เด็กไทย "ไม่อ่าน ไม่เขียน" ตามผู้ใหญ่ ครู อาจารย์


เด็กสมัยนี้ไม่ชอบอ่าน ไม่ชอบเขียน ชอบออนไลน์มากกว่า...ในอนาคตคงต้องพัฒนาอุปกรณ์กระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็ก เพราะเด็กเลิกคัด เลิกเขียน หันไปจิ้มแท็บเล็ตกันหมดแล้ว...

หวานเป็นลมขมเป็นยา
      คำผู้ใหญ่ว่า "หวานเป็นลม ขมเป็นยา" ตรงกับลักษณะของเด็กไทยสมัยนี้ เด็กรู้ว่าการอ่าน การเขียนเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์ แต่กลับไม่ชอบเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย   

     ประสบการณ์ฝึกสอนหนึ่งปีที่ผ่านมาทำให้ผมมองเห็นปัญญาด้านการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาไทยมากขึ้น และปัญหาหนึ่งที่พบเป็นประจำในรายวิชา "ภาษาไทย" คือ เด็กไม่ชอบอ่าน ไม่ชอบเขียน ซึ่งมองดูผิวเผินอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่และสงผลกระทบต่อการเรียนในรายวิชาอื่น ๆ เพราะว่าเด็กต้องใช้ทักษะทางภาษาในการแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเอง

     ในปัจจุบันสื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากจนกลายเป็นปัจจัยที่ห้าไปแล้ว บางครั้งก็ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในรายวิชาที่เป็นทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย ที่เด็ก ๆ ต้องอาศัยการหมั่นฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ อาศัยความสนใจ ทำจนเคยชน

       แต่เด็กสมัยนี้ไม่สนใจการอ่านการเขียนเท่าที่ควร สังเกตง่าย ๆ จากการอ่านภาษาไทยไม่ได้ ผันวรรณยุกต์ไม่ถูก ทำให้เขียนคำไทยไม่ถูกต้อง สาเหตุหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ เด็กไทยเคยชินการใช้ภาษาที่สนทนากันในกลุ่มผ่านการใช้เทคโนโลยี อาทิ MSN เฟซบุ๊ก หรือสังคมออนไลน์ในรูปแบบอื่น ๆ ที่เด็กสนใจและเป็นที่นิยมโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องจนติดเป็นนิสัย

     ในการแก้ไขที่ผมเริ่มทำคือการปลูกฝังให้เด็กเห็นคุณค่าของภาษาไทย รณรงค์ให้เด็กเห็นว่าการอ่าน การเขียนภาษาไทยให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ และปลูกฝังให้เด็ก ๆ ใช้ภาษาในการสนทนาให้ถูกกาลเทศะ นอกจากนี้ให้เด็ก ๆ ร่วมกันตั้งกฎกติกา เช่น ใครเขียนผิดต้องคัดแก้ไขด้วยลายมือตัวบรรจง แนะนำให้นักเรียนร่วมกิจกรรมร้านหมอภาษา

     ในอนาคตปัญหาเทคโนโลยีการศึกษาคงมีเพิ่มเป็นเท่าตัว เพราะโลกของเราก้าวเข้าสู้โลกแห่งการออนไลน์มากขึ้น รัฐบาลเพิ่มพัฒนารูปแบบของตำราเรียนให้บรรจุอยู่ในแท็บเล็ต เพื่อกระตุ้นให้เด็กสนใจการเรียนรู้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเด็กมีความสนใจใคร่รู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงและนำความรู้ที่ได้จากการใช้เทคโนโลยีนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองทั้งในด้านการเรียนและทักษะในการดำเนินชีวิตประจำวัน  ในฐานะครูต้องเพิ่มการกวดขันให้เด็กสนใจเทคโนโลยีแต่ไม่ลืมใช้ทักษะทางภาษาในการแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นพลเมืองที่มีศักยภาพเพื่อพัฒนาสังคมต่อไป

หมายเลขบันทึก: 496686เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"ในฐานะครูต้องเพิ่มการกวดขันให้เด็กสนใจเทคโนโลยีแต่ไม่ลืมใช้ทักษะทางภาษาในการแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นพลเมืองที่มีศักยภาพเพื่อพัฒนาสังคมต่อไป" เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง....สวัสดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท