ทำยังไงถึงจะพูดเก่งๆ ?


ถ้อยเขียนสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะการพูด ผ่านเรื่องเล่าจากประสบการณจริงของคนเขียน
ทำอย่างไรถึงจะพูดเก่งๆ ?

   ผมทำงานในด้านการพัฒนาบุคลากรมาไม่น้อยกว่า 13 ปี นี่เป็นคำถามยอดฮิตที่ถูกถามมากที่สุดจากพี่ๆน้องๆ ที่อยู่ต่างแผนกหรือแม้กระทั่งคนที่ทำงานในฝ่าย HR ด้วยกันเอง บางคนบอกว่า กำลังได้รับมอบหมายจากเจ้านายให้ทำหลักสูตรฝึกอบรมเล็กๆในการพัฒนาทีมของตนเองเรื่องหนึ่ง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ? บางคนบ่นๆน้อยใจตัวเองขาดพรสวรรค์ด้านการพรีเซ้นต์ พูดออกมาทีไรทีมงานแทบอยากเอาหูหนีไปนา...เอาตากลับไปส่งยายเสียให้ได้ เพราะคำพูดช่างขาดรสชาติ ขาดความนัว เหมือนส้มตำอีสานแท้ขาดปลาร้าต่อให้เติมผงชูรสมากเท่าไหร่ก็ไร้ร่องรอยความนัว(แซบ-อร่อย) ประมาณนั้น
   ผมเองทำงานด้านการพูดในที่ชุมชนมาตั้งแต่เด็ก พูดผ่านเครื่องกระจายเสียงให้คนระดับสี่ห้าร้อยฟังตั้งแต่เรียนอยู่ ป.6 ครับ ไม่ใช่กีฬาโรงเรียนประถมน่ะครับ แต่เป็นกีฬาของเยาวชนสี่ห้าหมู่บ้านมารวมกัน เริ่มได้รับความนิยมมาแต่นั้น..(ปัจจุบันกลุ่มนักพากย์ที่เคยมานั่งข้างๆผมประจำก็เป็นนักการเมืองท้องถิ่นไปหลายคน) เพื่อประโยชน์ที่ทุกท่านอุตส่าห์เข้ามากดไลท์ในหน้าเพจ ผมขอนำเสนอท่านในเรื่องนี้ไปเรื่อยๆสักพักใหญ่แล้วกันน่ะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับท่านไม่มากก็น้อย
   แรกเริ่มจุดสำคัญ เราต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดก่อนว่า พูดดีกับพูดเก่งไม่เหมือนกัน เมื่อท่านมีสิทธิ์เลือกได้ล้านเปอร์เซ็นต์ผมอยากให้ท่านเลือกที่จะพูดดีมากกว่าพวกตระกูลพูดเก่งครับ ง่ายๆในจุดต่างของสองตระกูลนี้คือ ท่านต้องถามตัวเองและตอบตัวเองอย่างเคลียร์ๆก่อนครับว่า "พูดออกไปแล้ว คนฟังได้ประโยชน์หรือไม่ ?" ถ้าพูดออกไปแล้วไร้สาระหาประโยชน์ไม่ได้ ย่อมเป็นคนขาดความรับผิดชอบต่อผู้อื่นครับ บางคนคำพูดดีแต่เสียดสีแดกดันตระกูลนี้ก็ไม่ไหว น่าเกลียด
     บางท่านก็มุกดีสะใจแต่เนื้อหามีแต่นินทาชาวบ้านแบบเข้มข้น อันนี้ก็เสี่ยงต่อตางตะหริด(ติดตะราง) ข้อหาหมิ่นประมาทเอาง่ายๆครับ
    การถามตอบตัวเองให้เคลียร์ เรื่องประโยชน์ของผู้ฟังนี้ตลอดเวลาในระยะยาวแล้วมันจะส่งผลมหาศาลในเรื่องของความน่าเชื่อถือและคุณค่าในระยะยาว เพราะเมื่อท่านเก๋าแล้วปล่อยมุกฮาแปดบ้านสิบบ้าน คนฟังเขาจะยังรู้สึกไม่ไร้สาระ เขาจะเชียร์ท่านต่อ "สนุกครับมีสาระด้วย"
    ฉะนั้นเริ่มต้นของการฝึกพูดหรือบางท่านผ่านการฝึกมาแล้วอย่างโชกโชน ผมก็ขอเสริมท่านในจุดแรกนี้ก่อนครับว่า เราพูดไม่เก่งไม่เป็นไร ขอให้ท่านพูดดีก็พอ นั่นคือ "เริ่มที่ความรับผิดชอบต่อคนฟัง พูดไปแล้วคนฟังต้องได้รับประโยชน์ หรือพูดไปแล้วสามารถเปลี่ยนชีวิตเขาให้ดีขึ้นยิ่งดีใหญ่"
   ดั่งบทกวีของบรมครูภาษาไทยสุนทรภู่ ท่านว่าไว้แหละครับว่า
"เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
 แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ"
 
   น่าจะนำมาเป็นบทครูสำหรับการเริ่มต้นได้ดีทีเดียว...
 
   สวัสดีครับ..
คำสำคัญ (Tags): #ปณิธานสามรุ่น
หมายเลขบันทึก: 497046เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 12:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท