Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

บทบาทของประเทศลาวกับอาเซียน


ข้อมูลอ้างอิง เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

3.สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) (The Lao People's Democratic Republic of Lao PDR)
         

          เมืองหลวงคือ เวียงจันทน์ ติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันตก โดยประเทศลาวมีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย คือ 236,800 ตารางกิโลเมตร พื้นที่กว่า 90% เป็นภูเขาและที่ราบสูง และไม่มีพื้นที่ส่วนใดติดทะเล ปัจจุบัน ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม โดยมีประชากร 6.4 ล้านคน ใช้ภาษาลาวเป็นภาษาหลัก แต่ก็มีคนที่พูดภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสได้ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

 

ข้อมูลทั่วไปของประเทศลาว

ประเทศลาว[1] หรือชื่อทางการว่า “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” (Lao People's Democratic Republic) เป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพื้นที่ราว 236,800 ตารางกิโลเมตร ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีพรมแดนติดต่อกับประเทศจีนและพม่า ทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศเวียดนาม ทิศใต้ติดต่อกับประเทศกัมพูชา และทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศไทย มีภาษาทางการ คือ ภาษาลาว มีประชากรกว่า 6.8 ล้านคน ประกอบด้วยชนเชื้อชาติต่างๆ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ตามถิ่นที่อยู่อาศัย คือ

 

ลาวลุ่ม คือ ลาวที่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบ  ได้แก่ คนเชื้อชาติลาว ภูไท ไทดำ ไทลื้อ ฯลฯ ใช้ภาษาลาว หรือภาษาตระกูลภาษาไทเป็นภาษาหลัก ประชาชนกลุ่มนี้มีอยู่ร้อยละ68  และอาศัยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถือว่าเป็นกลุ่มชาวลาวที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศ

 

ลาวเทิง คือ ชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบสูง เช่น ชาวบรู มะกอง งวน ตะโอย ตาเลียง ละเม็ด ละเวน กะตัง ฯลฯ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ  ประชาชนกลุ่มนี้มีร้อยละ 22

 

ลาวสูง คือ ชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตภูเขาสูง เช่น ชาวม้ง เย้า มูเซอ และชาวเขาเผ่าต่างๆ ส่วนมากอาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของลาว ประชาชนกลุ่มนี้มีอยู่ร้อยละ 9

 

ชาวลาวส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ (ร้อยละ 60) ควบคู่ไปกับลัทธินับถือผีบรรพบุรุษของชนชาติส่วนน้อยในแถบภูเขาสูง นอกจากนี้ยังมีชาวลาวที่นับถือศาสนาคริสต์ และอิสลาม แต่มีจำนวนค่อนข้างน้อย โดยศาสนาคริสต์จะนับถือในกลุ่มชาวเวียดนามอพยพและชาวลาวเชื้อสายเวียดนาม ส่วนศาสนาอิสลามพบว่ามีการนับถือในหมู่ชนชาติจีนฮ่อที่อาศัยตามชายแดนด้านติดกับประเทศพม่า และมีชุมชนมุสลิมที่มีเชื้อสายเอเชียใต้และจามในเวียงจันทน์

 

ปัจจุบัน ประเทศลาวมีระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (ทางการลาวใช้คำว่า ระบอบประชาธิปไตยประชาชน) โดยมีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นองค์กรการเมืองสูงสุดในการบริหารประเทศ ซึ่งพรรคนี้เริ่มมีอำนาจสูงสุดตั้งแต่ลาวเริ่มปกครองในระบอบสังคมนิยมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2518 ประธานประเทศ หรือตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวคนปัจจุบัน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี คือ พลโทจูมมะลี ไซยะสอน โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวอีกตำแหน่งหนึ่ง ส่วนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือนายทองสิง ทำมะวง  ประเทศลาวได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 แขวง และมีนครหลวงเวียงจันทร์เป็นเขตการปกครองพิเศษ ภายใน 16 แขวงนั้น จะประกอบด้วยเมืองหลายเมือง ซึ่งจะมีเมืองเอก 1 เมือง ประจำแขวงนั้นๆ

 

ในด้านเศรษฐกิจ ลาวมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม้ซุง ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ สินแร่ เศษโลหะ ถ่านหิน หนังดิบ และหนังฟอก ข้าวโพด ใบยาสูบ กาแฟ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ  เวียดนาม ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ส่วนการนำเข้าสินค้า ประเทศลาวได้นำเข้าสินค้าจากไทย จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี โดยสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบเครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน อาหาร ผ้าผืน สารเคมี และเครื่องอุปโภคบริโภค    สกุลเงินของประเทศลาว คือ กีบ

 

การเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน

ประเทศลาวนั้นมีภูมิหลังที่คล้ายกับเวียดนามตรงที่มีรูปแบบทางการเมืองในยุคสงครามเย็นที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มอาเซียน ในสมัยยุคสงครามเย็น ลาวได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ และภายหลังจากการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์และการสิ้นสุดของสงครามเย็น ส่งผลให้ในปี พ.ศ.2529 ลาวจึงต้องเริ่มทบทวนและปรับเปลี่ยนนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศใหม่ภายใต้นโยบาย “จินตนาการใหม่” ซึ่งส่งผลกระทบในทางบวกต่อการพัฒนาประเทศและมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ลาวยังได้ปรับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน ไทย พม่า และสมาชิกในอาเซียน รวมถึงสหรัฐอเมริกา และกับประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและขยายการลงทุนจากต่างประเทศ มีผลให้กลุ่มสมาชิกอาเซียนเปิดรับลาวในการร่วมลงนามสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือของประเทศในเอเชียอาคเนย์[2] (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) ในปี พ.ศ.2535 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 4 ณ ประเทศสิงคโปร์ ลาวจึงได้รับสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ของอาเซียน[3] ก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างสมบูรณ์ โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนพร้อมกับประเทศพม่า นับตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2540 วัตถุประสงค์ของลาวในการเป็นสมาชิกอาเซียน คือ ความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ได้วางไว้

 

1)    ความต้องการทางด้านการเมืองและความมั่นคง นับตั้งแต่ลาวได้รับสถานะการเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ในการประชุมอาเซียนในปี พ.ศ.2535 สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างลาวกับประเทศในภูมิภาคทั้งจีน ไทย และเวียดนาม ได้ปรับเปลี่ยนจนมีลักษณะความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเพิ่มมากขึ้น เช่น จีนเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจ สินค้าอุปโภค ครุภัณฑ์ ยุทธภัณฑ์และอาวุธจากจีนเริ่มเข้าแทนที่สินค้าประเภทเดียวกันจากรัสเซียในกองทัพลาว ขณะที่ความสัมพันธ์กับไทยได้เริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา โดยไทยได้ให้ความช่วยเหลือแนะนำในด้านการเงิน        การคลัง อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ระบบสาธารณูปโภคและความช่วยเหลือด้านอื่นๆ อีกทั้งประเทศเวียดนามที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์พิเศษและความร่วมมือรอบด้าน

สิ่งเหล่านี้ ได้ทำให้ลาวต้องการหลีกเลี่ยงอิทธิพลของประเทศเพื่อนบ้านที่มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นต่อลาว โดยเฉพาะจีน ไทย และเวียดนาม และเพื่อเป็นการรักษาความสมดุลของความสัมพันธ์กับทุกประเทศ ดังนั้น การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนจึงเป็นหนทางที่ดีกว่าการที่ลาวจะสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะทวิภาคี ซึ่งอาจทำให้ลาวสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง[4]

 

2)    ความต้องการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ  สืบเนื่องจากในปี พ.ศ.2539 ลาวมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 6.5 ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย (ร้อยละ 8.4) และเวียดนาม (8.7) อีกทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้รับการพัฒนา การคมนาคมไม่สะดวก และต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติทั้งความแห้งแล้งในภาคเหนือ และน้ำท่วมในภาคกลางและภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าว นอกจากนี้รัฐบาลยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนงบประมาณสำหรับการพัฒนาปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เทคโนโลยี และเงินทุนสำหรับพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานต่างๆ ลาวจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศให้เข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์และภูมิภาคนิยม โดยให้ความสนใจในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มอาเซียน และมีความหวังว่าชาติสมาชิกอาเซียนจะให้ความช่วยเหลือหรือเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อลาวเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน โครงการลงทุนต่างๆ ในอาเซียน ลาวจะได้รับผลประโยชน์ร่วมด้วย

 

3)    ความต้องการพัฒนาทางด้านสังคม เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาประเทศสมาชิกในอาเซียนแล้ว ประเทศลาวยังคงมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐานทั้งในด้านการศึกษา   และสาธารณสุข โดยประชากรลาวกว่าครึ่งหนึ่งไม่รู้หนังสือ เด็กทารกเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด 1 ใน 10 คน ครึ่งหนึ่งของเด็กต้องประสบกับภาวะทุโภชนาการและมีการระบาดของเชื้อมาเลเรีย อีกทั้งประสบปัญหาการขาดแคลนยาและเครื่องมือทางการแพทย์ สิ่งเหล่านี้ ได้ทำให้รัฐบาลลาวขณะนั้นมีความหวังที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อมาพัฒนาประเทศ ซึ่งพัฒนาด้านสาธารณสุขและการศึกษาจะเป็นผลที่เกิดขึ้นตามมา[5]

 

บทบาทของลาวในอาเซียน

                     ในระยะของการพัฒนาประเทศก่อนเข้าสู่การเป็นสมาชิกอาเซียนนั้น ประเทศลาวได้มีนโยบายที่แสดงให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่อาเซียนอย่างสำคัญ กล่าวคือ ประเทศลาวมีการปรับตัวนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในเชิงรุกให้สอดรับกับอาเซียน โดยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 4 (2539-2543) ได้กำหนดให้ลาวต้องสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศตะวันตกมากขึ้น และอนุญาตให้เอกชนและนักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนได้เสรีในธุรกิจ ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาด้านคมนาคมและการสื่อสาร โทรคมนาคม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาการค้าและอุตสาหกรรมของชาติ[6] อีกทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานราชการและกฎหมายให้สอดคล้องกับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีระเบียบแบบแผนมากขึ้น และสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในลาว การเตรียมความพร้อมของบุคลากรรวมทั้งให้ความร่วมมือในการเตรียมพร้อมเพื่อการปฏิบัติตามพันธะข้อตกลงต่างๆ ของอาเซียน และการกำหนดภารกิจที่สำคัญหลังจากเข้าเป็นสมาชิกที่จะต้องเร่งดำเนินการทางการทูต โดยเปิดสถานทูตลาวอย่างเป็นทางการในประเทศสมาชิกอาเซียนให้ครบทุกประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อพิจารณาในด้านบทบาทของประเทศลาวในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและโลก จะพบว่า ประเทศลาวมีความโดดเด่นในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะน้ำและแร่ชนิดต่างๆ จึงพบว่าการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานน้ำ และเหมืองแร่ อีกทั้งประเทศลาวยังมีการเมืองที่มีเสถียรภาพ และมีค่าจ้างแรงงานค่อนข้างต่ำ ขณะเดียวกันก็พบอุปสรรคในการพัฒนา กล่าวคือ ประเทศลาวยังคงประสบปัญหาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ไม่พัฒนา การคมนาคมไม่สะดวก การให้บริการด้านสาธารณสุขยังไม่ทั่วถึงประชากรซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนประเทศลาวมีข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงและภูเขา และไม่มีทางออกสู่ทะเล[7] เหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศลาวอย่างสำคัญ

 

ประเทศลาวได้เล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เพื่อช่วยกันประสานศักยภาพแต่ละประเทศสมาชิก ก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยรวม ดังนั้น ลาวจึงสนับสนุนให้อาเซียนดำเนินการเพื่อเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2558 โดยในปี พ.ศ.2554 รัฐบาลลาวได้วางแนวทางในการบริหารเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ก้าวสู่ความทันสมัย ด้วยประกาศนโยบายนำประเทศก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมและความทันสมัย เพื่อให้ลาวสามารถบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ให้ได้โดยเร็ว โดยมีการปรับปรุงกฎหมายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจลาวในปี พ.ศ.2554-2558 เพื่อเตรียมรับกับการเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งหากศึกษาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและกฎหมายการลงทุนพบว่า ประเทศลาวให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และรับความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

               ด้านบทบาทการเป็นประธานอาเซียน การเป็นสมาชิกอาเซียนนับเป็นภาระที่หนักและยิ่งใหญ่สำหรับประเทศลาว นับตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศและมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ ซึ่งลาวไม่เคยเข้าร่วมองค์กรระหว่างประเทศมาก่อน การเข้าร่วมประชุมอาเซียนในปัญหานานาชาติจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับลาว หลังการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน ประเทศลาวในฐานะสมาชิกใหม่ ได้รับบทบาทสำคัญในเวทีอาเซียนโดยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 10 ณ กรุงเวียงจันทน์ ในวันที่ 29-30 พฤศจิกายน พ.ศ.2547 นับเป็นครั้งแรกของประเทศลาวที่ได้ทำหน้าที่ในการจัดการประชุมระดับนานาชาติ โดยประเทศลาวได้จัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงถนนและการตกแต่งประดับประดาถนนสายหลักๆ อย่างสวยงาม เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมประชุม แสดงถึงความเป็นหน้าตาของประเทศลาวในฐานะเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดอาเซียน

 
 อ่านข้อมูลประเทศลาว ได้ที่นี่

[1] คำว่า “ลาว” ในภาษาอังกฤษที่หมายถึงประเทศ สะกดว่า “Laos” และลาวที่หมายถึงคนลาวและภาษาลาว ใช้ว่า “Lao” ในบางครั้งจะเห็นมีการใช้คำว่า “Laotian” แทน เนื่องจากป้องกันการสับสนกับเชื้อชาติลาว ที่สะกด “Lao ethnic group”

 

[2] แถลงการณ์ร่วมนี้ กล่าวถึงเจตนารมณ์ที่อาเซียนต้องการเพิ่มสมาชิกในสนธิสัญญาว่าด้วยความเป็นมิตรและความร่วมมือ ในด้านความมั่นคงเพิ่มขึ้นและในแถลงการณ์ร่วมยังมีส่วนที่กล่าวว่า อาเซียนจะร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอินโดจีน ภายหลังที่มีการบรรลุความตกลงสันติภาพในปัญหากัมพูชา

[3] อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์. อาเซียนใหม่. (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541). หน้า 119.

[4] เรื่องเดียวกัน. หน้า 120-121.

[5] อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์. อาเซียนใหม่. (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541). หน้า 121-123.

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 128-131.

[7] http://www.thai-aec.com/140#more-140

คำสำคัญ (Tags): #ลาว#อาเซียน#e-trust
หมายเลขบันทึก: 501047เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2012 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2012 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบบันทึกนี้มากครับ...เพราะชอบคนลาว...ประเทศลาว....เสมอมาครับ

ชอบค๋ะ มีประโหยดมากฯเลยค๋ะ




ม.ล.วะรีรำไพ and ม.ล.วิไรรัมภา

ชอบมากค่ะ การบ้านที่ครูให้มาเสร็จแล้วดีใจมากค่ะ จะไดไม่มีงานค้าง 

เรียนท่านหม่อมย่าเอียดและหม่อมย่าอ่อน ดิฉันขอโทษ ที่ขอยืมมาเป็นนามสมมติ

ขอบคุณค่ะ


ໄຊ"xai"
ລັດທະບານໄດ້ວ່າງກົດລະບຽບໃຫ້
ປະຊາຊົນຊ່ວຍກັນສ້າງສາພັດທະນາ



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท