พ่อ...role model ของครอบครัว


ที่สำคัญคือเราลด “การบอกให้พ่อทำ” ลง เริ่มฟังพ่อพูด หรือฟังพ่ออธิบายเหตุผลมากขึ้น

         ตั้งแต่จำความได้ พ่อไม่เคยตีลูกๆเลย และทำทุกอย่างให้ลูก แม้แต่ของกินที่ดีๆ ก็จะเว้นไว้ให้ลูุกก่อนเสมอ สิ่งเหล่านี้ลูกๆทุกคนยังตระหนักแม้ถึงทุกวันนี้

        ย้อนหลังไปประมาณ...ปี หลังจากสอบเข้าเรียนพยาบาลได้ ก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยกำหนดสุขภาพ รวมถึงอันตรายของโรคต่างๆมากขึ้น จึงเริ่มนำความรู้มาใช้กับคนในครอบครัว โดยเป้าหมายแรก คือพ่อของเราเอง  เนื่องจากพ่อสูบบุหรี่ (ใบจาก) ด้วยความรักพ่อ อยากให้พ่อมีสุขภาพดี ก็อยากให้พ่อเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งสูบมาประมาณ 20 ปี  ก็เป็นธรรมดาที่พ่อจะเลิกไม่ได้ เราจึงเอาเอกสารการเลิกสูบบุหรี่ อันตรายของบุหรี่มาให้พ่ออ่าน และใช้กลอุบายนำสติ๊กเกอร์ "เขตปลอดบุหรี่" มาติดในบริเวณบ้านทุกจุด จนพ่อเริ่มชักสีหน้ามึนตึง และเริ่มบ่นกับคนรอบข้างอย่างไม่พอใจ แต่เราก็จะทำดีโดยการซื้อยาอมยี่ห้อต่างๆ (ที่พ่อชอบคือยี่ห้อหนึ่งสีดำๆ) มาให้พ่ออมในช่วงที่พ่ออยากบุหรี่ ทำแบบนี้อยู่ 2-3 เดือน พ่อก็เลิกบุหรี่ได้ จนถึงทุกวันนี้สุดแสนจะดีใจ...

          ตอนหลัง พ่อเริ่มเป็นเบาหวาน แต่พ่อเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก (โดยเฉพาะหนังสือธรรมมะและตำรายาแผนโบราณ) ตัวเองก็จะใช้วิธีการเดิมคือหาเอกสาร แผ่นพับ และหนังสือเกี่ยวกับโรคเบาหวานมาให้พ่ออ่าน ในช่วงแรกๆ ก็ต้องอธิบายกันยืดยาวในเรื่องการรับประทานยา เนื่องจากพ่อชอบใฝ่หาสูตรยาสมุนไพรในการรักษาเบาหวานมาใช้ ตอนแรกตัวเองก็ประเภทวิชาการสุดกู่ ก็จะไม่ยอมให้พ่อใช้ยาสมุนไพรเลย จนเริ่มมีการโต้เถียงกันในบางครั้ง และมีความคิดว่าทำไมกับคนอื่นเราบอกให้เขาทำตามได้ (คิดเอาเอง) แต่กับพ่อของตัวเองทำไมทำไม่ได้... แต่ตอนหลังเมื่ออ่านหนังสือและศึกษาเรื่องของพฤติกรรมและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประกอบกับเริ่มมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ซับซ้อนมากขึ้น มีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น ก็เลยยอมผ่อนปรนไปบ้างถ้าเห็นว่าสมุนไพรนั้นไม่เกิดอันตราย และมีเงื่อนไขว่าจะต้องรับประทานยาแผนปัจจุบันตามหมอสั่งด้วย ที่สำคัญคือเราลด “การบอกให้พ่อทำ”ลง เริ่มฟังพ่อพูด หรือฟังพ่ออธิบายเหตุผลมากขึ้น มีการพูดคุยกันว่าสิ่งไหนกินแล้วน้ำตาลขึ้น สิ่งใดควรงด ถ้างดไม่ได้ พ่อทำได้แค่ไหน ถ้าพอยอมรับได้ก็ยอมรับไปก่อน ค่อยว่ากันใหม่ในครั้งต่อไป  ทำแบบนี้แล้วรู้สึกว่าสัมพันธภาพระหว่างการเป็นผู้ให้บริการ (ลูก) กับผู้รับบริการ(พ่อ) เรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เริ่มดีขึ้น  ตอนหลังก็ไม่ต้องพูดอะไรมาก เราแค่เอาเอกสารไปให้ พ่อก็จะอ่านและทำตามหมด จนสามารถคุมน้ำตาลได้เป็นอย่างดี ถึงปัจจุบันนี้ แม้อายุจะเลยวัย 90 ปีแล้ว พ่อก็สามารถคุมน้ำตาลได้ และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกๆ หลานๆในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เป็นอย่างดี  

หมายเลขบันทึก: 501187เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2012 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2012 12:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แลกเปลี่ยนการเลิกสูบบุหรี่ที่นี้ครับ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/490268

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท