การสอนแบบเรกจิโอ เอมิเลีย


การสอนรูปแบบหนึ่ง

รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ เรกจิโอ เอมิเลีย

ที่มาของแนว เรกจิโอ เอมิเลีย เรกจิโอ เอมิเลีย เป็นนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ที่เริ่มต้นในเมืองเรกจิโอ เอมมิเลีย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2488 กลุ่มแม่บ้านและอาสาสมัครที่มีความห่วงใยถึงการศึกษาของบุตรหลานที่ขาดช่วงไปในระหว่างสงครามได้ช่วยกันสร้างโรงเรียนในหมู่บ้านจนสำเร็จ การรวมตัวและความใส่ใจของชาวบ้านเป็นแรงบันดาลใจให้ ลอริส มาลากุซซี่ ซึ่งในขณะนั้นเป็นครูสอนระดับมัธยมศึกษา ภายหลังได้ศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กและทำงานทางด้านการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ได้พบปัญหาการเรียนรู้ที่เกิดจากการขาดโอกาสของเด็ก ซึ่งมีเหตุปัจจัยทั้งวิถีชีวิตครอบครัวที่เด็กเติบโตมา วิธีการมองการจัดการศึกษาในยุคนั้น ตลอดจนวัฒธรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน กลุ่มการจัดการศึกษาปฐมวัย เรกจิโอ เอมิเลีย จึงได้เสนอให้เทศบาลเมือง เรกจิโอ เอมิเลีย ปรับเปลี่ยนการจัดสวัสดิการด้านงานศูนย์เลี้ยงเด็ก ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นจากเดิมที่เป็นเพียงการเลี้ยงดูเด็กเป็นการจัดสภาพแวดล้อมส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้และการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ มาลากุซซี่ ได้รับการยอมรับเป็นผู้นำกลุ่มนักการศึกษาปฐมวัย

หลักการสำคัญของแนว เรกจิโอ เอมิเลีย

                วิธีการมองเด็ก  เด็กแต่ละคนมีความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้ตั้งแต่วินาทีแรกที่เกิดมา เด็กมีวิถีของการเรียนรู้ไปตามระยะของพัฒนาการในแต่ละวัยแต่ละคน เด็กแต่ละคนจะเต็มไปด้วยพลังความสามารถในการแสดงออกถึงความต้องการที่จะสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้อื่น

                มุมมองต่อเด็ก เป็นพื้นฐานทฤษฎีที่ครูปฐมวัย เรกจิโอ เอมิเลีย  จัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อความกระตือรือร้น ความสนใจต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวให้อยากเรียนด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนที่มุมกิจกรรม หรือมีมุมการเล่นอิสระที่ดึงดูดความสนใจหรือเร้าใจให้เด็กไปจับต้องสัมผัสเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง กิจกรรมการเรียนรู้เหมาะสมกับพัฒนาการเด็กในแต่ละกลุ่มอายุ เด็กทุกคนจะเรียนรู้ผ่านการเล่น ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กในวัยนี้และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเมื่อครูและผู้ปกครอง ปฏิสัมพันธ์กับเด็กได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการของเด็กกิจกรรมการเล่นที่เด็กเรียนรู้ตามมุมต่างๆผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ระหว่างที่เด็กๆเล่นตามมุม คุณครูจะติดตามและสังเกตเด็กอย่างใกล้ชิดแต่อยู่ในระยะห่างหรือความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมชาติและบทบาทหนึ่งที่สำคัญมากของครูปฐมวัยในการส่งเสริมการเรียนรู้ตามแนวคิด เรกจิโอ เอมิเลีย คือการบันทึกและการสังเกต เป็นระบบบันทึกการเรียนรู้ที่ครูทุกคนต้องสังเกตและบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่เด็กกำลังเล่นและทำกิจกรรมเรามุ่งที่จะบันทึกถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับเด็กที่สะท้อนถึงพัฒนาการทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา การบันทึกถึงความสนใจของเด็กต่อกิจกรรมหรือความสนใจในหัวข้อหรือเนื้อเรื่องใดเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับครูในการที่จะเหนี่ยวนำเด็กไปสู่การเรียนรู้อย่างลุ่มลึกจากโครงการที่เป็นที่สนใจของเด็ก

                การเรียนรู้อย่างลุ่มลึกจากโครงการ  โครงการเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่โดดเด่นในโรงเรียนตามแนวคิด เรกจิโอ เอมิเลีย  ก่อนการเริ่มโครงการในชั้นเรียน ครูทุกคนต้องประชุมกันถึงหัวข้อโครงที่อาจเกิดขึ้นได้จากความสนใจของเด็ก ครูจะวางกรอบความคิดถึงขั้นตอนแต่ละระยะของโครงการเพราะโครงการแต่ละโครงการจะใช้เวลาไม่เท่ากัน ตลอดจนการเตรียมการสำหรับแผนการเรียนรู้ที่พร้อมจะยืดหยุ่นไปตามความสนใจของเด็ก และเกิดการเรียนรู้ในพัฒนาการทุกด้านอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก

                หลักสำคัญของโครงการตามแนวคิดของเรจิโอ เอมิเลีย นั้นเวลาไม่ใช่ตัวกำหนดที่การเสร็จสิ้นของโครงการแต่โครงการจะเสร็จสมบูรณ์ไปตามความสนใจของเด็ก คุณครูมีบทบาทที่จะตั้งคำถามที่จะกระตุ้นหรือเร้าความสนใจของเด็กที่นำไปสู่การเรียนรู้ และให้เด็กรู้จักการแก้ปัญหาเป็นเป้าหมายสำคัญของการเรียนรู้ผ่านโครงการตามแนวคิดนี้

                โรงเรียนเป็นแหล่งบูรณาการที่หลากหลายเพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ  โรงเรียนเป็นแหล่งของความร่วมมือประสานสัมพันธ์กันระหว่างโรงเรียน บ้าน ชุมชน และองค์กรต่างๆที่ร่วมคิดร่วมทำ เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสำหรับเด็กปฐมวัย การจัดโอกาสและจังหวะของการเรียนรู้จะมีการวางแผนอย่างเป็นระบบที่เป็นไปอย่างสอดคล้องกับความต้องการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการและส่งเสริมพัฒนาการเด็กในทุกๆด้าน

                ครูและเด็กเรียนรู้ไปด้วยกัน ในแนวคิดนี้คือ การจัดสิ่งแวดล้อมและให้โอกาสเด็กได้คิด ประดิษฐ์และค้นพบด้วยตนเอง การเรียนรู้ที่มีคุณค่าสำหรับเด็กจึงไม่ใช่การสอนจากครูที่เป็นการบอกเล่าโดยตรงแต่เป็นการจัดประสบการณ์ ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้การเรียนเป็นกุญแจที่สำคัญที่นำไปสู่การสอนวิธีใหม่โดยครูมีบทบาทเป็นผู้ประสานงาน ส่งเสริมการจัดสิ่งแวดล้อมให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สมบูรณ์

                ครูเรียนรู้จากผลงานของเด็ก ที่สะท้อนถึงศักยภาพ หรือขีดความสามารถของเด็กข้อมูลที่ครูเรียนรู้จากเด็กจะเป็นข้อมูลสำคัญที่นำไปสู่การจัดสิ่งแวดล้อม การจัดกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือปฎิบัติจริงเรียนรู้จากการเล่นในสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่ครูจัดการตลอดจนชวนให้เด็กสังเกตการทำงานของเส้นสาย เงา ชวนให้เด็กสังเกตจากของจริงและเปรียบเทียบวิเคราะห์กับงานที่เด็กสร้างสรรค์ให้เด็กทบทวน ย้อนดูงานสร้างสรรค์ของตนเองชวนเด็กเปลี่ยนตำแหน่งของการมองที่ได้รายละเอียดที่แตกต่างกันจากนั้นสนับสนุนให้เด็กนำเสนอการรับรู้นั้นด้วยงานปั้น งานวาด งานขีดเขียน งานระบายสี หรือ งานประดิษฐ์ (งานตัด  ปะ ฉีก แปะ) ซึงเป็นการสื่อสารที่เป็นรูปธรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กปฐมวัย

                ครูจะไม่ทำงานต้นฉบับให้เด็กลอกเลียนแบบ ยกตัวอย่างเช่น วาดรูปหรือปั้นม้า ซึ่งเป็นรูปแบบของครูให้เด็กลอกเลียนแบบแต่ครูสามารถแนะนำเทคนิคและครูชวนเด็กสังเกตวิธีการต่างๆ ครูจะอำนวยการให้ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามหลักพัฒนาการของเด็กในแต่ละวัยและแต่ละคนอย่างไม่มีการเร่งหรือกดดันให้เด็กปฏิบัติได้ตามที่ผู้ใหญ่ต้องการ

                เรกจิโอ เอมิเลีย จึงไม่ใช่หลักสูตรและวิธีการสอนวิธีการใดวิธีหนึ่งแต่เป็นรูปแบบของการจัดสิ่งแวดล้อม บรรยากาศและสถานการณ์ที่มุ่งกระตุ้นให้เด็กได้ค้นหาถึงสิ่งที่เด็กสนใจและมุ่งให้เด็กได้ศึกษาสัมผัสทดลองเพื่อค้นคว้าถึงรายละเอียดขององค์ประกอบในสิ่งที่เด็กสนใจ ความเข้าใจที่ชัดเจนต่อการจัดสิ่งแวดล้อมต่อการจัดสิ่งแวดล้อมที่จะดูแล อบรมเลี้ยงดู และการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสำหรับเด็กตั้งแต่ 2- 6 ปีของชีวิต ตามแนวคิดนี้ให้ความสำคัญตั้งแต่ การออกแบบอาคาร สถานที่ การจัดวางมุม และสื่อของการเรียนรู้ต่างๆ ที่เหมาะสมแก่การเรียนรู้การให้ความสำคัญแก่ครอบครัวและชุมชนในการมีบทบาทต่อการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็ก คุณภาพ และประสิทธิภาพตลอดจนสัดส่วนของครูต่อเด็กอย่างเหมาะสม

 

คำสำคัญ (Tags): #เรกจิโอ
หมายเลขบันทึก: 499272เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท