เมื่อโลกถึงคราวเผชิญภัยพิบัติ: นักการศึกษาจะทำอะไรได้


หลักสูตรสำหรับทุกชีวิต เพื่อชีวิตที่อยู่รอด

 

เมื่อโลกถึงคราวเผชิญภัยพิบัติ: นักการศึกษาจะทำอะไรได้


 

เฉลิมลาภ  ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

           

 


           "เทรน" หรือแนวโน้มที่กำลังอยู่ในความนิยมของผู้ติดตามกระแสการศึกษาโลกประการหนึ่งก็คือ "ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21" และ "การศึกษาในศตวรรษที่ 21"  ซึ่งไปไกลมากกว่าการศึกษาสำหรับประชาคมอาเซียน  ผู้เขียนเองก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้เคยนำเสนอประเด็นเรื่องการศึกษาสำหรับศตรวรรษที่ 21 ไปบ้างแล้วในบทความเรื่องต่อไปนี้   


http://www.gotoknow.org/blogs/posts/496427

 

           แต่ภายหลังเมื่อได้ทบทวนว่า กว่าจะถึง 100 ปีข้างหน้า ถ้าประชาคมโลกยังหาทางออกไม่ได้เกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องการจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก สงครามระหว่างทวีป ความแตกต่างระหว่างชนชั้น การแบ่งแย่งทรัพยากร ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้โลกของเรามิได้เป็นเช่นเดิมอีกต่อไป  เพราะเธอกำลังแปรปรวนและหงุดหงิดง่ายเป็นที่สุด  เช่นนี้แล้ว การหวังว่าผู้เรียนของเราจะต้องเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ เรียนรู้ด้วยวิธีการนั้น วิธีการนี้ หรือเรียนรู้ทุกอย่างแต่ไม่เคยเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า  "ธรรมดาโลก" หรือสนใจแต่เพียงว่า  ครูจะเกิดการเรียนรู้เรื่องนั้น เรื่องนี้  หรือการศึกษาควรเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  ทั้งหมดที่ว่ามา  ดูจะเป็นการคิดเอาแต่ตนเองโดยมิได้คำนึงถึงเธอ (โลก) สักเท่าไหร่  ก็เมื่อไม่คำนึงเช่นนี้ เธอก็ไม่จำเป็นจะต้องสนใจพวกเราใช่หรือไม่ และที่สุดแล้ว เป็นไปได้ไหมที่เธออาจจะตัดความรักจากมนุษยชาติไปก็ได้  เช่นนี้ เมื่อโลกเกิดภัยพิบัติ  นักการศึกษาทั้งหลายที่ไม่ได้คิดถึงโลกจะทำอะไรได้....เพราะศตวรรษที่ 21 อาจไม่มีโลก ไม่ประเทศ ไม่มีชุมชนแห่งการศึกษา  และไม่มีการศึกษาอะไรเหลือให้ต้องพัฒนาอีก นอกจากผืนน้ำอันกว้างใหญ่และซากปรักหักพัง ที่แสดงให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ ณ ที่นี้มานานนักแล้ว...





           พิจารณาด้วยตนเองเถิดว่า  วิกฤตอุทกภัยใน ช่วงปลายปี  พุทธศักราช  2554 (กันยายน-พฤศจิกายน)  ถือว่าเป็นพิบัติภัยที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศจนยากที่จะเยียวยา  ภัยธรรมชาติในครั้งนี้  นอกจากจะทำลายระบบเศรษฐกิจ ทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนแล้ว หากพิจารณในมิติด้านการศึกษา ก็อาจจะกล่าวได้ว่า  อุทกภัยในครั้งนี้ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นเกี่ยวกับคุณภาพของการศึกษาไทยไป ในขณะ  เดียวกันด้วย  เพราะหากหลักสูตรการศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  สามารถที่จะสร้างประชากรให้มีสมรรถนะด้านความพร้อมต่อการเผชิญพิบัติภัย แล้ว  (calamity readiness)  ภาพการตื่นตระหนกของประชาชน  การแย่งซื้อสินค้าและการแย่งชิงของบริจาค  การทำลายคันกั้นน้ำหรือการทะเลาะเบาะแว้งเรื่องการระบายน้ำระหว่างชุมชน  ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นนิจก็คงจะไม่เกิดขึ้น

 

            นักหลักสูตรและการสอนจะต้องตั้งโจทย์ที่สำคัญและถือเป็นวาระเร่งด่วนว่า  ถึงเวลาแล้ว     หรือยัง  ที่สังคมไทยจะต้องนำประเด็นเรื่องพิบัติภัย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา   และการนำเข้ามานั้นควรจะดำเนินการในรูปแบบหรือวิธีใด  บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ด้วยการนำเสนอแนวคิดให้มีหลักสูตรพิบัติภัยศึกษา (calamities studies programme) ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติ  ซึ่งแต่เดิมหลักสูตรในลักษณะนี้เป็นหลักสูตรที่ไม่เป็นทางการ (informal programme) ของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาสาธารณภัย  นักหลักสูตรจะต้องนำมโนทัศน์หรือ “สาระการเรียนรู้” จากหลักสูตรดังกล่าวมาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรใหม่  ที่สอดคล้องกับผู้เรียนในระดับชั้นต่างๆ  และบรรจุไว้เป็นหลักสูตรที่เป็นทางการในระบบการศึกษาไทยนับแต่บัดนี้  แต่การดังกล่าวจะสำเร็จได้  จำเป็นที่จะต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนโมทัศน์ในการพัฒนาหลักสูตรเสียก่อน ว่า  ความต้องการของสังคมโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงและ ปลอดภัยให้กับชีวิต  (security of life)  คือพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาหลักสูตร  หาใช่ความต้องการในด้านการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไม่    น่าแปลกใจที่ปัจจุบันมีแต่การกล่าวถึงการพัฒนาหลักสูตรอาเซียนศึกษา  ซึ่งเป็นหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการในด้านเศรษฐกิจ แต่กลับไม่มีการพูดถึงหลักสูตรภัยภิบัติศึกษา ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิต เมื่อไม่มีหลักสูตรสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ผลที่ตามมาและสร้างความเจ็บปวดอย่างยิ่งก็คือ ประชากรของเราไม่ทราบว่าสถานการณ์ใดคือพิบัติภัย และไม่ทราบเสียด้วยซ้ำว่า ในสถานการณ์ดังกล่าวจะดำรงชีวิตให้อยู่รอดและช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไร หากไม่สามารถที่จะพึ่งพิงหน่วยงานราชการได้

 

            หลักการสำคัญใน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือการให้การศึกษา เพื่อที่จะให้บุคคลเกิดการเรียนรู้เรื่องใดๆ ก็คือ จะต้องเติมเต็มความต้องการขั้นพื้นฐานของพวกเขาให้สมบูรณ์พร้อมเสียก่อน ความต้องการขั้นพื้นฐานในที่นี้ หากใช้ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ  (hierarchy of needs)  ของ Abraham Maslow มาอธิบายก็หมายถึง ความต้องการทางด้านกายภาย (physiological needs) และความต้องการด้านความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต (safety needs) ดังนั้น ในการจัดการศึกษา จะต้องมีการจัดสิ่งแวดล้อมหรือบรรยากาศทั้งในด้านกายภาพและด้านจิตใจ  ที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตยามเกิดพิบัติภัย  เช่น  สถานศึกษาอาจมีการจัดเตรียมเสบียงอาหาร  อุปกรณ์ชูชีพหรือเครื่องช่วยชีวิต  เรือ อุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น  ซึ่งในทางทฤษฎีหลักสูตรแล้ว  การจัดสิ่งแวดล้อมดังกล่าวก็คือส่วนหนึ่งของการจัดหลักสูตรด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้  ก็มีข้อที่น่าสังเกตเช่นกันว่า สิ่งแวดล้อมเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งแวดล้อมทางวิชาการ (academic environment) ที่จะจัดให้แก่ผู้เรียนเพื่อสร้างความรู้และสมรรถนะในการเผชิญพิบัติภัยโดย ตรง  ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าจะมีการจัดสิ่งแวดล้อมทางภายภาพ  เพื่อให้เกิดบรรยากาศของความปลอดภัย  เช่น  การจัดให้มีอุปกรณ์ชูชีพหรือเครื่องช่วยชีวิตไว้ในสถานศึกษาหรือที่พักอาศัย ผู้เรียนก็จะยังไม่รู้สึกว่าตนเองปลอดภัยหากเกิดอุทกภัยขึ้นมาจริง  เพราะพวกเขาไม่รู้วิธีการเผชิญภัยและไม่สามารถที่จะใช้อุปกรณ์ใดๆ  ดังที่กล่าวมานี้ได้  การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง จึงจะต้องมาจากการที่ผู้เรียนมีความรู้เสียก่อนว่า สถานการณ์แบบใดที่เรียกว่าภัย  ภัยเหล่านั้นจะมาในลักษณะใด  และตนเองจะมีวิธีการเผชิญภัยเหล่านั้นด้วยอุปกรณ์อะไรและวิธีการอย่างไรได้ บ้าง  จากนั้นจึงดำเนินการปฏิบัติตนเองเพื่อจัดการพิบัติภัย (calamities management)  อย่างเหมาะสม  ความรู้และสมรรถนะดังกล่าวนี้    ย่อมได้มาจากการจัดสิ่งแวดล้อมทางวิชาการหรือ  “ประสบการณ์การเรียนรู้”  (learning experiences)  ที่บรรจุไว้ในหลักสูตรพิบัติภัยศึกษานั่นเอง

 

               หลักสูตรพิบัติภัยศึกษา  (calamities studies programme)  หมายถึง  ประสบการณ์ การเรียนรู้เกี่ยวกับพิบัติภัยต่างๆ ที่ผู้เรียนอาจจะต้องเผชิญ ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวหมายรวมถึงความรู้เกี่ยวกับพิบัติภัยและวิธีการเผชิญ พิบัติภัย  ทักษะการเผชิญและจัดการพิบัติภัย เช่น ทักษะการจัดเตรียมอุปกรณ์ดำรงชีพและช่วยชีวิต  ทักษะการอพยพ  ทักษะการดำรงชีพเมื่อขาดแคลนอาหาร  ทักษะการขอความช่วยเหลือ ทักษะการหาข้อมูลข่าวสาร ทักษะการปฐมพยาบาล ฯลฯ  รวมถึง  เจตคติหรือคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการเผชิญพิบัติภัย  เช่น  การมีสติ  ความอดทน การมองโลกในแง่ดี ฯลฯ ซึ่งในการเรียนรู้และฝึกฝนจำเป็นที่จะต้องแยกออกมาจากหลักสูตรการศึกษาของ รายวิชาต่างๆ เนื่องจากมีทั้งสาระ ทักษะและคุณลักษณะเฉพาะซึ่งต้องใช้เวลาและกระบวนการในการฝึกหัดมากพอควร  และที่สำคัญ หลักสูตรพิบัติภัยศึกษาในที่นี้มิได้หมายถึง หลักสูตรลูกเสือ (boy scout programme) ที่ใช้ทั่วไปในสถานศึกษา เพราะหลักการสำคัญของหลักสูตรลูกเสือก็คือ การทำความดีหรือสงเคราะห์ผู้อื่นทุกวัน (do a good turn daily)  และวัตถุประสงค์ของหลักสูตรก็คือ   การสร้างเสริมความเชี่ยวชาญในการผจญภัยและการสำรวจธรรมชาติ  พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะความเป็นผู้นำ  เป็นผู้ที่มีไมตรีจิต ปฎิบัติตนตามหลักศาสนาและมีความรับผิดชอบต่อธรรมชาติ  (Boy Scouts of America, 2009: 13)  จากเป้าหมายและวัตถุประสงค์ดังกล่าว หลักสูตรพิบัติภัยศึกษาจึงมีความต่างจากหลักสูตรลูกเสือ เพราะหลักสูตรพิบัติภัยศึกษาจะมีขอบเขตที่แคบลงมาแต่เฉพาะการศึกษาเรื่อง  “ภัย” ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์ แต่จะขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับการเผชิญพิบัติภัยให้ครอบคลุมพิบัติภัยประเภท ต่างๆ มากยิ่งขึ้น   และหลักสูตรจะมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ  เพื่อให้ความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับเตรียมผู้เรียนให้พร้อมที่จะเผชิญ ภัยอย่างมีสติ  สามารถจัดการ ดัดแปลงหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อช่วยให้ตนเองมีชีวิตอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาพที่ยากลำบาก และสามารถที่จะให้การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยอุปกรณ์เท่าที่จะสามารถหาได้

 

                 ดังที่ได้กล่าวมานี้ หลักสูตรพิบัติภัยศึกษา จึงเป็นหลักสูตรที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์  โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้และสร้างเสริมสมรรรนะที่จำเป็นสำหรับการสร้าง ความปลอดภัยให้ตนเอง  และช่วยเหลือผู้อื่นยามเมื่อต้องประสบพิบัติภัย อันจะช่วยลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นหลายๆ ประการ  นักหลักสูตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตร จะต้องตระหนักถึงความสำคัญและจำเป็นของหลักสูตรพิบัติภัย ในฐานะกลไกสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญก่อนที่พวกเขาจะเรียนรู้หรือปฏิบัติงานอื่นๆ การศึกษาและเรียนรู้เรื่องพิบัติภัยสำหรับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องที่  “ควรจะ” ทำและเป็นวาทกรรมที่ที่ไร้ผลในทางปฎิบัติอีกต่อไป แต่จะต้องเป็นเรื่องที่ “ต้อง” ทำให้เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาและปฏิรูปหลักสูตรของชาติ

 

_________________________________________

 

หมายเลขบันทึก: 501092เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2012 23:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2012 23:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท