ชีวิตที่พอเพียง: ๑๖๒๓. บันทึกตามัว (๗) วันที่ ๒ ในโรงพยาบาล ตัดสินใจรับการผ่าตัด


 


          วันอังคารที่ ๑๗ ก.ค. ๕๕วันที่ ๑๔ ของอาการ และวันที่ ๒ ในโรงพยาบาล“เลขา” ลูกสาวคนที่ ๒ มาเข้าเวร    แต่เวลาประมาณ ๗ น. แต้ว ลูกสาวคนโตก็มาเยี่ยม พร้อมกับของเยี่ยมคือน้ำเต้าหู้กับปาท่องโก๋    แต้วเป็นหมอฟันและมีเพื่อนสนิทเป็นหมอฟันที่โรงพยาบาลศิริราช    ได้รับคำแนะนำว่าปาท่องโก๋เจ้านี้อร่อย   ผมกินชิ้นเดียว เพราะเลี่ยงของที่มีน้ำมันมาก   ยิ่งนอนพักนิ่งๆ อย่างนี้ยิ่งต้องจำกัดอาหาร

 

          ผมฟังปาฐกถาธรรมชุด ธรรมะกับการศึกษา ของพระธรรมคุณาภรณ์ ชุดนี้ ด้วยความชุ่มชื่นหัวใจ และประเทืองปัญญา

 

          วันนี้พยาบาลเอาป้ายชื่อผู้ป่วยมาสวมข้อมือให้    มีรายละเอียดดังนี้ นายวิจารณ์ พานิช   HN 40-182968  AN 55-044914  ฉก. 5   ป้ายนี้เป็นแผ่นปลาสติกสีขาวบางๆ

 

          เวลา ๘.๓๐ น. อ. หมอโสมนัส ถุงสุวรรณมาตรวจตา โดยขนกระเป๋าเครื่องตรวจที่มีไฟติดหน้าผาก  และมือถือแว่นขยายส่องตา มาด้วย    และบอกว่าคงเดิม   ท่านอธิบายว่าสาเหตุของเลือดออกของผมเกิดจากวุ้นตาของผมมันแก่   มันเกิดการหดตัวตามธรรมชาติ หลุดออกจากสัมผัสกับจอตา    การหดตัวนี้คงจะดึงเอาเส้นเลือดเล็กๆ ให้ขาด เลือดจึงออก   โดยทั่วไปเลือดมักไม่ออกมากอย่างกรณีของผม   เมื่อผมมีเลือดออกในวุ้นตามาก จึงสงสัยว่าเส้นเลือดที่ฉีกคงจะเส้นใหญ่หน่อย   แต่ตอนนี้หยุดแล้วแต่ถ้าสะเทือนมากๆ วุ้นตามันเคลื่อนและดึงให้เส้นเลือดขาดอีก ก็จะยุ่ง

 

          อ. หมอโสมนัส ได้เขียนเรื่องวุ้นตาเสื่อมไว้ ที่นี่

 

          หมอต้องการให้เลือดในวุ้นตาจางไปจนตรวจจอตาได้   (ซึ่งกรณีของผมคงจะใช้เวลานาน   เพราะเลือดออกมากเป็นพิเศษ)  แล้วเข้าไปสำรวจให้ชัดเจนว่าเลือดออกตรงไหน เพราะอะไร จะต้องแก้ไข (เช่นยิงเลเซอร์) อย่างไร  

 

          ทางเลือกของการรักษาจึงมี ๒ ทาง คือ (๑) ทางอดทน รอไปเรื่อยๆ  จนตรวจจอตาได้  กับ (๒) หาทางลัดขั้นตอน โดยการฝ่าตัด ก็จะเห็นชัดในทันที   แต่ก็เสี่ยงเกิดรื่องแทรกซ้อน    ในตอนนี้เราเลือกทางที่ ๑ ไปก่อน    ผมดีใจที่หมอบอกว่า พิมพ์บันทึกด้วยคอมพิวเตอร์อย่างที่ผมทำอยู่นี้ได้   ไม่มีข้อห้าม   และบอกว่าไปประชุมก็ได้ ที่ต้องระวังคือการสะเทือน หรือเคลื่อนไหวศีรษะเร็วๆ 

 

          แต่เมื่อ อ. วิมมาเยี่ยมในเวลาต่อมาของเช้าวันนี้   ก็บอกว่าผมไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์    เป็นธรรมดาที่หมอต่างคนให้ความเห็นต่างกัน    คนที่แนะนำละเอียดที่สุดคือ อ. หมอจักรพงศ์   ท่านบอกว่าไม่ต้องการให้กลอกตาบ่อยๆ    จึงมีฝรั่งทำที่ปิดตาเจาะรูเล็กๆ ตรงกลางให้ดูผ่านรูเท่านั้น จึงไม่กลอกตา    ใช้วิธีหันคอแทน แต่เราไม่เคร่งครัดขนาดนั้น จึงไม่ได้ทำ    ผมนึกในใจว่า ถ้าทำให้ผม แล้วอนุญาตให้ใช้คอมพิวเตอร์ จะดีกว่ามาก

 

          เมื่อสายขึ้นไปอีก อ. หมอจุฑาไล มาเยี่ยมและคุยหารือแผนการรักษาอย่างเป็นงานเป็นการ   ซึ่งเข้าใจว่าหลังจากหารือกันในทีมหมอตา ๔ คน ที่ร่วมกันดูแลผม    ท่านบอกว่า เข้าใจว่าจะมีรอยแผลที่จอตาของผม    ซึ่งควรได้รับการรักษา    เมื่อฟังจากภารกิจที่มีมากของผม การรอไปนานๆ ก็ไม่เหมาะ   การผ่าตัดจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า    แต่การผ่าตัด แม้จะช่วยให้หายเร็ว กลับมาใช้ตาตามปกติได้ในเวลาสัปดาห์เศษๆ    แต่ก็มีข้อเสีย ๒ ข้อ คือ (๑) เกิดต้อกระจกตามมา โดยมีโอกาสเป็นสูงมาก    แต่ก็แก้ไขไม่ยาก  (๒) เกิดเรื่องแทรกซ้อนอย่างอื่น ซึ่งมีน้อยมาก แต่ก็เป็นเรื่องสุดวิสัย     ผมบอกทันทีว่าผ่า    ท่านตกใจมาก ว่าผมตัดสินใจเลยหรือ ผมบอกว่าฟังแล้วสมควรผ่า   ผมเป็นคนตัดสินใจเร็วอย่างนี้เอง

 

          ท่านถามต่อไปว่า ถ้าผ่าตัดจะใช้ยาชาเฉพาะที่หรือดมยาสลบ   ผมบอกว่าขอรอปรึกษาผู้เชี่ยวชาญประจำตัวคือสาวน้อย เพราะเธอเป็นวิสัญญีแพทย์   แต่ผมอยากดมยาสลบมากกว่า   เพราะเวลาผ่า ๑ - ๒ ชั่วโมงถือว่านานสำหรับอยู่นิ่งๆ    ซึ่งเมื่อสาวน้อยโทรศัพท์มาถามข่าวคราว และผมเล่าให้ฟัง    เธอก็เห็นด้วยว่าควรผ่าตัด และใช้ยาสลบ

 

          นอกจากฟังปาฐกถาธรรม ด้วย iPad แล้ว    ผมฟัง audio book เรื่อง The Sign of the Four   และเรื่อง The Autobiography of Charles Darwin ด้วย iPhone

 

          วันนี้หมอคนสุดท้ายที่มาเยี่ยมเวลาเกือบ ๑๘ น. คือ อ. วิม    มาคุยเตรียมการณ์เรื่องการผ่าตัด    จะเห็นว่าผมได้รับความเอาใจใส่ดูแลอย่างละเอียดลออมาก

 

          ที่จริงที่หน้าห้องติดป้ายงดเยี่ยม    แต่ รศ. ดร. อังคณา ฉายประเสริฐ จากภาควิชาจุลชีววิทยา ศิริราช    มาขอเยี่ยม    หัวหน้าพยาบาลมาถามเองว่าจะให้เยี่ยมไหม   ผมบอกว่าเข้ามาเถิด อ. ดร. อังคณา มีงานจะคุยด้วย   คือเรื่องงานแถลงข่าวประกาศผู้ได้รับพระราชทานทุนเยาวชน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในวันที่ ๒๙    ซึ่งเป็นช่วงที่ผมลาป่วย    ท่านกรุณาเอากระเช้าผลไม้มาเยี่ยมด้วย

 

          ตอนเย็น IHPP กับ HITAP ร่วมกันเอากระเช้าดอกไม้และผลไม้มาเยี่ยม โดยเอามาฝากพยาบาลไว้

 

          คืนวันนี้ผมเรียนรู้วิธีนอนไม่ให้เมื่อยคอแล้ว    คือต้องคอยขยับตัวให้ขึ้นสูง    ให้ก้นอยู่ตรงแอ่งหรือรอยหักมุมของส่วนหัวเตียงพอดี   ไม่ปล่อยให้ตัวค่อยๆ เลื่อนตกลงมาปลายเตียง    เพราะจะทำให้คอมาอยู่ตรงมุมเตียงที่ยกศีรษะสูง ทำให้เมื่อยคอ 

 

          นอกจากนั้น ต้องช่วยขยับตัวควบคุมอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ จนนอนสบายไม่หนาวอย่างคืนก่อนซึ่งปรับไว้ที่ ๒๖ องศา    ผมให้เขาดูว่าอุณหภูมิเท่าไร   พบว่า ๒๘ องศา     ซึ่งแปลกมา ตอนกลางวันเขาปรับไว้ที่ ๒๗ ผมร้อนขึ้นมาทันที    แสดงว่าเครื่องควบคุมอุณหภูมิของห้องไม่ไวพอ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ก.ค. ๕๕

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 498680เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2012 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2012 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอให้อาจารย์หมอหายไว ๆ นะครับ ;)...

  • อยากให้พักผ่อนมากๆครับ
  • ขอให้หายไวๆนะครับ

สุขภาพแข็งแรงในเร็ววันนะคะอาจารย์

..ขอให้สุขภาพดี..(ยายธี)

ป้ายชื่อสวมข้อมือ.. เป็นตัวช่วยในการ Identified คนไข้

การรักษาพยาบาล.. เป็นศาสตร์และศิลป์ จึงมีความแตกต่างด้านการตรวจรักษา

อาจารย์โชคดีมากๆค่ะที่ได้รับแนะนำจากผู้มีประสบการณ์หลายท่าน ทำให้มีข้อมูลในการตัดสินใจ

ขอให้สุขภาพตาแข็งแรงโดยเร็วนะคะอาจารย์

ชอบวิธีการคิดแบบมีสติอยู่ตลอดเวลาตามที่อาจารย์บันทึกไว้นี่จังค่ะ เหมือนเราคนอ่านเข้าไปนั่งในสมองของอาจารย์ตลอดเวลาที่อาจารย์เล่าให้ฟัง ขอบพระคุณอาจารย์ที่สอนด้วยการกระทำค่ะ เชื่อว่าอาจารย์จะหายดีในเร็ววันค่ะ เพราะอ่านแล้วรู้สึกว่า willing ที่จะหายของอาจารย์แรงกล้ามาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท