นพ.สมบัติ ชัยเพ็ชร กับคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


นพ.สมบัติ ชัยเพ็ชร กับการก่อตั้งภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน

1. จุดประสงค์

เพื่อนำเสนอประวัติและความสำคัญต่อคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ของ นพ.สมบัติ ชัยเพ็ชร และการก่อตั้งภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน ซึ่งเป็นภาควิชาที่มีความสำคัญมากต่อนักศึกษาแพทย์ที่จะจบไปและทำงานในภาคอีสานของเรา

2. ประวัติ นพ.สมบัติ ชัยเพ็ชร

ชื่อ: นายแพทย์สมบัติ  ชัยเพ็ชร 

เกิดเมื่อ: วันที่ 2 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2475

เสียชีวิตเมื่อ: วันที่ 26 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2554

สิริอายุ: 79 ปี             เพศ: ชาย                 

สถานภาพ: สมรส       สัญชาติ: ไทย            

เชื้อชาติ: ไทย           ศาสนา: พุทธ              

ที่อยู่: 107 ซ.พัฒนาการ 53   ต.สวนหลวง     เขตสวนหลวง            จ.กรุงเทพฯ      10250

อาชีพ: ข้าราชการบำเหน็จ, บำนาญ

ชื่อ-สกุล คู่สมรส: นางพัชรา          ชัยเพ็ชร

ชื่อ-สกุล มารดา:  นางวิไล(กิมไล้)  ชัยเพ็ชร

ชื่อ-สกุล บิดา:     นายพิศาล         ชัยเพ็ชร

 

ประวัติทางการศึกษา:

 

พ.ศ.2498: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, มหาวิทยาลัยมหิดล, ประเทศไทย  

พ.ศ.2500: ประกาศนียบัตรเฉพาะทางโรคมาลาเรีย, สถาบันโรคมาลาเรีย, ประเทศอินเดีย 

พ.ศ.2503: มหาบัณฑิตด้านสาธารณสุขศาสตร์และเวชศาสตร์เขตร้อน, มหาวิทยาลัยTulane, ประเทศสหรัฐอเมริกา 

พ.ศ.2510: ประกาศนียบัตรเฉพาะทางโรคระบาดประยุกต์และสถิติ, ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ(CDC), เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย, ระเทศสหรัฐอเมริกา 

พ.ศ.2529: นายแพทย์กิตติมศักดิ์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ประเทศไทย

 

ประสบการณ์การทำงาน:

 

ปี ค.ศ.1955 – 1960 : ผู้ช่วยเฉพาะทางด้านโรคมาลาเรีย, เขต4, จังหวัดสงขลานครินทร์ 

ปี ค.ศ.1961 – 1972 : หัวหน้ากองระบาดวิทยา, นโยบายยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศไทย

ปีค.ศ.1972 – 1974 : เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก(WHO), หัวหน้าฝ่ายInter-Country Malaria Consultative Services, AFRO 2002, Tanzania

ปีค.ศ.1974 – 1978 : รองคณบดี, คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ปีค.ศ.1978 – 1979 : ผู้อำนวยการ, Teaching Hospital,คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ปีค.ศ.1979 – 1983 : คณบดีDean,คณะสาธารณสุขศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ปีค.ศ.1983 : เกษียณราชการตำแหน่งศาสตราจารย์ฝ่ายการรักษาพยาบาลในชุมชน, มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ปีค.ศ.1989 : ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกชั่วคราว, ประเทศบังคลาเทศ

ปีค.ศ.2002 – 2010 : สมาชิกของ WHO Regional Review Group for Lymphatic Filariasis Elimination Program, SEARO 

ปีค.ศ.1983 – ปัจจุบัน: ที่ปรึกษาเฉพาะทาง, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ประเทศไทย

 

3. นพ.สมบัติ ชัยเพ็ชร กับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

        นพ.สมบัติ ชัยเพ็ชรขณะที่รับราชการที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ดำรงตำแหน่งหลายอย่าง ดังนี้ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์  รักษาราชการในตำแหน่งคณบดี คณะแพทยศาสตร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยท่านเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวเรือหลักในการจัดตั้งภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน ภาควิชาจุลชีววิทยาและภาควิชาปาราสิตวิทยา และ เป็นผู้เสนอแนวความคิดและจัดสร้างหลักสูตรเวชศาสตร์ชุมชนให้สอดคล้องกับงานสาธารณสุขของประเทศ 

3.1 การก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น   

    รศ.นพ.สมบัติ ชัยเพ็ชร ได้เข้ามาช่วยก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เนื่องจากถูกชักชวนโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ กวี ทังสุบุตร (คณบดีคนแรกของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอน แก่น) จากคำบอกเล่าของ ศ.นพ.สมพร โพธินาม กล่าวว่าสาเหตุที่ รศ.นพ.สมบัติ ชัยเพ็ชร ถูกเชื้อเชิญเนื่องด้วยความเป็นเพื่อนกับศาสตราจารย์ นายแพทย์ กวี ทังสุบุตร อีกทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเขตร้อนซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลนและเหมาะสมกับภูมิภาค

3.2 การก่อตั้งภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน

นพ.สมบัติ ชัยเพ็ชร ได้เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดตั้งภาคเวชศาสตร์ชุมชน  อีกทั้งยั้งเป็นผู้สร้างหลักสูตรเวชศาสตร์ชุมชนให้สอดคล้องกับงานสาธารณสุขของประเทศ 

                ในระยะแรกแม้ภาควิชาจะมีสมาชิกน้อยเพียง 5 คน ได้แก่ รศ.นพ.สมบัติ ชัยเพ็ชร   ผศ.เฉลิมเดช วุฒิกรรมรักษา   รศ.เครือวัลย์  ทุตานุวัตร   ผศ. ศรีน้อย มาศเกษม  แต่ก็ได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลืออย่างล้นเหลือจากภาควิชาอื่นๆในคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการพานักศึกษาแพทย์ออกสู่ชนบท และหาทางแก้ปัญหาที่แก้ได้ร่วมกัน

                งานฝึกภาคสนามช่วงแรกยังเป็นการฝึกแค่นักศึกษาแพทย์เท่านั้น ต่อมาในปี 2527 ได้มีนักศึกษาคณะสาธารณสุขชั้นปีที่ 4  เข้ามาร่วมฝึกด้วย และในปี 2528 นักศึกษาคณะเทคนิคการแพทย์ปีที่ 3 คณะเภสัชศาสตร์และคณะทันตแพทยศาสตร์ ปีที่ 4 รวมทั้งนักศึกษาภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ ปีที่ 4 ก็เข้ามาร่วมฝึกด้วย จนกระทั่ง ปี 2529 คณะพยาบาลศาสตร์ และในปี 2533 คณะสัตวแพทยศาสตร์ ปีที่ 4 เข้ามาร่วมฝึก รวมเป็นการฝึกภาคสนามร่วมของนักศึกษาในศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ 7 คณะ 

ความสำคัญ

เป็นภาควิชาที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อให้นักศึกษาแพทย์เข้าใจสภาพความเป็นอยู่ สังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนเข้าใจปัญหาสุขอนามัย สุขภาพและแนวทางการแก้ไขของคนในชนบทและชุมชนในภาคอีสาน เมื่อเข้าใจและมีประสบการณ์ดังกล่าวจึงทำให้เมื่อจบไปเป็นแพทย์ในอนาคตสามารถปฎิบัติงานในภาคอีสานนี้ได้อย่างดีและมีคุณภาพ พร้อมทั้งมีความสุข

ปณิธาน

ส่งเสริมการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่สามารถให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแบบองค์รวมต่อบุคคล ครอบครัว และชุมชน ได้อย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมีมนุษยธรรม

วิสัยทัศน์

ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนจะเป็นองค์กรทางการศึกษาที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการระดับแนวหน้าในเอเชียทั้งการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาสุขภาพชุมชนแบบบูรณาการ

พันธกิจ

1.  ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะ พร้อมคุณธรรมเพื่อบริการสุขภาพแบบบูรณาการแก่ชุมชน

2.  วิจัยเพื่อพัฒนาสุขภาพชุมชนแบบบูรณาการ

3.  บริการสุขภาพชุมชนแบบบูรณาการ

4.  ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องต่อสุขภาพชุมชน

คำขวัญ

รู้ลึก นึกกว้าง สร้างสรรค์ ผันสู่ชุมชน

 

รางวัลที่ได้รับขณะรับราชการที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

                ได้รับพระราชทานปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปีพ.ศ. 2529 เนื่องด้วยเป็นผู้ที่มีบทบาทในวงการสาธารณสุขไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งคณแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมีบทบาทในการจัดตั้งภาควิชาขึ้นหลายภาควิชา รวมทั้งเป็นผู้สร้างหลักสูตรเวชศาสตร์ชุมชนให้สอดคล้องกับงานสาธารณสุขของประเทศ เป็นผู้มีบทบาทในการประสานงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับทบวงมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากคณะรัฐมนตรีไปปฏิบัติหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ณ ประเทศแซมเบียและแทนซาเนีย เป็นเวลา 2 ปีด้วย

 

คุณลักษณะของนพ.สมบัติ ชัยเพ็ชรที่นักศึกษาแพทย์ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง

1.มีอัธยาศัยดี ไม่โกรธใครง่ายๆ

2.มีความพอเพียง

3.ให้ความรู้แก่ผู้อื่นอย่างเต็มที่

4.รักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุดโดยไม่คำนึงถึงค่าตอบแทน

                


 

 

4.ภาคผนวก

http://www.youtube.com/watch?v=iWnaDDyH6ls

บทสัมภาษณ์

นักศึกษาแพทย์: สำหรับรองศาสตราจารย์นายแพทย์ สมบัติ  ชัยเพชร คือใครครับ

ศาสตราจารย์นายแพทย์สมพร: อาจารย์สมบัติ ชัยเพชร เป็นอาจารย์ท่านหนึ่งในคณะแพทยศาสตร์  เมื่อในอดีตโดยเฉพาะเมื่อเริ่มก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ใหม่ๆท่านก็มาอยู่กับเราหรือคณะแพทยศาสตร์ขอนแก่นหลายปี... ท่านได้รับการชักชวนมาเป็นอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์เราด้วยความที่เป็นเพื่อนกันกับท่านศาสตราจารย์หมอกวี ซึ่งเป็นคณบดีท่านแรกของคณะแพทยศาสตร์ได้ชักชวนมา ท่านก็เป็นเพื่อนกัน รู้จักกันดีนะครับแล้วก็ท่านอาจารย์สมบัติ ก็เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถสูงในการเป็นอาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคเมืองร้อนหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับชุมชน

นักศึกษาแพทย์: ภาควิชาวิทยาศาสตร์ชุมชนคืออะไรครับ ? แล้วสอนเกี่ยวกับอะไร ?

ศาสตราจารย์นายแพทย์สมพร: ภาควิชาวิทยาศาสตร์ชุมชนคือภาควิชาหนึ่งในคณะแพทยศาตร์ คือ เมื่อก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์เนี่ย เราก็จะมีโครงสร้างองค์กรที่เรียกว่า organization chart มีสำนักงานคณะบดี มีภาควิชาต่างๆ รวมทั้ง มีโรงพยาบาลด้วย ทั้งหมดเนี่ยมีประมาณ 18 ภาควิชา และหนึ่งใน 18 ภาควิชานั้นก็มีภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนก็คือภาควิชาหนึ่งซึ้งปฎิบัติภาระกิจในการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ โดยเฉพาะชั้นปีที่ 4 จริงๆก็สอนทุกชั้นปี แต่จะเน้นชั้นปีที่ 4 5 ประมาณนี้นะครับ การที่มีภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนเนี่ย ก็เป็นวิชาหนึ่งที่สอนเกี่ยวกับชุมชนก็ตรงไปตรงมาก็ชื่อเวชศาสตร์ชุมชนนะตรงไปตรงมา มีเรื่องของปัญหาในชุมชนเราต้องเรียนในการเป็นนักศึกษาแพทย์นากจากเรียนแล้วเราก็ต้องนำมาวิเคราะห์ จากการวิเคราะห์เราทำวิจัยเพื่อที่จะแก้ปัญหาชุมชน ซึ่งถ้าหากว่านักศึกษาได้เรียนนอกจากจะคุ้นเคยกับชุมชนแล้วก็จะทำให้เกิดความประทับใจ หรือความสงสาร ความรู้สึกสงสารโดยเฉพาะผู้ยากไร้ในชุมชนซึ้งเราก็คง ในฐานะเมื่อจบไปแล้วเป็นแพทย์เราก็คงต้องช่วยเหลือชุมชนเขามีทั้งความเศรษฐกิจไม่ดี มีทั้งโรคภัยไข้เจ็บมากมายในชุมชน ทั้งโรคติดต่อและไม่ติดต่อ แล้วก็มีทั้งความเชื่อ นั้นอาจจะทำให้เกิดโรคหรือเกิดความผิดปกติทั้งกายและทั้งจิตก็ได้นะ เพราะฉะนั้นการศึกษาแพทย์การศึกษาในภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนก็มีความสำคัญมาก

นักศึกษาแพทย์: อุปสรรค์ในการก่อตั้งคณะแพทย์ และภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนมีความเกี่ยวข้องกันยังไงครับ ?

ศาสตราจารย์นายแพทย์สมพร: ถ้าพูดถึงอุปสรรคในการก็ตั้งคณะแพทย์เนี่ย จะพูดไปก็เป็นเรื่องยาวมากนะครับ เพราะว่าหลังจากที่รัฐบาลมีความประสงค์อยากให้กระจายการศึกษาในระดับอุดมศึกษามาที่ต่างจังหวัดเนี่ย มาถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็มาจัดตั้งตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษฎิ์ แล้วต่อมาก็มีการจัดตั้งคณะต่างๆ แต่เมื่อในปี 15 วันที่ 9 กันยา 2515 ก็มี พรบ. จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นมา ท่านศาสตราจารย์หมอกวี ก็ได้ไปชักชวน อาจารย์ต่างๆที่จะมาร่วมกันจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งปัญหาแรกก็คือปัญหาที่ เราไม่ค่อยมีอาจารย์มาเพราะว่าอยู่อีสานก็ไกลจากส่วนกลางมาก มีความขาดแคลนหลายอย่างนะครับ ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัย เรื่องงบประมาณ ก็รัฐบาลก็ไม่ค่อยจะมีงบประมาณให้มากนักแรกๆรู้สึกผมจำได้ว่า ในประมาณปี 14,15 ที่มาจัดตั้งเนี่ย งบประมาณครั้งแรกได้ประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้นเองที่มาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ตอนนั้นนะครับ ในลำดับที่สอง ปัญหาคือเรื่องงบประมาณ ปัญหาที่สามก็คือ เรื่องของอาคารสถานที่ อาคารสถานที่ก็ไม่มีต้องไปอาศัยคณะวิทยาศาสตร์ในการจัดการเรียนการสอนในระดับเตรียมแพทย์และปรีคลีนิค แล้วพอขึ้นคลีนิคเราก็ไม่มีโรงพยาบาลในคณะนั้นเราต้องเอาเงิน 3 ล้านบาทที่ว่านี้มาจัดซื้อเครื่องไม้เครื่องมือ ในการจัดการเรียนการสอน สื่อการสอนรวมทั้งโรงพยาบาลเล็กๆ ซึ่งใช้โรงพยาบาลโรคเรื้อนเก่าอยู่ที่บริเวณสีฐานมาปรับปรุงแก้ไขมาสร้างห้องคลอดมาสร้าง OPD เพื่อจะให้มีการจัดการเรียนการสอนที่ถูกวิธี ทั้งOPD และ ward ผู้ป่วยเด็ก ก็ค่อนข้างมีความขาดแคลน สรุปก็คือปัญหาของการก่อตั้งคณะแพทย์ก็คือ บุคลากร งบประมาณ อาคารสถานที่ส่วนภาควิชาชุมชนที่เป็นหนึ่งในคณะแพทยศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน ดิ้นหาทางยากมากเลยเพราะว่าส่วนใหญ่อาจารย์ท่านเป็นอาจารย์ที่ไม่มีวุฒิทางแพทย์ก็จะเป็นอาจารย์ชั้นปรีคลีนิคแต่ถ้ามีวุฒิทางแพทย์ก็จะเป็นอาจารย์ที่จบแต่ละสาขาวิชาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญไปแต่ละสาขา อย่างที่ผมก็เคยเป็นอาจารย์แพทย์ทางสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา และก็มีศัลยศาสตร์ อายุรศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ และอื่นๆ แต่ว่าเวชศาสตร์ชุมชนนั้นอยู่ระหว่างกลางปรีคลีนิคกับคลีนิค ซึ่งอาจารย์ส่วนใหญ่เนี่ยจะต้องพานักศึกษาออกชุมชนเพื่อจะเรียนรู้ชุมชนอย่างที่ผมเรียนไว้ตั้งแต่แรกแล้ว แล้วก็หาอาจารย์ยากมาก เพราะฉะนั้นปัญหาก็คือการหาอาจารย์ในเวชศาสตร์ชุมชน นี้ยากนะครับ ปัจจุบันเราก็มีอาจารย์ทั้งมีวุฒิทางแพทย์และไม่มีวุฒิทางแพทย์ มาร่วมกันจัดการเรียนการสอน และดูเหมือนจะไม่ได้มีอาจารย์เพิ่มขึ้นนะ มีแต่น้อยลงเรื่อยๆนอกจากหายากแล้วยังรักษาอาจารย์ไว้ก็ค่อนข้างจะยากเมื่ออาจารย์เกษียณอายุไปอะไรไป ก็คงจะมีปัญหาในอนาคตด้วย นี่ก็คือปัญหาการจัดตั้งคณะแพทย์ ทั้งการจัดตั้งภาควิชาแพทยศาสตร์ชุมชน

นักศึกษาแพทย์: ลักษณะการทำงานของรองศาสตราจารย์นายแพทย์สมบัติ  ชัยเพชรที่ท่านประทับใจมีอะไรบ้างครับ

ศาสตราจารย์นายแพทย์สมพร: ผมประทับใจอาจารย์ ผมเรียกอาจารย์ก็แล้วกัน จริงๆท่านตำแหน่งทางวิชาการของท่านคือรองศาสตราจารย์ ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือมาก ท่านอัธยาศัยไมตรีดี ดีมากเลย ทั้งต่ออาจารย์รุ่นน้องอย่างพวกผม ซึ่งตอนแรกมาที่... จัดตั้งกันมาแค่ 10 คน ก็แต่ละสาขาวิชาก็คือแต่ละภาควิชา เราก็มีอาจารย์น้อย หลายภาควิชาก็มีอาจารย์คนเดียว อาจารย์สมบัติ  ชัยเพชร เนี่ยท่าน เนื่องจากท่านเคยเป็นที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก และเคยอยู่ดูแลประชาชน... ไม่ใช่ดูแล เป็นที่ปรึกษาให้กับด้านการแพทย์ การสาธารณสุขในประเทศในแอฟริกามานาน ท่านก็มีความรู้ความสามารถสูงในเรื่องชุมชน ฉะนั้นก็เหมาะที่ท่านได้มาที่เรา จะได้มีการเรียนการสอนโดยเฉพาะแพทยศาสตร์ชุมชนได้เป็นอย่างดี อย่างที่ผมทราบแรกๆ เราก็คิดกันว่า เราจะผลิตบัณฑิตให้มีคุณลักษณะอย่างไหน ก็คือเราตกลงกันว่าจะให้บัณฑิตแพทย์ที่จบจากขอนแก่น ให้มีคุณลักษณะเหมือนรถปิ๊กอัพ ก็คือไปได้ทุกที่ ทำงานได้ทุกที่ ทำอะไรก็ได้ จะทำในชุมชนก็ได้ จะทำในเมืองใหญ่ก็ได้ เมืองเล็กก็ได้ ไม่เกี่ยง ไม่เหมือนบางสถาบันที่เค้าอาจจะไม่เน้นชุมชน แต่ของเราเน้นชุมชน เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถดูแลประชาชนได้ทุกพื้นที่ อันนั้นก็เป็นคุณลักษณะ ซึ่งท่านอาจารย์สมบัติ ก็เป็นผู้หนึ่งที่มีความเหมาะสมเพราะท่านมีความรู้เรื่องทั้งโรคติดต่อและไม่ติดต่อในชุมชนเป็นอย่างดี เราก็ถือว่าคณะแพทย์โชคดี ที่มีท่านอาจารย์สมบัติ นอกจากท่านมีความรู้ดีแล้ว นอกจากอัธยาศัยดีแล้ว ท่านก็ทำงานเก่งด้วย มุ่งมั่น ทำการบ้าน ท่านรักษาการณ์คณบดีแพทยศาสตร์ เมื่อท่านอาจารย์กวีไปเป็นอธิการบดี หรือไม่อยู่ ท่านก็รักษาการณ์ยู่ในระยะ เป็นระยะๆ รวมทั้งเป็นผู้ที่ช่วยเหลือการก่อตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย ก็ท่านทำงานเก่ง และอย่างที่ผมประทับใจอีกเรื่องก็คือ เนื่องจากท่านทำงานในต่างประเทศนานภาษาอังกฤษท่านดีมาก เวลาท่านพูดภาษาอังกฤษ ถ้าเราไม่เห็นหน้าก็คิดว่าฝรั่งพูด เพราะสำเนียงท่านก็ดีมาก เพราะฉะนั้นหลายคนก็ได้เรียนรู้ทั้งการปฏิบัติตัวจากท่านอาจารย์ ได้รู้เรื่องความรู้ที่ท่านมีอยู่ นั่นแหละสิ่งที่ผมประทับใจท่านครับ

นักศึกษาแพทย์: แบบอย่างของรองศาสตราจารย์นายแพทย์ สมบัติ  ชัยเพชรที่นักศึกษารุ่นใหม่ควรเอาแบบอย่างคืออะไรครับ

ศาสตราจารย์นายแพทย์สมพร: อันนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ผมพอรู้ดีว่าถ้าท่านจบเป็นแพทย์แล้ว เป็นบัณฑิตแพทย์แล้ว ถ้าทำปฏิบัติตนเหมือนอาจารย์สมบัติ ก็จะเป็นแพทย์ที่ดี เพราะอย่างที่ว่าแล้วก็คือ ท่านมีอัธยาศัยที่ดี ไม่โกรธใครง่ายๆ ผมไม่เคยเห็นอาจารย์สมบัติโกรธใครเลย ท่านอาจารย์สมบัติเป็นผู้ที่ให้นะ ไม่ว่าปรึกษาอะไรท่าน ท่านก็จะให้ความรู้ ให้ทุกอย่างที่ท่านมี และก็เป็นลักษณะเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ท่านไม่มีความทะเยอทะยานอะไรทั้งสิ้น ท่านมีความรักความเอ็นดูเพื่อนร่วมงาน เหมือนกับที่พระราชดำรัสของสมเด็จพระราชบิดาที่ว่า กิจที่หนึ่งสำหรับแพทย์ก็คือเราต้องถือว่าเราทำเพื่อคนอื่น ส่วนกิจของตัวเองเป็นกิจที่สองด้วยซ้ำไป คือทำไปเถอะไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็แล้วแต่ โดยเฉพาะถ้าเป็นแพทย์ก็คือ คนไข้ ญาติคนไข้ เราต้องทำเต็มที่เพื่อจะให้เค้าได้หายจากโรค หายจากความทุกข์ โดยไม่คิดว่าเราจะได้อะไรตอบแทน แต่ขณะเดียวกันถ้าเป็นกิจของเรา เอาไว้ที่สองก็แล้วกัน เราจะไปเที่ยวไปเตร่อะไร แต่ว่าเราต้องคิดถึงผู้ป่วยก่อน คิดถึงคนที่เรารับผิดชอบก่อน ถึงจะไปเที่ยวไปอะไรได้ เป็นลักษณะนั้นนะครับ อาจารย์สมบัติก็มีคุณลักษณะนี้ทุกอย่างเพราะฉะนั้นนักศึกษาแพทย์ก็น่าจะเอาตาม ที่เมื่อท่านจบไปแล้ว แล้วก็ไม่จำเป็นต้องร่ำรวยเหมือนกับอาชีพอื่น แต่ท่านก็จะมีทรัพย์สมบัติหรือว่าเงินทองที่จะสามารถดูแลทั้งตัวเองและครอบครัวได้ตลอดชีวิตอย่างมีความสุข แต่ไม่ใช่คนร่ำรวยเหมือนคนเศรษฐี แต่ถ้าหากจะร่ำรวยหรือเป็นเศรษฐีท่านก็คงต้องไปทำอาชีพอื่นหรือเรียนอย่างอื่น ก็อยากจะให้นักศึกษาได้ปลูกฝังตรงนี้ด้วย เราเป็นผู้ให้เราไม่ใช่ผู้รับ ส่วนจะได้รับ มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่เราเกิดมาเพื่อเป็นผู้ให้

นักศึกษาแพทย์: ขอให้ศาสตราจารย์นายแพทย์สมพร ฝากข้อคิดให้กับนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ด้วยครับ

ศาสตราจารย์นายแพทย์สมพร: ครับก็อย่างที่เรียนแล้วมะกี้ว่าต้อง ดำเนินรอยตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชบิดา อันที่หนึ่ง อันที่สอง ขณะที่เป็นนักศึกษาเนี่ย อย่าลืมความมุ่งมั่น มุ่งมั่นในการที่เรียนให้จบ ผมเห็นด้วยที่มีกิจกรรมเสริมหลักสูตรแต่คงต้องแบ่งเวลาให้ดี เพราะเดี๋ยวนี้มีแต่สิ่งยั่วยวนที่จะทำให้เราออกนอกลู่นอกทางได้เยอะเลย เช่น ติดเกม เป็นต้นเห็นหลายคนติดเกม ก็ไม่ได้ว่าอะไรที่จะเล่นเกม แต่ก็ควรจะแบ่งเวลาให้ชัดเจน ไม่ใช่ลืมเล่นห่ามรุ่งห่ามค่ำแล้วเสียการเรียน ในอดีตที่ผ่านมาก็มีหลายคนที่เรียนไม่จบสาเหตุเพราะว่าไม่ได้แบ่งเวลาการศึกษาที่แท้จริง การเรียนแพทย์ไม่จำเป็นต้องเก่ง แต่ว่ามุ่งมั่น ใช่ธรรมะง่ายๆคือ อิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ชัดเจน ท่านจะสำเร็จได้แน่นอน เป็นแพทย์ได้แน่นอน ส่วนเป็นแพทย์แล้ว จะเป็นแพทย์ที่ดีได้ อย่างที่ผมพูดมาทั้งหมด แต่ว่าถ้าเมื่อไรเราดำเนินรอยตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชบิดา เราก็จะมีทั้งความสุขความเจริญ มีคุณภาพชีวิตที่ดีในการเป็นแพทย์ เป็นที่พึ่งพาของประชาชนในเรื่องการเจ็หบป่วย ในเรื่องสุขภาพไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เป็นที่รักใคร่นับถือของประชาชนทั่วไป...

5.เอกสารอ้างอิง

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.ม.ป.ป.20ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.ม.ป.ท.

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัย.ม.ป.ป.ครบรอบ 20 ปี สถาปนาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.ขอนแก่น:โรงพิมพ์พระธรรมขันติ

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น.วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พุทธศักราช 2529.ม.ป.ป. ขอนแก่น:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 2546,25 กันยายน. ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน. เข้าถึงได้จาก :http://commu.md.kku.ac.th/ (วันที่ค้นข้อมูล 19 สิงหาคม 2555)

งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี. 2554,2 กันยายน. คณะแพทยศาสตร์ จัดพิธีรดน้ำศพและสวดอภิธรรมศพ รศ.นพ.สมบัติ ชัยเพ็ชร อดีต ผอ.รพ.ศรีนครินทร์.  เข้าถึงได้จาก :http://www.news.kku.ac.th/kkunews/content/view/9403/38/   (วันที่ค้นข้อมูล 19 สิงหาคม 2555)

 

คณะผู้จัดทำ

ลำดับ       รหัสนักศึกษา            ชื่อ-นามสกุล

1.         553070008-3          นายกิตติธัช        สุวรรณโรจน์

2.         553070011-4          นายจักรกฤษณ์    บรรจง

3.         553070040-7          นางสาวนภัสสร    สินโสภา

4.         553070043-1          นายบุณยกร        เอมย่านยาว

5.         553070070-8          นายวชิรวิทย์       ชาดวง

6.         553070073-2          นายวศิน            ตั้งกิจเกียรติกุล

7.         553070101-3          นางสาวกิตติยา     จิตรปรีดา

8.         553070113-6          นายเจนชานนท์    พีระเวคิน

9.         553070114-4          นางสาวฉัตรฑริกา  แสนโฆเมฆ

10.       553070115-2          นางสาวชนิตา       ราชบัณฑิต

11.       553070116-0          นายชนินทร์          เกียรติไกรวัลศิริ

12.       553070157-6          นางสาวปภาวรินท์  อุดมพันธ์

13.       553070166-5          นายพชร              ตังควัฒนา

14.       553070201-9          นายวุฒิชัย           ชรินทร์

15.       553070204-3          นายสรวิศ             ศรีสิงหเดช

16.       553070208-5          นางสาวสุกัญญา   แซ่ลิ้ม

17.       553070221-3          นางสาวอภิรมย์รัช  เทศศรีเมือง

18.       553070229-7          นางสาวณัฐกานต์    พุฒศรี

19.       553070253-0          นายธนายุ             อิงสุข

20.       553070266-1          นางสาวอภิญพร     เธียรภักดีกุล

หมายเลขบันทึก: 499315เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2012 01:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

เวชศาสตร์ชุมชน สำคัญต่อการทำงานของแพทย์ในภาคอีสานจริงๆนะเนี่ย

เป็นส่วนที่สำคัญมากจริงๆ เลยนะคะ ต่อวิถีชิวิตของคนไทย

ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนถือว่าเป็นประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขไทยมากๆเลย

ขอบคุณอาจารย์ผู้ก่อตั้งภาควิชา ที่ทำให้บริการทางสาธารณสุขกระจายไปยังชุมชนอย่างทั่วถึง :)

ผู้เริ่มต้น คือผู้เสียสละ เราเป็นผู้ติดตาม ก็ต้องสานต่ออย่างภาคภูมิสินะ ^^

ได้ความรู้มากขึ้นเยอะเลยครับ

เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้อ่านมากค่ะ

แพทย์เวชศษสตร์ชุมชนมีส่วนสำคัญมากในการลดจำนวนผู้ป่วยลง ด้วยการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น เป็นการรักษาที่ต้นเหตุแทนการรักษาที่ปลายเหตุ เป็นภาควิชาที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างกว้างขวางจริงๆ

เป็นบุคคลตัวอย่างจริงๆค่ะ

เป็นคนทั่เก่งเเละดีจริง

เป็นภาคที่สำคัญที่ทำให้ความเป็นอยู่ของคนภาคอีสานดีขึ้นจริงๆครับ

มองผู้ป่วยเป็นองค์รวม เข้าถึงรากหญ้าแก่นแท้ทีเดียว

เป็นบุคคลที่ควรเอาเป็นแบบอย่างจริงๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท