โครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ครั้งที่ ๒/๒๕๕๕


       

 

     มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จัดประชุมโครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาครั้งที่ ๒/๒๕๕๕ เมื่อ วันที่ ๒๘-๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๕ ณ รร.วินเซอร์สวีท สุขุมวิท กทม. เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน พัฒนางานของมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงและทีมงานประสานภูมิภาคของโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มรฏ.อุบลราชธานี มรฏ.กำแพงเพชร สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซี่ยน ม.มหิดล ม.มหาสารคาม ม.สงขลานครินทร์ ทีมงานภาคกลางและกทม. และทีมงานเสริมศักยภาพ ๔ จ.ภาคใต้ )

 

     

        

 

       คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ศ.กิติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ ดร.เจือจันทร์ จงสถิตย์อยู่ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา รจนา สินที ทรงพล เจตนาวณิชย์ ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร และ นงนาท สนธิสุวรรณ

 

         

 

    โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้และเครือข่าย ๒๘ แห่งโดยผู้อำนวยการ คณะผู้บริหารและครูจากทุกภูมิภาค ได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ กว่า ๖๐ คน

 

  

 

        การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ ๒ นี้เป็นการสรุปความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค แนวทางการแก้ไข รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิธีการขับเคลื่อนของแต่ละภูมิภาค ทั้งในมิติของโรงเรียนแกนนำ มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง และทีมประสานงาน รวมทั้งการรับฟังคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อร่วมกันค้นหาแนวทางขับเคลื่อนโครงการฯ จนบรรลุวัตถุประสงค์ของการมีศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน ๘๔ ศูนย์ในช่วงปี ๒๕๕๕-๒๕๕๖

 

   

 

     ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานการประชุม ได้ชี้ให้เห็นเป้าหมายที่สำคัญของการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อนำไปสู่ความอยู่รอดของบ้านเมือง บนรากฐานอันมั่นคงของความพอเพียง โดยเพิ่มทักษะชีวิต อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ 21st Century Skills แก่เยาวชน ในการสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งต่อความท้าทายของกระแสบริโภคนิยมที่นับวันจะถาโถมรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในเบื้องต้นนี้ จึงอยากเห็นแบบอย่างที่ชัดเจนของการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตประจำวันอย่างแท้จริงของครูและเยาวชน   และครูเพื่อศิษย์ควรสร้างห้องเรียนกลับทาง ให้นักเรียนตั้งโจทย์ปัญหามาจากการเรียนผ่านสื่อที่บ้าน ในขณะที่ครูใช้เวลาสอนในห้องเรียนน้อยลง แต่ให้เด็กคิดวิเคราะห์เองมากขึ้น

 

  

 

     การนำเสนอรายงานความคืบหน้าของผู้ร่วมโครงการฯในครั้งนี้ อาจสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ :

 

... บทบาทของมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ได้เข้ามาเติมเครื่องมือการเรียนรู้ ให้การบ้าน นิเทศติดตาม  พาคิดพาทำ และจัดการให้เกิดเครือข่ายเรียนรู้ในระดับโรงเรียนและพื้นที่

 

... ทุกมหาวิทยาลัย เริ่มที่จะทำความเข้าใจเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกต้อง พร้อมทำการสำรวจทุนของโรงเรียน และส่งเสริมศักยภาพ ตามความต้องการจุดเน้นที่ต่างกัน โดยเข้ามาเสริมศักยภาพครู เรื่องการจัดการเรียนรู้ ออกแบบการเรียนการสอน ทำให้ผู้บริหารเข้าใจชัดเจน มีข้อตกลงร่วมกัน ในการสร้างกลไกขับเคลื่อนภายในโรงเรียน เช่น สร้างPLC ในโรงเรียน รวมทั้งสร้างเครือข่ายเรียนรู้ระดับพื้นที่และภูมิภาค ตลอดจนสร้างเครือข่าย on line ร่วมกัน 

 

 

     ในด้านการทำงานของศูนย์การเรียนรู้ฯในสถานศึกษา ๑๕ แห่ง ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยใช้กลไก PBL กับกิจกรรมที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาหลักสูตรการทำงาน รวมทั้งการจัดทำแผนรองรับการย้ายของผู้บริหารและครู

 

      ในส่วนของการขยายผลสู่ภายนอก ได้คิดถึงการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เข้ามาศึกษาดูงาน และไม่ก่อผลกระทบที่เป็นภาระต่อทรัพยากร และเวลาของศูนย์เรียนรู้ฯ ขณะเดียวกัน พัฒนาหลักสูตรการดูงานแก่ครุและนักเรียนที่ทำหน้าที่วิทยากร รวมทั้งจัดการเครือข่ายการเรียนรู้ด้วย

 

       ข้อสังเกตจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และข้อเสนอแนะจากการประชุม สรุปได้ ดังนี้ :

 

... ศูนย์เรียนรู้ฯที่ดี ต้องมีการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีวิธีการพัฒนาทักษะของบุคลากร และวิธีการสร้างเครือข่ายของการเรียนรู้ (PLC)

 

... สร้างความเข้าใจชัดเจน ในความหมายของคำว่า "พอเพียง" กับ "การปลูกฝังนิสัยพอเพียง"

 

... การขับเคลื่อนโครงการนี้ จะได้ผลอย่างแท้จริง คือ สามารถชี้ชวนเพื่อน ให้เห็นคุณค่าของตนเอง ของศูนย์เรียนรู้ฯ หลีกเลี่ยงการใช้โครงสร้างเชิงอำนาจ

 

... โรงเรียนเครือข่าย มีจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนต่างกัน ส่วนใหญ่เริ่มจากมีศรัทธาในพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และต้องการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียน เพื่อมุ่งสู่การเป็นโรงเรียนคุณธรรม

 

... ความสำเร็จย่อมต้องเริ่มจากผุ้บริหาร ทำตนเป็นแบบอย่าง มีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้ สร้างวิสัยทัศน์และอัตลักษณ์ร่วม สร้างความตระหนักและกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากการปฏิบัติจริงของบุคลากรทุกระดับในโรงเรียน สร้างแกนนำขับเคลื่อน ช่วยสร้างการเรียนรู้ให้ครู เชื่อมต่อนโยบายสู่การปฏิบัติของครู ซึ่งเป็นผู้คลี่คลายปัญหาในโรงเรียน และมีการนิเทศติดตาม

 

... กิจกรรมการเรียนรู้  ให้เด็กลงมือปฏิบัติ เช่น กิจกรรมฐานการเรียนรู้ การทำโครงงานเรียนรู้กับชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน นำมาเชื่อมโยงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วย PBL ที่สะท้อนหลักคิดระหว่างการทำงาน รวมทั้งอาจใช้  Mind Map และ PLC ชวนนักเรียนถอดบทเรียนหลังกิจกรรมเหล่านั้น

 

... การประเมินความสำเร็จมักใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมจากเรื่องเล่า เปรียบเทียบกันก่อนและหลังการเรียนรู้

 

... ครูใช้เครื่องมือบันทึกหลังการสอน และการวิจัยช่วยพัฒนางาน

 

... ผู้บริหารและครูมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโรงเรียน ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ดีอย่างต่อเนื่อง


  ► 5:58 www.youtube.com/watch?v=iLikm0S7dt8 2 ก.ย. 2012 - 6 นาที - อัปโหลดโดย scbfoundation นางนงนาท สนธิสุวรรณ ที่ปรึกษากิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จeกัด ( มหาชน) ให้คำแนะนำแก่โรงเรียนและผู้ประสานงาน ... 

.................................................

มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ 

http://www.scbfoundation.com/projects/project.php?proj=1

หมายเลขบันทึก: 500704เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2012 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2013 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • ขอบคุณพี่ใหญ่และทีมงานมากครับ
  • ที่นำเอามาเผยแพร่
  • เป็นโครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาครั้งที่ ๒/๒๕๕๕ ไวมากๆ

ขอชื่นชมโครงการดีดีเพื่อเป็นการปลูกฝังลักษณะนิสัยที่พอเพียงสู่เด็กๆ ตั้งแต่ยังเล็กค่ะ ให้เขาได้รับรู้ทางเลือกของชีวิตว่าวิถีชีวิตแบบพอเพียงนี้จะนำมาซึ่งความสุข ความสงบของชีวิตในระดับครอบครัวเป็นต้นไปถึงสังคมและประเทศชาติ

ขอบคุณคุณพี่ใหญ่ ท่านผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านค่ะ

ขอชื่นชมและสนับสนุนในพลังการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้ฯ ของมูลนิธิ SCB
เพื่อนำไปสู่ความอยู่รอดของบ้านเมือง บนรากฐานอันมั่นคงของความพอเพียง
ครับ คุณครูพี่ใหญ่

ขอบคุณมูลนิธิฯ ขอบคุณ SCB ที่มีน้ำใจใสสะอาดต่อสังคมไทย

ช่วยจัดโครงการดีมีคุณค่าแท้ นี้อย่างต่อเนื่องครับ

ขอบคุณคุณครูพี่ใหญ่ด้วยครับผม


 

                       ผมชอบแนวความคิดลักษณะนี้มากครับ

      ขอบพระคุณ อาจารย์พี่ใหญ่ ที่มีโครงการดี ๆ มาเผยแพร่อยู่เสมอครับ 

ชื่นชมโครงการจังครับ...เห็นพี่ใหญ่...อาจารย์หมอวิจารณ์...และทุกคน...แล้วสุขใจจังครับ

ขอบคุณพี่ใหญ่จังค่ะ ที่มีโครงการดีๆมาเล่าสู่กันฟังบ่อยๆ ซึ่งช่วยให้ kunrapee มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดหลายประเด็น

 

  • น่าชื่นชมมากครับ
  • นอกจากเด็กๆจะรับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังทิ้งร่องรอยและรูปแบบการทำงานที่เป็นระบบอีกด้วย
  • เห็นการมีส่วนที่มีความหมายต่อการพัฒนาคุณภาพคนอย่างน่าประทับใจยิ่ง
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะพี่ใหญ่มีอาจารย์ มช. ที่สอนและเป็นที่ปรึกษาน้องด้วยดีใจจัง เห็นภาพด้วยสิ และงานช้างต่อไปอีกนะคะที่ รร. โลตัสปางสวนแก้ว "ตลาดนัดความรู้ฯ.." แล้วจะได้พบกับพี่ใหญ่ไหมน้อ อาจารย์ให้ไปช่วยงานค่ะ

พี่ใหญ่คะ

โอ๋ได้เห็น"แผนที่ชุมชน"ที่จัดทำโดยชุมชนแห่งหนึ่ง (จำรายละเอียดไม่ได้) จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นการวาดแบบง่ายๆแต่มีรายละเอียดสภาพชุมชนจริงๆที่ชาวบ้านช่วยกันทำเอง ฝังใจมากเลยค่ะ น่าดีใจที่ได้เห็น คิดถึงว่าถ้าแต่ละโรงเรียนในชุมชนให้เด็กๆมีส่วนร่วมในการจัดทำจะได้รู้ว่าในชุมชนของตัวเองมีสถานที่และสภาพภูมิประเทศเป็นยังไง มีอะไรที่ควรดูแลบำรุงรักษา ต้องถามปู่ย่าตายายพ่อแม่ว่าตรงไหนเป็นยังไง มีประวัติความเป็นมายังไงบ้าง ถ้าได้เอามารวมในโครงการนี้ด้วยน่าจะดีนะคะ 

อ่านบันทึกนี้แล้ว ความคิดนี้แว้บเข้ามาในหัว ขอเอามาฝากพี่ใหญ่ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

  • สวัสดีค่ะท่านนงนาท
  • ขอแสดงความชื่นชมกับโครงการนี้ด้วยค่ะ

           สวัสดีค่ะท่านBlank อ.นงนาท สนธิสุวรรณ

ขอชื่นชมโครงการดีๆเพื่อเป็นการปลูกฝัง  นิสัยที่พอเพียงสู่เด็กๆ ตั้งแต่ยังเล็กๆค่ะ ให้เขาได้รับรู้ทางเลือกของชีวิตว่าวิถีชีวิตแบบพอเพียงนี้จะนำมาซึ่งความสุข ความสงบของชีวิตในระดับครอบครัวเป็นต้นไปถึงสังคมและประเทศชาติ

      ขอบคุณ  ที่นำมาแบ่งปัน  ท่านผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านค่ะ

น้องดร.ขจิต../น้องปริม../น้องจัตุเศรษฐธรรม../น้องอ.นุ../น้องสุภัทรา

น้องหมอป. ../น้องSila../น้องรศ.ดร.ชยพร../น้องน้อย../น้องชลัญธร

น้องหมออนามัยทิมดาบ../น้องkunrapee../น้องสันติสุข../น้องkrutoom

น้องโอ๋../น้องดอกหญ้าน้ำ../น้องชลัญธร../น้องเอื้องแซะ../น้องดร.ฤทธิไกร

น้องหยั่งรากฝากใบ../น้องครูทิพย์../คุณลุงชาติราชบุรี

* สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจมอบแก่โครงการนี้ค่ะ

* น้องดร.ขจิต.. การประชุมครั้งที่สองนี้ ได้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ และการเติมเต็มศักยภาพที่เพิ่มคุณค่ามากขึ้น ซึ่งเป็นที่หวังร่วมกันที่จะช่วยกันนำพา ความเข้าใจ การประยุกต์ใช้ และการขยายผล ที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องค่ะ

* น้องปริม.. การปลูกฝังอุปนิสัยพอเพียงตั้งแต่ปฐมวัย โดยการพาคิด..พาทำในสถานศึกษาเช่นนี้ ย่อมสร้างรากฐานอันมั่นคงแก่ชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยไม่ว่าจะตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงเพียงใดนะคะ..

* น้องอ.นุ..ยินดีมากค่ะที่เห็นคุณค่าของโครงการนี้ที่ได้เริ่มต้นขับเคลื่อนมาเป็นเวลายาวนานต่อเนื่อง และสร้างเครือข่ายขยายมากขึ้นเป็นลำดับ

             .. พวกเราอยากเห็นเยาวชนไทยใฝ่ดี มีคุณธรรม มากล้นด้วยน้ำใจและขอขอบคุณภาพและกลอนดีๆที่นำมาเป็นกำนัลแก่โครงการนี้ค่ะ

* น้องจัตุเศรษฐธรรม..ยินดีค่ะที่เห็นประโยชน์ของโครงการนี้ ชึ่งมีความคืบหน้าเป็นอย่างดีบนความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่องค่ะ

* น้องหมออนามัยทิมดาบ..เห็นความใส่ใจ ร่วมคิด ร่วมทำ พานำสู่ความพอเพียง เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของชีวิตค่ะ

* น้อง kunrapee..ดีใจค่ะที่เรื่องเล่านี้สร้างแรงบันดาลใจสู่วิถีชีวิตพอเพียง

* น้องสันติสุข..ผลขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่เยาวชน ผ่านความเข้าใจ ประยุกต์ใช้ และขยายผล ตามบริบท และภูมิสังคมของแต่ละท้องถิ่น จะเป็นรากฐานอันมั่นคงของชีวิตอย่างยั่งยืนค่ะ

* น้องkrutoom..ยินดีมากค่ะที่ทราบว่าจะได้ร่วมด้วยช่วยกันในงานตลาดนัดความรู้ที่เชียงใหม่ นับเป็นอีกหนึ่งพลังมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงที่เข้มแข็งมากๆ ขอให้กำลังใจ และจะคอยอ่านความคืบหน้าค่ะ

* น้องโอ๋..ขอบคุณสำหรับความเห็นเรื่องแผนที่ชุมชน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการนี้..แนวคิดนี้สอดคล้องกับกลไกการดำเนินการที่มุ่งสู่การขยายผลจากเยาวชน >> ครอบครัว >> ชุมชน >> สังคมระดับประเทศ..เป็นความย่ั่งยืนอย่างแท้จริงค่ะ

* น้องเอื้องแซะ..เห็นความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายในการช่วยกันขับเคลื่อนโครงการที่มีผลก้าวหน้าต่อเนื่องค่ะ

น้องครูทิพย์..ยินดีมากค่ะที่เห็นคุณค่าของโครงการนี้ ซึ่งมีเป้าหมายจะขยายผลลงสู่ครูและเยาวชนอย่างยั่งยืนค่ะ

สถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วไป.......30000 กว่าแห่ง.... สถานศึกษาพอเพียงเป้าหมาย 30%.........9999.... (ส่วนใหญ่เป็น ขนาดกลาง ขนาดเล็ก..สถานศึกษาขนาดใหญ่ในเมืองมักไม่สนใจ..ถ้านับตามจำนวน นร. จะไม่ถึง 30%..และบางส่วน ไม่ยั่งยืน..ลวงตา..ตามกระแส..).. ส่วนสถานศึกษาอาชีวะ และอุดมศึกษา ก็ยังเงียบกันอยู่.. ..การขับเคลื่อนวิถีชีวิตพอเพียง สำหรับคนไทย..เพื่อช่วยรักษาสังคมและประเทศชาติให้รอดพ้นวิกฤติ...จึงยังนับว่า ยังเหมือนความฝัน..สู้ๆๆ สู้ต่อไป ครับ..ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน..ความจริงอยากจะเรียนว่า การขับเคลื่อน นโยบาย คุณธรรม ถือ เป็นโครงการยิ่งใหญ่ที่ท้าทายจริงๆ ครับ..( ท้าทาย สำหรับ ความดีแท้ ของ ผู้วางนโยบาย และผู้ปฏิบัติตามนโยบาย นั่นแหละ..เด็กๆ คงขำๆ กับงานของผู้ใหญ่ นะครับ.. : )

คุณลุงรักชาติราชบุรี

  • สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจมอบแก่โครงการนี้ค่ะ

  • หากไม่เริ่มขับเคลื่อนศูนย์การเรียนรู้ฯ..รูปธรรมดีๆของการประยุกต์ใช้หลักพอเพียงจะยิ่งห่างไกลมากยิ่งขึ้นค่ะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท