ชีวิตที่พอเพียง: ๑๖๒๒. บันทึกตามัว (๖) เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลครั้งแรกในชีวิต


 


          วันจันทร์ที่ ๑๖ ก.ค. ๕๕ วันที่ ๑๒ ของอาการตามัว    เป็นวันแรกที่ผมเข้าอยู่โรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วย และเป็นการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลครั้งแรกในชีวิต    รวมทั้งเคยนั่งรถเข็นคนไข้เป็นครั้งแรกในชีวิตด้วย

 

          ที่จริงตอนเด็กๆ อายุแถวๆ ๑๐ ขวบ ผมป่วยรุนแรงในระดับที่ในปัจจุบันจะต้องเข้าโรงพยาบาล    แต่ในสมัยโน้น ช่วง พ.ศ. ๒๔๙๐ เศษๆ แทบไม่มีโรงพยาบาลในต่างจังหวัด    ที่ชุมพรไม่มีเลย มีแต่สุขศาลา อยู่ที่ตัวเมือง ซึ่งอยู่ห่างบ้านผม ๖ ก.ม.    ผมจึงไม่มีโอกาสเข้าโรงพยาบาล    นอนรักษาตัวที่บ้าน โดยแม่เป็นผู้ดูแล และให้ยากิน

 

          โรคที่เป็น ก็เป็นโรคยอดแพร่หลายในบ้านนอกในขณะนั้น คือไข้จับสั่น   ที่บ้านผมมียาแก้ไข้ประจำบ้าน ๒ ชนิด   คือแอสไพริน กับควินีน    แม่จะเป็นผู้วินิจฉัยอาการและตรวจร่างกาย   แล้วตัดสินใจให้ยา    โดยมีวิธีตัดสินใจง่ายๆ คือ ถ้าอาการไข้ไม่รุนแรง    อาการน่าจะเป็นหวัด ก็ให้กินแอสไพริน    ถ้าไข้หลายวัน และสั่นด้วย ก็ให้กินควินีน ซึ่งผมไม่ชอบเลย เพราะมันขมมาก ต้องรีบกลืน    ตอนเราเป็นเด็กเรากลืนยาไม่เก่ง มันขมติดลิ้นอยู่นาน   เด็กๆ ลิ้นรับรสเก่ง จึงรู้สึกขมมาก

 

          ผมจึงเป็นเด็กเดนตาย จากการเป็นโรคมาลาเรีย ซึ่งคงจะเป็นนับสิบครั้ง รวมทั้งจากโรคบาดทะยัก   เพราะผมเป็นเด็กซุ่มซ่าม และสมัยนั้นที่บ้านนอกเราเดินเท้าเปล่ากัน หรือมิฉนั้นก็สวมเกี๊ยะไม้ทำเอง   คือเอาไม้กระดานมาเลื่อยตัดให้ได้ขนาดเท้า    เลื่อยและใช้สิ่วแซะเอาไม้ด้านล่างตรงฝ่าเท้าออก เหลือตรงส่วนส้นเท้าและปลายเท้า เพื่อลดน้ำหนักเกี๊ยะ    แล้วตัดเอายางในรถยนต์เก่าๆมาติดเข้าโดยตอกตะปู เป็นหูรองเท้าสำหรับสอดเท้าเข้าไป  

 

          แต่การใส่เกี๊ยะ (สมัยเด็กๆ คนบ้านผมไม่มีคำว่า “สวม” มีแต่คำว่า “ใส่”   เราใส่เสื้อ ใส่รองเท้า ใส่กางเกง ใส่หมวก ไม่ใช่สวม) ไม่สะดวกต่อการเดินให้เร็ว หรือวิ่ง หรือเดินในดินเหลว    ตามปกติเราจึงเดิน “ตีนเปล่า” (คนบ้านนอกใช้คำว่าตีนโดยไม่ถือว่าไม่สุภาพ)    และผมโดนตะปูตำเท้าอย่างรุนแรงหลายครั้ง   ตะปูที่ตำก็เก่ามีสนิม   และสมัยนั้นไม่มียาปฏิชีวนะ   ผมรอดมาได้โดยปู่หรือแม่เป็นคนจัดการรักษา    โดยเอาหัวไพล เกลือ และข้าวสุกมาตำเข้าด้วยกันไพลและ พอกที่แผล หลังจากใส่ “ทิงเจอร์” (ทิงเจอร์ไอโอดีน) ที่แสนจะแสบ แล้วเอาเศษผ้าเก่าๆ แต่สะอาดผูก   รุ่งขึ้นก็เปลี่ยน “ยา” ใหม่   “ยา” ในที่นี้คือเกลือที่อยู่กับข้าวสุก    เปลี่ยนครั้งแรกๆ มีหนองมาก แล้วค่อยๆ ลดลงเมื่อใกล้หาย ซึ่งใช้เวลาหลายวัน เกือบอาทิตย์ 

 

          กลับมาที่ศิริราช เช้าวันที่ ๑๖ ก.ค. ๕๕   เมื่อผมไปวัดสายตาที่ห้องตรวจชั้นล่างของตึกสยามินทร์ ก็ชัดเจนว่าตาขวามัวลงอย่างมาก   วันนี้ก่อนตรวจตามีการหยอดสีด้วย   โดย อ. วิม (ศ. พญ. วณิชา ชื่นกองแก้ว) ตรวจก่อน ด้วย lamp ที่คาดอยู่กับหน้าผาก   และใช้แว่นขยายมาจ่อที่ตาผม    หลังจากนั้น อ. หมอจุฑาไล ก็มาตรวจด้วยเครื่องตั้งโต๊ะ   แล้ว อ. หมอจุฑาไล ตาม อ. หมอโสมนัส ถุงสุวรรณผู้เชี่ยวชาญด้านเรตินา มาช่วยดู    รวมเป็น ๓ หมอ และลงความเห็นว่าผมควรอยู่โรงพยาบาล    ซึ่งก็ตรงกับความคาดหมาย และเราเตรียมตัวมาแล้ว

 

           อ.หมอโสมนัสเสนอว่า ขอตรวจด้วย อัลตราซาวน์ ด้วย ก่อนจะเข้า แอ๊ดมิท (admit)    ซึ่ง อ. วิมจัดการติดต่อห้องได้แล้ว    และให้นั่งรถเข็นไปตรวจที่ตึก โอพีดี ชั้น ๕   ผมจึงได้นั่งรถเข็นเป็นครั้งแรกในชีวิต    ทำให้ผมได้เรียนรู้หรือเกิดความรู้สึกด้วยตนเอง ว่าการก่อสร้างอาคารที่มีทางลาดที่ไม่ชัน มีความสำคัญอย่างไร   รวมทั้งคิดว่า น่าจะมีการออกแบบรถเข็นชนิดนั่งให้มีระบบกันสะเทือนด้วย   และได้เห็นระบบการจัดการพนักงานเข็นรถให้เกิดความรับผิดชอบ และเกิดประสิทธิภาพ    ผมได้รับรู้จากการสัมผัสบริการเหล่านี้ ว่ามีประเด็นให้ดำเนินการพัฒนาได้มาก    ในช่วงขนย้ายผมด้วยรถนั่งนี้ อ. วิม กรุณาเดินเป็นเพื่อนด้วยโดยตลอด   โดยให้สาวน้อยนั่งรออยู่ที่ห้องตรวจตาชั้นล่างของตึกสยามินทร์

 

           อ. หมอโสมนัส ถุงสุวรรณเป็นผู้ทำอัลตร้าซาวน์ตาผม   โดยให้หลับตา เอาเจลทาส่วนที่แตะ probe ของอัลตร้าซาวน์ ที่หลายส่วนหลายมุมของตาขวา    โดยมี อ. หมอจักรพงศ์ และ อ. วิม ดูที่จออัลตร้าซาวน์ด้วย    และลงมติว่า เรตินาของผมยังปกติดี ไม่มีการลอก    และสรุปว่า อาการตามัวเป็นขั้นตอนของการหายจากโรคเลือดออกในวุ้นในตา    คือเลือดที่ออกมาอยู่ในวุ้นตาค่อยๆ ละลายกลายเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ฟุ้งกระจายออกไปในวุ้นตา    ทำให้อาการตามัวรุนแรงขึ้น   และลงมติร่วมกันว่า ไม่มีเลือดออกเพิ่มขึ้น    ทำให้ผมโล่งใจ   และรีบบอกสาวน้อย เพื่อไม่ให้เธอกังวลใจและเครียด   ในการเจ็บป่วยครั้งนี้สาวน้อยเป็นผู้เครียด ผมเป็นผู้ตามัว

 

          ผมเข้าพักที่ตึกเฉลิมพระเกียรติ ที่ทางศิริราชเรียกย่อๆ ว่าตึก ฉ.ก.  ชั้น ๕  ห้อง ๕๐๖   อยู่ตรงข้ามอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ที่เขาเรียกกันย่อๆ ว่า อาคารสมเด็จพระศรีฯ   ด้านตรงข้ามไปทางซ้ายมือคือตึกอัษฎางค์   ที่สมัยผมเป็นนักศึกษาแพทย์ และจบเป็นแพทย์และเริ่มทำงาน เป็นอาคารกึ่งตึกกึ่งไม้ ๓ ชั้น    เวลานี้กลายเป็นตึก ๑๐ ชั้น

 

          ตึก ฉ.ก. ชั้น ๕ นี้ เป็นหอผู้ป่วยพิเศษของภาควิชาจักษุ   ห้อง ๕๐๖ เป็นห้องพิเศษแบบธรรมดา ไม่หรูหรา    ซึ่งเมื่อคณบดี ศ. นพ. อุดม คชินทร มาเยี่ยมตอนทุ่มครึ่ง ท่านออกตัวว่าห้องเล็กไปหน่อย สำหรับนายกสภามหาวิทยาลัย   ผมรีบบอกว่า ห้องแบบนี้พอแล้ว    ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ห้องใหญ่กว่านี้ และห้องนี้วิวดี คือมองไปเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเพราะ อ. วิม กรุณาเลือกห้องให้ได้วิวสวย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ก.ค. ๕๕

 

 วิวแม่น้ำเจ้าพระยา ถ่ายซูมจากหน้าต่างห้อง 506 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 


 

 

 วิวจริงๆ เป็นอย่างนี้


 

 

 ท่านอนศีรษะสูง ให้เลือดตกลงล่าง


 

 ผู้กำกับการพัก


 

 ลานพระรูป ถ่ายจากมุมสูง


หมายเลขบันทึก: 498571เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2012 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ

ขอภาวนาให้อาจารย์หายจากตามัว อย่างถาวรค่ะ

พัชริน

ขอให้หายไวไว และสุขภาพแข็งแรงค่ะ วรรณรัตน์

ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรับ และบารมีองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ และบารมี คุณความดีที่อาจารย์สั่งสมมาทั้งชาติที่แล้ว ชาตินี้คุ้มครองอาจารย์หายเร็วๆๆนะคะ

ขอให้พระคุ้มครองอาจารย์ด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท