ทำอย่างไรถึงจะพูดเก่งๆ ? (3)


 

   ผมได้แชร์ท่านว่า ผมบรรยายฟุตบอลทุกเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ กีฬาตำบล กีฬาโรงเรียนจนจบมัธยม มาเรียนต่อที่รามคำแหงก็ยังกลับไปทำหน้าที่ทุกเทศกาล จนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว (สองสามปีหลังไม่ค่อยได้ร่ว...มเท่าไหร่ เพราะติดภาระกิจ)

  ที่ผมต้องเกริ่นอย่างนี้ เพราะอยากจะเรียนท่านว่า มันมีจุดผกผันอยู่จุดหนึ่งของชีวิต ปีแรกที่ผมเรียนรามคำแหง ผมไปทำงานโรงงานที่ซอยวัดมหาวงษ์ สำโรง สมุทราปราการ จำได้ว่านานๆได้มาเรียนที่ต้องอาศัยช่วงเข้ากะกลางคืน กลางวันก็มาเรียน ด้วยความที่อยากเป็นนักพูด ก็เลยเดินเข้าไปสมัครที่ชมรมปาฐก นัดหมายกับพี่ๆ อยากไปร่วมรับน้องมาก แต่สุดท้ายก็ต้องกินแห้ว... เพราะเราติดทำงาน ผมเลยไม่ได้เป็นสมาชิกของชมรมปาฐก รามคำแหง จนบัดนี้

   ผ่านไปเกือบปี ด้วยสายเลือดนักกิจกรรมเข้มข้นอย่างแรง ก็เลยคิดทบทวนว่า หากมีวาสนาได้เป็นนักศึกษาเต็มตัว จะเรียนรู้อะไร จะทำกิจกรรมกับกลุ่มไหน ?

  ผมเดินเข้าไปที่คณะนิติศาสตร์ ข้างตึกนิติศาสตร์ มีกลุ่มกิจกรรมกลุ่มหนึ่ง เตะใจผมให้เดินเข้าไปหามากคือ "กลุ่มวรรณศิลป์"

  ผมคิดว่า หากเราพูดเก่งอย่างเดียว คงไม่มีความลึกซึ้งในสร้อยภาษามันจะมีแก่นสารอะไร เราต้องไปฝึกเป็นนักเขียน เพราะนอกจากเราจะชอบพูดแล้ว เรายังชอบเขียนโดยธรรมชาติด้วย

 ผมก็ได้เป็นสมาชิกกลุ่มวรรณศิลป์สมใจตั้งแต่เรียนอยู่ปีสอง พวกพี่ๆก็นำพาผมเข้าไปในโลกของวรรณกรรมเพื่อชีวิต ผมเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงคำว่า "อารมณ์ศิลปิน" ก็ช่วงนี้แหละ ไว้ผมยาว สะพายย่าม กลับบ้านต่างจังหวัดทีพ่อแม่แทบจะร้องไห้โฮ ลูกชายคนโตมันจะหลุดโลกแล้ว เหมือนมันจะไม่เอาวิชาชีพนักกฎหมายต่อแล้ว รามล้างสมองมันได้ขนาดนี้เหรอ..

  ผมประทับใจในถ้อยงานเขียนของที่เน้นการอธิบายภาวะภายในของ เฮอมานน์ เฮสเส ประทับใจในความพริ้วไหวของสร้อยอักษร ของท่านระพินนารถ ฐากูลและคาริล ยิบราน มาก

   แต่ที่มันสะดุดและเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการพูด เห็นจะเป็นการได้ศึกษางานเขียนกลอนแปดของท่านกวีศรีรัตนโกสินทร์อย่างท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในบทที่ชื่อ เพลงขลุ่ยเหนือทุ่งข้าว ท่านลองชมสักสามบทนะครับ

 

“วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ ปลูกตาลโตนดเจ็ดต้น

เจ้าขุนทองไปปล้น ป่านฉะนี้ไม่เห็นมา

 

ขลุ่ยข้าครวญหวลโหยระโอยโอด พิไลโรธนาการสะท้านพร่า

เป่าคำหอมเหินลิ่วขึ้นปลิวฟ้า แล้วทอดช้าเฉื่อยฉ่ำประจำยาม

 

พอพระพายชายพัดก็ชัดชื่น ยิ่งดึกยิ่งดื่นไม่ขื่นขาม

ทุ่งนี้นานี้มีนาม ของหวงเขตห้ามอย่าข้ามกัน"

 

ท่านลองอ่านดูบทที่สองซ้ำอีกรอบน่ะครับ

 

"ขลุ่ยข้าครวญหวลโหยระโอยโอด พิไลโรธนาการสะท้านพร่า

เป่าคำหอมเหินลิ่วขึ้นปลิวฟ้า แล้วทอดช้าเฉื่อยฉ่ำประจำยาม"

 

อาจารย์เนาวรัตน์ ท่านแนะนำว่า การเขียนกลอนแปดให้สละสลวยนั้น นอกจะมีสัมผัสใน สัมผัสนอกที่ถูกต้องและงดงามแล้ว เทคนิคที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การเรียงวรรณยุกต์ครับ...

 หมายถึงในแปดคำของแต่ละท่อนนั้น จะต้องสลับ กันไปด้วย เสียง สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ให้เหมือนการไล่โน๊ตดนตรี โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด ถ้ามีแต่เสียงสามัญหรือวรรณยุกต์เดียวล้วนๆทั้งแปดคำ ก็จะเหมือนกับการเล่นดนตรีโน๊ตเดียวไปเรื่อยๆ ช่างแข็งกระด้างไม่มีความงานของสร้อยดนตรีเลย ลองถอดวรรณยุกต์ดูครับ

 

ขลุ่ย ข้า ครวญ  หวล  โหย  ระ  โอย    โอด

เอก โท  สามัญ จัตวา จัตวา ตรี  สามัญ สามัญ

 

  ผมว่าไพเราะมาก เวลาเราอ่านเสมือนเราเล่นดนตรีประกอบไปด้วย

 

  แล้วมันเกี่ยวยังไงกับการฝึกพูดหล่ะ ?

   การพัฒนาทักษะการพูด ก็เหมือนกับการฝึกเขียนกลอดแปดแหละครับ สร้อยภาษาในวาทะของเราจะต้องไม่ร่ายเสียง สามัญ สามัญ สามัญ หรือวรรณยุกต์ตัวเดียวเป็นลักษณะโมโนโทนไปเรื่อยๆ มันจะเฉื่อยๆแฉะๆ ขาดพลังไม่อาจครองใจคนฟังได้

  ในการพูดต่อที่ชุมชนหรือในที่ประชุมก็ตาม ต้องมีจังหวะ สูง กลาง ต่ำ เน้นหนัก เน้นเบา เน้นสั้น เน้นยาว สลับกันไป เพื่อให้ผู้ฟังเขารับรู้และเข้าถึงได้ไวในการสื่อสารความรู้สึกระหว่างกัน และภาพที่สื่อไปยังผู้ฟังนั้นมีความชัดเจนด้วย

   ฉะนั้นด้วยประสบการณ์ของผมอยากแนะนำให้ท่านศึกษาผลงานกลอนแปดของท่านสุนทรภู่ หรืออาจารย์เนาว์ ลองดูน่ะครับ และท่านก็หมั่นฝึกเขียนกลอนแปดในแนวสร้อยภาษาของท่านเองบ่อยๆ รับรองครับว่า จะทำให้ถ้อยวาทะของท่านมีความไพเราะ และมีพลังมากขึ้น ไม่ว่าท่านจะสื่อสารในเวทีไหนก็ตาม

   และก่อนจากของฝากท่านสุนทรภู่ ในนิราศเมืองเพชร ซักตอนครับ

"โอ้รื่นรื่นชื่นเชยเช่นเคยหอม เคยถนอมนวลปรางมาหมางหมอง

ถึงบางหว้าอารามนามจอมทอง ดูเรืองรองรุ่งโรจน์ที่โบสถ์ราม

สาธุสะพระองค์มาทรงสร้าง เป็นเยี่ยงอย่างไว้ในภาษาสยาม

ในพระโกศโปรดปรานประทานนาม โอรสราชอารามงามเจริญ

มีเขื่อนรอบขอบคูดูพิลึก กุฏิตึกเก๋งกุฏิ์สุดสรรเสริญ

ที่ริมน้ำทำศาลาไว้น่าเพลิน จนเรือเดินมาถึงทางบางขุนเทียน

โอ้เทียนเอ๋ยเคยแจ้งแสงสว่าง มาหมองหมางมืดมิดตะขวิดตะเขวียน

เหมือนมืดในใจจนต้องวนเวียน ไม่ส่องเทียนให้สว่างหนทางเลยฯ"

 

สวัสดีครับ..

คำสำคัญ (Tags): #ปณิธานสามรุ่น
หมายเลขบันทึก: 497050เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 13:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท