เผยคำแนะนำกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง โรคมือ เท้า ปาก ฉบับที่ 1 แนะผู้ปกครองไม่ต้องวิตกกังวล ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำจะป้องกันโรคได้


คำแนะนำกระทรวงสาธารณสุข

เรื่อง โรคมือ เท้า ปาก ฉบับที่ 1

วันที่ 19 กรกฎาคม 2555

----------------------------

ตามที่ มีรายงานข่าวการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ในประเทศกัมพูชา โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี มีผู้เสียชีวิตหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดำเนินการป้องกันควบคุมโรค และดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง จึงขอสรุปข้อมูลและให้คำแนะนำดังต่อไปนี้ 

1. โรคมือ เท้า ปาก (Hand foot and mouth disease) เป็นโรคประจำถิ่นที่เกิดขึ้นทั่วโลก มักเกิดในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี  พบได้น้อยในเด็กโต หรือผู้ใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสหลายชนิด ในกลุ่มเอ็นเทอโรไวรัส อาการป่วยได้แก่ ไข้ มีจุดหรือผื่นแดงในปาก  ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และเกิดผื่นแดง ซึ่งต่อมากลายเป็นตุ่มพองใส บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และที่ก้น บางรายอาจไม่มีตุ่มพอง  ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และมักหายได้เองใน 7-10 วัน โรคนี้รักษาตามอาการ ไม่มีการรักษาจำเพาะ ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 1-2 อาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น มีอาการทางสมอง หรืออาการในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งส่วนใหญ่รักษาหายได้  แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต  ซึ่งมักเกิดจากเชื้อไวรัสบางตัว เช่น เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71

2. เชื้อโรคมือ เท้า ปาก อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพองและแผลในปาก หรืออุจจาระของผู้ป่วยเชื้อเข้าร่างกายทางปาก โดยติดมากับมือ หรือภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น ช้อน แก้วน้ำ หรือของเล่น หรือติดจากการไอจามรดกัน จึงอาจติดต่อกันได้ง่ายในสถานที่ที่มีเด็กอยู่ร่วมกันจำนวนมาก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล 

3. กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี  รวมทั้งเฝ้าระวังเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของการป่วยรุนแรง เช่น เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ด้วย   โดยร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ในระยะที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยปีละ  8,000-18,000 ราย ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง พบผู้เสียชีวิตปีละ 2-6 ราย ซึ่งมักเกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 สำหรับปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 กรกฎาคม 2555  มีรายงานผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ทั่วประเทศ รวม 13,918 ราย ผู้ป่วยบางรายติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยทุกจังหวัด มีการระบาดในสถานศึกษาหลายจังหวัด รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร การตรวจเชื้อจากผู้ป่วยพบเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด ตามที่พบอยู่เป็นประจำ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อที่ไม่รุนแรง

4.  ในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินมาตรการ การป้องกันและควบคุมโรค ดังนี้

-     เร่งรัดการเฝ้าระวังโรคในสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ

-  เร่งรัดการป้องกัน และควบคุมโรค โดยเน้นการรักษาความสะอาดและสุขอนามัย โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็ก  สถานศึกษา  และชุมชน

-  กำชับแพทย์ในสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ดูแลภาวะแทรกซ้อนของโรค โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่อาจไม่มีอาการตุ่มที่ปาก หรือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า

-     เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องโรคมือ เท้า ปาก และการป้องกันโรคแก่ประชาชน

-  สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  ในจังหวัดที่พบผู้ป่วยหลายราย ให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด เพื่อประสานสั่งการการป้องกันควบคุมโรคโดยรวดเร็ว

-  รายงานการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรี  และคณะรัฐมนตรีมีมติ ให้กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมมือในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค  โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็ก และสถานศึกษา และชุมชน

5. กระทรวงสาธารณสุขขอให้คำแนะนำ แก่ประชาชน เพื่อการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค ดังนี้

สำหรับศูนย์เด็กเล็ก และสถานศึกษา

-    ควรตรวจคัดกรองเด็กทุกวัน หากพบเด็กมีไข้ หรือมีอาการสงสัยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรแนะนำให้เด็กหยุดเรียน

-    หากพบเด็กที่มีไข้สูงและแผลในปาก หรือมีแผลในปากร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น อาเจียน หอบเหนื่อย ซึม ชัก หรือสังเกตว่าเด็กมีอาการมากขึ้น ให้รีบนำไปพบแพทย์

-    ดูแลรักษาความสะอาด ในศูนย์เด็กเล็กและสถานศึกษา เน้นการล้างทำความสะอาดสถานที่  ห้องน้ำ  ห้องส้วม  ของใช้  ของเล่น  ภาชนะที่เด็กใช้ร่วมกัน     

-    หากมีเด็กป่วยเพิ่มขึ้น อาจพิจารณาปิดห้องเรียนหรือสถานศึกษาและจัดการทำความสะอาด  เพื่อป้องกันการระบาด ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ  ทั้งนี้ โดยการพิจารณาร่วมกันระหว่างผู้ดูแลสถานศึกษา  ผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่  

สำหรับประชาชนทั่วไป

-           ควรรักษาความสะอาด โดยล้างมือบ่อยๆ  โดยเฉพาะอย่างก่อนรับประทานอาหารและหลัง  การขับถ่าย

-    สังเกตอาการผิดปกติของเด็กอย่างใกล้ชิด หากมีอาการสงสัยโรคมือ เท้า ปาก หรือมีไข้สูงอย่างน้อย 2 วัน ร่วมกับอาการอาเจียน หอบเหนื่อย ซึม ชัก กล้ามเนื้อกระตุก  หรือมีอาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์ แม้จะไม่มีผื่นขึ้นก็ตาม

 

สำหรับผู้เดินทางที่ไปหรือกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก

-     ผู้ที่จะเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาด ควรรักษาความสะอาด โดยล้างมือบ่อยๆ  หลีกเลี่ยงการนำเด็กไปในที่ชุมชนสาธารณะ  หรือที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก  เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรค  องค์การอนามัยโลก ยังไม่มีคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีรายงานการป่วย

-     ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด ควรสังเกตอาการของเด็ก  หากมีไข้สูงอย่างน้อย 2 วัน ร่วมกับอาการอาเจียน หอบเหนื่อย ซึมลง ชัก กล้ามเนื้อกระตุก หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรพาไปพบแพทย์

 

คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรค  สำหรับประชาชน ศูนย์เด็กเล็ก และสถานศึกษา สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็ปไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข   ที่  http://www.moph.go.th  

 

ข้อความหลัก " ล้างมือสะอาด ไอจามปิดปากจมูก ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง หยุดยั้งโรคมือเท้าปาก”

กรมควบคุมโรค  ห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/07_20_hfm.html

คำสำคัญ (Tags): #โรคมือ เท้า ปาก
หมายเลขบันทึก: 499282เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท