DBA : แนวทางในการพัฒนาผู้นำยุคใหม่กับศิลปะแห่งการจัดการในยุคโลกาภิวัตน์


แนวทางในการพัฒนาผู้นำยุคใหม่กับศิลปะแห่งการจัดการในยุคโลกาภิวัตน์

เมื่อกล่าวถึงผู้นำยุคใหม่หรือผู้นำในยุคโลกา ภิวัตน์ การบริหารจัดการก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของโลกที่มีการสื่อสารไร้พรมแดน ผู้นำในยุคปัจจุบันมีส่วนสำคัญมากในการกำหนดภาพลักษณ์ขององค์กร องค์กรที่มีผู้นำที่ดี ผู้นำเก่งย่อมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบุคคลหรือองค์กรภายนอกได้ สังคมต่างมุ่งหวังว่า องค์กรนี้ผู้นำเป็นเช่นนี้ก็ย่อมสามารถพัฒนาองค์กรได้เป็นอย่างดีมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดี แต่หากเมื่อใดองค์กรมีผู้นำหรือผู้บริหารที่ไม่เก่งและแถมด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ดีอีกต่างหาก ย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กร ผู้นำนั้นสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ แล้วในการพัฒนาผู้นำนั้นจะต้องเริ่มต้นจากในเรื่องของบุคลิกภาพก่อน การเป็นผู้นำสมัยใหม่นั้นจะต้องมีการพัฒนาอย่างไร

1. เอาใจใส่ดูแลตัวเองก่อน  ผู้นำยุคใหม่จะต้องดูแลตัวเองในเรื่องของการพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งการรักษาสุขภาพร่างกาย เพื่อให้พร้อมสำหรับการทำงาน

2. ฝึกตนเองให้เห็นแก่คนอื่น ในการเป็นผู้นำนั้นข้อนี้มีความสำคัญคือจะต้องรู้จักฝึกตนเองให้เห็นแก่คนอื่น ในโลกปัจจุบันมนุษย์มีความฉลาดมากดังนั้นหากผู้นำคิดที่จะเอาเปรียบผู้อื่นในไม่ช้าก็จะถูกเอาเปรียบเช่นเดียวกันแล้วก็ไม่สามารถทำงานให้บรรลุวัตถุตามที่ตั้งไว้ดังนั้นผู้นำที่ดีและเก่งจะต้องมีความสามารถในการชักจูงหรือการโน้มน้าวให้พนักงานในองค์กรเห็นดีด้วย ดังนั้นผู้นำจะต้องฝึกในเรื่องการเห็นแก่คนอื่น

3. ศึกษาหาความรู้ใส่ตัวเสมอ ผู้นำองค์กรยุคใหม่จะต้องเป็นบุคคลที่ศึกษาหาความรู้เสมอ ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงความรู้ในเรื่องต่างๆเกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโลก IT ผู้บริหารยุคใหม่จำเป็นอย่างมากในการศึกษาถึง IT ที่เปลี่ยนไป และสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการองค์กรได้ก็จะยิ่งดีมากยิ่งขึ้น นอกจากความรู้ในเรื่องของ IT แล้วผู้นำยุคใหม่จะต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ดังนั้นผู้นำจึงต้องเป็นผู้ศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา

            4. ต้องฝึกเป็นนักฟังที่ดี ผู้นำในยุคใหม่นี้จะต้องเป็นนักฟังที่ดี ผู้นำองค์กรบางคนพอได้ขึ้นเป็นผู้นำก็ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของพนักงานในองค์กร ยึดเอาความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่จนบางครั้งทำให้องค์กรจะต้องเกิดปัญหาขึ้นอันเนื่องมาจากการที่ผู้นำองค์กรไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน เป็นต้น

5.เป็นคนมีธรรมะในใจ ผู้นำองค์กรในเรื่องของการมีธรรมะในใจนั้นมีความสำคัญมาก เนื่องจากผู้นำองค์กรจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีขององค์กร ผู้นำองค์กรเป็นภาพลักษณ์ขององค์กรดังนั้นผู้นำองค์กรจะต้องเป็นบุคคลที่มีธรรมะภายในใจ การมีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในใจนั้นนอกจากจะทำให้ผู้นำมีสมาธิในการบริหารองค์กรแล้วยังทำให้พนักงานทุกคนมีความเชื่อมั่นในตัวของผู้นำด้วย เพราะพนักงานทุกคนต่างเชื่อว่าผู้นำของพวกเขามีธรรมะในจิตใจ

6. เป็นคนมีวาทะศิลป์ ผู้นำองค์กรจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีวาทะศิลป์ ในการบริหารองค์กรนั้นพนักงานมาจากหลายครอบครัว มาจากหลากหลายวัฒนธรรมดังนั้น หากผู้นำในองค์กรนั้นเป็นคนมีวาทะศิลป์สามารถพูดคุยกับพนักงานขององค์กรหรือการสื่อสารกับองค์กรได้เป็นอย่างดีก็ย่อมนับว่าเป็นสิ่งที่ดีและนอกจากนั้นยังสามารถสร้างการสื่อสารภายในองค์กรได้เป็นอย่างดีด้วย

7. ฝึกเป็นคนสนใจในรายละเอียดต่างๆ  ผู้นำที่ดีจะต้องฝึกเป็นคนสนใจในรายละเอียดต่างๆ ในการทำงานก็เช่นเดียวกัน ผู้นำที่เก่งจะสนใจในรายละเอียด การกิน การอยู่ การบริหารพนักงาน และสนใจในคุณภาพของการทำงานอีกด้วย

            8. รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนและสนใจผู้อื่น การอ่อนน้อมถ่อมตนถือเป็นคุณสมบัติของผู้นำที่เก่งๆ ผู้บริหารบางคนพอขึ้นเป็นผู้นำขององค์กรแล้วถือว่าตัวเองใหญ่แล้วไม่อ่อนน้อมถ่อมตน อันนี้ผิด หากผู้นำที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนแล้วจะทำให้ลูกน้องเกรงขามและน่าคบหาด้วย

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าผู้นำยุคใหม่เรื่องของบุคลิกภาพนั้นมีความสำคัญมีคนกล่าวว่าการเป็นผู้นำนั้นสามารถฝึกได้ ในปัจจุบันนี้เรากำลังขาดผู้นำที่ดีๆและผู้นำที่เก่งและมีศิลปะในการบริหารงานหรือในการบริหารองค์กร การเป็นผู้นำที่เก่งๆและเป็นผู้ที่ดีๆนั้นเขามีวิธีการบริหารองค์กรอย่างไรจึงจะนับได้ว่า เป็นผู้นำที่มีศิลปะในการบริหารองค์กรหรือผู้จัดการพันธุ์ใหม่นั้นจะต้องมีรูปแบบการบริหารจัดการดังนี้

1.เรียงลำดับความสำคัญของงานก่อนหลัง การเป็นผู้จัดการสมัยใหม่นั้นสำคัญมากจะต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังให้ดี เนื่องจากว่าหากเราไม่จัดลำดับก่อนหลังให้ดีแล้วก็จะทำให้การทำงานของเราออกมาไม่ดี หรืออาจจะทำงานไม่ทันเวลาดังนั้นผู้จัดการยุคใหม่จะต้องให้ความสำคัญของการจัดลำดับก่อนหลังให้ดี

2.มองพนักงานขององค์กรเป็นมนุษย์ หมายความว่า ผู้จัดการจะต้องมองพนักงานขององค์กรเป็นมนุษย์ ในการทำงานนั้นผู้จัดการจะต้องเข้าใจถึงความรู้สึกของพนักงานในองค์กรและถ้าเป็นไปได้ผู้จัดการจะต้องสามารถเข้าใจในบริบทของพนักงานองค์กรเข้าใจว่าเขามีพื้นฐานครอบครัวอย่างไร เข้าใจว่าเขามีพี่น้อง พ่อแม่ แฟน เขาเป็นเช่นไร หากผู้จัดการสมัยใหม่สามารถเข้าใจในตัวพนักงานขององค์กรได้เป็นอย่างดีเขาก็จะสามารถสร้างความศรัทธาให้กับพนักงานขององค์กรนั้นได้และส่งผลดีต่อการทำงานของพนักงานในองค์กร

3. สร้างสมดุลชีวิตการทำงานทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว  ผู้จัดการยุคใหม่จะต้องสร้างความสมดุลทั้งชีวิตการงานและชีวิตครอบครัว ในการทำงานนั้นผู้จัดการยุคใหม่สามารถวางแผนได้ว่า เวลาไหนแบ่งให้กับงาน และเวลาไหนเป็นเรื่องของครอบครัว ผู้บริหารเก่งๆสามารถแบ่งเวลาได้ ในการทำงานนั้นผู้จัดการยุคใหม่มัวแต่ทำงานหนัก และประสบความสำเร็จในการทำงานแต่ชีวิตครอบครัวกลับล้มเหลวแล้วจะเอาอะไรมาการันตีว่าชีวิตประสบความสำเร็จ ดังนั้นในการทำงานหรือการบริหารงานนั้นผู้จัดการยุคใหม่จะต้องสร้างความสมดุลในชีวิตการงานและชีวิตครอบครัว

4. ต้องมีเป้าหมายชัดเจน ผู้จัดการยุคใหม่จะต้องเป็นผู้ที่มีเป้าหมายชัดเจน การมีเป้าหมายชัดเจนแล้วเล่าเรื่องราวเป้าหมายให้พนักงานทุกคนในองค์กรฟังซึ่งนับว่าเป็นการสร้างเป้าหมายร่วมกันกับพนักงานในองค์กร ซึ่งถือว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างความฝันร่วมกัน และถือว่าเป็นแรงกระตุ้นอย่างดีในการขับเคลื่อนองค์กร

5. ไม่ยกเลิกความฝัน ผู้จัดการยุคใหม่จะต้องเป็นบุคคลที่ไม่ยกเลิกความฝันง่ายๆ ต่อให้ต้องพ่ายแพ้ในบางครั้ง แต่ผู้จัดการยุคใหม่จะต้องไม่ยกเลิกความฝัน กัดไม่ปล่อย ผู้จัดการที่ไม่ยกเลิกความฝันของตนเอง ทำจนกว่าจะประสบความสำเร็จ ก็มีตัวอย่างให้เห็น เช่น สตีฟ จอบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล แม้ว่าบางครั้งเขาเคยประสบความล้มเหลวแต่เขาก็ไม่ยกเลิกความฝันจนสามารถสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้ผู้คนได้ใช้

6. เน้นผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ  ผู้นำยุคใหม่จะต้องเน้นผลลัพธ์ของการทำงานให้มากกว่ากระบวนการทำงาน เพราะบางครั้งการที่ไว้ใจพนักงานให้เขาได้แสดงความสามารถเต็มที่มอบหมายงานแล้วก็ให้เขาได้ทำงานอย่างเต็มที่ แล้วดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าจะดูกระบวนการ เป็นต้น

7. มีความจริงใจ และสนใจลูกน้อง ผู้จัดการจะต้องให้ความสนใจในตัวของพนักงานขององค์กรให้ความสนใจในเรื่องของการทำงาน ส่วนตัว หรือเรื่องครอบครัวของพนักงานองค์กร หากผู้จัดการยุคใหม่สามารถทำได้เช่นนี้ พนักงานก็จะจงรักภักดีกับองค์กร และพร้อมที่จะทำงานให้กับองค์กรด้วย

            จากที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่าผู้นำนั้นสามารถที่จะพัฒนาขึ้นมาได้  ดังนั้น ผู้เขียนมองว่าปัจจุบันนั้นในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนยังขาดภาวะความเป็นผู้นำหรือผู้จัดการเก่งๆ อย่างมาก   ดังนั้นหากเราได้สร้างหรือพัฒนาผู้นำขึ้นเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์กรหรือประเทศชาติต่อไปก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง

 

                       

เอกสารอ้างอิง

ชัยวัฒน์ ชยางกูร   The Art of  Leadership : ผู้นำหลายมิติ : กรุงเทพฯ : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2549

เสรี  วงษ์มณฑา  , เอกสารประกอบการสอน : ปรัชญาและการจัดการธุรกิจ : มหาวิทยาลัยนเรศวร  ศูนย์วิทยบริการกรุงเทพมหานคร ,2555

 

หมายเลขบันทึก: 500914เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2012 00:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กันยายน 2012 00:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท