นักโทษล้นคุกกับมาตรการทางเลือกในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยไม่ใช้เรือนจำ


นักโทษล้นคุกกับมาตรการทางเลือกในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยไม่ใช้เรือนจำ

ดร.นัทธี  จิตสว่าง

                   สภาวะนักโทษล้นคุกหรือผู้ต้องขังล้นเรือนจำในประเทศไทยนับเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด  ในขณะที่จำนวนผู้ต้องขังในเดือนมิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๕๕  มีอยู่  ๒๓๙,๖๘๔  คน แต่ความจุปกติของเรือนจำที่จะรองรับได้มีเพียง  ๑๖๐,๐๐๐  คน  เท่านั้น  เท่ากับผู้ต้องขังเกินความจุของเรือนจำที่จะรองรับได้อยู่ถึง ๘๐,๐๐๐  กว่าคน  และหากจะพิจารณาถึงสถิติผู้ต้องขังในรอบ  ๑๐  ปีที่ผ่านมา  ก็จะพบว่าจำนวนผู้ต้องขังเกิดความจุปกติ  ที่เรือนจำจะรองรับได้ในทุกปี  ทั้งนี้จำนวนผู้ผลิตขังได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเดือนละ  ๒,๓๐๐  คน  ดังนั้น  หากจำนวนผู้ต้องขังยังเพิ่มขึ้นในอัตราดังกล่าวโดยไม่มีมาตรการใดๆมาสกัดกันแล้ว  จำนวนผู้ต้องขังจะเพิ่มขึ้นเป็น  ๓๐๐,๐๐๐  คน  ภายในปี  พ.ศ.  ๒๕๕๗  ซึ่งจะเกินจุปกติที่เรือนจำจะรองรับได้ถึงเกือบ ๒ เท่า

                   สภาพความแออัดยัดเยียดของผู้ต้องขังในเรือนจำหรือที่เรียกว่าสภาวะผู้ต้องขังล้นเรือนจำ นั้น  ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในทางลบเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการเรือนจำอีกด้วย  เพราะทำให้การจัดสวัสดิการ และการดูแลผู้ต้องขังในด้านต่าง ๆ ทำได้ด้วยความยากลำบาก  สภาพความแออัดทำให้ผู้ต้องขังต้องนอน กินและใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างแออัด     ผู้ต้องขังจำนวนมากต้องว่างงานเนื่องจากไม่มีสภาพที่เพียงพอและไม่มีงานเพียงพอที่จะจ่ายให้ผู้ต้องขัง  ทำให้ผู้ต้องขังต้องอยู่ว่าง ๆ คิดฟุ้งซ่าน  และหันไปมีพฤติกรรมละเมิดกฎระเบียบของเรือนจำไม่ว่าจะเป็นการเล่นการพนันหรือแม้แต่หันไปสู่การกระทำผิดกฎหมายหรือประกอบอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติดในเรือนจำ

                   สภาพการณ์เช่นนี้  เพิ่มทวีขึ้นเมื่ออัตรากำลังของเจ้าหน้าที่เรือนจำไม่ได้สัดส่วนกับผู้ต้องขัง  ขณะที่จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนเจ้าหน้าที่ยังคงเดิม ทำให้อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขังของประเทศไทยห่างไกลจากมาตรฐานมาก  ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ จะมีอัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขังประมาณ ๑ ต่อ ๓ ถึง ๑ ต่อ ๖ และมาตรฐานสหประชาชาติคือ ๑ ต่อ ๕ ประเทศไทยมีอัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขัง ๑ ต่อ ๒๐ คือ มีเจ้าหน้าที่  ๑๑,๐๐๐  คน  แต่มีผู้ต้องขัง  ๒๔๐,๐๐๐  คน  ที่สำคัญ ในการปฏิบัติงานภายในแดนเรือนจำจริง ๆ จะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่น้อยลงไปอีกเพราะเจ้าหน้าที่อีกส่วนต้องไปปฏิบัติหน้าที่ภายนอกแดน  หรือปฏิบัติงานบริหารบนที่ทำการในขณะที่ในแดนหนึ่ง ๆ อาจมีผู้ต้องขังถึง  ๑,๐๐๐  คน  แต่มีเจ้าหน้าที่ดูแลเพียง  ๑๒  คน  ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง  และไม่สามารถที่จะควบคุมรักษาวินัยผู้ต้องขังได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่กลับตกเป็นเบี้ยล่างผู้ต้องขังซึ่งได้รับการคุ้มครองเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้นโดยอาศัยการร้องเรียนเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่  ปัญหาต่าง ๆ ทิ่เกิดขึ้นในเรือนจำขณะนี้จึงเป็นผลมาจากความแออัดยัดเยียดของผู้ต้องขังในเรือนจำหรือสภาวะนักโทษล้นคุกเป็นสำคัญ

                   ความแออัดยัดเยียดของผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นผลมาจากที่ผู้กระทำไม่ว่าจะเป็นคดีเล็กคดีใหญ่  คดีที่ศาลยังไม่ตัดสินเด็ดขาด  จะถูกส่งเข้าเรือนจำเป็นส่วนใหญ่ เป็นผลให้ประเทศไทยมีอัตราส่วนของผู้ต้องขังต่อประชากร  ๑๐๐,๐๐๐  คน  สูงกว่าประเทศอื่นๆ มาก

                   สถานการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามว่า ขณะนี้เราใช้โทษจำคุกเป็นเสมือนยาครอบจักรวาล ที่ใช้รักษาโรคต่าง ๆ สารพัดโรคเหมือนกันหมดหรือไม่  ถ้าหากว่าการใช้โทษจำคุกเป็นยาครอบจักรวาล  เหมาะสำหรับผู้กระทำผิดทุกประเภทจริง  และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยจัดการกับปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ในสังคมได้จริงแล้วผู้ต้องขังจะล้นคุกจะแออัดยัดเยียดกันเท่าใด  ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำและควรจะไปหางบประมาณมาสร้างมาขยายเรือนจำให้เพิ่มมากขึ้น  สังคมจะได้ปลอดภัยจากอาชญากรรมมากขึ้น  แต่ตามหลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาแล้ว  ไม่ได้เป็นเช่นนั้น  โทษจำคุกไม่ได้เหมาะกับผู้กระทำผิดทุกประเภท  ในทางตรงกันข้ามเรือนจำควรเป็นสถานที่ควบคุมผู้ร้ายสำคัญที่เป็นอันตรายต่อสังคมและต้องควบคุมตัว เพื่อมีให้ออกไปก่อความเดือดร้อนต่อสังคมภายนอกแต่เรือนจำไม่เหมาะสำหรับผู้กระทำผิดครั้งแรกที่กระทำผิดในคดีไม่ร้ายแรงหรือกระทำโดยพลั้งพลาด ไม่มีสันดานเป็นผู้ร้ายหรือผู้ติดยาเสพติด บุคคลเหล่านี้  ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการจำคุก

                   เพราะการนำบุคคลเหล่านี้มาขังไว้ในเรือนจำจะทำให้เกิดการเรียนรู้ถ่ายทอดพฤติกรรมอาชญากร  เกิดความเคยชินต่อคุกตารางและไม่เกรงกลัวคุกตารางอีกต่อไป  นอกจากนี้ยังทำให้มีชนักติดหลัง ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นคนขี้คุกขี้ตารางที่สังคมไม่ยอมรับ  ทำให้ยากต่อการกลับไปเป็นพลเมืองดี  การเอาคนเหล่านี้เข้าไปไว้ในเรือนจำจึงเท่ากับเป็นการสร้างอาชญากรรมขึ้นมาใหม่  ในทางตรงข้ามผู้กระทำผิดในคดีเสพยาเสพติดควรส่งไปบำบัดรักษาส่วนผู้กระทำผิดในคดีเล็กน้อย  ทำผิดครั้งแรกหรือผู้กระทำผิดในคดีไม่ร้ายแรง  ทำผิดโดยพลั้งพลาดควรใช้วิธีการปฏิบัติที่เป็นทางเลือกอื่นๆ แทนโทษจำคุก  ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี

                   มาตรการในการลดความแออัดยัดเยียดในเรือนจำโดยการหันไปใช้มาตรการทางเลือกแทนการใช้โทษจำคุกในเรือนจำครอบคลุมตั้งแต่การเบี่ยงเบนก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงการใช้มาตรการทางเลือกในการลดโทษหรือนักโทษจำคุก  มาตรการดังกล่าวได้แก่

๑.      การกำหนดให้ความผิดทางอาญาบางประเภทเป็นความผิดอันยอมความได้  เช่น ความผิดที่เกี่ยวกับการลักทรัพย์บางประเภท

๒.      การยกเลิกการใช้โทษทางอาญาสำหรับความผิดอาญาบางประเภทที่มีฐานความผิดทางแพ่งโดยกำหนดให้ใช้โทษอย่างอื่นแทนโทษทางอาญา  เช่น  กรณีความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็คอาจใช้การห้ามใช้เช็คอีกต่อไปหรือมาตรการอื่น ๆ

๓.      สนับสนุนให้มีการใช้มาตรการชะลอการฟ้องสำหรับคดีอาญาบางประเภทในชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นพนักงานอัยการเพื่อเบี่ยงเบนคดีไม่ต้องเข้าสู่ศาลโดยมีเงื่อนไขการคุมความประพฤติหากผิดเงื่อนไขก็จะถูกฟ้องต่อไป

๔.      สนับสนุนให้มีการใช้มาตรการคุมประพฤติสำหรับผู้กระทำผิดทางอาญาให้มากขึ้นโดยการขยายกฎเกณฑ์และเงื่อนไข  แต่เพื่อให้สังคมมีความมั่นใจในการระบบคุมประพฤติ  จึงควรนำเครื่องมือ Electronic Monitoring (EM)  มาใช้และรัฐควรให้การสนับสนุนกรมคุมประพฤติให้มากขึ้นเพื่อให้สามารถรองรับการทำงานคุมประพฤติที่เพิ่มขึ้น

๕.      ควรมีการสนับสนุนให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดีในเรือนจำลดน้อยลง  ทั้งนี้อาจกำหนดให้มีการใช้เครื่องมือ Electronic Monitoring ประกอบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมและความมั่นใจในการติดตามการหลบหนี

๖.      เร่งรัดให้มีการประกาศกระทรวงยุติธรรมในการกำหนดสถานที่ขังตามกฎกระทรวงยุติธรรมซึ่งจะต้องมีการกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง  จำคุก  หรือควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด  พ.ศ.  ๒๕๕๒  โดยเร็ว  ซึ่งหากกระทรวงยุติธรรมได้กำหนดสถานที่ขังตามกฎกระทรวงนี้แล้ว  ศาลอาจมีคำสั่งให้จำเลยอยู่ในความควบคุมในสถานที่อื่นอันควรนอกจากเรือนจำหรือสถานที่อื่นที่กำหนดในหมายจำคุกก็ได้  โดยเป็นไปตามมาตรา  ๘๙  วรรคหนึ่ง  และ สอง  แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ทั้งนี้ในการดำเนินการดังกล่าวจะต้องจัดให้มีวิธีการควบคุมและมีมาตรการป้องกันการหลบหนีโดยอาจนำเครื่องมือ Electronic Monitoring  มาใช้ประกอบด้วย

๗.      ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพักการลงโทษโดยการขยายระยะเวลาการรับโทษในเรือนจำมาแล้วจากที่เกณฑ์กำหนดไว้ต้องรับโทษมาแล้วขั้นต่ำจาก ๒/๓  เป็น ๑ ใน ๓  เพื่อให้ผู้ต้องขังมีสิทธิขอพักการลงโทษมากขึ้น  แต่เพื่อความมั่นใจของสังคมควรนำเครื่องมือ  Electronic Monitoring มาใช้ประกอบ

๘.              ผ่อนปรนการพักการลงโทษกรณีพิเศษให้มากขึ้น  ทั้งนี้ให้นำระบบ Electronic  Monitoring มาใช้เพื่อลดความระแวงของสังคมและควรมีการเปิดกว้างให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมเป็นกรรมการพิจารณาด้วยเพื่อความโปร่งใส

๙.      สนับสนุนให้มีโครงการโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองราชทัณฑ์ให้มากขึ้นเพื่อให้ผู้ต้องขังได้เข้ารับการอบรมก่อนปล่อยพักการลงโทษกรณีพิเศษ

๑๐.        เพิ่มศักยภาพของเรือนจำชั่วคราวและทัณฑสถานเปิดที่จัดทำเป็นศูนย์เตรียมการปลดปล่อยให้สามารถรองรับผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษได้มากขึ้น  เพื่อเป็นการระบายผู้ต้องขังจากเรือนจำใหญ่มาไว้ที่ศูนย์เตรียมความพร้อมก่อนปล่อยเป็นการลดความแออัดในเรือนจำใหญ่  ทั้งนี้อาจนำเครื่องมือ  Electronic Monitoring  มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมพร้อมทั้งแก้ไขระเบียบกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับอัตราส่วนการควบคุมของผู้คุมต่อผู้ต้องขังในเรือนจำชั่วคราวให้มากขึ้นด้วย

               มาตรการทั้ง  ๑๐  ข้อนี้  เป็นมาตรการในการกรองผู้ต้องขังในคดีที่ทำผิดไม่ร้ายแรงหรือไม่มีพฤติกรรมอาชญากรออกจากระบบเรือนจำ  เพื่อให้เรือนจำเป็นที่คุมขังผู้ต้องขังที่เป็นอันตรายต่อสังคมหรือผู้ต้องขังรายสำคัญเมื่อใช้เรือนจำที่คุมขังเฉพาะผู้ต้องขังที่เป็นผู้ร้ายสำคัญ  เรือนจำก็ไม่แออัดยัดเยียดและสามารถปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้การดูแลอบรมแก้ไขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นสามารถที่จะจำแนกลักษณะ  หาสาเหตุการกระทำความบกพร่องทางจิตใจหรือทางสังคม  เพื่อวางแนวทางการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคลรวมทั้งการควบคุมตัวผู้ร้ายสำคัญหรือผู้ร้ายที่เป็นอันตรายต่อสังคมไว้นานๆโดยไม่ลดโทษแต่หากเรือนจำมีความแออัดยัดเยียดปะปนกันของผู้ต้องขังประเภทต่าง ๆ ทั้งผู้ต้องขังที่ทำโดยพลั้งพลาดและผู้ต้องขังที่กระทำผิดร้ายแรงหรือมีลักษณะร้ายการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเหล่านี้นอกจากจะเกิดความยากลำบาก  ดูแลไม่ทั่วถึงยังทำให้มีการปฏิบัติต่อคนที่มีลักษณะร้ายด้วยโทษเบาเกินไป  และปฏิบัติต่อคนพลั้งพลาดหนักเกินไป

                   การจะสร้างเรือนจำประเภทต่างๆขึ้นมารองรับจำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มขึ้นนับเป็นการแก้ปัญหาเพียงชั่วคราวเพราะตราบใดสังคมยังไม่มีมาตรการลงโทษที่เป็นทางเลือกอื่นๆในแบบก้าวหน้าแทนโทษจำคุกสำหรับผู้กระทำผิดบางประเภทแล้ว  จะสร้างเรือนจำเพิ่มอีกเท่าไรก็ไม่เพียงพอ  และเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบราชการโดยตรง  ดังนั้น  จึงเห็นได้ว่าโทษจำคุกไม่ใช่เป้าหมายของการลงโทษและไม่ใช่ยาครอบจักรวาลสำหรับผู้กระทำผิดทุกประเภท  หากแต่เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการปฏิบัติต่อคนที่ทำผิด  ซึ่งยังมีวิธีการอื่น ๆ อีกหลายวิธี  ตามแต่ลักษณะของความหนักเบาของคดีและลักษณะของผู้กระทำผิด

                   ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าถึงเวลาหรือยังที่กระบวนการยุติธรรมของไทยจะหันมาพิจารณาทางเลือกอื่นๆ แทนการใช้โทษจำคุกสำหรับผู้กระทำผิดบางประเภท ถึงเวลาหรือยังที่จะเลิกนิยมใช้โทษจำคุกเพราะหากขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม  คือ การบังคับโทษไม่สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในการลงโทษได้แล้ว  ก็นับเป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบเช่นกัน

 

 ****************************

อ้างอิง

๑.       รายงานสถิติ รท. ๑๐๒, กรมราชทัณฑ์, ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๕

๒.       Ray Walmsley, World Prison Population List,  (Ninth edition) International  Center   

For Prison Studies,U.K. 2011

๓.       นัทธี  จิตสว่าง  หลักทัณฑวิทยา, กรุงเทพ ; บพิธการพิมพ์, ๒๕๔๑

 

 หมายเหตุ: ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

 

 

หมายเลขบันทึก: 497865เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2012 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2013 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท