การสอนแบบไฮสโคป


การเรียนการสอนแบบไฮสโคป

                ในปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยมีความสำคัญอย่างยิ่ง การเรียนการสอนทุกรูปแบบส่งผลต่อเด็กในการเรียนรู้ แต่สิ่งมุ่งหวังของการเรียนการสอนปฐมวัยอย่างน้อยต้องส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทางร่างกาย ทั้งกล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก การเคลื่อนไหว ความคล่องตัว และมีสุขภาพดี ในด้านจิตใจสังคมสามารถเป็นตัวของตัวเอง มีความภาคภูมิใจ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีจินตนาการ รู้จักการแก้ปัญหา ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนแต่ละรูปแบบจะมีจุดเน้นสำคัญของรูปแบบที่เป็นลักษณะเฉพาะของรูปแบบนั้นๆ

            รูปแบบการเรียนการสอนของไฮสโคปเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่น่าสนใจ มีการจัดการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติตามความสนใจของเด็ก มีวัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้และพัฒนาการตามวัยการสอนแบบไฮสโคปมีพื้นฐานแนวคิดมาจากทฤษฎีของเพียเจย์ (Piaget’s Theory)ว่าด้วยพัฒนาทางสติปัญญาที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติที่เด็กสามารถสร้างความรู้ได้เองโดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์การเรียนรู้ (Constructive process of learning)เด็กจะเรียนรู้จากการกระทำของตน การประเมินผลงานอย่างมีแบบแผน ช่วยให้เด็กเกิดความรู้ขึ้น ด้วยพื้นฐานความเชื่อที่ว่าเด็กเป็นผู้ใฝ่รู้เด็กสามารถสร้างความรู้ได้จากประสบการณ์ที่มีความหมาย

            กลไกการเรียนตามรูปแบบการเรียนการสอนของไฮสโคป เริ่มจากการให้เด็กริเริ่มกิจกรรมด้วยตนเองเลือกสื่อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรียนใช้การลงมือปฏิบัติสัมผัสสื่อด้วยมือตนเองโดยมีครูเป็นผู้สนับสนุน กระตุ้นเร้าให้เกิดการดำเนินกิจกรรมด้วยการจัดพื้นที่ห้องเรียนให้เหมาะสมกับการเรียนของเด็ก

            หลักการเรียนการสอนแบบไฮสโคป เป็นการสร้างองค์ความรู้จากการที่เด็กได้ลงมือจัดกระทำกับอุปกรณ์ หรือสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นประสบการณ์ตรง โดยใช้หลักปฏิบัติ 3 ประการ คือ

  1. การวางแผน (Plan) เป็นการกำหนดแนวทางการปฏิบัติ หรือการดำเนินงานตามงานที่ได้รับมอบหมายหรือสิ่งที่สนใจด้วยการสนทนาร่วมกันระหว่างครูกับเด็ก และเด็กกับเด็ก ว่าจะทำอะไร อย่างไร การวางแผนกิจกรรมนี้เด็กอาจแสดงด้วยภาพหรือสัญลักษณ์ประจำตัวเด็กหรือบอกให้ครูบันทึก เป็นกระบวนการที่เด็กมีโอกาสเลือกและตัดสินใจ
  2. การปฏิบัติ (Do) คือการลงมือทำกิจกรรมตามแผนที่วางไว้ เป็นส่วนที่เด็กได้ร่วมกันคิด แก้ปัญหา ตัดสินใจ และทำงานด้วยตนเอง หรือร่วมกับเพื่อนอย่างอิสระตามเวลาที่กำหนดโดยมีครูเป็นผู้ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือในจังหวะที่เหมาะสม เป็นส่วนที่เด็กได้มีการพัฒนาการพูดและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสูง
  3. การทบทวน (Review) เป็นช่วงที่ได้งานตามจุดประสงค์ ช่วงนี้จะมีการเล่าถึงผลงานที่เด็กทำเพื่อทบทวนว่าตนเอง (เด็ก) สามารถปฏิบัติตามแผนที่วางไว้หรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงแผนอย่างไร จุดประสงค์ของการทบทวนคือ เพื่อสะท้อนสิ่งที่เด็กได้ทำ ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างแผนกับการปฏิบัติและผลงานที่ทำ รวมถึงเล่าประสบการณ์ต่างๆที่ได้ทำ

หลักการเรียนการสอนที่สำคัญคือ

  1. เด็กเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองโดยใช้กระบวนการวางแผน ลงมือปฏิบัติและทบทวนผลงานของตนเองโดยมีครูเป็นผู้สังเกต ให้คำปรึกษา แนะนำ
  2. การใช้เวลาดำเนินกิจกรรมอาจมีช่วงยาวกว่ากิจกรรมปกติ เช่นนานกว่า 60 นาที
  3. ศูนย์หรือมุมการเรียนรู้ต้องมีอุปกรณ์พร้อมใช้ มีความหลากหลาย มีเครื่องหมายแสดงการวางชัดเจน ง่ายสำหรับเด็กในการตัดสินใจเลือกใช้
  4. ครูและผู้ปกครองมีหน้าที่สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์และให้คำแนะนำปรึกษาให้ความสนใจในความสามารถและผลงานของเด็ก
  5. เด็กได้เรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ครู 1 คนต่อเด็ก 5-6 คน หรือกลุ่มใหญ่ ครู 1 คน ต่อเด็ก  25 คน

ครูที่นำโปรแกรมของไฮสโคปมาใช้ต้องมีความเชื่อก่อนว่าการศึกษาของเด็กเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ ในการจัดสิ่งแวดล้อมตามมุมควรมีไม่ต่ำกว่า 5 มุมโปรแกรมไฮสโคปเน้นเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี ปฏิสัมพันธ์ทางบวก ซึ่งต้องเริ่มต้นจากความไว้วางใจ ครูที่ดีต้องสร้างความไว้วางใจให้กับเด็กและการที่เด็กได้ลงมือทำงานหรือกิจกรรมด้วยความสนใจ จะทำให้เด็กสนุกในการทำงาน การทำตามขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ทำให้เด็กได้ฝึกฝนปัญญา ฝึกความมีระเบียบ ฝึกการคิดอย่างมีความหมาย ผลงานที่เกิดขึ้นนับเป็นความสำเร็จของเด็กในการได้ลงมือทำกิจกรรมกับเพื่อนอย่างมีความสุข

อ้างอิง : หนังสือรูปแบบการเรียนการสอนปฐมวัยศึกษา

หมายเลขบันทึก: 499314เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2012 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ไฮสโคป ==>ตามหลัก 3 แระการ ดีจริงๆ ค่ะ

ขอบคุณบทความดีดีนี้นะคะ

เห็นด้วยค่ะว่าการเรียนการสอนแบบไฮสโคปของเขาดีมากเลย เด็กได้เรียนรู้และปฏิสัมพันธ์กับครู มีการวางแผน การลงมือปฏิบัติ และการทบทวนความรู้ที่ได้รับ เด็กสามารถคิดวิเคราะห์เองมีการวางแผนด้วยตนเอง รูปแบบการเรียนการสอนนี้ถ้าเราเอาไปใช้หรือปรับให้เข้ากับเด็กและการสอนของครูจะทำให้เด็กได้ความรู้จากการลงมือของเด็กเองจะทำให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนค่ะ ดีมากเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท