รถราและดินแดนภารตะน้อย (Little India)


..

ช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมาในช่วงที่รถเข้าอู่ ฉันตัดสินใจที่จะไม่รับรถสำรองที่อู่มาใช้ด้วยเหตุผลสองประการ หนึ่งเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และสองเพื่อใช้บริการขนส่งของรัฐหลากรูป เพราะต้องการการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ให้กับชีวิตบ้าง การที่เราทำอะไรเหมือนเดิมตลอดเวลา มันทำให้เกิดความเคยชินและกลายเป็นความอยู่ตัวในการเรียนรู้ 

ชาวสิงคโปร์โชคดีมากที่รัฐจัดการระบบการขนส่งสาธารณะค่อนข้างดี ทุกๆ ชุมชนที่ผู้คนอาศัยอยู่อย่างน้อยที่สุดก็จะมีรถบัสผ่าน บางที่อาจมีรถรางเล็กเพื่อเพิ่มความสะดวก และที่สำคัญบริการของเครือข่ายรถไฟฟ้าก็ขยายตัวครอบคลุมเกือบจะทั้งเมือง รถบัสส่วนบุคคลก็มีวิ่งในบางสายที่เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น หากต้องการความสะดวกที่มากไปกว่านั้นบริการรถแท็กซี่ก็เป็นที่นิยมทำให้การเดินทางสบายยิ่งแทบจะเรียกได้ว่าไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวเลยก็ว่าได้ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของเมือง ซึ่งการเดินทางโดยสารขนส่งของรัฐนั้นเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างมากอีกด้วย สิ่งที่ต้องมีคือทักษะการบริหารจัดการเวลาที่ดีขึ้นหากต้องต่อรถและรอรถหลายสาย และการเตรียมใจเผชิญกับความแออัดในชั่วโมงเร่งด่วนเท่านั้น

ระยะสองปีหลังมานี้รัฐบาลได้พยายามลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน ด้วยการปรับเพิ่มราคาประมูลใบอนุญาตการครอบครองยานยนต์ที่เรียกกันว่า Certificate of Entitlement (COE) ให้สูงขึ้นมาก นอกเหนือจากค่ารถยนต์ ค่าภาษีนำเข้าแล้ว ราคารถยังต้องบวกค่า COE เข้าไปอีกทำให้ราคาของรถส่วนบุคคลแพงมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และ COE นี้มีอายุการใช้งานแค่สิบปี หลังจากนั้นก็ต้องขอประมูลใหม่หากต้องการใช้รถคันเดิม และราคาของ COE ก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนโควต้ารถที่รัฐบาลอนุญาตในเดือนนั้น หากจำนวนรถที่อนุญาตสูงราคาใบอนุญาตก็ต่ำลง หากจำนวนรถน้อยราคาก็แพงขึ้น ตามสถิติล่าสุดจำนวนประชากรของทั้งประเทศประมาณห้าล้านคน อัตราส่วนคนมีรถยนต์ประมาณหนึ่งในสิบ

พักหลังมานี้ราคา COE เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 70,000 เหรียญ รวมทุกอย่างแล้วรถยนต์ญี่ปุ่นธรรมดาๆ ขนาด 2,000 cc จะตกประมาณ 150,000 เหรียญ (1 เหรียญ = 24 บาท) การซื้อรถยนต์ในระยะหลังมานี้กลายเป็นความฟุ่มเฟือยมากกว่าความจำเป็นจริงๆ คนที่เพิ่งจบปริญญาตรีจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละประมาณสามพันเหรียญ หากเขาซื้อรถขับ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับรถคันเล็กๆ ต่อเดือนอาจรวมเป็นครึ่งหนึ่งของรายรับเลยทีเดียว แต่หากเขาใช้บริการขนส่งของรัฐ เขาอาจจ่ายไม่เกิน 500 เหรียญต่อเดือน หากเมื่อก่อนค่า COE แพงเหมือนตอนนี้ฉันคงไม่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ที่ขับอยู่อย่างแน่นอน

วันเสาร์ช่วงฮารีรายอ เราชวนกันนั่งรถไฟไปหัดถ่ายรูปแถบอินเดียน้อย Little India ซึ่งอยู่ใกล้ตัวเมือง จากบ้านเราใช้เวลาเดินไปสถานีรถไฟประมาณ 10 นาที รถไฟจากสถานีใกล้บ้านทางตอนเหนือเข้าเมืองใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง เราเปลี่ยนสายรถไฟที่สถานี Dhobi Ghaut ไปยังเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่สถานี Little India ใช้เวลาเดินทางทั้งหมดประมาณหนึ่งชั่วโมง ฉันรู้สึกตัวเองเป็นเหมือนบ้านนอกเข้ากรุง (country bumpkin) ทุกครั้งที่เข้าเมือง เพราะความตื่นตากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

..


ภายในสถานีรถไฟฟ้า Dhobi Ghuat

..

ประมาณร้อยละสิบของประชากรในสิงคโปร์เป็นชาวแขก แถบ Little India ในวันหยุดจึงคลาคล่ำไปด้วยชาวภารตะทั้งคนพื้นบ้านและชาวแขกที่เดินทางมาทำงานที่นี่จากแถบเอเชียใต้ ในขณะที่ชาวโลกอื่นๆ ต้องการเดินทางไปจาริกแสวงบุญในอินเดีย ชาวแขกอินเดียต่างก็ออกจากบ้านเมืองเขาและเดินทางไปทำงานในทั่วมุมโลกในขณะนี้ วันก่อนมีรายงานข่าวว่าร้อยละห้าของประชากรคนต่างชาติในออสเตรเลียคือคนแขก พวกเขาต่างออกแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าให้ตัวเอง จุดประกายให้ชีวิตตัวเองด้วยการนำตัวเองออกสู่โลกกว้าง หนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้แต่อย่างน้อยในวันนี้พวกเขาก็เชื่อว่าเขาควรจะจุดเทียนส่องทางดีกว่าจะมานั่งโทษความมืด

สำหรับคนที่อยู่ไกลบ้านการที่ได้ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกับที่เราจากมา ไปกินอาหารที่คุ้นเคย ไปเห็นรอยยิ้มของคนบ้านเดียวกัน ให้ความรู้สึกอบอุ่นหัวใจอย่างบอกไม่ถูก และสำหรับชาวแขกไกลบ้านหลายๆ คน ที่นั่นคือที่ชาร์ตแบตเตอรี่ที่เขาต้องไปเติมพลังใจทุกสัปดาห์ ฉันรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับเขาเหล่านั้น เพราะเราต่างเป็นคนต่างด้าวที่มาทำงานต่างเมืองและเรียกตัวเองให้ดูดีว่า foreign talent ;)

บนถนนสายนี้จึงมีร้านรวงมากมายไว้บริการนักท่องเที่ยวจากหลายๆ ที่เพื่อมาชื่นชมวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวแขกที่นี่ ในบางครั้งที่ฉันรู้สึกว่าเรากำลังเดินอยู่ในเมืองแขกที่ใดสักที่ที่ไม่ใช่สิงคโปร์ นอกจากร้านขายของใช้ต่างๆ ร้านอาหาร ร้านทอง แถบนี้ยังมีวัดแขกและมัสยิดตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน ดูเป็นความต่างที่กลมกลืนและลงตัว

ฉันนึกถึงคำพูดของอดีตประธานาธิบดีโรนัล เรแกนที่พูดเอาไว้ว่า "สันติภาพไม่ใช่หมายความว่าจะไม่มีข้อขัดแย้ง แต่มันคือความสามารถที่จะจัดการความขัดแย้งด้วยความสงบ" สิ่งหนึ่งที่ฉันชื่นชมรัฐบาลที่นี่คือการพยายามทำให้ผู้คนหลากพื้นเพ หลายความเชื่อ ต่างศาสนาอยู่ด้วยกันในเมืองเล็กๆ นี้อย่างผาสุก

การเดินทางออกจากเส้นทางเดิม การเดินทางออกจากความนึกคิดเดิม ช่วยกระตุ้นให้เห็นหลากมุมมองในชีวิตต่างไป ได้เห็นได้พบสิ่งที่น่าตื่นตาไม่น้อย สองข้างทางที่อาจดูเป็นสีจางๆ กลับกลายเป็นสีสันที่สดใสเป็นความตื่นตัวหนึ่ง วันนี้ไปเที่ยวดูสีสันของ Little India ด้วยกันนะคะ

..

..

..

..

..

..

..

..

..

..

..

..

..

..

.

Karunesh - Heart

http://www.youtube.com/watch?v=9UuFPuatqwQ&feature=related

คำสำคัญ (Tags): #little india#singapore#mrt
หมายเลขบันทึก: 501257เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2012 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (39)
  • คุณปริมครับ
  • เหมือนอยู่ในอินเดียมากกว่าสิงคโปร์นะครับ
  • มีสีสรรค์น่าดู
  • ชอบภาพแรกครับ

ชอบสิงคโปร์มาก ๆ ค่ะ การบริหารจัดการเขายอดเยี่ยม แข็งแรง

คนไทย(ส่วนหนึ่ง)มักจะค่อนขอดเขาว่า ดูไม่มีชีวิตจิตใจ แต่พี่คิดอีกแบบว่า เขาต้องทำแบบนี้เพราะชนหลายเชื้อชาติอยู่รวมกัน และเขาทำได้สำเร็จ น่ายกย่องค่ะ

พี่มีเพื่อนของครอบครัวอยู่ที่นั่น สมัยหนึ่งเราไปเที่ยวบ่อย ยังติดใจรถไฟฟ้าMRT ของเขา

สะอาด สะดวก สบาย และแน่นอนกว่าใคร ๆ หลายประเทศ

 

สุขสันต์กับชีวิตและการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวนะคะ

cheers

ให้ดอกไม้ จรอง จอง ไว้ก่อน เดี๋ยว Ment นะคะ

อ่านแล้วดูแล้วน่าไปมากครับ เพราะคงสะอาด และไม่มีกลิ่นเหมือนประเทศอินเดียของจริง

แต่ว่า อินเดียจริงๆ ก็มีเสน่ของเขา ทำให้เราเห็นความเป็นสมมุติของโลกได้

อย่างตอนผมไปนมัสการพุทธสังเวชนียสถานในครั้งที่ ๒ รวม ๑๒ วัน ผมเจอแต่ความยากจนของคนไปตลอด จนกระทั่งแม้ในเมืองหลวง แต่พอเข้าสนามบินเพื่อจะกลับเมืองไทยเท่านั้นแหละ เมื่อเข้าภายในเทอร์มินัลแล้วเป็นคนละโลกเลย ภาพจากเคเบิลทีวีพูดถึงเรื่อง GDP, Exchange rate, Stock, billions, ดูเหมือนเป็นเรื่องคนของส่วนน้อยจริงๆ แต่คนส่วนมาก อดๆ อยากๆ นี่คือความเป็นจริงส่วนใหญ่ในอินเดีย

เกาะเล็กๆแห่งนี้ ผสมผสานระหว่างความเจริญและวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างกลมกลืน..ชอบความเป็นระเบียบค่ะ

เหมือนได้ไปเดินเล่นกับคุณปริมเลยครับ

ชีวิตนี้ ตั้งเป้าหมายเล็กๆไว้ว่า ถ้าจะได้ไปต่างประเทศสักครั้ง..ข้าพเจ้าขอเลือก..สิงคโปร์ เย้

เป็นบันทึกที่น่าอ่านมากๆ คุณปริมถ่ายภาพได้งดงามมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ  :)

  • ได้ดูภาพอย่างเต็มอิ่ม
  • รัฐสิงคโปร์ต้องจ่ายค่าเขียนบันทึกนี้ให้มากเป็นพิเศษ
  • ความจริงแง่มุมด้านมืดของสิงคโปร์ก็ยังมีอยู่บ้างเหมือนกัน
  • ขอบคุณมากครับที่นำภาพสวยๆมาฝากพวกเรา

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ขจิต,

โดยเฉพาะบนถนนแถบนั้นค่ะ ทั้งรถราและผู้คนที่เดินขวักไขว่ เหมือนในอินเดียมากค่ะ

ภาพคนขายดอกไม้มีสีสันสดสวยมากเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  • ชอบแนวทางการบริหารบ้านเมืองของผู้นำประเทศมากเลยค่ะ สามารถบริหารประเทศท่ามความหลากหลายของเชื้อชาติได้เป็นอย่างดี
  • ดูเหมือนเป็นเมืองอินเดียเล็ก ๆ ที่น่าอยู่ สะอาดและเป็นระเบียบมากค่ะ
  • เห็นคุณผู้หญิงร้อยพวงมาลัย น่าจะใช้ดอกมะลิเหมือนเมืองไทยเช่นกัน ตาไม่ดี ดูไม่ค่อยเห็นค่ะ ...วัฒนธรรมประเพณี พิธีกรรมคงจะไม่แตกต่างกับของไทยเรานักนะคะ 
  • ขอบคุณนะคะที่พาเที่ยวเมือง
  • การเดินทางที่เปลี่ยนเส้นทาง หรือเปลี่ยนวิธีการเดินทางทำให้เราได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เสมอ เป็นการมองโลกแบบนักผจญภัยที่สดใสมากค่ะ

สวัสดีค่ะพี่หมอภูสุภา,

ไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้นค่ะพี่หมอที่คิดว่าทั้งประเทศดูไม่มีชีวิตชีวา คนสิงคโปร์เองก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบระบบที่มีอยู่เพราะรู้สึกว่าถูกบีบบังคับและ ถูกริดรอนเสรีภาพค่ะ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นการบ่งบอกถึงความคิดนั้นกับรัฐบาลเป็นอย่างดีค่ะ

แต่ก็ยังมีคนอีกมากที่ชื่นชมการทำงาน การจัดระเบียบ ของรัฐที่นี่ค่ะ ขึ้นอยู่กับมุมมองของคนเช่นกันค่ะ ซึ่งที่ไหนๆ ก็คงเหมือนกัน

แต่ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวปริมก็ชื่นชมการจัดระเบียบของเมืองนี้ค่ะ

คงได้พบพี่หมอมาที่นี่บ้างนะคะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมออ้อ

แค่มาทักทายกันก็ดีใจมากมายแล้วค่ะขอบคุณมากนะคะ

แล้วคุยกันอีกทีค่ะคุณหมอ ;)

สวัสดีค่ะ ดร. บุรชัย

ขอบพระคุณมากค่ะที่กรุณาเล่าประสบการณ์จากการไปสัมผัสเมืองอินเดียให้ฟังค่ะ ปริมก็หวังว่าจะได้ไปกราบนมัสการสังเวชนียสถานสักครั้งในเร็ววันนี้

ความแตกต่างทางด้านการเป็นอยู่มีให้เห็นอย่างเด่นชัดในอินเดียค่ะ และแม้แต่บ้านเราเองก็เช่นกัน แต่ในความต่างก็มีความงดงามของมันให้เราเห็นเสมอนะคะ

แถบ Little India ที่นี่เป็นเพียงขนาดชุมชนเล็กๆ ที่มีถนนและซอยตัดกันไม่กี่สาย แต่ก็ยังสามารถมองเห็นถึงความต่างของความเป็นระเบีบยเรียนร้อยของถนนสายนี้กับถนนทั่วไปในสิงคโปร์ค่ะ ชาวสิงคโปร์บางคนก็รับความต่างไม่ได้เช่นกันที่ผู้คนเดินข้ามถนนกันขวักไขว่โดยไม่ใช้ทางม้าลายหรือไฟแดง แต่ทว่ามันก็ทำให้สิ่งนี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ค่ะ ถึงแม้จะไม่ค่อยสะอาดเท่าแถบอื่นแต่ก็ถือว่าสะอาดใช้ได้และสภาพโดยรวมก็ดีกว่าอินเดียของจริงค่ะ อาหารหารกินแถบนั้นขึ้นชื่อสำหรับผู้คนที่หลงใหลอาหารแขกค่ะ เราทานอาหารแขกกันสัปดาห์ละครั้งเป็นอย่างน้อยค่ะก็เลยไม่มีปัญหาเรื่องเครื่องเทศ

แต่ปริมว่ายังไงินเดียของจริงก็มีเสน่ห์กว่าตรงที่เป็นสถานที่ประสติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์พระศาสดาเราค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ภาพสวย และสะท้อนการดำเนินชีวิตของดินแดนภารตะมากค่ะ

กลิ่นเครื่องเทศคงตลบอบอวลไม่แพ้ที่ดินแดนภารตะใหญ่แน่ๆ เลย

สวัสดีค่ะคุณพี่ใหญ่

เท่าที่สังเกตดูที่นี่เขาก็ไม่ได้ร่ำรวยวัฒนธรรมมากมายนะคะ คนที่นี่บอกว่าคนส่วนใหญ่ที่อพยพมาที่นี่ก็เป็นคนยากจน การศึกษาไม่ค่อยสูงค่ะ วัฒนธรรมต่างๆ อาจไม่เข้มมากมาย แต่ที่ปริมนับถือก็คือ ไม่ว่าจะมีน้อยเท่าใด เขาก็ยังใส่ใจรักษาความเป็นรากเหง้าของตัวเองให้มากที่สุดค่ะ

ขอบคุณคุณพี่ใหญ่มากค่ะ

สุขสันต์วันทำงานดีดีอีกวันนะคะ

สวัสดีค่ะคุณหมออดิเรก,

ด้วยความยินดีค่ะ วันนั้นเราเดินกันจนเหนื่อยเลย ทั้งๆ ที่แถบนั้นก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร ถูกแซวตลอดว่าบ้านนอกเข้ากรุงเพราะเวลาไปเดินป่าเราไม่ค่อยเหนื่อยอย่างนี้ ;)

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ชยันต์,

หากปริมยังไม่โยกย้ายไปที่ไหนเสียก่อน จะเป็นไกด์พาอาจารย์ชมชีวิตของผู้คนที่นี่ที่นอกเหนือไปจากสถานที่ท่องเที่ยวค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหยั่งราก ฝากใบ

ขอบคุณค่ะ

ปกติเราไม่ค่อยได้ไปถ่ายรูป street photography มากเท่าไหร่เพราะส่วนใหญ่เราชอบไปถ่ายรูปธรรมชาติค่ะ แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี ได้นำเลนส์ที่ไม่ค่อยได้ใช้เอาออกมาปัดฝุ่น สนุกไปอีกแบบค่ะ แต่เหนื่อยมากเพราะคงไม่ชินกับอากาศในเมืองค่ะ ;)

สุขสันต์วันทำงานดีดีอีกวันนะคะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ kunrapee,

Karunesh เป็นนักดนตรี new age ขวัญใจปริมเลยค่ะ ดนตรีของเขาออกในแนวเอเชียใต้หลายๆ ชิ้น ที่ฟังแล้วไม่รู้จักเบื่อเลยค่ะ

ดีใจที่คุณพี่ชอบค่ะจะได้ฟังด้วยกันค่ะ

สุขสันต์วันทำงานค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่สันติสุข

ปริมถูกเพื่อนๆแซวเป็นประจำว่ามีงานพิเศษคือเป็นประชาสัมพันธ์ให้รัฐบาลค่ะ อิอิอิ ความจริงน่าจะไปสมัครเป็นสมาชิกของพรรครัฐบาลนะคะ แต่เพราะไม่มีสัญชาติสิงคโปร์ค่ะเลยลงโหวตไม่ได้ ให้กำลังใจเขาเฉยๆค่ะ ;)

ทุกที่ก็มีมุมมืดของที่นั้นๆค่ะ เป็นเหรียญสองด้านที่มีทั้งด้านหัวและก้อย จากประสบการณ์มุมมองของเราเอง หากเราได้พบเจอสิ่งที่ดี สิ่งที่ฝังใจคือทรรศนะในแนวบวกเราก็จะจดจำสิ่งนั้นได้มากกว่าค่ะ ปริมโชคดีที่ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่แล้วรู้สึกว่าชีวิตพบเจอแต่สิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามุมมืดไม่มีอยู่ มีค่ะแต่เราไม่มีประสบการณ์ตรงเลยไม่รู้จะบอกเล่าอย่างไรดี

ที่นี่กฏหมายเข้มงวดสำหรับใครหลายๆคน แต่สำหรับตัวเองปริมคิดว่ามันเป็นความปกติ เคยอ่านมาเขาบอกว่ากฎก็เหมือนศีล ที่คอยเตือนให้เราใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติสุข คงเป็นบุญเก่าที่ปริมรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ ไม่ค่อยใส่ใจกับกฎมากมายเพราะเราก็ไม่ได้คิดจะทำอะไรที่ต่างไป พลังแรงที่มีก็เอาไว้ชื่นชมสิ่งดีดีที่เอื้อให้เรามีความสุข ให้เราได้พัฒนาตัวเอง ไปสู่จุดหมายของเราดีกว่า

มุมมืดที่นี่ก็มีมากค่ะแต่มันไม่ได้เกี่ยวกับเราก็เลยไม่ได้ใส่ใจ มองอีกมุมเราก็เหมือนคนเห็นแก่ตัวนะคะ ;)

สุขสันต์วันทำงานค่ะคุณพี่ ขอบคุณมากค่ะ ;)

สวัสดีค่ะคุณศิลา,

ประเทศที่มีอายุ 47 ปี และเขาสามารถพัฒนาเมืองให้มีลักษณะที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ ปริมว่าผู้นำเขามีวิสัยทัศน์ที่ดีมาก ดีต่อเนื่อง และทำวิสัยทัศน์ของเขาให้เป็นรูปร่างขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับได้ เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม น่าเรียนรู้ ให้เป็นแบบอย่างที่เราจะสามารถพัฒนาต่อยอดได้ค่ะ

เมืองอินเดียเล็กๆ ยังคงรักษาวัฒนธรรมของเขาเอาไว้อย่างดีใช้ได้ค่ะ

มาลัยดอกมะลิของเขาสวยค่ะ ใช้ดอกมะลิสองอย่าง ดอกมะลิของบ้านเราและดอกมะลิอินเดีย (ไม่รู้เขาเรียกดอกอะไรค่ะ ปริมเลยตั้งชื่อให้ ;)) สีขาวเหมือนกัน กลิ่นหมอจรุงใจเหมือนกัน สวยเหมือนกัน แต่มะลิของทางอินเดีย มีดอกเรียวยาวกว่าค่ะ

เอาไว้จะไปเดินเล่นในชุมชนอื่นบ้างแล้วจะนำมาเล่าอีกค่ะ

สุขสันต์วันทำงานอีกวันนะคะ

สวัสดีค่ะคุณ T-Tikk,

ขอบคุณมากค่ะที่กรุณามาเดินเล่นด้วยกันค่ะ ;)

มีความสุขในวันทำงานนะคะ

สวัสดีค่ะคุณพี่อักขณิช,

นิดหน่อยค่ะ พอได้กลิ่นไอของวัฒนธรรมค่ะ Ivan ชอบอาหารแขกมากค่ะ กินได้เกือบทุกวันมังคะ เริ่มชินเพราะกินด้วยกันบ่อย :)

ขอบคุณค่ะ

ขอขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านที่กรุณามาแวะชม และเดินเล่นไปด้วยกันนะคะ

สุขสันต์วันทำงานอีกวันค่ะ

สวัสดีค่ะ เคยไปสิงคโปร์เมื่อหลายปีมาแล้ว ข้ามฝั่งไปจากมาเลย์เซีย ไม่ประทับใจเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เราไปในนามข้าราชการ แต่สายตาดูแปลก ๆ ถามคำถามย้ำ ๆ ว่าจะอยู่สิงคโปร์ 2 วัน ใช่มั้๊ย มากับทัวร์ไช่ไม๊ ....นาน... ไม่ปล่อยไปซะที (สงสัยคนไทยบางกลุ่มมีวีรกรรมไม่สู้ดีมาก่อน ขอโทษนะคะที่พูดตรง ๆ เจอกับตัวแบบนี้จริง ๆ ค่ะ แต่ก็ชอบความสะอาด มีระเบียบของเขา อยู่สิงคโปร์ 2 วัน เจอคนท้อง 3 คน เจอเด็กวัยเรียนน้อยมาก หรือว่าเขาไม่นิยมมีลูกกันคะเพราะสู้งบประมาณเลี้ยงไม่ไหว สูงมาก จริงหรือเปล่าคะ 

ไม่บอกไม่รู้ว่าอยู่ในสิงคโปร์นะคะ

มีชีวิตชีวาจังค่ะ

สุขี สุขี Happy ฺBa ราตรีสวสัดิ์นะคะคุณปริม

สวัสดีค่ะคุณสเร็นเหลา

ขอบคุณค่ะที่กรุณาแบ่งปันประสบการณ์สู่กันฟัง ไม่ต้องขอโทษขอโพยค่ะ เล่าสู่กันฟังแบบสบายๆนะคะ

สิงคโปร์มีจุดแข็งหลายจุดค่ะแต่ก็มีจุดอ่อนหลายจุดเช่นกันที่บ้านเราทำได้ดีกว่า หนึ่งในนั้นคืองานบริการค่ะ เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าการบริการของชาวสิงคโปร์ยังทำได้ไม่ดีนักและต้องการการปรับปรุงอย่างมากค่ะ การบริการโดยทั่วไปพนักงานที่ให้บริการยังไม่มีหัวใจของคนให้บริการอย่างเต็มเปี่ยมค่ะ งานนี้บ้านเราชนะขาดค่ะ รัฐและบริษัทที่ให้งานบริการเขาเองก็รู้ตัวและพยายามปรับปรุงค่ะ

เมื่อมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ หลายต่อหลายครั้งที่บรรยากาศการทานอาหารในร้านต้องกร่อยไปเพราะพนักงานที่ทำงานไม่เป็นค่ะ จนรู้สึกเสียดายเงิน เสียดายเวลา เสียดายความรู้สึก บวกกับตัวเองที่เป็นคนเลือดร้อนด้วยค่ะ พออยู่ไปนานๆ ชักเริ่มชิน และไม่อนุญาตให้เขาเหล่านั้นมาทำลายความสุขของเราค่ะ ก็แก้ที่ตัวเราโดยการปล่อยมากขึ้น พักหลังนี้ก็ไม่ค่อยหัวเสียบ่อยค่ะ แต่นานๆ ทีก็ระอาเหมือนกันค่ะ

หวังว่าคุณสเร็นเหลาคงไม่เก็บไปรำคาญใจบ่อยนะคะ นึกถึงแต่สิ่งที่ดีดีที่เขามีให้บ่อยขึ้นค่ะ

ฝันดีนะคะ ;)

สวัสดียามดึกค่ะคุณหมออ้อ,

สงสัยวันนั้นวันหยุดค่ะทุกคนเลยดูมีชีวิตชีวาเพราะไม่ต้องทำงาน รวมทั้งช่างกล้องด้วยค่ะ อิอิอิอิ

สุขสันต์วันมีความสุขค่ะ ;)

ราตรีสวัสดิ์นะคะ

มอบดอกไม้ก่อนนะคะ

ราตรีสวัสดิ์ค่ะ


 

สวัสดียามดึกค่ะคุณ Tawandin,

ขอบคุณค่ะสำหรับบานชื่น ชื่นบานในหัวใจ

ฝันดีนะคะคืนนี้

ราตรีสวัสดิ์เช่นกันค่ะ

ไปเที่ยวสิงคโปร์ 2 ครั้งตอนเจ้าตัวเล็กยังจิ๋วอยู่ แต่ไม่รู้ว่ามี Little India ..... โอกาสเจอจางๆลงทุกที่จะได้ไปอีก......... ต้องบอกว่าถ้ามีโอกาสนะครับ....... บันทึกน่าชมเช่นเคย ......Pirimarj....Signature.....:):)

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์วิชญธรรม

ท่านอาจารย์ไม่ลองน้องมาเที่ยว Universal Studio บ้างหรือคะ เด็กๆ ที่นี่ชอบไปกันมากๆ ถึงมากที่สุด ส่วนคนแก่อย่างป้าปริม ชอบไปเดินป่าค่ะ

สุขสันต์วันอาทิตย์กับคริบครัวค่ะ

ตอนแรกจะไปหารวบรวมหนังสือว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับประเทศสิงคโปร์มาอ่านเพื่อเอาข้อมูลไปเล่าเสริมให้นิสิต มจร. ฟังเวลาบรรยายในห้องเรียน แต่ตอนนี้ไม่ต้องหาแล้ว รออ่านข้อมูลระดับคมชัดลึกจาก ดร.ปริมจิรา ดีกว่า

ขอบคุณหลายๆ ที่ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาไปหาหนังสือแล้ว

สวัสดีครับคุณปริม

ในรูปเห็นผู้หญิงใส่หมวกยิ้มอย่างเป็นกันเองกับกล้อง ใช่คุณปริมหรือเปล่า ดูมีความสุขมากๆ ครับ

..เรืองราวของการเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตที่เล่า น่าสนใจครับ เป็นเรื่องยากของหลายคน หากแต่เป้าประสงค์ของเราเพื่อขจัดความจำเจ เติมสีสันต์ให้ชีวิต เพิ่มพลังการเรียนรู้จากเราเป็นสิ่งใหม่สำหรับตรงนั้น little india เป็นสิ่งที่ เซอร์ไพรส์กับวันพักผ่อนมากๆ

ผมก็ชอบทำอย่างนี้เหมือนกันนะ ..หากแต่ส่วนใหญ่จะจำศีลอยู่ประจำกับถิ่นเก่า ยังนึกชื่นชมกับการเขียนว่า ชาวแขกเค้าเลือกที่จะจุดตะเกียงนำทาง ดีกว่าอยู่ต่อไปในความมืด นี่ก็เป็นอะไรที่ ทำให้ตระหนักว่า โลกไม่ได้มีอยู่เท่าที่เห็น หากแต่ยังมีความงดงามอีกมากมายรอการค้นหา ..ปลื้มไปกับวันแห่งความสุขของคุณปริมครับ ขอบคุณบันทึกเบาๆ ที่มีประโยชน์นะครับ

สวัสดีครับ

กราบนมัสการพระอาจารย์พระมหาอัมพรค่ะ

หากเป็นในแนววิชาการจริงๆ ขอกราบนิมนต์อ่านจากหนังสือค่ะ เพราะที่เล่ามาส่วนใหญ่คือวิถีชาวบ้านที่ผ่านเลนส์มุมมองของหนูเอง อาจจะไม่ถูกต้องนักค่ะ แต่หากมีหัวข้อใดให้ช่วยหาข้อมูล จะพยายามช่วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณเพชร

แม่นแล้วค่า ปริมคือหนึ่งในบรรดาคนงานต่างด้าวทั้งหลายในเมืองนี้นี่เอง แต่ก็มีความสุขในสิ่งที่เราทำค่ะ

คนทุกคนต่างแสวงหาความสุขที่มาจากปัจจัยภายนอกเสมอ เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราจะแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าเพื่อตัวเราเองค่ะ แต่หากวันหนึ่งเมื่อปัจจัยสี่มีพร้อมแล้วเราควรพัฒนาความสุขของเราให้มาจากภายในที่เรียกว่านิรามิสสุขค่ะ ไม่หยุดอยู่แค่อามิสสุขค่ะ

การที่จะก้าวออกจากความิคยชินเป็นเรื่องไม่ง่ายค่ะ แต่เมื่อก้าวออกไปแล้วเราควรทำให้ดีที่สุดไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามในโลกนี้เพราะสิ่งนั้นจะติดตัวเราไปเสมอ แม้ว่าวันหนึ่งเราจะต้องหวนกลับคืนสู่ที่ที่เราจากมาก็ตาม

สุขสันต์ค่ำวันอาทิตย์กับครอบครัวอันอบอุ่นค่ะคุณเพชร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท