ความเชื่อ หรือความจริง ในการคัดเลือกพนักงาน


ในการสรรหาคัดเลือกพนักงานใหม่เข้าทำงานในบริษัทโดยปกติเราจะพิจารณาคุณสมบัติหลายประการเพื่อให้แน่ใจว่าผู้สมัครคนไหนที่เหมาะสมที่สุดที่จะเข้าทำงานในบริษัท และในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครนี้เอง ที่ยังมีความเชื่อบางอย่างที่ฝังใจคนที่ทำหน้าที่คัดเลือกพนักงานในบางคน บางระดับ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ บางความเชื่อก็ตอบได้ยากเหมือนกันว่า มันเป็นความเชื่อ หรือเป็นความจริงกันแน่ ลองมาดูกันนะครับว่ามีอะไรบ้าง

  • เชื่อว่าผู้สมัครที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ จะเป็นผู้ที่มีศักยภาพมากกว่า ผลก็คือ ผู้คัดเลือกก็จะมีความลำเอียงไปตั้งแต่แรกแล้ว บางคนเชื่อมากๆ เลยว่า เด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศจะเป็นเด็กที่เก่ง และสามารถทำงานได้ดี สร้างผลงานที่ดีให้กับองค์กรได้ นี่เป็นความเชื่อหรือความจริง?
  • เชื่อว่าผู้สมัครที่จบการศึกษาในเกรดเฉลี่ยที่สูงกว่า จะเป็นคนที่เก่งกว่า และมีศักยภาพมากกว่า ใครที่เชื่อเรื่องนี้ ก็จะเน้นไปที่เกรดของผู้สมัครว่าตอนที่เขาเรียนหนังสือนั้น เขาเรียนเก่ง หรือไม่เก่งอย่างไร โดยเฉพาะในองค์กรที่เน้นการรับเด็กจบใหม่เข้ามาทำงาน ก็จะพิจารณาไปที่เรื่องของเกรดเฉลี่ยที่จบมาของผู้สมัครเป็นหลัก ซึ่งเชื่อว่า การที่เด็กเรียนจบด้วยเกรดที่ดี นั้นจะเป็นเด็กที่สามารถสร้างผลงานที่ดีในการทำงานด้วยเช่นกัน บางองค์กรเชื่อว่าเด็กที่จบมาด้วยคะแนนเกียรตินิยมจะยิ่งเป็นเด็กที่ทำงานได้ดีมากขึ้นไปอีก นี่เป็นความเชื่อหรือความจริง?
  • เชื่อว่าคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า จะมีความเก่งกว่าคนที่มีประสบการณ์ทำงานน้อยกว่า ในงานเดียวกัน ผู้คัดเลือกพนักงานที่เชื่อเรื่องนี้ ก็จะเน้นไปที่การพิจารณาจำนวนปีประสบการณ์ที่ผู้สมัครผ่านงานนั้นๆ ถ้าใครมีประสบการณ์ในงานนั้นมากปีกว่า ก็จะเชื่อว่า เขาน่าจะสามารถทำงานได้ดีกว่าคนที่ผ่านงานมาน้อยปีกว่า เนื่องจากจำนวนปีประสบการณ์ที่มากกว่าย่อมจะเป็นตัวบ่งบอกถึงความชำนาญในงานนั้นมากกว่า นี่เป็นความเชื่อหรือความจริง?
  • เชื่อว่าผู้สมัครที่จบมาในระดับการกศึกษาที่สูงกว่า ย่อมจะมีคุณภาพมากกว่าผู้ที่จบมาในระดับการศึกษาที่ต่ำกว่า เช่น มีผู้สมัครสองคน คนนึงจบปริญญาตรี อีกคนหนึ่งจบ ปวส. มาสมัครงานในตำแหน่งเดียวกัน ผู้คัดเลือกที่มีความเชื่อนี้ ก็จะมองว่าเขาจะเลือกคนที่จบปริญญาตรีเข้ามาทำงาน เพราะเขาน่าจะมีความรับผิดชอบที่สูงกว่าเนื่องจากการศึกษาที่สูงกว่า นี่เป็นความเชื่อหรือความจริง?
  • เชื่อว่าโหงวเฮ้งที่ดี จะทำงานดีกว่า ความเชื่อนี้ทำให้ในบางองค์กรต้องจ้างซินแส เข้ามาพิจารณาคนที่มาสมัครงานทุกคนโดยพิจารณาโหงวเฮ้งของทุกคนว่าดีไม่ดีอย่างไร และใช้เกณฑ์ทางด้านนี้เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณารับคนเข้าทำงาน โดยเชื่อว่าคนที่มีโหงวเฮ้งที่ดี จะสามารถนำพาองค์กรไปในทางที่ดีได้ นี่เป็นความเชื่อหรือความจริง?
  • เชื่อว่าแบบทดสอบต่างๆ ที่นำมาใช้นั้นสามารถใช้คัดเลือกคนได้อย่างดี ใครที่ผ่านการทดสอบจากแบบทดสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบทดสอบบุคลิกภาพ แบบทดสอบความถนัด แบบทดสอบทัศนคติ ความฉลาด ความฉลาดทางอารมณ์ ฯลฯ ใครก็ตามที่ได้คะแนนสูงในการทดสอบ จะถือว่าเขาเป็นคนที่เหมาะสม และควรจะรับเข้าทำงาน นี่เป็นความเชื่อหรือความจริง?

ผมคิดว่าความเชื่อเหล่านี้บางเรื่องก็พิสูจน์ยากเหมือนกันนะครับ แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่คนที่เป็น HR และรับผิดชอบในการคัดเลือกผู้สมัครเข้าทำงาน จะต้องยึดถือให้มั่นก็คือ การสรรหาคัดเลือกผู้สมัครที่เหมาะสมที่สุดในการทำงาน แม้ว่าคนที่ช่วยคัดเลือกอาจจะมีความเชื่อเหล่านี้อยู่บ้าง แต่ก็คงต้องหาวิธีการคัดกรองคนที่ดี และเหมาะสมที่สุดครับ

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมประสบมาในการคัดเลือกผู้สมัครนั้น การศึกษาที่สูง เกรดที่ดีกว่า ไม่ได้เป็นตัวบอกว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนที่ทำงาเก่งเสมอไป นอกจากนั้น คนที่มีจำนวนปีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความเชี่ยวชาญในการทำงานนั้นเสมอไป

เท่าที่ผมเคยเจอ ผมเคยเจอคนที่มีประสบการณ์ทำงาน 10 ปี แต่พอสัมภาษณ์ไปเรื่อยๆ ก็เห็นชัดเลยว่า คนๆ นี้มีประสบการณ์แค่ปีเดียว แต่ 10 รอบเท่านั้นเอง แต่ผู้สมัครบางคนประสบการณ์ในการทำงานแค่ 5 ปี แต่สิ่งที่เขาทำใน 5 ปีนั้นยิ่งกว่าคนที่ทำมา 10 ปีด้วยซ้ำไป

ดังนั้นนี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ ว่าคนที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่าจะเชี่ยวชาญมากกว่า บางท่านอาจจะถามว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนๆ นี้เหมาะหรือไม่ แล้วเราจะต้องใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการพิจารณากันแน่ ผมคิดว่าเราคงไม่มีคำตอบที่เป๊ะๆ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งบางครั้งเราก็คงจะต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน

ความเชื่อทั้งหมดที่ผมกล่าวมาข้างต้น ไม่ได้แปลว่าเป็นสิ่งที่เราไม่ควรจะเอามาใช้พิจารณานะครับ เราต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่เราคงต้องใช้มันด้วยความมีเหตุมีผลรองรับ มีหลักฐานและข้อเท็จจริงมาพิสูจน์กัน และที่สำคัญในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน ไม่ควรทำคนเดียว ควรจะมีหลายๆ คนช่วยกันดูครับ เพื่อกลั่นกรองให้ได้คนที่ดี และเหมาะสมกับเรามากที่สุดครับ

ก่อนจบขอทิ้งท้ายการ์ตูน Dilbirt ที่เขียนโดย Scott Adams ซึ่งเกี่ยวกับการสัมภาษณ์ผู้บริหารคนหนึ่ง ซึ่งเรียนหนังสือไม่จบระดับมหาวิทยาลัย แต่ออกมาตั้งบริษัทตนเอง และเน้นการหาประสบการณ์มากกว่า แต่ผลสรุปก็คือ เขาเป็นคนไร้การศึกษา!!

หมายเลขบันทึก: 499361เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2012 05:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2012 05:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท