เกษตรอินทรีย์ไม่มีสารพิษแน่นอน


ยาฆ่าแมลงใช้แล้วใช้อีกมากกว่าเดิม

เกษตรอินทรีย์ไม่มีสารพิษแน่นอน

     ทั้งปัจจุบันและอนาคต น่าเป็นห่วงคนไทย ที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยอันอุดมสมบูรณ์ แบบว่าเป็นครัวโลกได้ แต่ต่อไปอาจไม่ใช่ เพราะใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมมากเหลือเกิน โฆษณาชวนชื่อกันทุกสื่อ กระทรวงและกรมส่งเสริมการเกษตรก็ทำอะไรไม่ได้มาก ปล่อยให้ลูกหลานกินข้าวกินผักที่มากด้วยสารพิษกันอย่างต่อเนื่อง ผมมองเห็นอย่างหนึ่ง สัมพันธ์กันหรือไม่...ที่ทุกวันนี้..โรงพยาบาลทุกแห่งมีคนป่วยมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว โรคแปลกๆสารพัด คุณหมอและพยาบาลต้องทำงานหนักขึ้น เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมรอบกายเรารวมทั้งที่กินเข้าไป อาจมีสารเคมีปนเปื้อนก็เป็นได้

     ผมอยู่ในหมู่บ้านระดับรากหญ้า อาชีพที่พบคือ ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และทำนา เกษตรกรบ่นเบื่อ เหนื่อย ได้กำไรน้อย เงินหมดไปกับการลงทุนปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ใช้แล้วใช้อีก มากกว่าเดิม บางคนทำนาปีละ ๓ ครั้ง แต่ไม่ได้ผลผลิตแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ใช่ฝนแล้ง แต่เป็นเพราะเพลี้ยลงหมด

     ครูนิรุต ผู้เชี่ยวชาญด้านงานเกษตรของโรงเรียน อธิบายให้ผมฟังว่า อีกไม่นานอาชีพเกษตรกรรมจะมีความสำคัญสูงสุด เนื่องจากคนมากขึ้น พื้นที่จำกัด แต่ชีวิตต้องดำรงอยู่ปัญหาอยู่ที่ทำอย่างไร เกษตรกรจะเห็นความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ ที่ช่วยลดต้นทุน ไม่ก่อปัญหาให้ตนเองและสิ่งแวดล้อม ที่ยังใช้สารเคมีกันอยู่อาจเป็นเพราะหาซื้อง่าย สะดวกรวดเร็ว ผลที่ตามมา คือต้องใช้มากขึ้น เช่นยาฆ่าแมลง เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ ใช้กันทุกบ้าน หากบ้านไหนไม่ใช้ เพลี้ยก็จะมาชุมนุมกัน จึงไม่มีใครกล้าเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำ

     ครูนิรุต ทำนาทั้งที่บ้านและโรงเรียน เริ่มต้นคิดเกษตรอินทรีย์ถ่ายทอดผ่านเด็ก ได้เรียนรู้จดจำและนำไปปฏิบัติ วันที่คณะครูมาศึกษาดูงานแปลงนาสาธิต ครูนิรุตอธิบายขั้นตอนกระบวนการอย่างละเอียด ตั้งแต่การเตรียมดิน เพาะกล้า โยนกล้า และการใส่ปุ๋ย มีครูถามโรคแมลงและยาฆ่าแมลง ครูนิรุตบอกใช้น้ำสะเดา ซึ่งก็ได้เวลาฉีดแล้ว

     ช่วงบ่าย หลังจากคณะครูที่มาดูงานกลับไป ครูนิรุตหิ้วถังพลาสติกมีสายฉีดน้ำออกมาเป็นฝอย พอดีผมอยู่ใต้ลม ได้กลิ่นเหม็นๆ เหมือนยาฆ่าเหาที่ครูผู้หญิงใช้ฆ่าเหาให้เด็ก ผมถามครูนิรุตว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง ครูนิรุตอธิบายแต่ผมฟังไม่ถนัดเพราะหูอื้อตาลายไปหมด

    ผมไปถามเด็กป.๖ ที่ครูนิรุตสอน ขอดูบันทึกเรื่องยาฆ่าแมลง ผมลอกเก็บไว้เป็นความรู้เผื่อว่าจะได้ทำเองบ้าง จากบันทึกพบว่าการใช้สารสกัดใบสะเดา ช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืช สารสกัดที่พบในสะเดา ชื่อว่าสารอะซาดิแรคตินA พบมากในเนื้อในเมล็ด ส่วนที่ใช้สกัด ได้แก่ เมล็ดสะเดาตากแห้ง ใบสะเดาแห้ง และใบสะเดาสด วิธีทำ.....

     นักเรียนบันทึกค้างไว้เท่านี้ ผมถามว่าทำไม เด็กบอกว่าครูนิรุตจะให้ทดลองผสมตามสูตรแล้วนำไปฉีดที่นา จากนั้นจะให้นักเรียนสรุปเป็นองค์ความรู้ด้วยตนเอง..

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 496371เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2012 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • มาเยี่ยมโรงเรียนสีเขียว เล็กๆแต่ดูร่มรื่นน่าอยู่
  • เห็นด้วยและชื่นชมกับแนวคิดในการปลูกพืชปลอดสารพิษ
  • เพราะน้อยคนที่คิดแล้วทำ ทำจริง เรียนรู้จากเรื่องจริง
  • คนส่วนใหญ่ได้แต่คิดแต่ไม่เคยทำ และยังซื้อพืชผักอันตรายกินทุกวัน
  • ที่โรงเรียนเด็กๆเป็นโรคมือ เท้า ปาก ด้วยหรือเปล่าครับ

ขอบคุณมากครับ ท่านอาจารย์สันติสุข ที่โรงเรียนเน้นความสะอาดของห้องน้ำห้องส้วมและโรงอาหาร กินร้อน ช้อนกลางล้างมือ จึงไม่มีโรคมือ เท้า ปาก แต่อย่างใด ครับ

...ขอสนับสนุนเกษตรอินทร์ไม่มีสารพิษ...ของโรงเรียนบ้านหนองผือนะคะ..คุณครุนิรุตต้องเอาความเป็นอยู่แถวอีสานเราไปเผยแพร่เพื่อให้เด็กๆ ได้ซึมซับความเป็นเกษตรกรอย่างจริงจังนะคะ...ขอเป็นกำลังใจให้โรงเรียนบ้านหนองผือเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่มีความโดดเด่นทางด้านการทำการเกษตรที่ปลอดสารพิษ...เพราะเดี๋ยวนี้การทำการเกษตรแบบนี้ไม่ค่อยมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง..เพราะต่างคนต่างอยากเห็นผลผลิตทางการเกษตรที่รวดเร็ว โดยการพึ่งสารเคมีซึ่งทำให้สารเคมีเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายและสะสมโดยเราไม่รู้ตัว...ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ขอสนับสนุนการทำการเกษตรอินทรีย์ไม่มีสารพิษ...ฝากทุกท่านช่วยสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้"โรงเรียนจิ๋วแต่แจ๋ว"โรงเรียนบ้านหนองผือด้วยนะคะ...

ขอบคุณน้องน้ำเพชรนะจ๊ะ เกษตรอินทรีย์...ยังไม่จบ ยังไงก็ติดตามอ่านนะจ๊ะ

ครูนิรุต ทำนาทั้งที่บ้านและโรงเรียน เริ่มต้นคิดเกษตรอินทรีย์ถ่ายทอดผ่านเด็ก ได้เรียนรู้จดจำและนำไปปฏิบัติ

..นี่คือหัวใจหลักขอการเรียนรู้เลยทีเดียวครับ เพราะถือเป็น "ต้นแบบ" ให้แตะต้องสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม

การนำพาให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำในเรื่องเหล่านี้  จะช่วยให้เขานำพาเรื่องกิจกรรมกลับสู่ครัวเรือน  บางทีอาจหมายถึงบอกเล่าต่อผู้ปกครองอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือลงมือทำเกษตรอินทรีย์เล็กๆ ในครัวเรือน  ปลูกเอง กินเอง...

สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องใช้พลังภายใน ทำไปเรียนรู้ไป...ทำไปอดทนไป...

ชื่นชมและให้กำลังใจครับ

ขอบคุณ ครับ แผ่นดิน ตอนนี้ที่แปลงนาของโรงเรียนได้ใส่ปุ๋ยน้ำชีวภาพที่นักเรียนทำเอง และฉีดยาฆ่าแมลงจากน้ำหมักสะเดาแล้ว ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท