สอนภาษาไทยอย่างไรให้บูรณาการ


การบูรณาการภายในวิชาเดียวกัน ก็มีได้หลายระดับ หากมีความสัมพันธ์ความรู้หลากหลายประเภท

สอนภาษาไทยอย่างไรให้บูรณาการ

 

 

เฉลิมลาภ  ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

            ความที่โลกมีหลายมิติ ความที่ชีวิตมีหลายด้าน  และความที่ปัญหามีหลายเงื่อนปม จึงเป็นเหตุให้บ้างครั้ง  เราไม่อาจมองโลกในมิติเดียว  ไม่อาจดำเนินชีวิตเพียงแบบเดียวและไม่อาจแก้ปัญหาบางประการด้วยวิธีเดียว  การผสมผสานมุมมอง  วิถีความเป็นอยู่ หรือวิธีแก้ปัญหาให้หลากหลายขึ้น เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นการบูรณาการ ที่ประสบพบในการดำเนินชีวิตประจำวัน 

 

            การศึกษา คือ ระบบแห่งการบูรณาการ  เพราะเกิดจากผสมผสานองค์ความรู้และการปฏิบัติในด้านต่างๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการบริหาร หลักสูตรและการสอน จิตวิทยาการเรียนรู้  การวัดประเมินผล การประกันคุณภาพ  ฯลฯ ไว้ในระบบเดียวกัน  ซึ่งถ้าจะสังเกตให้ดีแล้ว การทำงานของส่วนประกอบเหล่านี้ ยังแยกกันอยู่มาก และมีหลายครั้งทีเดียวที่พบว่า มิได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน    ดังจะเห็นได้จากวาทกรรมที่เรามักจะวิจารณ์กันว่า  “หลักสูตรในโรงเรียนเป็นอย่างหนึ่ง  แต่วัดประเมินผลเป็นอีกอย่างหนึ่ง” เป็นต้น ซึ่งภาพของการทำงานแยกส่วนเช่นนี้ แม้ในรายวิชาเช่นวิชาภาษาไทยก็ยังคงพบอยู่ 

 

            หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551  ได้กำหนดให้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ประกอบด้วยสาระการเรียนรู้  5 สาระการเรียนรู้ ซึ่งแต่ละสาระฯ มีตัวชี้วัดแตกต่างกันออกไป ที่จริงแล้ว การกำหนดตัวชี้วัดดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการบูรณาการเป็นอย่างยิ่ง  แต่น่าเสียดายที่ในการจัดทำหลักสูตร โดยเฉพาะหลักสูตรรายวิชาในระดับของหน่วยการเรียนรู้ สถานศึกษาหลายแห่งกลับเรียงลำดับหน่วยการเรียนรู้ไปตามลำดับที่กำหนดหลักสูตร เช่น บางโรงเรียนกำหนดว่า หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 การอ่าน  หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 การเขียน  เช่นนี้ ไปจนกระทั่ง หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 วรรณคดีและวรรณกรรม ส่งผลให้หลักสูตรรายวิชาแทบจะทุกระดับชั้น  ประกอบด้วยหน่วยการเรียนรู้  5 หน่วย ซึ่งที่จริงแล้ว หลักสูตรมิได้มีเจตนารมณ์เช่นนั้นแต่อย่างใด  ที่เป็นเช่นนี้ อาจจะเป็นเพราะความไม่เข้าใจเกี่ยวกับการบูรณาการ และลักษณะของการบูรณาการก็เป็นได้ 

 

            จากการสังเคราะห์แนวคิดในด้านความหมายของการบูรณาการของนักวิชาการพบว่า   การบูรณาการ  คือ  การผสมผสานองค์ความรู้และทักษะวิธีการปฏิบัติ  (knowledge  และ  skill) ในระดับต่างๆ กัน โดยหากเป็นการบูรณาการเพียงการนำองค์ความรู้หรือทักษะต่างๆ มาให้นักเรียนได้เรียนรู้ โดยยังคงมีลักษณะของความรู้และทักษะที่แยกประเภทกันชัดเจน ลักษณะเช่นนี้ ในทางทฤษฎีจะเรียกว่าการบูรณการ “พหุวิชา” หรือ “สหวิทยาการ” (multidisciplinary) แต่เมื่อใดก็ตามที่ค่อยๆ เพิ่มระดับเพื่อหลอมรวมองค์ความรู้และทักษะบางประการเข้าไว้ด้วยกัน จนเริ่มเกิดเป็นความสัมพันธ์ “ระหว่าง” องค์ความรู้   หรือระหว่างทักษะมากขึ้นกว่าแบบแรก ก็จะเรียกการบูรณาการลักษณะนี้ว่า  การบูรณาการ “ระหว่างวิชา”  (interdisciplinary)  และหากสามารถหลอมรวมองค์ความรู้และทักษะต่างๆ จนเกิดเป็นความรู้หรือทักษะใหม่  ที่ข้ามพ้นความรู้และทักษะเดิมที่นำมาประกอบกัน โดยมิได้คงเหลือให้เห็นเค้าเดิมแล้วไซร้   ก็จะเรียกการบูรณาการในระดับสูงสุดนี้ว่า การบูรณาการข้ามวิชา  หรือการข้ามไปจากความรู้และทักษะเดิม  (transdisciplinary) (Choi  และ   Pak, 2006: 359)  เมื่อการ   บูรณาการมีตั้งแต่ระดับพื้นฐาน “แยกองค์ความรู้” ไปจนกระทั่งถึง  “หลอมรวม” แล้วสร้างองค์ความรู้ใหม่เช่นนี้  ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยสามารถที่จะบูรณาการในระดับใดได้บ้าง 

 

            ก่อนที่กล่าวถึงแนวทางในการบูรณาการ จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อนว่า  ที่มีความเข้าใจโดยทั่วไปว่า  การสอนแบบบูรณาการจะต้องเกิดขึ้นจากการใช้ผู้สอนหลายคน ที่สอนวิชาต่างๆ กันมาทำงานร่วมกันนั้น  อาจจะมิได้ถูกต้องนัก เพราะแนวคิดการบูรณาการในต่างประเทศจะมุ่งเน้นไปความเป็นเอกเทศของความรู้มิใช่ตัวผู้สอน  และหากเราพิจารณาให้ลึกลงไปแล้วจะพบว่าในกลุ่มสาระหนึ่งๆ  ก็ประกอบด้วยองค์ความรู้และทักษะหลายๆ  องค์ความรู้ที่แยกเป็นเอกเทศอยู่แล้ว   ก่อนที่จะนำมาจัดรวมกันเป็น “กลุ่ม” ของสาระการเรียนรู้ภายหลัง  ด้วยเหตุนี้  ครูหรือผู้สอนเพียงคนเดียว  ย่อมสามารถจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการได้ในหลายๆ ระดับดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น  มิติของการบูรณาการในที่นี้   แม้จะมีขอบเขตอยู่ภายใต้ขอบเขตรายวิชาเดียว  แต่ก็มุ่งเน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์หรือการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และทักษะย่อยๆ ในการพัฒนาผู้เรียน 

 

            ไม่มีคำตอบที่ตายตัวในเรื่องของการเลือกใช้รูปแบบวิธีการบูรณาการ ทั้งนี้ ครูภาษาไทยจำเป็นจะต้องพิจารณาความพร้อมในด้านต่างๆ ก่อนดำเนินการบูรณาการให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านนโยบาย  ตารางเวลา บุคลากรและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ  สำหรับการบูรณาการในระดับพื้นฐานหรือระดับสหวิทยาการ  หากพิจารณาในแง่ขององค์ความรู้และทักษะ จะเห็นได้ว่ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยแบ่งความรู้และทักษะออกเป็น  5 กลุ่มด้วยกัน  ในการเริ่มต้นการบูรณาการแบบสหวิทยาการ ควรจะเริ่มจากการจัด  “หน่วยการเรียนรู้สหวิทยาการ” ซึ่งครูภาษาไทยอาจกำหนดหน่วยการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนใช้ความรู้และทักษะจากสาระการเรียนรู้ต่างๆ ของกลุ่มสาราการเรียนรู้ภาษาไทยก็ได้   เช่น

 

                        1.  หน่วยการเรียนรู้ที่  1  “ภาษาวาที”  บูรณาการระหว่างสาระหลักการใช้ภาษา สาระการฟัง การดูและการพูด  โดยครูจะสอนหลักการเลือกใช้ถ้อยคำ การเรียบเรียงประโยค และหลักการสื่อสาร เพื่อให้นำมาใช้ในการพูดในที่ประชุมชนลักษณะต่างๆ  จะเห็นได้ว่าในกรณีนี้   ครูยังคงต้องสอนหลักภาษาก่อนหลักการพูด โดยประเมินแต่ละส่วนแยกกัน    

 

                        2.  หน่วยการเรียนรู้ที่  2  “วรรณคดีลิขิต”  บูรณาการระหว่างสาระการเรียนรู้วรรณคดีและวรรณกรรม กับสาระการเรียนรู้การเขียน  โดยครูให้นักเรียนอ่านวรรณคดีและวรรณกรรมแล้วเขียนแสดงความคิดเห็นต่อวรรณคดีและวรรณกรรมในลักษณะต่างๆ ที่สัมพันธ์กับชีวิตของตนเอง  ในกรณีนี้ ต้องแยกสอนและประเมินระหว่างหลักการวิจารณ์วรรณกรรมกับหลักการเขียน

 

                        3.  หน่วยการเรียนรู้ที่  3  “อ่านคิดเรียบเรียง”  บูรณาการระหว่างสาระการเรียนรู้การอ่านและการเขียน  โดยครูให้นักเรียนศึกษาเขียนงานเขียนลักษณะต่างๆ ที่ดำเนินการหลังจากได้ศึกษาหลักการอ่านข้อมูลจากสื่อและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ    ในกรณีนี้ ครูยังต้องสอนหลักการอ่านแยกกับหลักการเขียน และแยกส่วนการประเมิน

 

            อย่างไรก็ตาม หากครูภาษาไทยสามารถที่จะพัฒนาหน่วยการเรียนรู้ในลักษณะที่ค่อยๆ ผสมผสานองค์ความรู้และทักษะในแต่ละสาระการเรียนรู้ได้มากขึ้น อย่างน้อยเป็นการเชื่อมโยงและให้นักเรียนใช้ความรู้หรือทักษะที่บูรณาการนั้นร่วมกัน โดยผลิตผลงาน  โครงการ  กิจกรรมหรือการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง  ที่แสดงให้เห็นการใช้ความรู้และทักษะที่เริ่มจะนำมาใช้แบบผสมกลมกลืนกัน  แต่ยังคงเค้าของสิ่งที่นำมาผสมผสานกัน  ก็ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการบูรณาการในระดับระหว่างวิชา (interdisciplinary) (ในที่นี้เป็นในระดับระหว่างองค์ความรู้หรือทักษะ) ตัวอย่างหน่วยการเรียนรู้ระหว่างวิชา  เช่น 

 

                        1.  หน่วยการเรียนรู้  “ภูมิปัญญาภาษาไทย”  ให้นักเรียนนำความรู้และทักษะจากสาระการเรียนรู้หลักการใช้ภาษาไทย  สาระการเรียนรู้การอ่านและสาระการเรียนรู้การเขียน  มาใช้จัดทำ  “สมุดบันทึกภูมิปัญญา” โดยรวบรวมตัวอย่างการใช้ถ้อยคำ สำนวน หรือประโยคในลักษณะต่างๆ ที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาจากสื่อการอ่านประเภทต่างๆ อย่างหลากหลาย แล้วนำมาเขียนเรียบเรียงและนำเสนอให้น่าสนใจ   

 

                        2.  หน่วยการเรียนรู้  “ภาษาพัฒนาชีวิต”  ให้นักเรียนนำความรู้จากสาระการเรียนรู้     การอ่าน การฟัง การดู และการพูด มาใช้ในการทำโครงการ  “ภาษาวาทะ” โดยให้นักเรียนพูดนำเสนอแนวทางการนำข้อมูลความรู้จากสิ่งที่ตนเองอ่าน ฟังหรือดู  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและผู้อื่น    

 

                        3. หน่วยการเรียนรู้  “ภาษากับการคิด”  ครูให้นักเรียนนำความรู้จากสาระการเรียนรู้วรรณคดีและวรรณกรรม การอ่าน  การเขียน การฟัง การดูและการพูด  มาใช้ในการจัดทำผลงาน  “วรรณกรรมมีชีวิต” โดยให้นักเรียนอ่านวรรณกรรมปัจจุบันที่น่าสนใจ จากนั้นเขียนบทบาทของตัวละครโดยผสมผสานความคิดของตนเองเข้าไป ในลักษณะของการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์หรือพฤติกรรมในเรื่องแล้วให้ผู้เรียนคนอื่นๆ พูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนั้น 

 

            การบูรณาการข้ามวิชาหรือข้ามองค์ความรู้ข้างต้นจะสำเร็จได้ เมื่อครูสามารถคิดค้นกิจกรรมหรือภาระงานที่สะท้อนให้เห็นการผสมผสานความรู้และทักษะจากสาขาต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน  ซึ่งการวัดประเมินก็จะไม่แยกประเมินทีละส่วน แต่จะประเมินภาพรวมของภาระงานที่ได้รับมอบหมาย เพื่อพิจารณว่าผู้เรียนได้สังเคราะห์ความรู้และทักษะผ่านการปฏิบัติผลงานต่างๆ ในลักษณะใดและอยู่ในระดับใด การจะทำให้เกิดการบูรณาการขึ้นได้ในรายวิชาภาษาไทยในสถาบันการศึกษาต่างๆ จึงต้องเริ่มจากการปรับปรุงหน่วยการเรียนรู้ที่แสดงให้เห็นความคิดเชิงสังเคราะห์มากยิ่งขึ้น 

 

            ตัวอย่างที่กล่าวมา เป็นเพียงตัวอย่างของระดับการบูรณาการเพียง  2  ระดับภายใต้กลุ่มสาระการเรียนรู้เดียว โดยมีมิติเน้นไปที่ระดับของการบูรณาการองค์ความรู้และทักษะในสาระต่างๆ เฉพาะภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  จากตัวอย่างที่ได้แสดงไปจะเห็นได้ว่า คุณลักษณะของครูภาษาไทยที่จะจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการได้คือ ต้องเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์  เพราะการบูรณาการในระดับที่สูงสุดก็คือ การหลอมรวมและสร้างสิ่งใหม่จากพื้นฐานเท่าที่ตนเองมีอยู่  ให้เกิดขึ้นให้จงได้ การบูรณาการจึงกระทำได้  เพราะเป็นการสร้างสรรค์ในทุกระดับ ทั้งในระดับภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้  หรือข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ครูภาษาไทยจึงควรเร่งพัฒนาตนเองให้มองโลก  และมองชีวิตที่ซับซ้อนอย่างสร้างสรรค์ นั่นจึงจะเป็นประตูสู่โลกแห่งการสอนบูรณาการโดยแท้   

 

_____________________________________________________

รายการอ้างอิง

Choi, B. C. K. and Pak, A. W.P.  2006.   Multidisciplinarity, interdisciplinarity and  transdisciplinarity  in health research, services, education and policy: 1. Definitions, objectives, and evidence of effectiveness .  Clinical and Investigative Medicine  29 (December): 351–364.

            

หมายเลขบันทึก: 501568เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2012 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2012 10:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครูภาษาไทยต้องอ่าน

ปฏิบัติ และจะเข้าใจ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท