในโรงเรียนมีส่วนร่วมกันมากขึ้น การทำงานเป็นในแนวระนาบมากขึ้น  สามารถเสนอความคิดเห็นที่ทำให้การทำงานส่วนรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่การทำงานแบบสั่งการ มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมงานมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า จิตใจเริ่มผ่องใส พูดจากันดี ถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมที่ดีกว่าเดิม  นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการเรียนการสอนแก่เด็กเพิ่มมากขึ้น เด็กได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กไปในทิศทางที่ดีขึ้น สังคมเริ่มดีขึ้น ถือเป็นพลังแห่งความดี  เข้าทำนอง คิดดี ทำดี พูดดี และจ๊ะจ๋าคิดการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทำให้สุขภาวะในแวดวงการศึกษาดีขึ้น  จะขอยกตัวอย่างบันทึกของคนที่เป็นครูที่แสดงความรู้สึกของจิตวิญญาณของความเป็นครูได้อย่างชัดเจน link

หมายเลขบันทึก: 50242เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2006 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท