เข้าใจจริงๆ หรือคิดไปเองว่าเข้าใจ


ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของงานในทีม ถ้าลูกน้องกับหัวหน้ามีความรู้สึกที่ดีต่อกัน มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน งานในทีมก็จะดำเนินไปด้วยความราบรื่น และมีปัญหาน้อยมาก หรือถ้ามีปัญหามากๆ ก็สามารถที่จะร่วมมือร่วมใจกันช่วยกันแก้ไขปัญหาให้มันสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าหัวหน้ากับลูกน้องไม่ค่อยลงรอยกัน ทำงานแบบไม่มองหน้ากัน ไม่คุยกัน ผมเชื่อว่างานที่ทำยังไงก็ไม่สำเร็จ บางครั้งสิ่งที่น่าจะทำสำเร็จง่ายๆ ก็กลับกลายเป็นยากไป ก็เพราะความสัมพันธ์นี่แหละครับ

ด้วยสาเหตุดังกล่าว องค์กรต่างๆ ก็พยายามที่จะพัฒนาทักษะของหัวหน้าให้สามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกน้องของตนเองให้ได้ ไม่ว่าลูกน้องจะเป็นอย่างไรก็ตาม หัวหน้าจะต้องหาวิธีการที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วยให้ได้ เพื่อที่จะได้ดึงเอาความสามารถของพนักงานคนนั้นออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้งานออกมาสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

บางคนไปฝึกอบรมหลายหลักสูตรมากมาย แต่กลับมาแล้วก็เหมือนเดิม บางคนก็เปลี่ยนไปเฉพาะสัปดาห์แรก หลังจากนั้นก็กลับมาเหมือนเดิมทุกประการ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็เพราะคนๆ นั้นใจไม่แข็งพอ และไม่มีความตั้งใจมากพอที่จะเป็นหัวหน้างานที่ดี

ซึ่งจริงๆ แล้วหลายๆ คนสามารถทำได้ สามารถพัฒนาตัวเองไปจนเป็นหัวหน้างานที่ดี มีแต่ลูกน้องอยากทำงานด้วย หัวใจของการเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น พื้นฐานที่สุดก็คือ ความเข้าใจ ต้องเข้าใจจริงๆ นะครับ ไม่ใช่เข้าใจแบบคิดไปเองว่าเราเข้าใจลูกน้องเราแล้ว บางครั้งลูกน้องเองยังออกมาคุยกันเองว่า หัวหน้าไม่เคยเข้าใจเขาเลย ลักษณะพฤติกรรมของคนที่เป็นหัวหน้าที่ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องได้อย่างไม่ยาก จะมีลักษณะดังนี้ครับ

  • คิดว่าตนเองถูกเสมอ พฤติกรรมแรกที่มักจะทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องก็คือ การที่หัวหน้าคิดว่าความคิดเห็นต่างๆ ของตนเองจะต้องเป็นความคิดเห็นที่ดีที่สุด และถูกที่สุดเสมอ ลูกน้องจะมีความเห็นที่ดีกว่าไม่ได้ เพราะเราคือหัวหน้า และเขาคือลูกน้อง คิดแบบนี้แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ลูกน้องจะคิดอะไรมาก็ได้ แต่สิ่งที่ถูกต้องก็คือ ความคิดของหัวหน้าเท่านั้น
  • คิดว่าตัวเองเข้าใจเสมอ พฤติกรรมแบบที่สองก็คือหัวหน้าที่ชอบคิดว่าตัวเองเข้าใจลูกน้องเสมอนั้น ก็มักจะทำให้ลูกน้องเบื่อเอาได้ง่ายๆ กล่าวคือ พูดอะไรให้ฟัง ก็มักจะบอกว่าเข้าใจ เข้าใจ จากนั้นก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ลูกน้องก็คิดว่า เข้าใจอะไรเนี่ยะ เข้าใจแล้วไม่เห็นทำอะไรต่อเลย บางคนก็บอกว่าตัวเองเข้าใจ ทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจอะไรเลยก็มี ก็เพื่อที่จะเอาใจลูกน้อง และทำให้ลูกน้องรู้สึกดี ผมคิดว่าเราทำได้แต่คงต้องเข้าใจจริงๆ ว่าลูกน้องเรารู้สึกอย่างไรจริงๆ ด้วย มิฉะนั้นแล้วลูกน้องเองก็จะไม่อยากที่จะคุยกับหัวหน้าอีกต่อไป
  • ตีความและคิดไปเอง พฤติกรรมอีกอย่างที่ทำให้ลูกน้องรู้สึกไม่ดีกับหัวหน้าเลยก็คือ การที่หัวหน้าคิดไปเอง เข้าใจไปเอง และตีความไปเองต่างๆ นานา ทั้งๆ ที่ตัวลูกน้องเองไม่ได้เป็นแบบนั้นจริงๆ บางครั้งลูกน้องเหนื่อยและท้อใจ อาจจะมีร้องไห้บ้าง พอหัวหน้าเห็นเข้า ก็ตีความว่า ลูกน้องคนนี้ไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจเลย นิดเดียวก็ท้อร้องไห้ซะแล้ว หรือ ลูกน้องบางคนชอบที่จะทำงานคนเดียว แต่ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับคนอื่น ก็ตีความไปเองอีกว่า คนนี้ไม่มีทักษะในการทำงานเป็นทีมเลย หรือบางคนเป็นคนที่ไม่ค่อยช่างพูด (แบบหัวหน้า) ก็ตีความไปเองอีกว่า ลูกน้องเราคนนี้มนุษย์สัมพันธ์ไม่ดีเอาเสียเลย ฯลฯ ยังมีอีกเยอะครับ เมื่อไหร่ที่หัวหน้าคิดไปเอง โดยไม่ได้พิจารณาหลักฐานอื่นๆ หรือองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย ลูกน้องก็จะไม่ Happy และเมื่อนั้นความสัมพันธ์ก็จะไม่ค่อยดี เพราะหัวหน้ามองไม่ดีไปก่อนแล้ว
  • เอาลูกน้องไปนินทา พฤติกรรมที่เรียกได้ว่าลูกน้องรับไม่ได้เลย ก็คือ หัวหน้าตนเองเอาเรื่องที่ลูกน้องเล่าให้ฟังไปเล่าให้คนอื่นฟังอีกที บางครั้งก็เป็นความลับของตนที่อยากจะปรึกษาหัวหน้า พอหัวหน้ารู้เรื่องเข้าก็ทนไม่ไหว จะต้องไปบอกต่อกับเพื่อนๆ อย่าลืมนะครับว่าความลับไม่มีในโลก วันหนึ่งเรื่องดังกล่าวก็จะเป็นที่รู้กันไปทั่วบริษัท แบบนี้ความสัมพันธ์ที่ดีย่อมจะเกิดขึ้นยากครับ

พฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้นเป็นนั้น คนที่อยากเป็นหัวหน้างานที่ดีไม่ควรนำมาใช้เป็นอย่างยิ่งครับ เพราะนอกจากทำให้พนักงานรู้สึกไม่ดีกับเราแล้ว ผลที่ตามมาก็คือ ความไม่เชื่อถือที่มีต่อตัวหัวหน้าเอง ถ้าเมื่อไหร่เกิดความรู้สึกไม่เชื่อถือขึ้น แม้ลูกน้องคนนั้นจะลาออกไปแล้วก็ตาม และแม้จะไม่ได้ทำงานด้วยกันแล้วก็ตาม แต่ความรู้สึกของความไม่เชื่อถือก็จะติดตัวลูกน้องไปตลอดชีวิตเลยครับ

เราจะเป็นหัวหน้าที่ไม่ดีในสายตาของลูกน้องตลอดไปครับ

หมายเลขบันทึก: 496601เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012 06:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012 06:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท