พยัญชนะสังโยค (อักษรเทวนาครี)


ในการเขียนอักษรเทวนาครี นอกจากต้องจำตัวพยัญชนะและสระแล้ว ยังจะต้องจำตัวสังโยค หรือตัวอักษรที่เชื่อมกัน ซึ่งจะไม่ใช้ตัวปกติ แต่มีรูปร่างพิเศษออกไป

ตัวอย่างเช่น ป เมื่อเขียนด้วยอักษรเทวนาครี ก็คือ प  แต่เมื่อ ป มีพยัญชนะอื่นตามมา มีวิธีเขียนสองอย่าง คือ

1. เขียน ป ครึ่งตัว ตัวที่ตามมาเขียนเต็ม  หรือ

2. เขียน ป เต็มตัว แต่ตัวที่ตามมาเขียนครึ่งตัว

ยกตัวอย่าง "อาปฺโนติ" ในที่นี้ ป ตามด้วย น จึงต้องเขียนแบบพิเศษ แต่เมื่อตามหลัง น ป จะเหลือครึ่งตัว ดังนี้ आप्नोति   มิใช่  आपनोति (คำนี้อ่านว่า อาปโนติ)

ดังนั้น เราจึงต้องจดจำว่า พยัญชนะแต่ละตัวเมื่อใช้แบบสังโยค จะเขียนแบบไหน โดยมีหลักดังนี้

1. พยัญชนะเมื่อตามด้วยพยัญชนะ พยัญชนะตัวหน้าจะเขียนครึ่งตัว นั่นคือ ไม่ขีดส่วนหลังขึ้นไปชิดเส้นข้างบน

2. แต่เมื่อตามด้วยพยัญชนะบางตัว (เช่น ร น) พยัญชนะข้างหน้าจะเขียนเต็ม แต่ตัวที่ตามมาจะเขียนครึ่ง หรือเขียนรูปพิเศษ

3. หากจำสังโยคไม่ได้ ใช้วิรามกำกับพยัญชนะที่ไม่มีสระก็ได้

4. พยัญชนะบางคู่ใช้รูปพิเศษ

ทั้งหมดนี้ ต้องจำครับ

 

Large_agga

อักษรสังโยค "งฺค" เขียนได้สองแบบ

ซ้ายมือ แบบปกติ ตัว งฺ อยู่บน ค อยู่ล่าง

ขวามือ เขียนแบบใช้วิรามใต้ ง

"งฺก" ก็แบบเดียวกัน...

คิดว่าแบบไหนสวยกว่า?

 

ในที่นี้จะกล่าวพอเป็นตัวอย่าง และตัวที่นอกเหนือจากกฎนะครับ

"ก" ปกติเป็น क แต่เมื่อใช้เป็นสังโยค จะเหลือแค่ส่วนด้านหน้า ไม่ลากต่อมาด้านหลัง เช่น

กฺว क्व กฺน क्न กฺย क्य

ตัวพิเศษ กฺต क्त  กฺษ क्ष

"ง" และ "ท" เมื่อมีพยัญชนะอื่นตามมา พยัญชนะอื่นจะลงไปอยู่ข้างล่าง แต่บางฟอนต์ใช้วิธีเขียนวิรามใช้ตัว ง  เช่น องฺก अङ्क

แต่ ท มีตัวพิเศษ เมื่อตามด้วย ท, ธ, ภ เป็นต้น เช่น

          ทฺท  द्द, ทฺธ द्ध, ทฺภ द्ध (เขียน ท เต็มตัว แล้วเขียน ธ หรือ ภ ครึ่งตัวแอบข้างหน้า)

"น" เมื่อตามพยัญชนะอื่น พยัญชนะอื่นจะคงรูปเดิม แต่ น จะเหลือครึ่งตัว เช่น รตฺน = रत्न   มิใช่ रतन (รตน)

 

"ม" และ "ย" เมื่อตามหลังพยัญชนะอื่น จะเขียนจากปลายด้านซ้ายเชื่อมต่อจากพยัญชนะที่อยู่ข้างหน้า

"ศ" จะเปลี่ยนรูปเมื่ออยู่หน้าพยัญชนะอื่น ส่วนพยัญชนะที่ตามมาก็เขียนครึ่งตัวตามหลักทั่วไป เช่น ศฺล श्ल, ศฺน श्न

"ร" เมื่อตามหลังพยัญชนะอื่น พยัญชนะตัวหน้าจะเขียนปกติ แต่ ร จะเขียนเป็นเส้นเอียงๆ ด้านล่างของพยัญชนะนั้นๆ เช่น  กฺร क्र, ปฺร प्र, มฺร म्र, สฺร स्र, ศฺร श्र

ร เมื่ออยู่หลังพยัญชนะบางตัว จะกลายเป็นเส้นหยักด้านล่าง เช่น ฏฺฺร ट्र, ฐฺร ठ्र ,ฑฺร ड्र, ฒฺีร ढ्र, งฺร ङ्र , ฉฺร छ्र

ร เมื่ออยู่หน้าพยัญชนะอื่น จะเขียนบนด้านบนของพยัญชนะที่ตามมา เป็นเส้นโค้งเล็กๆ เรียกว่า เรผะ ดังนี้  มารฺค मार्ग, สรฺค सर्ग, หรฺษ हर्ष

 

"ห" เมื่อนำหน้าพยัญชนะอื่น ห จะเขียนเต็ม แต่ตัวอื่นที่ตามมาจะเขียนครึ่งตัวใต้ตัว ห

          หฺน ह्न (น แอบอยู่ใต้ ห), หฺว ह्व

     ตัวพิเศษอีกตัวที่พบบ่อย ชฺญ ใช้  ज्ञ เช่น อาชฺญา = आज्ञा


          สำหรับพยัญชนะสังโยคสามตัว สี่ตัว ห้าตัว ก็มี (แต่น้อยมาก) ก็ใช้หลักเดียวกัน เช่น ตฺตฺว त्त्व, ศฺจฺย श्च्य, ษฺฏฺรฺย ष्ट्र्य, ถ้ามองไม่ชัดก็ขยายเอานะครับ

 

File:JanaSanskritSans ddhrya.svg

"ทฺธฺรฺย" เขียนแบบปกติ ในคอมพิวเตอร์อาจเขียน द्ध्र्य ก็ได้เหมือนกัน

 

           หากต้องการดูพยัญชนะสังโยคมากกว่านี้ ลองเปิดดูที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Devanagari#Biconsonantal_conjuncts ซึ่งมีด้วยกันหลายคู่ แต่ในการใช้งานจริงยังมีมากกว่านี้ครับ ;)

                   

 

หมายเลขบันทึก: 499022เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2012 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2012 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (40)

โห เป็นพระกรุณาธิคุณอย่างยิ่งคะอาจารย์ ขอบพระคุณมากๆอีกครั้ง.. อิอิ

สวัสดีคะอาจารย์หมู ขอเรียนถามเช่นเคยคะ เจ้าประจำ อิอิ

ऐश्वर्यं - ไอศฺวรฺยํ เขียนแบบนี้ถูกไหมคะ ?

ร เมื่ออยู่หลังพยัญชนะบางตัว จะกลายเป็นเส้นหยักด้านล่าง เช่น ฏฺฺร ट्र, ฐฺร ठ्र ,ฑฺร ड्र, ฒฺีร ढ्र, งฺร ङ्र , ฉฺร छ्र

..พยัญชนะ(บางตัว)ที่อยู่หลังตัว -ร ในข้อนี้หมายถึงพยัญชนะที่อยู่ในวรรค ฎะ (ใหญ่) หรือเปล่าคะ เกี่ยวกันไหมเอ่ย ?

ขอบพระคุณคะ

อาจารย์คะ ตัว -ร แบบในรูปนี้ใส่สระอุอูเข้าไป ทำไมถึงใส่ไม่เหมือนตัวอื่นคะ ขอบคุณคะ

อาจารย์คะ ในรูปนี้ก็ถือเป็นพยัญชนะสังโยคหมดเหรอคะ เห็นมีเขียนขี่กันหลายชั้นเหลือเกิน

สวัสดีครับ

1. ऐश्वर्यं - ไอศฺวรฺยํ ถูกแล้วครับ

2. พยัญชนะบางตัว ก็มีในวรรค ฏ ด้วย มี ง, ฉ, ล และ ฬ ด้วยครับ ที่เขียน ร แบบนั้น

3. ร ใส่ อุอู แล้วต้องขยับนิดหนึ่ง ไม่งั้นจะดูไม่ออกครับ ;)

4. สังโยคหมดครับ สังเกตว่า แต่ละตัวไม่มีสระประสมเลย (เว้นแต่ตัวท้าย มีสระอะ หรือ a)

 

อาจารย์คะ หนูไม่เข้าใจสองคำคะ คำแรกในข้อที่ 8 ธฤตราษฺฎฺร รู้สึก ตัว ษฺฎฺร ซ้อนกันหลายชั้นมาก งง

อีกสักข้อคะ ข้อ 4

พฺรหฺมา งงตรง หฺมา ทำไมในนี้เขียนแบบนี้อะคะ

ขอบพระคุณคะ

  1. ธฺฤตราษฺฏฺร, धृतराष्ट्र, dhṛtarāṣṭra

ตัวที่สังโยคคือ ษ ไม่มีสระ เขียนครึ่งตัว, ฏ ก็ไม่มีสระ เขียนเฉพาะส่วนล่างไปห้อยกับ ษฺ, ส่วน ร เป็นตัวปกติ มีสระอะตามมา แต่ตามกฎว่า ถ้า ร ตามหลัง ฏ (ฏ ชนิดไม่มีสระ) ร จะเหลือแค่เส้นงอๆ ตามนั้นครับ

เจอ ร แบบงอๆ อย่้างนี้จำไว้เลยว่า ข้างหน้าไม่มีสระ แต่ตัว ร มีสระ (แล้วแต่ว่าประสมสระอะไร)

  1. พฺรหฺมา, ब्रह्मा, brahmā

คำนี้ หฺ ไม่มีสระ, ตามกฎครับ ห ที่ไม่มีสระ ให้เขียนเต็มตัว แต่จะบังคับให้ตัวที่ตามมาเหลือครึ่งตัว ตลกดีเหมือนกัน

แสดงว่าอ่านได้แล้วใช่ไหมครับ...

พออ่านได้สัก 80% แล้วคะ ส่วนใหญ่ก็จะติดพยัญชนะสังโยคพวกตัวแปลกๆที่ไม่ค่อยได้พบเห็น อย่างไรก็ขอบพระคุณอาจารย์มากๆนะค่ะ ถ้าไม่ได้อาจารย์ก็ไม่รู้จะไปถามใคร เพราะทุกวันนี้ก็ลองอ่านและฝึกเอาเอง ทำแบบฝึกหัดอะไรนิดหน่อย คงจะต้องมากวนมาถามอาจารย์เรื่อยๆคะ เกรงใจจัง อิอิ

ขออนุญาติถามต่อสองคำคะ สงสัยเรื่องตัว - ห हाथ्य - หาถฺย

वज्रधारि - วชฺรธาริ สองำคนี้เขียนถูกไหมคะ

หาถฺย และ วชฺรธาริ ถูกแล้วครับ

อย่าลืมหัดเขียนด้วยมือบ่อยๆ นะครับ

วันนี้มาขอรบกวนอาจารย์ช่วยแปลบทสวดมนต์สักสองสามบทหน่อย หนูอยากได้ภาษาสวยๆ รบกวนหน่อยนะคะ ของพระคเณศ

मूषिकवाहन् मोदकहस्त चामरकर्ण विलम्बित सूत्र ।

वामनरूप महेश्वरपुत्र विघ्नविनायक पाद नमस्ते ॥

"Oh God who has the mouse as his vehicle, and the sweet modhaka (rice ball) in your hand, whose ears are wide like fans, wearing the sacred thread. Oh son of Lord Shiva who is of short stature and who removes all obstacles, Lord Vinayaka, I bow at your feet."

กับอีกบทเป็นของพระกาลี หนูพยายามหาคำแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วไม่เจอ เจอแต่แปลจากสันสกฤตเป็นฮินดีคะ เอิ้กๆ ขอสามวรรคพอ ...

भुजे वामयुग्मे शिरोsसिं दधाना वरं दक्षयुग्मेsभयं वै तथैव । सुमध्याsपि तुङ्गस्तनाभारनम्रा लसद् रक्तसृक्कद्वया सुस्मितास्या ॥२॥

शवद्वन्द्वकर्णावतंसा सुकेशी लसत्प्रेतपाणिं प्रयुक्तैककाञ्ची । शवाकारमञ्चाधिरूढा शिवाभि-श्चर्दिक्षुशब्दायमानाsभिरेजे ॥३॥

विरञ्च्यादिदेवास्त्रयस्ते गुणांस्त्रीन् समाराध्य कालीं प्रधाना बभूवु: । अनादिं सुरादिं मखादिं भवादिं स्वरूपं त्वदीयं न विन्दन्ति देवा: ॥४॥

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆคะ

ส่วนบทนี้ของพระคเณศของสองวรรคแรกพอคะ หนูอยากรู้ความหมายมาก เกรงใจอาจารย์จริงๆ ไว้อาจารย์ว่างๆค่อยมาทำให้ก็ได้คะ..

อันที่สองนี้เจอคำแปลภาษาอังกฤษแล้วคะ อิอิ ..

I praise the leader of the Gana of Rudra, Who is the son of Ishan (Shiv), Who appears pleasing with the sounds of joyful swinging small bells across His body, Whose lotus-feet is trembling to the dance of Tandav in rebellious ways, and Who has a snake-garland shining over His belly.||1||

I praise the leader of the Gana of Rudra, Who is the son of Ishan (Shiv), Whose face is resplendent hearing the sounds coming out from the strings of veena (music instrument), Who has a resplendent trunk-stem and temple, Who has a shiny flow of juice from the trunk-temple, and Who has a trickling garland of fragrant flowers with bumble-bees hovering around.||2||

แย่แล้วๆ พระคเณศช่วยลูกช้างด้วย...

 

मूषिकवाहन्(1) मोदकहस्त(2) चामरकर्ण(3) विलम्बित सूत्र(4) ।

ข้าแต่พระผู้มีหนูเป็นพาหนะ(1) ผู้ถือขนมโมทกะ(2)

ผู้มีพระกรรณคือแส้จามร(3) ผู้มีสายสูตรอันคล้องแล้ว(4)

 

वामनरूप(1) महेश्वरपुत्र(2) विघ्नविनायक(3) पाद(4) नमस्ते(5)-(6) ॥

ข้าแต่บุตรแ่ห่งพระมเหศวร(2) ผู้มีพระวรกายเตี้ย(1) ผู้ทำลายอุปสรรคทั้งปวง(3)

ความนอบน้อมจงมี (5) แทบพระบาท (4) แห่งพระองค์ (6).

 

แค่นี้ก่อนครับ ... ;)

คิดว่า ถ้าแปลตามความหมายข้างบน ควรเขียน पादनमस्ते (คือ पाद ติดกับ नमस्ते)

ถ้าแยกกัน पाद ตรงนั้น แปลว่า "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า" ก็ได้

पाद ในที่นี้คงเป็นกรรมไม่ได้ อีกอย่าง ควรจะใช้ทวิพจน์ (ซึ่งในที่นี้ก็ไม่ใช่)

ค้นดูแล้ว เขียนแยกกันหมด, ก็น่าจะแปลเป็นการกที่ 8 เหมือนวรรคอื่นๆ (ข้าแต่...)

นั่งดูตามไปด้วยได้ศัพท์เยอะแยะเลยคะ อิอิ

สวัสดีตอนเย็นคะ รอบนี้มาขอคำแนะนำจากอาจารย์เพิ่มเติมสักนิดหน่อย

  1. นอกจากหนังสือแบบเรียนสันสกฤตของอาจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล แล้ว ยังมีแบบเรียนสันสกฤตเล่มไหนที่เป็นภาษาไทยอีกไหมคะ ถ้ามีรบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำหน่อยคะ

2.อาจารย์คิดว่าการศึกษาไวยากรณ์สันสกฤตด้วยตนเองเป็นสิ่งที่พึงทำได้ไหมคะ จะรู้เรื่องไหม คือหาอ่านจากทั้งตำราไทยและเทศ จากนั้นก็ฝึกทำแบบฝึกหัด ทำความเข้าใจเอง แต่ปัญหาหนูว่ามาอ่านเอาเองแลดูไม่ค่อยเป็นระบบเท่าไหร่ ดูสะเปะสะปะยังไงไม่รู้คะ

  1. เคยเห็นอาจารย์พูดถึงหนังสือหัดอ่านที่่ช่วยทบทวนบทเรียน ไวยากรณ์ ทบทวนความจำ และแบบอธิบายไวยากรณ์พร้อมศัพทานุกรม ข้อนี้เราสามารถหาฝึกอ่านได้ทั่วไปในสิ่งที่เราสนใจ หรือมีหนังสือที่ฝึกอ่านพวกนี้โดยเฉพาะอะคะ

ช่วงนี้หนูมีเวลาว่าง อยากจริงจังกับไวยากรณ์เริ่มจากพวกคำนาม กริยา คำสรรพนาม แล้วก็เท้นส์ แต่เริ่มไม่ค่อยจะถูกคะ

ขอบพระคุณอาจารย์ที่เมตตามาโดยตลอด อิอิ ^_^

สวัสดีค่ะ เป็นความรู้ใหม่ค่ะ อาจารย์บันทึกไว้แบบนี้ ต่อไปจะเป็นหลักฐานสำคัญเชียวค่ะ ขอบพระคุณนะคะ

สวัสดีครับ พี่Blank ตันติราพันธ์

ขอบคุณมากครับ จะพยายามเขียนไปเรื่อยๆ ครับ

สวัสดีครับ คุณ Blank คุณ ศรี บรมอีศวรี

ผมดูๆ แล้ว หนังสือที่อ่านง่าย จะมีเนื้อหาน้อยมาก

เล่มที่เหมาะที่สุดที่ผมอยากแนะนำ ก็ึืคือ

A Sanskrit Primerของ E.D. Perry ครับ

https://ia600301.us.archive.org/6/items/asanskritprimer02bhgoog/asanskritprimer02bhgoog.pdf

เล่มนี้มีประมาณ 50 บท ถ้าเรียนจริงๆ ครั้งละครึ่งบท (มีแบบฝึกหัดด้วย)

ก็ใช้เวลาเรียน 100 ครั้ง (ครั้งละ 1-2 ชม) ภายใน 1 ปีก็เก่ง

 

ผมจะลองเขียนบทเรียนสำหรับ 10 บทแรกดีไหมครับ

หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อจากหนังสือ...

ขอบพระคุณอาจารย์มากจริงๆคะ ถ้าอาจารย์จะกรุณาเขียนเป็นบทเรียนให้ ส่วนแบบฝึกหัดหนูอาจหาทำเอาเองในเวปภาษาอังกฤษ ไม่รู้จะพูดอย่างไรเลย ..อิอิ

สวัสดีคะอาจารย์ คำนี้เราจะแปลเป็นไทยว่าอะไรดีคะ चञ्चलता = ภาวะความไม่แน่นอนได้ไหม ขอบคุณคะ

จญฺจลตา ไม่ทราบครับ

จลตา แปลว่า ความปั่นป่วน ความหวั่นไหว ความไม่แน่นอน ก็น่าจะได้ครับ

ไม่ทราบว่า จญฺ มาจากไหน ;)

หนูก็ งงๆ อยู่เหมือนกัน หนูเอามาจากอันนี้คะ อาจารย์ลองอ่านดู

Deer:His holding deer on one hand indicates that He has removed the Chanchalata of the mind (i.e., attained maturity and firmness in thought process). Deer jumps from one place to another swiftly, similar to the mind moving from one thought to another.

สงสัยจะมาจากโศลกอะไรสักแห่ง

ถ้ามีสันสกฤตเป็นวลี จะแกะง่ายขึ้นครับ

หนูมีอีกสักเรื่องที่อยากจะรบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำหน่อยคะ คือเริ่มอยากจะจดคำศัพท์เอาไว้ในสมุด ไว้ท่อง และจะได้เขียนไปด้วย หนูควรจะจดยังไงคะ คล้ายกับภาษาอังกฤษไหม เป็นคำนาม กริยา แล้วก็แยกเพศ ขออาจารย์ได้โปรดแนะนำด้วยนะคะ หนูไม่อยากเสียเวลาเปล่า ก็จะเริ่มจากศัพท์ง่ายๆคะ ตอนนี้ก็ฝึกดูคลิปสอนในยูทูปไปด้วย ขอบคุณคะ อิอิ ^_^

จดอย่างนี้ครับ

-นาม (ระบุเพศ) -ธาตุ (ระบุหมวด) -นิบาต, อุปสรรค และปัจจัย --- คือพวกที่ไม่เปลี่ยนรูป อันนี้ไว้พวกเดียวกันก็ได้

บทเรียนแรกจะมา ตอนดึกๆ ครับ

ขอบคุณคะ ขำตรงบทเรียนแรกๆจะมาตอนดึก ฮ่าๆ ^^ ต้องขอบคุณอาจารย์มากๆนะคะ จากใจจริงเลยที่กรุณาหนู ไม่รู้จะตอบแทนยังไงเลยคะ ถ้าอาจารย์มีอะไรที่หนูพอจะช่วยได้ก็บอกเลยนะคะ หนูยินดี

เจอแล้ว चञ्चल, ถ้า चञ्चलत ก็คือ จญฺจล+ต แบบนี้เลย แปลว่า ภาวะหรือความไม่นิ่ง

(แปลอย่างอื่นได้อีก)

गणेशभुजंगम्

रणत्क्षुद्रघण्टानिनादाभिरामं             चलत्ताण्डवोद्दण्डवत्पद्मतालम् ।

लसत्तुन्दिलाङ्गोपरिव्यालहारं            गणाधीशमीशानसूनुं तमीडे ॥ १ ॥

 

ध्वनिध्वंसवीणालयोल्लासिवक्त्रं       स्फुरच्छुण्डदण्डोल्लसद्बीजपूरम् ।

गलद्दर्पसौगन्ध्यलोलालिमालं            गणाधीशमीशानसूनुं तमीडे ॥ २ ॥

 

ข้าขอสรรเสริญ เจ้าแห่งคณะ (คณาธีศ) โอรสแห่งอีศาน,

ผู้งดงาม ด้วยเสียงกึกก้อง ด้วยกระดิ่งจิ๋วกรุ๋งกริ๋ง,

ผู้มีเท้าเสมือนดอกบัว เหมือนท่อนไม้ในการเต้นตาณฑวะ และแกว่งไกว,

พระคเณศ (ตุนฺทิล) ผู้สว่างไสว ผู้มีร่างกายพันด้วยงู (1)

 

ข้าขอสรรเสริญ เจ้าแห่งคณะ (คณาธีศ) โอรสแห่งอีศาน,

ผู้มีใบหน้าเปล่งปลั่งเมื่อได้ยินเสียงดังจากวีณา,

ผู้มีตระพองสั่น และงวงเหมือนท่อนมีน้ำมันไหลและแกว่งไกว,

ผู้มีผึ้งบินเป็นสายสั่นไหวเพราะความหอมของน้ำมันที่ไหลออกมา (2)

 

ศัพท์อื้อเลย อิๆ...

*ทั้งสองบท มีกริยาตัวเดียว คือ อีฑฺ, อีเฑ =  I praise (perfect tense)

นอกนั้นเป็น นามเอกพจน์ การกที่ 2. สมาสวรรคละ 1 คำ

*และงวงเหมือนท่อนไม้ มีน้ำมันไหลและแกว่งไกว,

โอ้ ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งคะ หนูคงจะเอาไว้สวด ขอพระเจ้าอวยพระพรอาจารย์นะคะ อิอิ

ขอบคุณครับ

เติมคำว่า "พระองค์นั้น" (ตํ) หลังจบแต่ละบทก็ได้นะ

ผมชื่อ เจษฎา อโนราช  ผมอยากได้ ตัวอักษร ภาษาสันสกฤต  มาเป็นรอยสักบนหน้าอกผม ผม ก็ได้ทำการค้นคว้า แปลง ชื่อและนามสกุล  เป็น ภาษาสันสกฤต ज्येष्ठ अनुराज् = jyeSTha anuraaj

 ผมรู้ความหมายของชื่อผม แต่ นามสกุลไม่ทราบความหมาย แต่ค้นคว้าเจอ คำใก้ลเคียงและมีความหมายที่ดี จะมาขอคำชี้แนะ อาจาร์ย ว่า ที่แปลมา ถูกต้อง รีปล่าว ก่อนที่จะไปสัก

เจษฎา ควรเขียน चेष्टा

อโนราช ควรเขียน अनोराज

นามสกุลน่าจะ หมายถึง เป็นเจ้าโดยกำเนิด (อนัส + ราช)

อยากทราบค่ะ ถ้าจะเขียนเป็นตัวอักษรเทวนาครีแต่พออ่านออกเสียงแล้วเป็นภาษาไทยได้

อย่างชื่อดิฉัน สุชาดา พวงทอง จะเขียนได้ว่าอยางไรคะ รบกวนแอ็ดมินด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท