เรารักหนังตะลุง “รูปตลกหนังตะลุง”


วันนี้ขอนำเพื่อนทุกคนไปรู้จักกับ "หนังตะลุง" ความบันเทิงของชาวปักษ์ใต้

เรารักหนังตะลุง “รูปตลกหนังตะลุง”

หนังตะลุงเป็นการแสดงพื้นบ้านที่อยู่คู่กับชาวปักษ์ใต้มาเป็นระยะเวลานาน เป็นการแสดงที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและความนิยมในแต่ละยุคสมัย ในการแสดงหนังตะลุงจะมีส่วนประกอบหลายส่วนไม่ว่าจะเป็น นายหนัง นักดนตรี เครื่องดนตรี ฉากประกอบ กลอน และมุกตลกต่างๆ แต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ “รูปหนัง” คือตัวหนังตะลุงที่นายหนังใช้เชิด รูปหนังจะมีหลายประเภท และมีการลำดับความสำคัญของรูปหนังด้วย กล่าวคือ รูปหนังที่มีความศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ เช่น พระอิศวร พระอินทร์ ฤาษี และปรายหน้าบท เป็นต้น เมื่อเก็บไว้ในแผงจะต้องเก็บไว้ด้านบนสุด ตัวหนังที่สำคัญรองลงมา เช่น เทวดา ตัวพระ และตัวนาง เป็นต้น ก็จะเก็บไว้รองลงมา ตัวหนังที่เก็บไว้ด้านล่างสุดเรียกว่า “รูปกาก”

รูปกาก คือ รูปหนังตะลุงประเภททาสี ทาสา ได้แก่ รูปตัวตลกทั้งปวง เช่น เท่ง หนูนุ้ย สะหม้อ กรั้ง สีแก้ว ยอดทอง เพราะตัวตลกเหล่านี้แสดงบทบาทเป็นข้าทาสบริวาร คอยติดตามรับใช้เจ้านาย รวมทั้งนางทาสีนางสนม และยังรวมถึงรูปเบ็ตเตล็ดอื่นๆ เช่น ภูตผี สิงสาราสัตว์ ที่เป็นสัตว์ป่า สัตว์สามัญ และรูปเครื่องใช้ต่างๆ เช่น รถยนตร์ ดาบ เป็นต้น[1]

รูปกาก โดยเฉพาะรูปตลกเป็นรูปหนังที่มีความสำคัญมาก เป็นรูปหนังที่นายหนังใช้รับส่งมุกตลกเพื่อให้ความบันเทิงแก่คนดู รูปตลกแต่ละตัวก็จะมีเอกลักษณ์ที่ต่างกันทั้งรูปร่าง นิสัยใจคอ การแต่งกาย รวมถึงสำเนียงการพูดจา ซึ่งนายหนังจะต้องเลียนสำเนียงการพูดของตัวตลกแต่ล่ะตัวให้เหมือน นายหนังยังต้องสรรค์หามุกตลกที่เข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันมาเล่น หนังตะลุงจึงเป็นการแสดงที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีการปรับให้เข้ากับยุคสมัย หนังตะลุงจึงยังคงเป็นที่นิยมชมชอบและอยู่คู่กับชาวปักษ์ใต้เรื่อยมาจนกระทั้งปัจจุบัน      

 
 

[1] สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์, “รูปกาก” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๑๐, กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๙, หน้า ๓๐๖๘-๓๐๗๐.                 

หมายเลขบันทึก: 497229เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2012 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรารักหนังตะลุง....บทความดีดีนี้ค่ะ...บ่งบอกถึง "อัตลักษณ์" ความงดงามของศิลปินพื้นบ้าน...วัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงาม...ควรเก็บรักษา....ให้คนรุ่นหลังนะคะ

 

ขอบคุณบทความดีดีนี้นะคะ

รูปกากทั้งหมดมี 52 ตัว แต่ละตัวมีเอกลักษณ์ และแต่ละหนังก็จะมีตัวหลกเฉพาะ

พนังพร้อมหลก ตาหลำ

นังเคล้าหลกอ้ายแก้ว

หนังแคล้ว หลกลูกหมี

หนังอาจารย์ ณรงค์ หลก อ้ายเดี๊ยก

นำกลอนหนังก่อตั้งชมรมหนังสงขลา มาแลกเปลี่ยน(http://www.gotoknow.org/blogs/posts/399567?locale=en)

หนังนครินทร์ ชาทอง ประพันธ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท