ชีวิตที่พอเพียง: ๑๖๑๘.ชีวิตของคนตามัว (๒) ฝึกใช้ประสาทหู


 

          วันที่ ๘ ก.ค. ๕๕ วันที่ ๔ ของอาการ อาการตาขวามัวยังคงเดิม หรืออาจจะดีขึ้นเล็กน้อย ซึ่งไม่แปลกใจ เพราะหมอบอกว่าเลือดในวุ้นตาของผมออกมากจนหมอตรวจด้วย slit lamp มองจอตาไม่เห็น ผมนอนหลับดี โดยไม่ต้องใช้ยากล่อมประสาทช่วย

          วันนี้ผมพยายามหา Podcast ในเว็บต่างๆ เพื่อฟังเรื่องที่สนใจ ในเว็บของ www.sciamdigital.comผมเข้าไปใน

          Podcast ของบริษัท Dow โฆษณาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่หลากหลายของบริษัท น่าสนใจดี แต่มีอยู่ไม่กี่เรื่อง Podcast ไม่ดี เป็นเรื่องสั้นๆ ต้องใช้สายตาหาบ่อยๆ ไม่ได้พักสายตา ผมจึงหาทางอื่น

          ฟังเสียงจาก YouTube พอใช้ได้ แต่ก็ยังรบกวนสายตาอยู่ดี

          ผมค้นใน google ด้วยคำว่า audiobook ก็พบว่ามี App ฟรีสำหรับ iPad สำหรับอ่าน audiobook จึง download เข้าสู่ขุมทรัพย์หนังสือเสียง ลองฟังนิทานอีสป ซึ่งมีเรื่องมากกว่าในนิทานอีสปที่ผมเคยเรียนสมัยเด็กๆ มาก ชักติดใจ จึงซื้อ App Audiobooks Premium เอาลง iPhone ($ 0.99)แล้วฟัง Alice’s Adventure in Wonderland อย่างเพลิดเพลินจนจบในเวลาชั่วโมงเศษๆ ชักติดใจ จึงเข้าไปซื้อ Plus Books กว่าสองร้อยเล่ม ในราคาเพียง ๓ เหรียญกว่า ทั้งหมดเป็นหนังสือคลาสสิค

          ขณะนี้ผมกำลังนอนบนเก้าอี้ LazyBoy หนานุ่มเอนได้ตามระดับที่ต้องการ มีสาวเสียงหวานอ่านหนังสือ Alexander the Great ให้ฟัง ลองนึกภาพสมัยร้อยปีก่อนนะครับ ว่าทุกอย่างต้องเป็นเสียงจริงคนจริง แต่โลกสมัยนี้เป็นยุคโลกเสมือน เก้าอี้ LazyBoy น่ะของจริง และผมก็เป็นตัวจริง แต่หญิงสาวเสียงหวานเป็นเสมือนจริง (virtual) คือ ดาวน์โหลดมาจาก อินเทอร์เน็ต เข้ามาเก็บไว้ใน App และฟังจาก iPhone สะดวกสบายอย่างยิ่ง โปรดสังเกตว่า ในวันเดียวผมฟังหนังสือเสียงได้เกือบ ๒ เล่ม สบายกว่าอ่านเองมาก แต่ความเข้าใจได้เพียง ๘๐ - ๙๐% เท่านั้น เพราะภาษาอังกฤษของผมไม่แข็งมากนัก

          ตกเย็นฟัง audiobook เบื่อ ก็ลองเข้า YouTube ค้นด้วยคำว่า TED Education พบรายการที่ Salman Khan ผู้ทำ Khan Academy เล่าเรื่อง Let’s use video to reinvent educationน่าดูมากครับ เป็นการเปลี่ยนการเรียนแบบกลับหัวกลับหาง คือให้เด็กนักเรียนดูวิดีโอบทเรียนที่บ้าน เพื่อให้เด็กเรียนตามความเร็วของแต่ละคน แล้วมาทำการบ้านหรือแบบฝึกหัดที่โรงเรียน และปรึกษากับเพื่อนๆ ครูเดินไปเดินมาคอยตั้งคำถาม และแนะนำให้ค้นคว้าต่อ โดยครูเอาใจใส่เด็กที่ตอบแบบฝึกหัดผิดหลายข้อ เป็นพิเศษ ตอนท้ายของรายการ บิลล์ เกทส์ ออกมาซักว่า Salman Khan มีทีมดำเนินการ Khan Academy อย่างไร จากการฟังเรื่องนี้ เราสามารถคิดวิธีจัดการเรียนรู้ใหม่ โดยใช้ IT ช่วยให้การเรียนเป็นกิจกรรมแห่งความเป็นมนุษย์ (humanized learning) ตามที่คุณ Salman Khan พูด ผมขอแนะนำให้ผู้สนใจปฏิรูปการเรียนรู้ฟังรายการนี้สัก ๓ จบ เพื่อจับประเด็นมาดำเนินการ ผมชอบที่เขาย้ำว่า การเรียนรู้ต้องมุ่งให้เกิด mastery และการสร้างโอกาสให้นักเรียนติวกันเอง ผ่านห้องเรียนเสมือน กลายเป็น “ห้องเรียนโลก”(one-world classroom) ได้

          นี่คือรูปแบบของการเรียนให้ได้ 21st Century Skills

          จากนั้นผมพบเรื่อง Khan Academy : The future of education?ที่อธิบายอนาคตของการเรียนรู้น่าสนใจมาก โปรดสังเกตว่าเขามี ซอฟท์แวร์ให้ครูติดตาม(ผล)การเรียนรู้ของนักเรียนได้เป็นรายคน โดยใช้ iPad และเด็กใช้ MacBook ทำงานหรือแบบฝึกหัดที่โรงเรียน หลังจากดูวิดีโอข้อความรู้ที่บ้าน

          ย้ำว่าประเด็นสำคัญคือ การกลับทาง (flipping) การเรียน ให้เด็กเรียนทฤษฎีที่บ้าน เอามาประยุกต์ใช้ในการทำแบบฝึกหัดที่โรงเรียน ครูใน YouTube เอ่ยถึง PBLด้วย

          วิธีเรียนแบบ “กลับทาง” หรือ “สลับเวลา” เช่นนี้ ทำให้เด็กมี “จิตจดจ่อ” กับการเรียน ไม่ใช้เวลากับเรื่องนอกลู่นอกทาง ลดโอกาสเสียคนของเด็กวัยรุ่นได้มาก

 

          วันจันทร์ที่ ๙ ก.ค. ๕๕ วันที่ ๕ ของสภาพตาเดียว อาการคงเดิม แต่ผมทนนั่งๆ นอนๆ ไม่ไหว จึงออกไปขี่จักรยานเบาๆ หนึ่งรอบในหมู่บ้าน สลับกับถ่ายรูปสระบัวและดอกไม้ โดยใช้กล้อง Canon PowerShot SX IS 260 ตัวใหม่ ที่เพิ่งซื้อเมื่อปลายเดือนที่แล้ว แม้จะเหลือเพียงตาเดียว การสัมผัสสุนทรียะจากภาพธรรมชาติของผมยังคงอยู่เต็มร้อยช่วงนี้สระน้ำในหมู่บ้านมีใบและดอกบัวเต็มสระ ภาพเช่นนี้ไม่มีมานานหลายปี เพราะเขามักจะให้พนักงานไปเอาใบและดอกบัวออกเมื่อมันเริ่มแน่น

          ผมยังคงติดใจ Khan Academy และค้นพบวิธี “ฟัง” YouTube ว่าใช้ MacBook ดีกว่า iPad เพราะเราฟังไปบันทึกไปได้ เหมือนอย่างที่ผมกำลังทำอยู่นี้ คือผมฟังการสัมภาษณ์ครู ที่นี่ ว่า Khan Academy เป็นเครื่องมือที่ง่าย เป็นรูปธรรม ให้เกิดการเรียนรู้แบบใหม่ ฟังการสัมภาษณ์ Eric Schmidt แห่ง Google ที่นี่ และการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของการเรียนรู้ในอนาคตที่นี่แนวคิดการปฏิรูปเรียนรู้ของโลกในอนาคต ที่นี่ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนห้องเรียนในโรงเรียน เป็น “ห้องเรียนโลก”

          ค้นไปค้นมา ผมพบ YouTube Teacher ที่นี่ผมเข้าไปที่ High School : Number and Quantity และเข้า Complex Numbers on the Complex Plane ที่นี่ และคลิก Pre-calculus – The Complex Plane

          หลังจากฟัง audiobook เรื่อง Alexander the Great ไปอีก ๒ บท เสริมด้วยการดูแผนที่ใน Wikipedia หัวข้อ Alexander the Great เรียนรู้เรื่องราวของโลกสมัย ๒๔๐๐ ปีที่แล้ว ผมแก้เบื่อด้วยการกลับไปค้น YouTube ด้วยคำ TED Education ใหม่ และเข้าไปฟังเรื่อง Richard Baraniuk : Goodbye. Textbooks; hello, open-source learningได้มุมมองใหม่ด้านการเรียนรู้ ว่าในไม่ช้าเราจะสามารถเรียนรู้แบบใหม่ได้อย่างมีพลัง ใคร สังคมใด ประเทศใด รู้จักใช้พลังใหม่นี้ ก็จะได้พลังปัญญาของตน และของสังคม แต่ใคร สังคมใด ประเทศใด หลงผิดหรือมัวเมา ใช้พลัง IT เฉพาะเพื่อความสนุกสนานไร้สาระไปวันๆ ก็จะล้าหลังและอ่อนแอ

          แล้วผมก็พบเรื่อง Sugata Mitra’s new experiments in self-teachingที่ตรงใจผมมาก ว่าการเรียนรู้เป็น Complex-Adaptive Systems (CAS)หรือ Self-Organizing System อย่างหนึ่ง และสามารถเข้าสู่สภาพ self-organizing และ emergence ได้ เป็นเรื่องที่มีคุณค่าทั้งด้านการเรียนรู้ และด้านความเข้าใจ CAS จากชีวิตจริง สิ่งที่ Sugata Mitra เล่า คือผลการวิจัย ที่สรุปได้ว่า หากเด็กสนใจ เขาจะเรียนรู้ แม้จะไม่มีคนสอน และผมสรุปเองว่า ตัวกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กที่ดีที่สุดคือ คำถามที่ดี ครูสมัยใหม่ต้องเลิกสอนแบบบอกเนื้อหรือสาระวิชา และฝึกวิธีสอนโดยตั้งคำถาม ให้ศิษย์หาคำตอบ โดยช่วยเหลือหรือปรึกษากันได้ หน้าที่อีกอย่างหนึ่งของครู คือคอยเชียร์ หรือให้คำชมในโอกาสที่เหมาะสม อีกอย่างหนึ่งคือ “พลังสีดอกเลา” ต่อการเรียนรู้ของเด็กผ่าน อินเทอร์เน็ต ที่ Sugata Mitra เรียก Granny Cloud โปรดดูเอาเอง จะเห็นโอกาสจัดการเรียนรู้แนวใหม่ในยุค IT

          ผมนึกขอบคุณความเจ็บป่วย ที่กลายเป็นโอกาสให้ได้มีเวลาสนุกสำราญกับสิ่งประเทืองปัญญาเหล่านี้ วันนี้ผมฟังหนังสือ Alexander the Great จบ ได้เรียนรู้เรื่องราวสมัยกว่า ๒,๔๐๐ ปีก่อน และได้รับรู้สัจธรรมที่เกิดขึ้นจากการมีอำนาจยิ่งใหญ่ ทำให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์หลงตัวและหลงความสุขชั่วแล่น คือการดื่มกิน และนางสนม ในช่วงท้ายๆ ของชีวิต เขาระแวงทหารคนสนิทและลงโทษถึงตาย ในที่สุดตนเองก็จบชีวิตลงเมื่ออายุเพียง ๓๒ ปี โดยผมสรุปว่าตายเร็วเพราะเสพสุขมากเกินควร

          แล้วผมก็เริ่มฟังหนังสือ The Power of Concentrationโดย Theron Q. Dumont ฟังไปได้หน่อยเดียว ก็เห็นว่าเป็นหนังสือที่มีพลังมาก เน้น positive psychology และการฝึกฝนตนเอง

          ตกเย็นผมเข้า YouTube ค้นด้วยคำว่า TED science ได้ฟังเรื่อง Daniel Pink on the surprising science of motivationได้ฟังเรื่องที่ผมเคยดูนานมาแล้ว และได้เอามาใช้ในการบรรยายที่ผมกำลังเตรียมอยู่พอดี ผมได้หลักการว่า สำหรับงานใช้ความคิด ความริเริ่มสร้างสรรค์ แรงจูงใจที่ได้ผลคือ แรงจูงใจจากภายใน (intrinsic motivation) ไม่ใช่แรงจูงใจภายนอก (extrinsic motivativators, incentives)

          ความเจ็บป่วยทางสายตา ให้โอกาสผมฝึกประสาทหู

 

วิจารณ์ พานิช

๙ ก.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 497485เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2012 13:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชาว SCB และ SCBF ฝากมาให้กำลังใจคุณหมอค่ะ..

สุดยอดเลยค่ะ...ขนาดเจ็บป่วยแท้ๆ ยังนำความรู้มาฝากได้อีก หายเร็วๆนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท