ฝักคูณแก่แก้ปัญหาหอยเชอรี่ในนาข้าว


ฝักคูณมีสาร อัลทราฟีโนน (Anthraquinones) ที่ไม่ทำลายปลาและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะทำลายเฉพาะเจาะจงกับเนื้อเยื่ออ่อนของหอยเชอรี่เท่านั้น

ปัญหาเรื่องหอยเชอรี่ระบาดทำลายข้าวในแปลงนานั้นในอดีตแถบภาคกลางนับเป็นเรื่องที่สำคัญและพบเห็นบ่อยมากกว่าปัญหาเรื่องของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่เพิ่งเริ่มมีการระบาดรุนแรงมากในห้วงช่วงสองสามปีมานี้  ในอดีตใช่ว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะไม่มี..... ก็มีอยู่...แต่ไม่มากมายเหมือนในปัจจุบัน พบเห็นก็เพียงไม่กี่สิบตัวต่อต้นยังพอให้แมลงดีหรือตัวห้ำตัวเบียนคอยควบคุมซึ่งกันและกันได้ แต่เดี๋ยวนี้แมลงดีทั้งหลายกินแล้วกินอีก อ้วกแล้วอ้วกอีกก็กินไม่หมด เพราะภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็จะมีลูกหลานของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ออกจากไข่มาลอกคราบอีกเป็นแสนเป็นล้านตัวซึ่งใช้ระยะเวลาไม่นาน  แต่ในอดีตหอยเชอรี่ในพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ในเขตชลประทานจะมีปัญหาเรื่องหอยเชอรี่อย่างสาหัสสากรรจ์มากกว่าโดยเฉพาะเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา แต่ในปัจจุบันก็ยังพอพบเห็นปัญหานี้อยู่บ้างกระจัดกระจายกันไปในหลายพื้นที่แม้กระทั่งภาคอีสานก็ด้วยเช่นกัน แต่อาจจะไม่โด่งดังเท่ากับเพลี้ยกระโดดสี้น้ำตาลที่มีแม้กระทั่งยันต์กันเพลี้ยออกมาแจกจ่ายชาวบ้านเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับเพลี้ย

หอยเชอรี่จะวางไข่อยู่เหนือน้ำ ตามยอดหญ้า ผักตบชวา ยอดหญ้าคา ผักบุ้ง หญ้าขน และยอดข้าวแตกต่างจากหอยโข่งที่จะไข่ฝังไว้ในดิน และไข่ของหอยเชอรี่จะมีสีชมพูสวยงาม วางไข่ได้หลายร้อยฟองไปจนถึงพันฟอง แพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก เมื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัยก็จะกัดกินต้นข้าวในระยะกล้าหรือปักดำใหม่ๆ ไปจนถึงระยะแตกกอ  โดยเฉพาะช่วงอายุข้าว 10 วัน หอยเชอรี่จะชอบมากเป็นพิเศษ ทำให้ชาวนาต้องเสียเวลาปักดำ ซ่อมแซมกล้าข้าวใหม่ ถ้ามีการระบาดจำนวนมากอาจกัดกินทำลายต้นข้าวได้หมดภายในเวลาชั่วข้ามคืน จึงมีการใช้ยาและสารเคมีมากมายหลายชนิดเพื่อนำมาต่อสู้กับหอยเชอรี่ แต่ก็ไม่หมด จนภาครัฐต้องออกมารณรงค์ให้มีการนำหอยเชอรี่ไปทำเป็นอาหารจึงค่อยทุเลาเบาบางลงไปบ้างพอสมควรในบางพื้นที่

การใช้ยาหรือสารเคมีกำจัดหอยซึ่งมีพิษรุนแรงทำลายสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำจนตายไม่มีเหลือทั้งกุ้ง หอย (หอยโข่ง หอยขม หอยกาบ) ปู ปลา ในแปลงนาทำให้สูญเสียอาหารโปรตีนที่เป็นผลพลอยได้ในแปลงนาไปหมดสิ้น ฉะนั้นแนวทางที่กำจัดหอยเชอรี่ในแนวทางชีวภาพ ชีวะวิธีจึงจำเป็นที่เกษตรกรบางท่านที่ยังไม่ทราบอาจจะต้องเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อาชีพของตนเอง ด้วยการใช้วิธีดักจับ  เก็บทำลายตามทางน้ำไหล ใช้ตาข่ายถี่ดักลูกและแม่หอยในขณะสูบน้ำเข้านา ใช้ไม้หลักปักในนาข้าวเพื่อให้หอยมาวางไข่และเก็บนำไปเผาทำลาย ใช่เหยื่อล่อเช่น ใบผัก ใบมันเทศ ใบมันสำปะหลัง ใบมะละกอ หรือพืชอื่นๆ ที่มียางขาวคล้ายน้ำนมหอยเชอรี่จะชอบมาก สุดท้ายคือวิธีที่อยากจะนำเสนอคือการใช้ฝักคูณแก่ในการใช้กำจัดหอยเชอรี่แทนสารเคมี โดยใช้ฝักคูณแก่ 10 กิโลกรัม ใส่ตุ่มหรือภาชนะขนาดประมาณ 100 ลิตร ก่อนใส่ให้หั่น บด ทุบให้ละเอียดพอประมาณ หลังจากนั้นเติมลงไปให้ท่วมประมาณ 50 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 สัปดาห์  แล้วนำไปสาด ราด รด ให้ทั่วแปลงนาทั้งน้ำทั้งเศษชิ้นส่วนของฝักคูณด้วย ขณะเตรียมเทือกก่อนหว่านเมล็ดพันธุ์ น้ำของฝักคูณมีสาร อัลทราฟีโนน (Anthraquinones) ที่ไม่ทำลายปลาและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะทำลายเฉพาะเจาะจงกับเนื้อเยื่ออ่อนของหอยเชอรี่เท่านั้น  เศษชิ้นส่วนของฝักคูณจะฝักลงในหล่มเลนที่หอยเชอรี่ฝังตัวหลบซ่อน ส่วนที่กองไปไหลรวมอยู่ที่แอ่งวิดน้ำก็สามารถนำน้ำฝักคูณหมักฉีดพ่นไปตรงบริเวณนั้นก็จะช่วยขับไล่และทำลายหอยจนตายและอพยพไปที่อื่นจนหมด

 

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 498128เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2012 19:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2012 12:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ได้ความรู้ใหม่ไปบอกเพื่อนเกษตรกรอีกแล้ว

ขอบคุณครับท่าน

องค์ความรู้แบบไทยๆ แต่ได้คุณภาพนะคะ

ขอบคุณบทความดีดีนี้ค่ะ

ขอบคุณท่านผู้ใหญ่ทั้งสองท่านที่เป็นกำลังใจนะครับ

  • แถว ๆ ทุ่งนาที่บ้านคุณมะเดื่อเคยมีหอยเชอรี่เยอะมาก
  • ต่อมามีการส่งเสริมให้นำหอยเชอรี่มาหมักปุ๋ยชีวภาพ
  • แรก ๆ เจ้าของนาก็เก็บเอาหอยเชอรี่มาให้กับเจ้าหน้าที่ฟรี ๆ ก็ไม่ค่อยมีใครใส่ใจจะเก็บมาให้นัก
  • ต่อมาทางเจ้าหน้าที่รับซื้อ เป็น กิโลกรัม  (กิโลกรัมละเท่าไรก็ลืมไปแล้ว) ปรากฏว่าชั่วเวลาไม่นาน  หอยเชอรี่เกือบไม่หลงเหลือให้ได้สืบพันธุ์อีกแล้ว
  • เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า............น้ำเชี่ยว....อย่าเอาเท้าราน้ำ...หึ  หึ  หึ....

สุดยอดเลย กำลังถูกหอยเชอรี่รบกวน และที่โรงเรียนมีฝักคูณแก่สีดำเยอะ ต้องรีบดำเนินการโดยเร็วพลัน ขอบคุณครับ โอ..ประโยชน์ของโกทูโนว์ แท้เทียว

เป็นประโยชน์มากครับ เหมาะแก่การส่งต่อเป็นอย่างยิ่ง ขอบคุณครับ ^__^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท