แนวทางการรับผิดชอบต่อสังคม


แนวทางการรับผิดชอบต่อสังคม

  

ISO 26000 แนวทางการรับผิดชอบต่อสังคม (Guidance on Social Responsibility)

            การบริหารองค์กรให้ก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ นอกจากจะต้องมีความ“เก่ง” แล้ว ยังต้องมี “ความดี” ขนานควบคู่ไปด้วยเสมอ เพราะว่าการที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งสามารถทำกำไรได้มากมายมหาศาล ไม่ใช่เครื่องชี้วัดว่าองค์กรนั้นจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในอนาคต แต่ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างหากที่จะทำให้องค์กรได้รับการยอมรับ ไม่โดนสังคมต่อต้าน และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน คุณธรรมสำคัญที่ทุกองค์กรต้องตระหนักคือ “การให้” เพื่อเป็นการคืนกำไรไปสู่ภาคสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น การบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ และเงินช่วยเหลือ การมอบทุนการศึกษา รวมไปถึงการสนับสนุนกิจกรรมด้านสังคม การศึกษา ศาสนา และสิ่งแวดล้อมของสังคมและชุมชน แนวคิดดังกล่าวนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในทุกภาคส่วนคือ ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Social Responsibility: SR ซึ่งในบางองค์กรที่มีความเข็มแข็งในการทำ SR แล้วก็ได้ทำการยกระดับ โดยการนำกิจกรรม SR ไปพัฒนาเป็นหลักการที่เรียกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน (Social Development: SD) ซึ่งในประเทศไทยมีหลายๆองค์กรที่ได้มีการจัดตั้งส่วนงานขึ้นมาเพื่อดูแลในส่วนของ SD องค์กร เช่น บริษัท ปูนต์ซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

        เนื่องด้วยกระแส CSR ที่ได้กลายมาเป็นกระแสหลักที่มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจในโลกมากยิ่งขึ้น องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO) จึงได้กำหนดมาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000 Social Responsibility) ขึ้น เพื่อให้บริษัท องค์กร หน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรได้เพิ่มความตระหนักและสร้างความเข้าใจในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม ในลักษณะของข้อแนะนำ หลักการ และวิธีการของความรับผิดชอบต่อสังคมที่องค์กรพึงปฏิบัติโดยความสมัครใจ ทุกองค์กรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบรับรองแต่อย่างใด และไม่ใช่ข้อกำหนด (Requirements) สำหรับในประเทศไทยได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา

         สำหรับในประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านงานมาตรฐานโดยตรง ซึ่งหลังจากที่ ISO มีแนวทางที่จะกำหนดมาตรฐาน ISO 26000 ขึ้น โดย สมอ.ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจาก 6ภาคส่วน 25 องค์กร อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ภาคผู้บริโภค ภาคแรงงานและการจ้างงาน ภาคประชาชน และภาคการศึกษาเข้าร่วมดำเนินการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวร่วมกัน พร้อมทั้งได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่อง ISO 26000 อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ตลอดจนสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันเกี่ยวกับมาตรฐานดังกล่าวก่อนที่จะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โดยมุ่งหวังให้องค์กรสามารถนำไปใช้ในการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์ในทุกภาคส่วนของสังคม ล่าสุดทาง สมอ. ได้จัดทำแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม (Guidance on Social Responsibility) หรือ มอก.26000 ในฉบับภาษาไทย เพื่อเผยแพร่ให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้รับทราบถึงหลักการสำคัญ วิธีการดำเนินการ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ รวมถึงภาคส่วนที่ต้องรับผิดชอบ และจุดสังเกตที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ในแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 นั้นจะใช้คำว่า SR แทนคำว่า CSR เนื่องจากสามารถนำไปใช้ได้กับองค์กรทุกประเภทที่มีความสนใจในการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาครัฐ และ องค์กรที่ไม่หวังผลกำไร (Non profit sectors) ขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็กก็ได้ หรือแม้แต่การนำไปใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนาก็ตาม

         ISO 26000 เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมแก่องค์กรทุกประเภททั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและในประเทศที่กำลังพัฒนา ในการสนองตอบสนองความต้องการของภาคสังคมที่ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับการประกอบการและดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่ง ISO 26000 มีหลักการสำคัญ 7 ประการ (7 principles) คือ 

1.ความรับผิดชอบ(Accountability) สำหรับการดำเนินงานใดๆก็ตามขององค์กรต้องสามารถตรวจสอบได้จากภายนอก
2.ความโปร่งใส (Transparency) องค์กรควรเปิดเผยข้อมูลต่างๆให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบอย่างชัดแจ้ง
3.การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม (Ethical behavior) องค์กรควรมีการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรม โดยคำนึงถึงความซื่อสัตย์ ความเท่าเทียม ความยุติธรรม สิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้เสีย
4.การเคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย (Respect for stakeholder interests) องค์กรควรตระหนักถึงสิทธิและผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมขององค์กร เช่น นโยบาย ข้อเสนอ หรือการตัดสินใจต่างๆ ก็ตามที่จะส่งผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
5.การเคารพต่อหลักนิติธรรม (Respect for rule of law) องค์กรจะต้องมีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักของกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง
6.การเคารพต่อการปฏิบัติตามแนวทางของสากล (Respect for international norm of behavior) รวมถึงสนธิสัญญาสากล คำสั่ง ประกาศ ข้อตกลง มติ และข้อชี้นำต่างๆ ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์กรสากลที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนั้นๆ
7.การความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน(Respect of human right) องค์กรควรดำเนินนโยบายและดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

       นอกจากหลักการสำคัญ 7 ประการข้างต้นนี้ ISO 26000 ยังได้กำหนดแนวทางในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร เพื่อส่งเสริมให้องค์กรสามารถพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยกิจกรรมของความรับผิดชอบต่อสังคมที่องค์กรปฏิบัตินั้นจะต้องเข้าข่าย 7 หัวข้อหลัก (7 core subjects) ดังนี้

1.การกำกับดูแลองค์การ(Organizational Governance)
2.สิทธิมนุษยชน(Human Rights)
3.การปฏิบัติด้านแรงงาน(Labour Practices)
4.สิ่งแวดล้อม(The Environment)
5.การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม(Fair Operation Practices)
6.ประเด็นด้านผู้บริโภค(Consumer Issues)
7.การมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน(Community Involvement and Development)

        สำหรับ 7 หัวข้อหลักนี้จะครอบคุลมผลกระทบ 3 ด้านได้แก่ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในแต่ละห้วข้อหลักจะมีประเด็นย่อยต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอย่างละเอียดต่อไป เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าองค์กรทุกแห่งต้องเกี่ยวข้องกับ 7 หัวข้อหลักทั้งหมด แต่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นย่อยต่างๆทุกประเด็น องค์กรหนึ่งๆไม่จำเป็นจะต้องดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมให้ครบทุกด้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการทบทวนผลการดำเนินด้าน SR ขององค์กรตาม 7 หัวข้อหลัก การวิเคราะห์ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย และประเด็นด้านกฎหมาย เนื่องจากการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ถือเป็นหลักการพื้นฐานที่มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมได้แนะนำให้ทุกองค์กรปฏิบัติตาม และต้องดำเนินการโดยผนวกเข้ากับการดำเนินการของบริษัทตั้งแต่ในระดับนโยบาย วิสัยทัศน์ และแทรกอยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานในหน่วยงานต่างๆขององค์กรอย่างมีบูรณาการ

         การที่องค์กรจะนำหลักการของ ISO 26000 ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับองค์กรนั้น ขั้นแรกต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระของ ISO 26000 ทุกประเด็นเสียก่อน หลังจากนั้นจึงทำการพิจารณาความสัมพันธ์ขององค์กรกับ SR ซึ่งอาจใช้การสำรวจภายในองค์กรก่อนว่ามีการทำ SR ในด้านใดบ้าง โดยนำ 7 หัวข้อหลักไปเทียบเคียง และเลือกปฏิบัติใน SR ที่องค์กรมีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ก่อน ซึ่งอาจจะเป็น SR ที่องค์กรได้ทำดีอยู่แล้ว หลังจากนั้นจึงเพิ่มขยายไปในประเด็น SR ต่างๆต่อไปให้ครบถ้วน และองค์กรที่มีการดำเนินงานตามกรอบแนวทางของ ISO 26000 จะต้องบรรจุเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในรายงานประจำปี เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือด้าน SR ขององค์กรด้วย ยกตัวอย่างเช่น บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ได้จัดทำรายงานประจำปีด้าน SR โดยจะมีแนวทางการเขียนรายงานที่เป็นแบบมาตรฐานเพื่อความชัดเจนในการตรวจสอบตามแบบสากล ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กรและผู้ร่วมลงทุนกับบริษัท นอกจากนี้ปัจจัยความสำเร็จของการนำ ISO 26000 ไปใช้ในองค์กรที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การที่ผู้บริหารองค์กรต้องให้ความสำคัญกับการนำ SR ไปปฏิบัติใช้แบบบูรณาการอย่างจริงจัง โดยปรับให้เข้ากับระดับนโยบายขององค์กร วิสัยทัศน์ โครงสร้างองค์กร และทำการสื่อสารในเรื่อง SR ให้พนักงานทุกคนในองค์กรได้รับทราบและนำไปปฏิบัติตามแนวทางที่องค์กรวางไว้นั่นเอง

ประโยชน์ของการนำ ISO 26000 ไปปรับใช้ในองค์กร

         ช่วยสร้างให้เกิดการรับรู้และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรแล้ว ยังเป็นการสร้างความได้เปรียบในเชิงธุรกิจให้กับองค์กรทั้งในด้านของชื่อเสียง การสร้างความเชื่อมั่นและทัศนคติที่เป็นบวกต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกส่วน ตลอดจนยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อภาคธุรกิจ ภาครัฐ สื่อมวลชน คู่ค้า ผู้ถือหุ้น ลูกค้า และชุมชนในพื้นที่ซึ่งสถานประกอบการตั้งอยู่ 

         สำหรับ ISO 26000 อาจไม่ได้เป็นเพียงกระแสที่ผ่านมาและผ่านไปในระยะเวลาสั้นๆ แต่จะเป็นเสมือนภาษากลางในเรื่องของการรับผิดชอบต่อสังคมโลกในระยะยาวที่จะเป็นหลักสำคัญในการนำพาองค์กรให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืน หากผู้บริหารทุกองค์กรพร้อมใจกันนำเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และผลักดันให้เป็นนโยบายหลักขององค์กร ไม่เพียงแต่จะเกิดประโยชน์ในการแข่งขันเชิงธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการคืนผลกำไรกลับสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ดังวัตถุประสงค์ของ ISO 26000 ที่วางไว้นั่นเอง

 

หมายเลขบันทึก: 495994เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2012 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2012 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท