การลงโทษอาญาสำหรับเด็กและเยาวชนและการลดปริมาณคดี


พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว 2553, กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)

การลงโทษอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน

และการลดปริมาณคดี

ณัฐกานต์  กุลวงศ์ [1]

 

ความเป็นมา  และความสำคัญของปัญหา

การที่จะลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กหรือเยาวชนมีอยู่หลายวิธี ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามช่วงระยะเวลา ค่านิยม จารีตประเพณีท้องถิ่น ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ รวมทั้งทัศนคติปฏิกิริยาที่คนในชุมชนกระทำต่อเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดมีความเปลี่ยนแปลงไป  แนวคิดในการลงโทษที่มุ่งหวังที่จะให้เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดออกจากสังคม เพื่อให้ผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กหรือเยาวชนรู้สึกหวาดกลัวเข็ดหลาบ อีกทั้งเป็นการข่มขวัญให้เด็กและเยาวชนเกรงกลัวโทษ เริ่มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดไปโดยแทนที่จะเน้นนโยบายการลงโทษอย่างเดียวแต่การขัดเกลาพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนโดยการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาก็เป็นมาตรการอีกทางในการที่จะพยายามแก้ไขฟื้นฟูบำบัดผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กหรือเยาวชน(Reformation or Rehabilitation) เพื่อให้สอดคล้องแนวคิดหลักการขัดเกลาพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำอีก ทั้งยังเป็นการลดปริมาณคดีขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงจำเป็นต้องหามาตรการทางเลือกมาใช้แทนมาตรการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเป็นทางเลือกหลักเช่นการให้การศึกษาอบรมวิชาสามัญ การฝึกอบรมวิชาชีพ การให้การบำบัดรักษาทางการแพทย์ และทางจิตวิทยา การฝึกอบรมในทางศีลธรรมจรรยา การให้งานทำ การให้ได้พักผ่อนหย่อนใจ ตลอดทั้งการอาศัยความร่วมมือจากชุมชน การใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญาตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง

วิเคราะห์ปัญหากฎหมาย

เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายและกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2554 ในขณะที่ทำรายงานฉบับนี้ 15 มิถุนายน 2554 พบปัญหาหลายอย่างในการใช้พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว 2553 ดังมีรายละเอียดดังนี้

1. ในมาตรา 86 วรรคสี่.....ให้ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาออกข้อกำหนดเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินการของศาลด้วย ในมาตรา 91 วรรคท้าย.... หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา 90 ให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

บทบัญญัติดังกล่าว ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลศาลฎีกา ออกระเบียบข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำงานของศาล ในมาตรา 86   ให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อบังคับสำหรับข้อตกลงตามมาตรา 90 ซึ่งเป็นกรณีที่ได้ฟ้องคดีต่อศาลแล้ว นอกจากนี้หากประธานศาลฎีกาเห็นสมควรจะออกข้อบังคับให้รวมไปถึงการที่ศาลจะใช้ดุลพินิจสั่งตามที่เห็นสมควร หรืออาจสั่งให้ปรับปรุงแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูใหม่

     แต่ปัจจุบันยังไม่มีการออกข้อกำหนดของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและของประธานศาลฎีกา ทำให้การดำเนินการตามมาตรการพิเศษแทนการฟ้องคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว 2553 ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ทำให้การลดปริมาณคดีตามช่องทางนี้จึงยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม


2. ในมาตรา 87 วรรคท้าย....หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดี[2]กำหนด

            แต่ปัจจุบันยังไม่มีการออกข้อหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู  ทำให้การดำเนินการตามมาตรการพิเศษแทนการฟ้องคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว 2553 ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ทำให้การลดปริมาณคดีตามช่องทางนี้จึงยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม

 

3.ในมาตรา 86 ในการกำหนดโทษที่จะนำมาใช้วิธีการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา ที่กฎหมายบัญญัติว่า ในคดีที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม เป็นการกำหนดอัตราโทษที่สูงเกินไปทำให้เป็นการเปิดช่องทางให้ผู้กระทำผิดโดยเด็กหรือเยาวชนเอง กระทำผิด หรือ การใช้เด็กหรือเยาวชนเป็นเครื่องมือในการละเมิดกฎหมาย เพราะเมื่อทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษ เช่นโทษลักทรัพย์ที่อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ซึ่งส่งผลต่อความสงบสุขสังคม อันถือว่าเป็นภัยสาธารณะ

 

4.ในมาตรา 86 ไม่มีการกำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่าความผิดฐานใดในกฎหมายใดที่สามารถนำวิธีการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญามาใช้ เพียงแต่กำหนดอัตราโทษเอาไว้เท่านั้นย่อมส่งผลต่อความผิดที่เป็นภัยสาธารณะได้ถูกผ่อนปรนจนหย่อนยานเกินไป

 

5. ปัญหาเกี่ยวกับการยอมความหรือการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นก่อนฟ้องคดี ตามมาตรา 86 และชั้นฟ้องคดีเข้าสู่ศาลแล้ว ตามมาตรา 90 ประกอบมาตรา 92 นั้น ไม่มีบทบัญญัติว่าหากผู้กระทำความผิดกับผู้เสียหายสามารถตกลงในเรื่องค่าเสียหายหรือค่าทดแทนได้แล้วหากผู้ที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงคือผิดสัญญายอมโดยไม่ปฏิบัติข้อหนึ่งข้อใด เช่นไม่ชำระเงินให้ ผลของการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือสัญญายอมนั้นสามารถบังคับคดีได้ทันทีแต่ต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งต่างหาก ซึ่งจะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง

 

6.บทบัญญัติว่าด้วยมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา ตั้งแต่มาตรา 86 ถึงมาตรา 94นั้น ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้บุคคลที่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย เช่น ที่ปรึกษากฎหมาย ทนายความ เข้าร่วม

 

7.ปัญหาด้านบุคลากรและการดำเนินการ[3]

7.1 ปัญหาด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้อง บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พนักงานคุมประพฤติ

(ก) บุคลากรเหล่านี้ ขาดความรู้ความเข้าใจ ทักษะ ประสบการณ์ ทั้งในแง่ของกฎหมายการบริหารจัดการ

(ข) ทัศนคติของผู้ที่อยู่ในกระบวนการ จะมีทัศนคติไปในแง่ลบว่าเป็นการเพิ่มงานให้กับตน

(ค) ขาดอัตรากำลังเกี่ยวกับบุคลากรเหล่านี้ เช่น ขาดนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ชำนาญในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

(ง) ปัญหาด้านการดำเนินการ

7.2 กระบวนการในการประสานงาน การจัดให้มีการประชุมเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแผน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ เข้าช่วยเป็นจำนวนมาก

7.3 กระบวนการตรวจสอบ ติดตาม ให้เป็นไปตามแผนนั้นยังขาดบุคลากรที่จะมาทำหน้าที่โดยตรง เช่นอาสาสมัครคุมความประพฤติ อาสาสมัครชุมชน

7.4 ปัญหาเรื่องงบประมาณ หรือค่าใช้จ่าย การใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญานั้นต้องใช้เวลาในการจัดการมากพอสมควร และต้องมีบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องหลายฝ่ายนอกเหนือจากผู้เสียหายและจำเลยโดยตรง เวลาที่ต้องใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ตามขั้นตอนหากคิดคำนวณมูลค่าเป็นตัวเงินแล้วก็จะถือเป็นค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งที่มีจำนวนไม่น้อย นอกเหนือจากงบประมาณเกี่ยวกับการจัดจ้างบุคลากร สถานที่ ค่าใช้จ่ายแก่นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และผู้ที่เข้าร่วมในกระบวนการนั้นล้วนต้องมีงบประมาณมาสนับสนุน

 

บทสรุป

แนวคิดในการลงโทษที่มุ่งหวังที่จะให้เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดออกจากสังคม เพื่อให้ผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กหรือเยาวชนรู้สึกหวาดกลัวเข็ดหลาบ อีกทั้งเป็นการข่มขวัญให้เด็กและเยาวชนเกรงกลัวโทษ เริ่มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดไปโดยแทนที่จะเน้นนโยบายการลงโทษอย่างเดียวแต่การขัดเกลาพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนโดยการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาก็เป็นมาตรการอีกทางในการที่จะพยายามแก้ไขฟื้นฟูบำบัดผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กหรือเยาวชน(Reformation or Rehabilitation) เพื่อให้สอดคล้องแนวคิดหลักการขัดเกลาพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำอีก ทั้งยังเป็นการลดปริมาณคดีขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงมีการนำทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู (Rehabilitative Theory) มาใช้ในพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ในหมวดที่ 7 มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา ตั้งแต่มาตรา 86 ถึง มาตรา 94 แต่ยังมีปัญหาในการใช้

 

ข้อเสนอแนะ

1. ในมาตรา 86 วรรคสี่.....ควรให้ให้ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีการีบดำเนินการออกข้อกำหนดเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินการของศาลโดยทันที เพื่อให้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญานี้มีผลใช้บังคับเป็นรูปธรรม

ในมาตรา 91 วรรคท้าย.... ควรให้ให้ประธานศาลฎีกา รีบดำเนินออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา 90 เพื่อให้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญานี้มีผลใช้บังคับเป็นรูปธรรม

2.ในมาตรา 87 วรรคท้าย.... อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

ควรรีบออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดเพื่อให้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญานี้มีผลใช้บังคับเป็นรูปธรรม

3. ในมาตรา 86 การกำหนดโทษ ที่จะนำมาใช้วิธีการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา ควรใช้โทษที่ต่ำกว่านี้และเป็นโทษที่ไม่เป็นการกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

4.ในมาตรา 86 ควรมีการกำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่าความผิดฐานใดในกฎหมายใดที่สามารถนำวิธีการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญามาใช้ และไม่เป็นโทษที่เป็นภัยต่อสาธารณะ

5. การยอมความหรือการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นก่อนฟ้องคดี ตามมาตรา 86 และชั้นฟ้องคดีเข้าสู่ศาลแล้ว ตามมาตรา 90 ประกอบมาตรา 92 ควรกำหนดบทบัญญัติว่าหากผู้กระทำความผิดกับผู้เสียหายสามารถตกลงในเรื่องค่าเสียหายหรือค่าทดแทนหากผู้ที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงคือผิดสัญญายอมโดยไม่ปฏิบัติข้อหนึ่งข้อใด ผลของการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือสัญญายอมนั้นสามารถบังคับคดีได้ทันทีโดยไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งอีก

6.บทบัญญัติว่าด้วยมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา ตั้งแต่มาตรา 86 ถึงมาตรา 94นั้น ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้บุคคลที่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย เช่น ที่ปรึกษากฎหมาย ทนายความ เข้าร่วม จึงควรให้ที่ปรึกษาทางกฎหมายเข้าร่วม

7.ให้ความรู้และความเข้าใจแก่บุคลากรและอบรมการการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ

7.1 ให้ความรู้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พนักงานคุมประพฤติ

(ก) บุคลากรเหล่านี้ ต้องให้ความรู้ความเข้าใจ สร้างทักษะ สร้างประสบการณ์ทั้งในแง่ของกฎหมายการบริหารจัดการ

(ข) สร้างทัศนคติในแง่บวกของผู้ที่อยู่ในกระบวนการ

(ค) เพิ่มอัตรากำลังเกี่ยวกับบุคลากรที่ขาด เช่น ขาดนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ชำนาญในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

(ง) สร้างความเข้าใจในการด้านการดำเนินการ

7.2 จัดหาเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ เข้าช่วยกระบวนการในการประสานงาน การจัดให้มีการประชุมเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแผน

7.3หาบุคคลมาช่วยใน กระบวนการตรวจสอบ ติดตาม ให้เป็นไปตามแผนนั้น

7.4 หางบประมาณ หรือค่าใช้จ่าย การใช้มาตรการพิเศษแทนการจากงบที่ไม่จำเป็นเช่นงบในการซื้ออาวุธ

 

เอกสารอ้างอิง

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว  พ.ศ. 2553  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนที่ 72 ก หน้า 12 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2553.

 

ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน.  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, เอกสารประกอบชุดวิชา 41716 กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยาชั้นสูง (หน่วยที่ 6 ทฤษฎีการลงโทษ).  [Online] , Avalable URL : www.stou.ac.th/Schools/Slw/upload/41716_6.pdf   สืบค้นเมื่อ 13/06/2554.

 

พศวัต  จงอรุณงามแสง. “รายงานผลงานส่วนบุคคล ปัญหาการนำมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญามาใช้ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.......” รายงานผลงานส่วนบุคคลการอบรมหลักสูตร “ผู้พิพากษาผู้บริหารในศาลชั้นต้น” รุ่นที่ 8 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2553. [Online] , Avalable URL : http://www.library.coj.go.th/indexjrp.php?search=&&ptype=&&page=22  สืบค้นเมื่อ 13/04/2554.

 

ภูริชญา  กันทะเนตร, “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice).” [Online] , Avalable URL : http://www.thailawtoday.com/laws-commentaries/1172--restorative-jstice.html    29 มิถุนายน 2552.  

 

มติคณะรัฐมนตรี. “แนวทางรูปแบบการลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล.” 10 กรกฎาคม 2544. [Online] , Avalable URL : http://www.ryt9.com/s/cabt/229571  สืบค้นเมื่อ 13/06/2554.

 

มติคณะรัฐมนตรี. “ร่างพระราชบัญญัติการทดแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. ...” 17 กุมภาพันธ์ 2553. [Online] , Avalable URL : http://www.ryt9.com/s/cabt/796520  สืบค้นเมื่อ 7/06/2554.

 

 



[1] นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

[2] “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

 

[3] พศวัต  จงอรุณงามแสง, 2553.


หมายเลขบันทึก: 497114เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2012 00:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2013 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท