บางแง่มุมของผู้ป่วยคลินิกยาเสพติด(1)


บางทีคนไข้ก็มีความคิดและอารมณ์ที่ซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะคิด...ความคิดเบื้องต้นเมื่อพบเห็นพฤติกรรมของผู้ป่วยที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการดูแลว่าเขาอาจจะไม่รู้ มีผลดีต่อการควบคุมอารมณ์ในการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ได้ดีกว่าการคิดว่าผู้ป่วยดื้อ หรือต่อต้าน

วันนี้ได้มีโอกาสมาช่วยทำงานแทนป้านิต ที่คลินิกยาเสพติด

 ซึ่งที่รพ.บริการคลินิกยาเสพติดอาจต่างไปจากที่อื่นๆอยู่บ้าง คือ เราจะรับแต่เคสที่ต้องการเข้าโปรแกรมเมทธาโดน(ระยะฟื้นฟู)และจะต้องเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น

เนื่องจากวิธีการรับยาเมธาโดนของที่คลินิกนี้เป็นแบบสัปดาห์/ครั้ง(ไม่เกิน350ml.)

วิธีการให้บริการแบบนี้มีความเสี่ยงก็คือ เราจะต้องมีระบบการเช็คให้ดีว่าผู้รับบริการนี้จะแอบเอายาซ้ำซ้อนกับที่อื่นๆหรือไม่ หรือ บางคนอาจจะเอายาไปขายต่อหรือไม่...การตรวจสอบและค้นหาว่ายังคงมีการใช้สารเสพติดอย่างอื่นๆด้วยหรือเปล่า

ซึ่งที่ผ่านนอกเหนือไปจากการใช้คอมพิวเตอร์ตรวจสอบข้อมูลแล้ว การใช้สายสืบแจ้งข้อมูลไม่ชอบมาพากล หรือ การสุ่มตรวจปัสสาวะ....การสังเกตท่าทีพฤติกรรม และการแต่งกาย รวมถึงการชวนพูดชวนคุยกับผู้ป่วยทุกครั้งที่มารับยา..ก็ที่จะทำให้เราสามารถรับรู้ข้อมูลและความเป็นไปต่างๆของผู้ป่วยได้ดีพอสมควร...

  ผู้ป่วยหลายคนเขาเคยได้รู้จักกันตอนไปรับยาจากศูนย์อื่นตอนนี้มาเจอกันอีก...เขาก็จะคุยกันเสียงดัง จนหลายหนต้องปรามๆให้เบาเสียงลงหน่อย แต่ส่วนใหญ่แล้วเขาก็ให้ความร่วมมือดี หรือ ผู้ป่วยที่บ้านอยู่ใกล้ๆกันก็จะรวมกลุ่มกันนัดเวลามารับยาด้วยกัน สภาพที่พบมีทั้งด้านบวกและลบ พวกเกเร ชอบต่อต้านสังคม เอะอะข่มขู่เจ้าหน้าที่ก็พอมี แต่พวกที่ตั้งใจอยากเลิกและไม่กลับไปใช้สารเสพติดอะไรอีกก็มีอยู่หลายคน และ พวกที่ไม่รู้ว่าอยากมีอยากเป็นอะไรเลยก็มีมากอยู่เช่นกัน

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอายุเกินกว่า25ปีอายุมากสุดคือ61ปี แต่อายุโดยเฉลี่ยจะประมาณ39ปี การศึกษาตั้งแต่ไม่ได้เรียนจนถึงปริญญาตรี แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับมัธยมต้น มีประสบการณ์ในการเป็นผู้เสพสารเสพติดโดยเฉลี่ยมาแล้วไม่น้อยกว่า12ปีและรู้ผลการติดเชื้อเอชไอวีอยู่ประมาณ5-6 ปี ส่วนใหญ่อาชีพรับจ้าง และขายของ ที่ทำงานบริษัทก็พอมี แต่ส่วนใหญ่มักจะเลือกอาชีพค้าขาย เช่น อาหาร งานประดิษฐ์ และพระเครื่อง เป็นต้น

เคยถามเหตุผลในผู้ป่วยรายที่ยังแข็งแรงและมีความรู้ค่อนข้างดีว่าเขาเคยได้ลองไปสมัครงานบริษัทหรืองานประจำอะไรดูบ้างไหม ได้รับคำตอบหลากหลายว่า ไม่กล้าก็มี สังคมไม่เปิดโอกาสก็มี แต่มีอยู่สองสามรายที่ตอบฟังดูน่าสนใจดี ก็คือ เขาไม่ชอบทำงานประจำ มันอึดอัด ไม่เป็นอิสระ เขาจึงเลือกที่จะเสี่ยงออกมาค้าขายแบบนี้

ที่คลินิกมีผู้ป่วยสี่ห้ารายที่มาเป็นคู่พร้อมกันทั้งสามีภรรยา วันนี้ฉันได้เจออยู่-3คู่

มีอยู่คู่หนึ่งเป็นเคสใหม่ยาเสพติดแต่เป็นเคสเก่าที่ฉันพบจากที่TB clinic ผู้ชายป่วยเป็นวัณโรค ตอนนี้กินยารักษามาได้เกือบสองเดือนแล้ว อาการของผู้ชายยังคงดูแย่อยู่ แต่ผู้หญิงยังดูแข็งแรงดีไม่เจ็บไม่ป่วย  ชายหนุ่มของดิฉันคนนี้ได้แมสมาแต่ใส่ไม่ถูก คือไม่ได้ครอบไปจนถึงครึ่งสันจมูก ปิดแค่ช่วงปากเท่านั้น พอเขามาเจอและจำดิฉันได้เขาก็อยากจะคุย(บ่น)เรื่องการกินยาวัณโรคให้ฟัง...ฉันปล่อยให้คนไข้เล่าไปสักครู่หนึ่งแต่ฟังดูแล้วเขาคงจะคุยอีกนาน จึงขอขัดจังหวะการพูดของเขาและสอนการใส่แมส(ที่ปิดปาก)ให้ถูกต้อง

แรกๆภรรยาเขาก็ดูสีหน้าไม่ค่อยดีแต่เรามุ่งแต่ว่าเขาอาจไม่รู้ก็ได้จึงใส่ไม่ถูก

เคสยอมใส่ตามที่เราสอนและจัดการให้ แต่เขาหยุดชะงักไม่พูดต่อ ดิฉันปล่อยให้เกิดความเงียบไปช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะถามทั้งคู่ว่ามีอะไรเกิดขึ้น หรือ เขามีอะไรที่ไม่พอใจดิฉันหรือเปล่า

เคสทำสีหน้าลังเล ก่อนตอบว่าเปล่า...เขาเงียบเพราะนึกว่าเราจะโกรธเขาต่างหาก แต่พอเห็นว่าเราทักท้วงเพียงต้องการสอนให้เขาใส่แมสให้ถูกเท่านั้น ไม่ได้โกรธหรือตำหนิ อะไรต่อตัวเขา

เขาก็เลยกล้าที่จะถามเราต่อไปว่าเพราะอะไรเราถึงต้องกระตุ้นและสนใจอย่างมากๆให้คนป่วย/สงสัยว่าเป็นโรคปอดใส่แมสปิดปากปิดจมูกจนหายใจแทบจะไม่ออกอย่างนี้ ?

ดิฉันอ้างถึงข้อมูลที่เคยได้ยินคุณหมอนาฏพธูพูดถึงเรื่องการป้องกันวัณโรค ว่า"การที่คนไข้ใส่แมสให้ถูกต้องจะช่วยป้องกันได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ใส่แมสเอง"มาเล่าต่อให้สามี-ภรรยาคู่นี้ฟัง

 เขาฟังแล้วก็คงพอจะเข้าใจและยอมรับกับเหตุผลของเราได้ ผู้ป่วยจึงบอกว่า เขาไม่รู้จริงๆว่าการใส่แมส(ผู้ป่วยเรียก"ที่ปิดปาก") อย่างถูกต้องของเขาจะมีผลดีต่อผู้อื่น เช่น แฟนเขา หรือพี่เจ้าหน้าที่ ได้อย่างไร  พี่ๆพยาบาลข้างหน้าอาจจะเคยบอกเขาเหมือนกัน แต่เขาลืมและไม่ค่อยใส่ใจมากตอนนั้น เพราะนี่เป็นการเจ็บป่วยครั้งแรกของเขา และเพราะความรู้สึกในการใส่แมส(ที่ปิดปาก)นี้สำหรับเขาคือมันไม่สบาย มันร้อนและรู้สึกรำคาญมาก อีกอย่างเขาก็เห็นว่าเจ้าหน้าที่เองก็มีแมสใส่ป้องกันอยู่แล้วถ้าเขาไม่ใส่บ้างก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรไม่เกี่ยวข้องอะไรกัน  แต่เขาลืมนึกถึงคนใกล้ตัว และเพื่อนบางคนที่เขายังเกี่ยวข้องอยู่ซึ่งไม่ได้มีการป้องกันเป็นอย่างดีเหมือนอย่างหมอ หรือ พยาบาลในโรงพยาบาล

ดิฉันก็เลยสรุป(มัดมือชก)ว่า ตอนนี้เขาคงรู้แล้วและเห็นว่าการที่เขาเพียงคนเดียวถ้าใส่ที่ปิดปากปิดจมูกนี้ได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่องแล้ว จะส่งผลต่อการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคแก่ครอบครัวและชุมชนได้..เขายินดีที่จะช่วยใส่ที่ปิดปากนี้(แมส)ทุกครั้งให้ถูกต้องจะได้ไหม...คนไข้ก็พยักหน้าทำตาหยีๆ(เดาว่าคงยิ้มให้มั้ง)..ส่วนภรรยาก็มีสีหน้าดีขึ้นและแอบมาคุยกับดิฉันลับหลังคนไข้ว่า...ดีนะที่พี่ใจเย็น ค่อยๆพูดจนแฟนยอมรับ...ปกติคนไข้จะเป็นคนที่ขี้ระแวง ขี้น้อยใจ กลัวคนอื่นจะรังเกียจตัวเองที่เป็นอย่างนี้  ใครว่า หรือสอนอะไรก็มักจะต่อต้าน..สอนอย่างทำอย่าง...ดิฉันก็ได้แต่ยิ้มขอบคุณที่ภรรยาของเขาได้มาเล่าข้อมูลเพิ่มเติมให้ได้รับรู้...นึกในใจว่าถ้างวดหน้าเขามาแล้วเห็นว่ายังใส่แมสไม่ถูกอีก..ก็ยังคงจะพูดบอกเขาอยู่ดี...แต่อาจต้องใช้เหตุผลอื่นเพื่อเข้าใจผู้ป่วยแทนคำว่า"ไม่รู้"อาจเป็นว่า"ลืม ไม่ชอบ ไม่ชิน"ก็แล้วกัน

ทั้งนี้ เพราะได้เรียนรู้แล้วอีกครั้งหนึ่งว่า ความคิด อารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วยนั้นซับซ้อนมากกว่าที่เราจะคาดคิด บางทีความคิดเบื้องต้นที่ควรนำมาใช้เมื่อพบพฤติกรรมของผู้ป่วยที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการดูแลว่า"เขาอาจจะไม่รู้"มีส่วนช่วยควบคุมอารมณ์ในการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ได้ดีกว่าการคิดว่า ผู้ป่วยดื้อ หรือ ต่อต้าน

หมายเลขบันทึก: 50141เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2006 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ดีใจแทนผู้ป่วยจังเลยที่มีคนเข้าใจพวกเขา
  • ผู้ติดสารเสพติดมักจะมีความรู้สึกว่า คนในสังคมไม่ยอมรับ แม้ว่าตัวเองจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วก็ตาม
  • คาดว่า...ผู้ป่วยจะให้ความร่วมมือกับ seangja ในเรื่องการกินยาอย่างสม่ำเสมอนะจ๊ะ
  • จะคอยเป็นกำลังใจให้  

กะปุ๋มเชื่ออย่างหนึ่งนะคะ...ว่าหัวใจของนักบำบัด...ทำให้ผู้มาบำบัดรับรู้ได้ว่าเขาไม่ได้ถูกตัดสิน...เกี่ยวกับความดีหรือความเลว...จากผู้บำบัด...

...

ที่ "คนจิตเวช" รพ.ยโสธรเอง...ก็เช่นเดียวกัน...เรามักได้รับความร่วมมือและความจริงใจจากผู้มาบำบัดเสมอ...เพราะเราปฏิสัมพันธ์กับเขาเสมือนว่าเขาเป็นน้อง-พี่...ที่เราอยากได้ใจเขาคืนกลับสู่สังคม...

*^__^*

กะปุ๋ม

555....

เข้ามาอีกรอบ..มัวแต่อ่านบันทึกลืมเงยหน้ามองว่า...คือพี่ไก่กับพี่ขวัญกำลังคุยกัน...ขออภัยนะคะ...คุณพี่ทั้งสอง...

...

ขอทักทายอีกครั้งว่า..."สวัสดีคะ"....และ "คิดถึงนะคะ"

*^__^*

กะปุ๋ม

ka-poom

you ' re welcome! ดีใจ ที่กะปุ๋มแวะเข้ามาทักทายมากกว่าค่ะ

เป็นการเขียนบันทึกสอนใจตัวเองมากกว่าค่ะ

คล้ายๆกับว่าเริ่มเห็นบางอย่างที่เมื่อก่อนไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยเข้าใจ แต่พออายุมากขึ้นเจอบททดสอบมากขึ้นทำให้เริ่มทบทวนและจัดลำดับความเข้าใจของตนเองใหม่ หลายความคิดก็ได้มาจากการอ่านข้อความและข้อมูลจากท่านอื่นๆในบล็อกซึ่งแน่นอนว่า

กะปุ๋มก็เป็นแรงดลใจอันหนึ่งทีทำให้เพลิดเพลินในการรับรู้และเสพข้อมูลจากG2Kค่ะ

พี่ขวัญ...

กะปุ๋มน่ะดีใจยิ่งเลยที่มีคน...มาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ..ผู้ป่วยทางจิตและยาเสพติด.. หรืออะไรก็แล้วแต่ในแง่มุมการบำบัดทางจิต...นั้น เพราะคนสังคมส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจ...และมักตัดสินผู้ป่วย...หรือแม้แต่คนเรียนทางจิตวิทยาเอง..หากมุ่งแต่ทางทฤษฎี...แต่ไม่ insign เข้าไปในเนื้อแท้...ก็ย่อมยากที่จะ...เดินบนเส้นทางนี้ได้...

....

ยิ่งมาเจอ CoP ของบำราศ...ที่ครึกคักและ...มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในแง่มุมนี้มากๆ...กะปุ๋มเชื่อว่า...สักวันโอกาส...จะเข้ามาสู่คนกลุ่มผู้ป่วยที่เราดูแลนี้มากขึ้นนะคะ...

...

กะปุ๋มจะเข้ามาเก็บเกี่ยว...จากพี่ขวัญบ้างนะคะ...อิอิ

*^__^*

กะปุ๋ม

 

แวะมาเติมเต็มค่ะ...และขอบพระคุณที่แวะไปเติมเต็มให้เสมอ ๆ ค่ะ

อ่านแล้วจึงได้ทราบว่า การเป็นนักบำบัดที่ดีนั้นต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนอย่างหนักหน่วงเลย เพราะคนไข้มีหลากหลายอารมณ์จริง ๆ การเป็นนักบำบัดที่ดีจึงต้องมีสติทุกขณะ  ควบคุมอารมณ์ตนให้นิ่งนั้นยังไม่พอต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนไขและญาติคนไข้อีกต่างหาก

ยอมรับอย่างหนึ่งค่ะว่า หากนักบำบัดรู้และสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ และรู้จักที่จะเรียนรู้อารมณ์ของผู้ป่วย ความเป็นไปของผู้ป่วย การรักษาอาการป่วยของคนไข้ย่อมเป็นไปในทิศทางที่พึงประสงค์ค่ะ ผู้ป่วยส่วนมากจะยอมรักษาหรือมารับการบำบัดจากนักบำบัดที่ใจดี ใจเย็น และเข้าใจเขาเสมอค่ะ อย่างคำกล่าวที่ว่า "รู้เขารู้เรา...รบร้อยครั้ง...ชนะร้อยครั้ง"  ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท