ต่างคนต่างทำ...


น่าจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันบ้าง ในกลุ่มคุณกิจที่รับผิดชอบเก็บตัวอย่างตรวจบนวอร์ดนะคะ
เมื่อวานนี้ (พฤหัสบดีที่ 13 กันยายน) พี่เม่ยได้มีโอกาสทำหน้าที่คุณอำนวยวงเสวนาชาวสมาชิก Patho-Otop2
คุณลิขิตคนเก่งทำหน้าที่อย่างขะมักเขม้น พี่เม่ยสะกิดให้ไปยกกาแฟมาทานแก้ง่วง เธอก็ส่ายหน้าบอกว่า ขอฟังพี่เค้าคุยก่อน....เมื่อสิ้นสุดการพูดคุยในวันนี้ พี่เม่ยหันไปถามว่าเป็นไงบ้าง บันทึกได้ไหม  เธอก็ตอบสั้นๆว่า "ได้สิบหน้าค่ะ".... (คราวหลังคุณน้องตอบว่า "ทศกัณฐ์ค่ะ" ก็ได้นะ พี่เม่ยเข้าใจ!)
สิบหน้าที่ว่านี้...พี่เม่ยคาดว่าเป็นเนื้อๆทั้งนั้น เพราะได้อ่านจากบันทึกที่ปล่อยออกมาในซีรี่ส์ "สุนทรียสนทนา1, 2, 3 และ 4"  เยี่ยมจริงๆค่ะ สามารถเก็บรายละเอียดข้อมูลได้ครบถ้วน สรุปใจความได้กระชับ 
....สอบผ่านการเป็น คุณลิขิต ในวงเสวนา ตั้งแต่เริ่มงานครั้งแรกนี้เลยค่ะ
จากบันทึกแรก ของซีรี่ส์นี้ สะกิดความจำของพี่เม่ยขึ้นมาได้ว่าในขณะที่ฟังเพ็ญเล่าเรื่องอยู่นั้น ช่วงหนึ่งเพ็ญเล่าว่า  "หลังจากได้ทำโครงการไประยะหนึ่ง ก็เก็บข้อมูลความผิดพลาดของสิ่งส่งตรวจจากวอร์ดพบว่า คุณภาพสิ่งส่งตรวจดีขึ้นมากเพราะได้ทำเอกสารอธิบายรายละเอียดในการเลือกใช้ภาชนะ และวิธีใส่เลือด การผสมเลือด ไปให้ผู้ทำหน้าที่เจาะเก็บเลือดทุกวอร์ด...."  พี่เม่ยนึกต่อในใจว่า นี่เป็นการให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ผู้ปฏิบัติงานผลก็คือทำให้คุณภาพงานดีขึ้น ตรงไปตรงมาค่ะ....
แต่กลับมาสะดุดที่ประโยคต่อไปค่ะ....."ความผิดพลาดที่ไม่ลดลงเลยก็คือชื่อในคอมฯ เมื่ออ่านจาก barcode และข้างหลอดไม่ตรงกัน....."  พี่เม่ยคิดต่อในใจว่าเป็นปัญหาของ การบ่งชี้ผู้ป่วยก่อนเก็บตัวอย่างตรวจนั่นเองค่ะ 
เพราะคุณกิจทั้งหลายที่ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างตรวจเนี่ย (พี่เม่ยคาดว่า..มีจำนวนหลักร้อยขึ้นไปค่ะ) ต่างคนก็ต่างคิดหาวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับตนเองขึ้นมาในแบบต่างๆกัน แล้วต่างทำจนเป็นความเคยชิน  เป็นประสบการณ์เฉพาะ วิธีการของแต่ละท่านก็อาจจะไม่สมบูรณ์ เปิดช่องโหว่ที่จะทำให้มีโอกาสที่จะทำงานพลาดได้.....
  • บางคนติดป้ายชื่อผู้ป่วยที่ภาชนะไว้ก่อนหลายๆราย แล้วนำไปเก็บตัวอย่างตรวจจากผู้ป่วยเรียงตามลำดับเตียง  แล้วกลับมา patch บาร์โค้ดก่อนนำส่ง 
  • บางคนเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยเรียงตามลำดับเตียงไว้ก่อน จำลำดับเตียงไว้แล้วค่อยนำมาติดป้ายชื่อกับบาร์โค้ดทีหลัง
  • บางคนติดป้ายชื่อและ patch บาร์โค้ดเรียบร้อยทีละราย นำไปเก็บตัวอย่างตรวจแบบรายต่อราย 
  • ต่างก็มุ่งเน้นที่ความสะดวกรวดเร็ว เพื่อให้งานเสร็จจนอาจละเลยเรื่องความถูกต้องแม่นยำลงไป
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีความแตกต่างของการจัดระบบงาน ความต่างของปริมาณงาน ความสะดวกในการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ (โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อระบบ LAN ของ รพ.) ของแต่ละแห่งด้วย
แหม...ความคิดกระเจิงต่อไปว่าถ้ามีการ ลปรร. ในกลุ่มคุณกิจด้วยกันเองในประเด็น "การบ่งชี้ผู้ป่วยก่อนเก็บตัวอย่างตรวจ"... เพื่อเปิดโอกาสให้เหล่าคุณกิจได้นำวิธีปฏิบัติของตนเองมาบอกเล่าให้เพื่อนฟัง พร้อมๆกับรับฟังจากประสบการณ์ของเพื่อนบ้าง 
แล้วให้มาช่วยกันหาวิธีที่เหมาะสมกับทุกคนและดีที่สุดกับงานเพื่อทำเป็นวิธีปฏิบัติในการบ่งชี้ผู้ป่วยก่อนการเก็บตัวอย่างตรวจ  ให้มีขั้นตอนการปฏิบัติที่เหมือนๆกันเป็นวิธีเดียวกันทุกหน่วยงาน 
หลังจากนั้นก็หาช่องทางให้มีการสื่อสารระหว่างคนเก่ากับคนใหม่ เพื่อให้คนใหม่ได้เรียนรู้วิธีที่ถูกต้องเสียตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงาน ไม่ต้องลองผิดลองถูกอีกต่อไป
น่าจะช่วยให้ความผิดพลาดในประเด็นนี้ ลดลง ได้บ้างนะคะ!
หมายเลขบันทึก: 50205เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2006 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พี่เม่ยค๊ะ ผู้เขียนค้นพบตัวเองเลยค่ะ ว่าไม่เหมาะกับบทบาทคุณลิขิต เลยค่ะ ขอเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายน๊ะค๊ะ เพราะเข็ดค่ะ เข็ดมือ (หงิก เลยค่ะ)

อ่านแล้วเห็นด้วยกับพี่เม่ยเลยค่ะ แต่จะทำยังไงให้คุณกิจ (คาดว่าหลักร้อย)ได้มา ลปรร.กัน

พี่เม่ยค๊ะ สั้น  ๆ ค่ะ "ขอบคุณมาก ๆ"  (เผอิญส่งคห.ข้างบนแล้วคอมไม่ว่างฯ ต้องต่อคิวใหม่)

อีกทั้งหากมีประเด็นอะไร "หลุด" ล่ะ ก็เต็มที่เลยน๊ะค๊ะ ยอมรับค่ะว่าช่วงหลัง  "หลุด" บ้าง

เห็นด้วย (อีกแล้ว) ค่ะว่าคุณกิจผู้ที่ทำการเจาะเลือด น่าจะมามีโอกาสแลกเปลี่ยนกัน ทำยังไง ก็คิดดูก่อน พี่เม่ยและคุณศิริช่วยด้วยนะจ๊ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท