ชีวิตที่พอเพียง: ๑๖๒๐. บันทึกตามัว (๔) จองจำได้เพียงกาย


 

          วันที่ ๑๓ ก.ค. ๕๕วันที่ ๙ของอาการตามัว    และวันแรกของ “การนอนพักยิ่งยวด” (absolute bed rest)    อาการตามัวคงเดิม

 

          ผมค้นใน YouTube ด้วยคำว่า “พุทธทาส” ได้ปาฐกถาธรรมของท่านพุทธทาสไว้ฟังมากมาย    ตอนนี้ผมมีคลังเสียงธรรมบรรยายของสองปราชญ์ใหญ่ของประเทศเอาไว้ “เจริญธรรมปัญญา” ให้แก่ตัวเองมากมายเกินพอสำหรับเวลา ๓ สัปดาห์

 

          วันชิมชา

 

          ฟังข่าววิทยุจุฬา เอฟเอ็ม ๑๐๑.๕ เป็นเวลา ๗๕นาที   เริ่มเวลา ๖ น. ด้วยข่าวภาคเช้า ๓๐ นาที   ตามด้วย วีโอเอ ไทย ๓๐ นาที   และข่าววิทยุประเทศไทย ๑๕นาที    ทั้งหมดนี้เพื่อ “ดูไทยและดูโลก” ผ่านทางเสียง    มติศาลรัฐธรรมนูญ ในวันศุกร์ที่ ๑๓   และข่าว ปปช. ลงมติว่ามีการโกงการซื้อปุ๋ย ตามข่าวนี้   ส่วนเรื่องใหญ่ของโลกอยู่ที่การแย่งดินแดนทะเลจีนใต้    โครงการทวาย ๙ พันล้านเหรียญ   ๕๐ พันล้าน  

 

          ฟังหนังสือ The Power of Concentration จบ   เริ่มฟัง Pride and Prejudice  

 

          ค้นหาไฟล์เสียงจาก HDD ที่เก็บไว้    ได้มา ๓ เรื่อง ฟังเรื่อง History of 10 Greatest Mathematicians จบ   ผมฟังรู้เรื่องประมาณ ๖๐%   แต่ก็ชอบ เพราะผมชอบประวัติศาสตร์ 

 

          ฟัง จาริกบุญ จารึกธรรม โดยพระพรหมคุณาภรณ์

 

          ก่อนนอน เข้า YouTube ฟังเรื่อง “พุทธทาส ในบทสุดท้ายของชีวิต” เป็นเวลากว่าชั่วโมง    จัดทำโดยมูลนิธิโกมลคีมทอง ดีมาก



          วันเสาร์ที่ ๑๔ ก.. ๕๕  วันที่ ๑๐ ของอาการตามัว    ผมเตรียมค้นหาแหล่งวิชาความรู้ที่จะมาช่วยให้ผมสนุกสนานกับการหลับตาเอนตัวนอนฟังเสียง    ลองค้นใน Google ด้วยคำว่า “Science Podcast” ได้เว็บไซต์มากมายดังใจ    ได้ฟังรายการ This Week in Science ของ AAAS ที่นี่เมื่อฟังจบผมก็พบว่านี่เป็นของปี 2012   เขายังมีของปี 2011 Science Breakthrough of the Year และรองเรื่องเด่นที่สุดอีก ๙ เรื่อง ที่นี่

 

          ฟังแล้วผมได้ข้อประทับใจว่า ข่าววิทยาศาสตร์ที่มีใน Podcast คงจะเลือกข่าวที่คนทั่วไปสนใจด้วย    และเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง คือเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องน่าสนใจ   ข่าวใน Science Podcast ของ AAAS จึงมีเรื่องโรคภัยไข้เจ็บมาก   ข่าว “ก้าวกระโดดด้านวิทยาศาสตร์แห่งปี ๒๐๑๑” คือ ข้อพิสูจน์เรื่องโรคแอดส์ ว่า Treatment is prevention   คือผลการวิจัยในคู่สมรส ๒,๐๐๐ คู่ที่คนหนึ่งติดเชื้อ HIV อีกคนหนึ่งไม่ติด   พบว่าการให้ยารักษาช่วยลดการติดต่อถึงร้อยละ ๙๖   สิ่งที่ผมประทับใจจากการฟังเรื่องนี้คือ เขาเตือนว่า ผลของการวิจัย แตกต่างจากผลในชีวิตจริง   เวลาเอาผลการวิจัยไปใช้ในชีวิตจริงต้องเข้าใจความซับซ้อนของชีวิตจริงของมนุษย์    ตอนทดลอง ผู้ถูกทดลองจะตั้งใจกินยา และระมัดระวังเรื่องอื่นๆ    แต่ในชีวิตจริงคนจะหลงๆ ลืมๆ กินยาไปบ้าง    รวมทั้งความระมัดระวังเรื่องอื่นๆ ก็ไม่สูงเท่า

 

          ในประเทศไทย เวลาแถลงข่าวผลการค้นพบ เรามักได้ข่าวที่แสดงความตื่นเต้น และมักจะอ้างผลที่อาจเกิดต่อสังคมมากมาย   เรามักไม่ได้ยินคำพูดที่เตือนสังคมว่า อย่าตื่นเต้นเกิน และไม่ได้ยินการบอกข้อจำกัดของผลการวิจัย   คือการแถลงข่าวผลการค้นพบของไทยมักใช้วิญญาณนักประชาสัมพันธ์ มากกว่าวิญญาณของนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์

 

          เวลา ๗ น. ผมฟัง ธรรมบรรยาย เรื่อง จาริกบุญ จาริกธรรม โดยพระพรหมคุณาภรณ์ ตอนที่ ๑๐ ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย   ที่ผมฟังค้างไว้เมื่อเย็นวาน   เช้านี้ฟังอีก ๑ ชม. ก็จบ   เต็มอิ่มความประเทืองปัญญา  และตั้งใจจะฟังอีกอย่างน้อย ๑ จบ 

 

          เป้าหมายหลักของการดำรงชีวิตนิ่งๆ นอนหงายยกศีรษะสูง ทำมุม ๔๕ องศากับแนวราบ    ก็เพื่อให้เลือดในลูกตาตกลงล่าง    ซึ่งในกรณีของผม อ. หมอจุฑาไลบอกว่าวุ้นตา (vitreous) ของผมมันข้น ไม่เป็นน้ำมากหน่อยอย่างบางคน ดังนั้นเลือดจะนอนก้นยากหน่อย    ต้องอดทนนอนนานหน่อย   ผมจึงปลอบใจตัวเองว่า    ได้โอกาสปลีกวิเวกอยู่กับบ้าน   ฝึกการอยู่กับตัวเอง

 

          ดังนั้นเป้าหมายหลักของชีวิตช่วงนี้คือการรักษาตัว    เป้าหมายรองคือการฝึกฝนตนเองด้านใน   ให้มีจิตสงบในสภาพที่ต้องนอนนิ่งๆ    และเป้าหมายสุดท้ายคือถือโอกาสเรียนรู้ความรู้หลายๆ อย่างที่ผมยังบกพร่องอยู่

 

          ระหว่างอาหารเช้ากับอาหารเที่ยง ผมฟังหนังสือคลาสสิค Pride and Prejudice โดย Jane Austen ต่อ จากหูฟังต่อกับ iPhone   แรกๆ ฟังรู้สึกฟังยาก เพราะคนอ่านอ่านเร็วมาก   แต่พอฟังไปหลายๆ บทเข้า   ก็รู้สึกสัมผัสความงดงามของภาษา    และได้เรียนรู้สังคมอังกฤษสมัย ๒๐๐ ปีก่อน

 

          สลับไปฟังธรรมบรรยายของพระธรรมปิฎก เรื่อง จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา โดยนอนฟังจาก iPad ไม่ต้องใส่หูฟัง    ในเวลา ๑ ชม. อิ่มเอมกับการเรียนภาษา วิธีบรรยาย และสาระ   ที่งดงามจรรโลงใจ  

 

          แล้วสลับไปฟังไฟล์เสียงจาก อ. หมอปรีดา มาลาสิทธิ์ ที่ให้ผมมานานแล้ว    เป็นเรื่องการทำความเข้าใจนักคณิตศาสตร์ราชสำนักอาณาจักรโรมัน ที่กรุงปราก เมื่อ ๔๐๐ ปีก่อน   ชื่อ Johannes Keplerที่เขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์เป็นคนแรก เรื่อง The Somnium(ความฝัน) ว่าด้วยการเดินทางไปดวงจันทร์   เป็นการเขียนจินตนาการวิทยาศาสตร์จากทฤษฎีคณิตศาสตร์    คราวนี้ฟังจาก Sony MP3 ด้วยหูฟัง

 

          การสลับกิจกรรมการเรียนรู้ ดังที่เล่า เป็นเทคนิคการเรียนทน   ช่วยให้อยู่กับการเรียนโดยไม่เบื่อ   ที่ผมเริ่มฝึกตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี   และนำมาใช้กับการทำงานและการเรียนตลอดชีวิต จนปัจจุบัน  

 

          ผมเอาสมุดมาไว้กับตัวเล่มหนึ่ง   ใช้เป็นกระดาษทด เขียนบันทึกกิจกรรม และบันทึกความคิดไว้    เอาไว้เขียน บล็อก ได้อีกมาก   แต่ตอนนี้ต้องถนอมตา

 

          ตกบ่าย ผมฟังเรื่อง ตำแหน่งของข้อปฏิบัติทางจิตใจในระบบพระพุทธศาสนาเวลาเกือบ ๒ ชม. ทำให้เข้าใจระบบพุทธศาสนาชัดเจนแจ่มแจ้งมาก   ผมฟังธรรมบรรยายชุด จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา นี้   สลับกับฟังเรื่อง Pride and Prejudice    ไปตลอดวัน จนเข้านอน   ส่วนที่ติดใจมากคือ เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างจิตภาวนากับปัญญาภาวนา

 

          การฟังบรรยายธรรมนี้ ฟังจาก iPad โดยไม่ใส่หูฟัง   สาวน้อยได้ยินด้วย กระเซ้าว่า หายป่วยน่าจะบรรยายธรรมได้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.ค. ๕๕

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 497786เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2012 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2012 00:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณค่ะ ได้ความรู้มากมายหลากหลายในบันทึกท่าน นั่งฟัง พุทธทาส ในบทสุดท้ายของชีวิตจนจบ ท่านอาจารย์หายเร็วๆนะคะ นอนพักรับประทานอ่อนๆช่วยลดภาวะเลือดออกในช่องม่านตาได้ด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท