นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์


ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จักโครงการ "30 บาท รักษาทุกโรค" แต่จะมีซักกี่คนที่รู้ว่าโครงการนี้ใครเป็นคนเสนอขึ้นมา??

นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์

หมอหงวน บิดาแห่งหลักประกันสุขภาพ


ประวัติ

  • นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2495 ท่านเป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด อาศัยในครอบครัวคนจีน
  • ท่านได้ศึกษาระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 
  • ท่านได้ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเลือกเรียนแพทย์เพราะความรู้สึกที่อยากจะประกอบอาชีพแพทย์ผสมกับค่านิยม ณ ขณะนั้น
  • ท่านเป็นผู้มีความสนใจในเรื่องของปัญหาสังคม เป็นผลมาจากการที่ชอบอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในสังคม เช่น หนังสือสังคมปริทัศน์ เป็นต้น ทำให้ท่านสามารถมองเห็นถึงความแตกต่างระหว่างสังคมในระดับต่างๆ มองเห็นถึงปัญหาชนชั้นภายในสังคม
  • ขณะที่ศึกษาอยู่ ท่านได้มีโอกาสออกค่ายก่อนเหตุการณ์14 ตุลาคม 2516 ทำให้ได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ เช่น พบกับครอบครัวที่ยากจนมีเงินไม่ถึง20บาทในชนบท เป็นต้น
  • ขณะที่ศึกษาอยู่  ท่านได้เป็นบรรณาธิการหนังสือ "มหิดลสาร" ของมหาวิทยาลัย
  • หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นพ.สงวนเข้าทำงานที่โรงพยาบาลวชิระ กรุงเทพมหานคร อยู่ 1 ปี
  • ได้เข้าทำงานเป็นแพทย์ชนบท ที่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อยู่ 5 ปี เป็นผลมาจากการตื่นตัวของนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีจิตสำนึกที่อยากจะช่วยสังคมมากขึ้น ทำให้ท่านเลือกที่จะทิ้งความสะดวกสบายเพื่อไปช่วยเหลือประชาชนในชนบท
  • ท่านเป็นผู้ผลักดันโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อความเท่าเทียมของประชาชนทุกคนในสังคม จากโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของนพ.สงวน เป็นสิ่งผลักดันให้เกิดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งได้ถูกรัฐบาลในสมัยนั้นนำไปใช้ และท่านได้เดินหน้าทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ให้ครอบคลุมโรคร้ายแรงให้มากที่สุด
  • ก่อนเสียชีวิตได้ตรวจพบว่าท่านเป็นโรคมะเร็งปอดในระยะที่ 4 ท่านมีอาการทรุดหนักด้วยอาการน้ำท่วมปอดและไตไม่ทำงานหนึ่งสัปดาห์ก่อนเสียชีวิตด้วยอายุ 55 ปี ( เสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551)


ประวัติด้านการศึกษา

  • พ.ศ. 2514 - 2520 แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2526 - 2527 สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งอันท์เวิร์ป (Institute of Tropical Medicine Antwerp) ประเทศเบลเยียม
  • พ.ศ. 2528 ประกาศนียบัตร เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข วิทยาลัยสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน (London School of Hygiene & Tropical Medicine) สหราชอาณาจักร
  • พ.ศ. 2532 หลักสูตรนักบริหารระดับสูง คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน       (ก.พ.)
  • พ.ศ. 2543 หลักสูตรนักบริหารระดับสูง การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้าฯ


 

ผลงานและเกียรติยศ

  • เป็นผู้ผลักดันให้เกิดโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า และทำให้เกิดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคตามมาในภายหลัง
  • เป็นนายแพทย์ที่มีผลงานดีเด่นในการบุกเบิกและผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
  • แพทย์ดีเด่นในชนบท คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2528
  • Fellow of Royal College of Physician (F.R.C.P) ราชวิทยาลัยแพทย์แห่งกรุงเอดินบะระ สหราชอาณาจักร พ.ศ. 2539
  • องค์ปาฐกในปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี พ.ศ. 2530
  • รางวัล "ทุนสมเด็จพระวันรัต" สำหรับแพทย์ผู้ทำประโยชน์ให้สังคม จากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2544
  • เรื่องราวของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ได้ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ในชื่อ หมอหงวน...แสงดาวแห่งศรัทธา
  • ได้รับการยกย่องจากบุคคลที่ท่านเคยร่วมทำงานด้วย เช่น นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นที่ 22 และ นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ(สวสส.) ว่านายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ นั้นถือได้ว่าเป็นรัฐบุรุษแห่งวงการสาธารณสุขไทย
 

คุณานุประการต่อระบบการแพทย์ของไทย

                จากการที่ได้ศึกษาประวัติและผลงานของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ทำให้เราได้มองเห็นถึงคุณานุประการของท่านที่มีต่อระบบการแพทย์ไทยอยู่หลายอย่างด้วยกัน

  •      ประการแรก ก็คือการผลักดันโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนทำให้เกิดเป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนจำนวนมากที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีถึงปานกลางได้ในยามที่ประชาชนกลุ่มนั้นเจ็บป่วย ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น ซึ่งข้าพเจ้ามองว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในการช่วยเหลือกลุ่มบุคคลเหล่านี้
  •      ประการที่ 2 คือท่านได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับแพทย์รุ่นหลัง ซึ่งสามารถนำหลักหรือแนวคิดในการดำรงชีวิตมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ตัวอย่างเช่น คุณธรรมในเรื่องของความเสียสละ สังเกตได้จากเมื่อท่านสำเร็จการศึกษาแล้ว ท่านยอมใช้ชีวิตเป็นแพทย์ในชนบทที่จังหวัดศรีสะเกษเป็นเวลา 5 ปี  คุณธรรมในเรื่องของการทุ่มเทให้กับการทำงาน โดยเมื่อท่านได้ไปทำงานที่โรงพยาบาลชนบทแล้ว ท่านก็ทุ่มเททำงาน ให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนในท้องถิ่นนั้น นอกจากนี้ยังมีคุณธรรมในเรื่องของการเป็นผู้มีความยุติธรรม เท่าเทียม สังเกตได้จากการริเริ่มโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพราะท่านเห็นถึงความไม่เท่าเทียมในการได้รับบริการทางการแพทย์ของประชาชนที่ต่างชนชั้นกัน เป็นต้น  ซึ่งสิ่งต่างๆที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่เราควรจะนำมาเป็นแบบอย่างทั้งการการประกอบอาชีพแพทย์ในอนาคต รวมไปถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งข้าพเจ้ามองว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากเพราะถ้าแพทย์ขาดคุณธรรใหรือแนวปฏิบัติในการดำรงชีวิตที่ดีแล้ว ย่อมทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพเป็นแพทย์ที่ดีได้
  •    ประการที่ 3 คือ ท่านได้เขียนหนังสือที่มีความเกี่ยวข้องกับทางการ
 
แพทย์อยู่หลายเล่ม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทางการแพทย์คือสามารถให้แพทย์รุ่นหลังมาศึกษาหาความรู้/ดูแนวทางในการปฏิบัติตนได้ หรืออาจให้ผู้ที่ป่วยอยู่สามารถมาอ่านเพื่อเป็นกำลังใจและรู้ถึงแนวทางปฏิบัติตนในการรักษาด้วย  ตัวอย่างเช่น หนังสือ “เปลี่ยนมะเร็งเป็นพลัง” เป็นต้น ซึ่งในความคิดเห็นของข้าพเจ้านั้น หนังสือเหล่านี้มีส่วนช่วยในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นทั้งการปฏิบัติตัวทั้งของผู้ป่วย และของแพทย์ให้ออกมาในรูปแบบที่ควรจะเป็น เป็นต้น
 
 

เพิ่มเติม : โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า

           

           ก่อนหน้าที่จะมีโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ประชาชนหลายคนยังอาศัยบัตรสงเคราะห์ หรือบัตรสุขภาพในการเข้ารักษา ซึ่งเกิดปัญหาการบริการที่ไม่เท่าเทียมกันในกลุ่มคนระดับต่างๆขึ้นมา ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วการได้รับการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนชาวไทยทุกคนสมควรจะได้รับ และประชาชนบางส่วนไม่กล้าที่จะไปโรงพยาบาลเนื่องจากกลัวว่าจะไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ ด้วยสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี่เองจึงเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เกิดโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นมา ซึ่งในระยะแรกที่เริ่มโครงการขึ้นมานั้น นายแพทย์สงวนและทีมงานได้เดินทางไปศึกษาเรื่องนี้ในหลายประเทศ ทำวิจัยและทดลองทำระบบหลักประกันสุขภาพในพื้นที่นำร่องบางจังหวัดของประเทศ ก่อนที่จะขับเคลื่อนเป็นนโยบายระดับชาติ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการเริ่มโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นไม่ใช่โครงการที่มีจุดเริ่มต้นอย่างลอยๆ แต่มีที่มาจากการวางแผนที่ดีและการมองเห็นถึงปัญหาในด้านการบริการทางการแพทย์ไทยของนายแพทย์สงวนนั่นเอง


 

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากบัตร 30 บาท

ได้รับบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เช่น

  • ตรวจรักษาทุกโรค
  • ผ่าตัดทุกโรค ทำคลอดรวมไม่เกิน 2 ครั้ง กรณีที่บุตรมีชีวิตอยู่ ทำหมัน ฉีดวัคซีนและเซรุ่มป้องกันโรคทั่วไป
  • อวัยวะเทียมหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการบำบัดโรค รวมทั้งค่าซ่อมแซม ยกเว้นอวัยวะเทียมหรืออุปกรณ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
  • การถอนฟัน การอุดฟัน การขูดหินปูน การทำฟันปลอมฐานพลาสติก การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม และการใส่เพดานเทียมในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่
  • ค่าห้อง และค่าอาหาร ประเภทผู้ป่วยสามัญ

 

ผู้มีสิทธิ 30 บาท

 

           ทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่อยู่ในจังหวัดสงขลา และเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายหรือระเบียบอื่นๆ ของรัฐอยู่ก่อนแล้ว

 

ผู้ที่มีสิทธิอื่นสามารถใช้สิทธิ 30 บาทได้หรือไม่

 

      ผู้มีสิทธิตามกฎหมายหรือระเบียบอื่นๆ ของรัฐอยู่ก่อนแล้วไม่ต้องขอใช้บริการโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคให้ใช้สิทธิเดิมที่มีอยู่ เช่น

 

  • ข้าราชการ พนักงานของรัฐ ลูกจ้างประจำของรัฐ
  • ลูกจ้างในโครงการประกันสังคม
  • ผู้มีบัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ผู้มีสิทธิตามโครงการรักษาพยาบาล ผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมช่วยเหลือเกื้อกูล (สปร.)

ผู้มีสิทธิตามระเบียบสวัสดิการประชาชนด้านรักษาพยาบาลอื่นๆ เช่น พระ ผู้นำศาสนา ทหารผ่านศึก และผู้นำขุมชน เป็นต้น ยังสามารถได้รับสิทธิฟรีเช่นเดิม




>>>>อ่านเพิ่มเติม<<<<

http://th.wikipedia.org/wiki/สงวน_นิตยารัมภ์พงศ์

http://kmddc.go.th/blogitem.aspx?itemid=4344



หมายเลขบันทึก: 498802เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2012 00:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2012 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท